โควิด-19 : ประยุทธ์อ้าง “ทางเลือกสุดท้าย” กู้เศรษฐกิจสังคม ขอสภาอนุมัติ พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่ฝ่ายค้าน-ปชป. จับตา “แบ่งเค้ก-ตีเช็คเปล่า-อุ้มทุนใหญ่”

นายกฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเริ่มพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้เวลา 50 นาทีในการนำเสนอหลักการของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ โดยย้ำว่า "เป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" และ "เป็นทางเลือกสุดท้าย" ของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นด้วยการร่ายปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกแล้วลุกลามมากระทบต่อเศรษฐกิจไทยจนติดลบ 1.8% ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวสูงสุดนับจากตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2557 มีการประมาณการว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศไทยลดลง 9.28 แสนล้านบาท คนว่างงานสูงขึ้นนับล้านคน ล่าสุดในช่วงต้นเดือน พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจีดีพีจะติดลบ 5-6% แม้รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่แหล่งเงินไม่เพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน

"ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงเยียวยาประชาชน ซึ่งประเมินว่าใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากกรณีดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท คือกฎหมายฉบับแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำเสนอต่อสภา และถูก ส.ส. หยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในระหว่างการประชุมสมัยสามัญนัดแรกวันนี้ (27 พ.ค.)

รบ. แก้เกมโปร่งใส สั่งคลังรายงานผลกู้เงินต่อสภาหลังจบปีงบประมาณ

สิ่งที่สังคมรับรู้คือเงินก้อนนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อทำโครงการ/แผนงานต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • การแพทย์และสาธารณสุข ลดการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
  • ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสมรณะ วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท
  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท
สภา

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, วันแรกของการประชุมสภาวิถีใหม่

เงินก้อนหลังที่ปราศจากรายละเอียดนี่เองที่ทำให้ฝ่ายค้านระบุว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" หรือไม่ อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาลยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้จะเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะตามกรอบการเงินที่ 60% เพราะมีการประเมินว่าการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 57.96% และ "การชำระหนี้เงินกู้ยังอยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้" ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. เสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่สิ้นปีงบประมาณ

"กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาจะได้กรุณาพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ขนทีมรัฐมนตรี 16 คนเพื่อเตรียมชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ

ผู้นำฝ่ายค้าน "ห่วงที่สุด" เงินกู้ 4 แสนล้าน แบ่งเค้ก-ตีเช็เปล่า

ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้อภิปรายโจมตีความผิดพลาดในการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตของรัฐบาลในหลายครั้ง อาทิ การขาดประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์, ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ, การสั่งปิดกิจการในพื้นที่ กทม. ก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว, ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไทยจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับความชื่นชมการควบคุมด้านระบาดวิทยา แต่ล้มเหลวในการเยียวยาและกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจ

"วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจ เกือบจะไม่แตกต่างกัน" นายสมพงษ์กล่าว

สมพงษ์

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ผู้นำฝ่ายค้านในสภายังเรียกร้องให้รัฐบาลระลึกว่าคนที่ต้องร่วมชดใช้เงินกู้มหาศาลนี้คือประชาชนทั้งประเทศ การใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปด้วยความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง "ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ ใช้เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่าง ๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้"

เงินกู้ 4 แสนล้านบาทคืองบที่ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่า "เป็นห่วงที่สุด" เพราะจะเป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด โดยมีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่าง ๆ ไว้แล้วทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสภา" และ "เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิม ๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และการตอบแทนทางการเมือง"

"เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป"

ขณะที่การอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านรายอื่น ๆ มีการตั้งสารพัดฉายาให้กับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลให้ชื่อเล่นไว้ว่า "พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน 2020" ตามชื่อโครงการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนด้วยเงิน 5 พันบาท และแสดงความกังวลต่อการที่ประชาชนต้องแบกรับภาระชดใช้เงินกู้ก้อนโตนี้

วิโรจน์

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ตั้งฉายาล้อเลียนโครงการแจกเงิน 5 พันบาทของรัฐบาล

"เบี้ยหัวแตก เต็มไปด้วยคำบรรยายสวยหรู แต่น้ำท่วมทุ่ง เวิ่นเว้อ คำศัพท์ภาษาอังกฤษเหมือนเด็กทำรายงานส่งครู แต่อ่านแล้วไม่รู้เลยว่าอะไรคือโจทย์ที่รัฐบาลจะทำให้ได้ อะไรคือหมุดหมายของรัฐบาล" คือคำบรรยายความรู้สึกของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 148 บรรทัด คิดเป็นบรรทัดละ 6,800 ล้านบาท และมีอยู่ 10,375 ตัวอักษร คิดเป็นตัวอักษรละ 96 ล้านบาท

เขายังตั้งคำถามต่อคำว่า "เราไม่ทิ้งกัน" ของรัฐบาล ก่อนขอขยายความว่า "เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป" พร้อมเปรียบเทียบภาพการช่วยเหลือประชาชนกับการอุ้มชูนายทุน โดยระบุว่าประชาชนที่ขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาทจากรัฐบาล "ถูกหลอกแล้วหลอกเล่า" ว่าจะทราบผลอุทธรณ์ แต่ที่สุดแล้วใช้เวลาถึง 54 วันหลังจากพวกเขาถูกยัดเยียดความเป็นเกษตร หรือนักศึกษา หรือเจ้าของธุรกิจให้ ก่อนมาโป๊ะแตกว่ารัฐบาลใช้ "เอไอกำมะลอ" ตัดสิทธิประชาชน ขณะที่การเข้าไปอุ้มชูนายทุนทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ให้ปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน (ดิวตี้ฟรี) และอีกหลายมาตรการเริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. ซึ่งประเมินกันว่าจะทำให้กำไรของ ทอท. ในปี 2563-2565 ลดลงถึง 2.25 หมื่นล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของ ทอท. ปรับลดลงทันทีในวันที่ 20 ก.พ. ที่ 4.80% คิดเป็นมูลค่า 3.25 หมื่นล้านบาท โดยที่เงินจำนวนนี้นำมาทำประโยชน์ได้มากมาย

ที่มา : ข้อมูลประกอบการอภิปรายของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ส.ส. ฝ่ายค้านรายนี้เห็นว่า การกู้เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือฐานคิดและวิธีการบริหารจัดการเงินแบบลักลั่นและสองมาตรฐาน กล่าวคือ "มีฟูกสำหรับนายทุน มีกระบองสำหรับประชาชน"

อุตตมยกข้อมูลกู้ รบ.3 ชุยืนยัน "การกู้ครั้งนี้ไม่ได้โดดเด่น"

ส่วน น.อ.อนุดิษฐ นาครทรรพ์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อ้างว่าประชาชนได้ตั้งฉายา "พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน" ให้แก่กฎหมายฉบับนี้ พร้อมระบุว่าตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจและบริหารประเทศ ได้ก่อหนี้ไว้ถึง 2.6 ล้านล้านบาท หากนำมารวมกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และเงินกู้ที่จะชดเชยงบขาดดุลอีก 5 แสนล้านล้านบาท จะเป็นเงินถึง 4.18 ล้านล้านบาท ขณะที่แผนชำระหนี้อยู่ที่ปีละ 4.8 หมื่นล้านบาท

"เท่ากับว่าเราต้องใช้ 90 ปีกว่านี้จะหมด ยุทธศาสตร์ชาติต้องวนมา 4 รอบ นายกฯ กำลังจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ประเทศไทย ท่านกำลังจะเป็นนายกฯ ที่สร้างหนี้ให้ชั่วลูกชั่วหลาน เด็กเกิดใหม่อุอุแว้ ๆ ก็มีหนี้เป็นแสนแล้ว คนไทยต้องทำงานใช้หนี้ไปจนตาย" เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว

อุตตม สาวนายน

ที่มาของภาพ, Thai news pix

อย่างไรก็ตาม นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่ากู้เงินเพื่อวิกฤตโควิดเป็นวงเงินที่สูงสุดในประวัติศาสตร์รัฐบาลไทยหรือไม่ โดยกล่าวว่า "การกู้ครั้งนี้ไม่ได้โดดเด่น หรือกระโดดออกมาจากสิ่งที่เกิดขึ้น" เพราะวิกฤตไม่ใช่ภาวะปกติ ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ต้องประท้วงขอให้ รมว.คลัง ถอนข้อมูลที่นำเสนอต่อสภาแล้วไปพาดพิงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะ "เป็นการเอาดีใส่ตัว" แต่ขุนคลังคนปัจจุบันอ้างว่าเป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าการกู้มีมาตลอดเท่านั้น

ที่มา : ข้อมูลประกอบการชี้แจงของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง

ส.ส. ปชป. เตือนรัฐบาลอย่าโลกสวย

ส่วนความเห็นจาก ส.ส.รัฐบาล นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอนโยบายการเงิน อย่างการช่วยเหลือหุ้นกู้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อซึ่งมีเงินกองกลางอยู่ 5 แสนล้าน แต่ธนาคารพาณิชย์มีการใช้จริงเพียง 10% ทั้งที่เป็นมาตราการเร่งด่วน

"แบงก์ชาติคงต้องไปดูแล และไปปรับปรุงมาตรการนะครับ ให้เงินออกไปเร็วขึ้น โดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ที่ยังไม่กล้า หรือเป็นห่วงในเรื่องของหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น" นายพิสิฐ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย กล่าว

เขาพูดถึงประเด็นการออกหุ้นกู้ว่า ธปท. ว่า "ทอดสะพาน" ให้ผู้ออกหุ้นรายใหญ่ที่มีเรตติ้งดี ในขณะที่บริษัทเล็ก ซึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะอ่อนแอกว่ากลับถูกปิดโอกาส

"จริง ๆ ท่านก็ไม่ใช่ผู้ลงทุน อย่าไปห่วงเรื่องของเรตติ้งเหมือนผู้ลงทุนโดยทั่วไป"นายพิสิฐกล่าว

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สส.บัญชีรายช่ื่อพรรคประชาธิปัตย์

ที่มาของภาพ, วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สส.บัญชีรายช่ื่อพรรคประชาธิปัตย์

นายพิสิฐ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกฎหมายของแบงก์ชาติที่มีการตั้งกรรมการดูแล ซึ่งมีฐานะในการดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจในการจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเลือกบริษัทหลักทรัพย์เข้ามาบริหารจัดการ จึงมีความน่ากังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากโดยปกติแบงก์ชาติก็เป็นกรรมการในธนาคารหลายแห่ง รวมถึงบริษัทจัดการกองทุน เมื่อจำเป็นต้องมาตัดสินการเยียวยาอาจนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต

"แบงก์พาณิชย์ยังกั๊ก" ลดดอกเบี้ย

นายพิสิฐ ยังชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงินลดถึง 3 ครั้งในปีนี้ ยังไม่ได้ส่งผลต่อประชาชนเท่าที่ควร "แบงก์พาณิชย์ยังกั๊ก" จำเป็นต้องหาโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยให้กับรายย่อยตามไปด้วย

นายพิสิฐได้แสดงความกังวลถึงฐานะการคลังรัฐบาลจากพิษโควิด-19 ซึ่งนายกฯชี้แจงว่าสิ้นปี 2564 หนี้ของรัฐต่อจีดีพีมีเพียง 57.96% ซึ่งต่ำกว่า 60% ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาวินัยการคลัง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเพียงความเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจีดีพีปีหน้าจากการประเมินของรัฐบาลที่ว่าจะเพิ่ม 3 % และปีนี้ติดลบ 5.3% อาจเป็นการประเมินที่ดีเกินไป หากจีดีพีไม่โตอย่างที่คาดหมายก็จะทำให้หนี้สาธารณะเกิน 60%

ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคืองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านครั้งนี้นั้น นายพิสิฐ กล่าวว่าไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นระบบการคลังที่มีความบิดเบี้ยว การใช้เงินภาษีอากรตามระบบวิธีการงบประมาณจะชัดเจนต่างกับการใช้ผ่านระบบเงินกู้

"ใช้ผ่านเงินกู้ตรวจสอบยากมาก ไม่มีการแสดงตัวเลขให้เห็นก่อนอนุมัติ จริง ๆ มันควรจะกลับกัน... ท่านควรเอารายละเอียดมาให้ที่ประชุมแห่งนี้ได้ดู แล้วที่ประชุมจะได้อนุมัติเหมือนที่เราดูงบประมาณประจำปี" นายพิสิฐกล่าว

รัฐบาลได้ตรา พ.ร.ก. 4 ฉบับเพื่อรับมือกับโควิด-19 ทั้งหมดถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อ "ขออนุมัติโดยไม่ชักช้า"

สภาจะอภิปราย พ.ร.ก. ทั้งหมดนี้โดยใช้เวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.