ข่าวปลอม : สิงคโปร์ผ่านกฎหมายเปิดช่องทางให้รัฐส่องแชตส่วนตัว แก้ปัญหาข่าวเท็จระบาด

1984

ที่มาของภาพ, Alamy

สิงคโปร์ผ่านกฎหมายป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม ซึ่งเปิดทางให้ทางการสามารถสอดส่องแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงแชตส่วนตัวของประชาชนได้

ด้วยกฎหมายนี้ รัฐบาลสามารถสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ลบข้อมูลที่เห็นว่าเป็นเท็จซึ่งเป็น "ปฏิปักษ์ต่อสาธารณประโยชน์" และสั่งให้โพสต์ข้อความแก้ไขได้

ทางการระบุว่า กฎหมายจะปกป้องประชาชนจากข่าวปลอม แต่ผู้คัดค้านวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้เป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน

ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่ารัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไรในบางกรณี อาทิ การสอดส่องเนื้อหาในแอปพลิเคชันที่มีการเข้ารหัสลับ

สมาชิกสภานิติบัญญัติสิงคโปร์ผ่านร่างกฎหมายป้องกันข้อมูลเท็จและการชักใยทางออนไลน์ (The Protection from Online Falsehoods and Manipulation) เมื่อวันที่ 8 พ.ค. และจะเริ่มบังคับใช้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยรัฐบาลย้ำว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การแสดงความคิดเห็น แต่เป็นข้อมูลเท็จที่อาจทำให้เกิดความเสียหายได้

กฎหมายครอบคลุมอะไรบ้าง

กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลเท็จซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นภัยต่อสาธารณะ ผู้ใดที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจถูกปรับอย่างหนัก หรือ/และ ถูกจำคุกถึง 5 ปี

กฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้มีการใช้บัญชีปลอม หรือบอต ในการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยมีโทษปรับถึง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 23 ล้านบาท และมีโทษจำคุกถึง 10 ปี

กฎหมายบังคับใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเว็บไซต์ข่าว ซึ่งจะถูกลงโทษด้วยหากไม่ทำตามคำสั่งให้ลบข้อมูล หรือโพสต์ข้อมูลแก้ไข

WhatsApp

ที่มาของภาพ, Getty Images

กฎหมายสอดส่องแชตส่วนตัวได้ไหม

นี่เป็นแง่มุมที่เป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุด โดยทางการสามารถสอดส่องการสนทนาในโซเชียลมีเดีย และกรุ๊ปแชตแบบปิดซึ่งมีการเข้ารหัสลับได้ด้วย นั่นหมายความว่า แอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสิงคโปร์ และ Telegram จะได้รับผลกระทบ

เมื่อวันอังคาร รัฐมนตรีสิงคโปร์คนหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นส่วนตัวของแอปพลิเคชันดังกล่าวเหมาะสำหรับเผยแพร่ข้อมูลเท็จมากเพราะว่าเป็นความลับ และสามารถส่งไปถึงคนแปลกหน้าเป็นร้อยเป็นพันคนได้พร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ดี ทางการยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะเข้าถึงการสนทนาส่วนตัวของคนในแอปพลิเคชันที่มีการเข้ารหัสลับได้อย่างไร

บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนทนาแบบเข้ารหัสลับได้ต่อต้านความพยายามในลักษณะนี้ในประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ WhatsApp บอกว่าข้อเสนอของรัฐบาลอินเดียให้บริษัทด้านเทคโนโลยีเปิดเผยข้อความเข้ารหัสลับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่าแนวคิดนี้ "บ้ามาก"

"นี่เป็นการคืบคลานเข้าไปสู่การเซ็นเซอร์และควบคุมแบบ 'พี่เบิ้ม' [หรือ Big Brother แบบในหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์]" นายโรเบิร์ตสัน กล่าว "เป็นการคุกคามโดยตรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นสิ่งที่ทั่วโลกควรรู้สึกกังวล"

คนสิงคโปร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

โฆษกของ WhatsApp ระบุกับบีบีซีว่า สังคมในแต่ละที่มองเห็นความแตกต่างระหว่างการสื่อสารแบบส่วนตัวและแบบสาธารณะ และบริษัทมุ่งหน้าที่จะทำหน้าที่ของตัวเองในการช่วยลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และในขณะเดียวกันก็จะรักษาความเป็นส่วนตัวของบริการของบริษัท

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า กฎหมายนี้จะให้สิงคโปร์มีอำนาจอย่างไม่จำกัดในการกำจัดการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์แบบที่พวกเขาไม่เห็นด้วย

รัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า ประเทศต้องการกฎหมายนี้เมื่อเห็นว่าข่าวปลอมมีแนวโน้มที่จะสร้างความคิดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนาได้ และรัฐบาลต้องการอำนาจที่จะจัดการข้อมูลเท็จให้ได้ทันท่วงที

สิงคโปร์เป็นอีกชาติหนึ่ง ตามหลังรัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ผ่านกฎหมายอันเข้มงวดเรื่องข่าวปลอมหรือคำพูดที่สร้างความเกลียดชังในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา