อภิปรายไม่ไว้วางใจ : เพื่อไทยเปิดผังคนใกล้ชิด รมต. “ทำสัญญาลวง” ทุจริตซื้อถุงมือยาง ด้านจุรินทร์โต้ไม่เคยสมคบ-แอบสั่งการ

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ในวันที่ 3 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ฝ่ายค้านเคลื่อนเป้ามาสู่การซักฟอกรัฐมนตรี

หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายวันนี้ (18 ก.พ.) คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต "ทำสัญญาลวง" ซื้อขายถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) มูลค่า 112,500 ล้านบาท สร้างความเสียหายแก่รัฐ 2,000 ล้านบาท โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้อภิปราย และยังประกาศกลางสภาว่าจะยื่นดำเนินคดีกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายจุรินทร์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และขอให้เตรียมไปชี้แจงหลังจากนี้

ขณะที่นายจุรินทร์ลุกขึ้นชี้แจงหลังฟังจนจบ โดยระบุว่าสิ่งที่อภิปรายมาไม่ใช่เรื่องใหม่ของสภา เพราะเคยมีการตั้งกระทู้ถามแล้ว

"ข้อมูลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยกับผู้อภิปรายเกือบทุกประการ ไม่มีอะไรโต้แย้งโดยไม่จำเป็น แต่ขอปฏิเสธว่าไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง ยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ หรือแอบสั่งการในที่ลับหรือที่แจ้งก็ไม่เคย" รมว.พาณิชย์ กล่าว

บีบีซีไทยสรุป 7 ประเด็นสำคัญของคำอภิปรายนายประเสริฐ และคำชี้แจงจากของนายจุรินทร์ มาไว้ ณ ที่นี้

1) ตัวละครหลัก

นายประเสริฐเปิดฉากไล่เรียงรายชื่อ 5 บุคคลซึ่งถือเป็น "ตัวละครหลัก" ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พร้อมร่ายความสัมพันธ์ที่มีต่อนายจุรินทร์

คนแรก นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธาน อคส. เป็นสมาชิกพรรค ปชป. นาน 9 ปี ก่อนลาออกในปี 2561, เป็นผู้ช่วย ส.ส. ของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค โดยสนิทถึงขั้น "คอยเปิดประตูรถให้", เป็นเพื่อนร่วมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านการบริหารงานพัฒนาการเมืองมหานคร รุ่น 4 (ปี 2558-2559) ของนายจุรินทร์ นอกจากนี้นายพีระ ตรีชดารัตน์ พี่ชายของนายสุชาติ ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ก่อนที่ตัวของนายสุชาติเองจะได้รับการผลักดันให้ดำรงตำแหน่งประธาน อคส. เมื่อ 5 พ.ค. 2563 ทั้งที่ไม่เคยบริหารองค์กรใหญ่มาก่อน และยังตั้งข้อสังเกตว่ามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือไม่โดยดูจากการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ใช้สิทธิพาดพิง แต่มิได้พูดถึงเรื่อง "คนเปิดประตู" เพียงแต่บอกว่าเคยฟัง รมต. ชี้แจงแล้วค่อยข้างสบายใจ

คนที่สอง พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. ซึ่งลาออกจากราชการตำรวจมารับหน้าที่นี้ และเป็นผู้ลงนามนสัญญาจัดซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด โรงงานผลิตถุงมือยาง ซึ่งเป็นคู่สัญญาของ อคส.

คนที่สาม นายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ซึ่งนายประเสริฐระบุว่า "รับสมอ้างผลิตถุงมือยางขายให้ อคส. มูลค่า 112,500 ล้านบาท และฉ้อฉล สบคบกับบุคคลใน อคส. เบิกเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาท"

นอกจากนี้ผังที่เขานำมาแสดงกลางสภายังระบุชื่อบุคคลระดับ "ผอ.ฝ่าย" และ "อดีตผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นคนสนิทของประธาน อคส." ด้วย

เกี่ยวกับตัวละครที่ถูกเปิดชื่อมา นายจุรินทร์ยืนยันด้วยว่า ไม่ว่าใครจะรู้จักผู้ใหญ่ รู้จักนายกฯ รู้จักกับรัฐมนตรี ไม่ได้แปลว่ามีอำนาจล้นฟ้า จะทำอะไรก็ได้ เมื่อไรทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าคุก "เรื่องนี้ผมไม่ยอม ไม่ว่าใครทุจริต ต้องถูกจัดการทางวินัย ทางแพ่ง และอาญาจนถึงที่สุด"

นายจุรินทร์ชี้แจงว่า การตั้งประธานบอร์ด เป็นอำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมาย ไม่ใช่ตั้งได้ตามอำเภอใจของรัฐมนตรี ก่อนอธิบายขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเจ้าตัวต้องแสดงความจำนงประสงค์ที่จะเป็น จากนั้น ผอ.อคส. เสนอชื่อไปสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ก่อนนำรายชื่อเข้า ครม. และไม่ใช่อยู่ ๆ นายจุรินทร์อยากได้ แต่เพราะประธานบอร์ดคนเก่าลาออก

ส่วนกรณีที่ระบุว่าประธานบอร์ดร่ำรวยผิดปกติ นายจุรินทร์ก็ไม่ขอแก้ตัวแทน เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

2) กล่าวหามอบนโยบายเตรียมการทุจริต

นายประเสริฐอภิปรายกล่าวหาว่ามี "การมอบนโยบายเพื่อเตรียมการทุจริต" ตั้งแต่ต้น กล่าวคือหลังนายสุชาติเข้าดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดก็ได้มอบนโยบายเมื่อ มิ.ย. 2563 ให้ อคส. ดำเนินการซื้อขายถุงมือยางในลักษณะซื้อมาขายไป หรืออาจจัดตั้งโรงงานทำถุงมือยาง เพื่อต่อยอดการรับซื้อยางดิบจากเกษตรกรมาทำถุงมือ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทาง สอดคล้องกับคำพูดของนายจุรินทร์ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 9 ก.ย. 2563 โดยอ้างถึงการตลาดเพื่อระบายยางและการทำตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ก่อนชี้ว่าบุคคลทั้งสองร่วมมือกันมาตั้งแต่ต้น และมีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นายจุรินทร์ชี้แจงคำกล่าวในอดีตของของเขาว่า เป็นงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และถุงมือยางที่พูดถึง ก็ไม่ใช่ถุงมือยางเทียมเหมือนกับที่เป็นปัญหาที่ อคส. แต่คือถุงมือยางธรรมชาติ เพราะรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง หนึ่งในนั้นก็คือการส่งออกถุงมือ

3) "สัญญาอัปยศ"

นักการเมืองฝ่ายค้านได้เล่าถึงการทำสัญญาซื้อ-ขายถุงมือของ อคส. กับบริษัทเอกชนรวม 8 เจ้า และเรียกมันว่า "สัญญาอัปยศ" โดยมีลำดับความเป็นมา ดังนี้

วันที่ 28 ส.ค. 2563 นายเกียรติขจร แซ่ไต่ ผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย อคส. ได้ทำหนังสือถึงรักษาการ ผอ.อคส. แจ้งว่า บริษัท KRENEC LAW OFFICES, LCCT มีหนังสือแสดงเจตจำนงซื้อถุงมือยางเพื่อนำไปส่งมอบในสหรัฐฯ และยุโรป จำนวน 500 ล้านกล่อง ในราคา 230 บาท/กล่อง อคส. จึงเจรจากับบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ซึ่งทางบริษัทมีหนังสือเสนอราคามายัง อคส. ในราคา 225 บาท/กล่อง โดยต้องชำระเงิน 2,000 ล้านบาท

ในระหว่างวันที่ 25 ส.ค.-9 ก.ย. รักษาการ ผอ.อคส. ได้ทำสัญญาขายถุงมือยางรวม 7 สัญญา จำนวน 826 ล้านกล่อง มูลค่ารวมทุกสัญญาอยู่ที่ 186,100 ล้านบาท โดยไม่มีการเรียกหลักประกันสัญญาทั้ง 7 บริษัท

  • บริษัท T (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 52 ล้านกล่อง ราคา 225 บาท/กล่อง เป็นเงิน 11,700 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทนี้จดทะเบียนแปรรูปการถนอมผลไม้และผัก ไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายถุงมือยางเพื่อหากำไร
  • บริษัท G (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง ราคา 223 บาท/กล่อง เป็นเงิน 22,300 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทนี้จดทะเบียนอยู่ที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ ไม่มีวัตถุประสงค์ทำธุรกิจซื้อขายถุงมือยาง ไม่มีที่ทำการในประเทศไทย และผู้ลงนามในสัญญาไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท
  • บริษัท K (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 500 ล้านกล่อง ราคา 230 บาท/กล่อง เป็นเงิน 115,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทนี้ จดทะเบียนอยู่ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ ไม่มีวัตถุประสงค์ทำธุรกิจจัดซื้อถุงมือยาง ไม่มีที่ทำการในประเทศไทย และผู้ลงนามในสัญญาไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท
  • บริษัท Q (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง ราคา 210 บาท/กล่อง เป็นเงิน 2,520 ล้านบาท
  • บริษัท 24 (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง ราคา 215 บาท/กล่อง เป็นเงิน 2,580 ล้านบาท
  • บริษัท KK (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 50 ล้านกล่อง ราคา 220 บาท/กล่อง เป็นเงิน 11,000 ล้านบาท
  • บริษัท A (ตัวย่อ) สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง ราคา 210 บาท/กล่อง เป็นเงิน 21,000 ล้านบาท

เลขาธิการ พท. ชี้ว่า การทำสัญญาขายถุงมือยางระหว่าง อคส. กับบริษัท T, G และ K เป็น "สัญญาลวง" ไม่มีอยู่จริง เนื่องจาก อคส. ไม่ได้เรียกเงินมัดจำเพื่อเป็นหลักประกันตามปกติธุระทางการค้า หรือมีข้อตกลงในสัญญาถึงวิธีการและกำหนดการชำระเงินเป็นหลักประกันสัญญา แต่ทำสัญญาขึ้นมาเพื่อให้ อคส. ใช้เป็นข้ออ้างว่าจำเป็นต้องหาถุงมือยางจำนวนมากมาขายให้ 3 บริษัทนี้ เพราะมีคำสั่งซื้อคอยอยู่ จึงเจรจากับบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด เพื่อซื้อถุงมือยาง

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชาร์ตนี้ถูกนำเสนอระหว่าง ส.ส. พท. อภิปราย

มิหนำซ้ำบริษัทผู้สั่งซื้อถุงมือยางทั้ง 7 แห่ง ก็ไม่ได้สั่งซื้อถุงมือยางลาเท็กซ์ แต่สั่งถุงมือยางไนไตร (ไม่มีแป้ง) ขณะที่สัญญาสั่งซื้อถุงมือจากบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ของ อคส. เป็นถุงมือยางลาเท็กซ์ นายประเสริฐจึงเห็นว่า "เป็นการทำสัญญาลวงเป็นฉากบังหน้า เพื่อทุจริตนำเงิน 2 พันล้านบาท ออกจาก อคส." อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรตามที่กล่าวอ้าง เพราะถุงมือไม่ได้ทำจากยางพารา

เขายังแสดงความสงสัยด้วยว่า อคส. ทำสัญญาซื้อ-ขายถุงยางแบบขาดทุนไปทำไม เพราะในสัญญาซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด จำนวน 500 ล้านกล่อง ซื้อในราคา 225 บาท/กล่อง แต่นำไปขายให้กับ 7 บริษัทในราคาขาดทุน เช่น ขายให้บริษัท A กล่องละ 210 บาท

นายจุรินทร์ไม่ได้ชี้แจงหักล้างข้อมูล แต่อธิบายภาพรวม ดูในหัวข้อ 6

4) พิรุธคู่สัญญา อคส.

เลขาธิการพรรคอันดับหนึ่งในสภายังชี้ให้เห็นข้อพิรุธของบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด คู่สัญญาของ อคส. หลายประการ อาทิ เพิ่งจัดตั้งเมื่อ 22 มิ.ย. 2563 ก่อนทำสัญญาเพียง 2 เดือน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แต่สามารถทำสัญญาแสนล้านกับ อคส.ได้ ทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้, ปรากฏภาพถ่ายในสื่อมวลชนว่าโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.นครปฐม เป็นอาคารเช่า และปัจจุบันเปลี่ยนมือผู้เช่าใหม่ไปแล้ว, บริษัทไม่มีการรับรองผลงานของบริษัทตนเอง เพราะไม่มีประสบการณ์ในการผลิตถุงมือยาง แต่ได้นำเอกสารของบริษัทอื่นมาแสดงแทน แต่ อคส. กลับไม่ได้ท้วงติง และไม่ผ่านการตรวจสอบสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแต่อย่างใด

เขายังตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาซื้อถุงมือยางจากบริษัทแห่งนี้ พบว่า อคส. ไม่มีอำนาจในการทำสัญญา เพราะคนระดับ ผอ. มีอำนาจอนุมัติ 25 ล้านบาท และประธานบอร์ดอนุมัติได้ 50 ล้านบาท อีกทั้งยังมีกระบวนการดึงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาทออกจาก อคส.

  • ข้อที่ 5 กำหนดให้ อคส. ต้องชำระเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาท และต้องทำให้เสร็จใน 3 วัน
  • ข้อ 7 ให้บริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด นำหลักประกันมามอบให้ อคส. 200 ล้านบาทใน 7 วัน

"บริษัทไม่ต้องลงทุน เพราะเบิกเงินจาก อคส. และนำกลับมาวางหลักประกัน ซึ่งยังเหลือเงินทอนอีก 1,800 ล้านบาท" นายประเสริฐระบุ

นายจุรินทร์ไม่ได้ชี้แจงหักล้างข้อมูล แต่อธิบายภาพรวม ดูในหัวข้อ 6

5) คลิปเสียงสนทนาที่ รมต. ถาม "แล้วไง"

อีกหลักฐานสำคัญที่นายประเสริฐนำมาเปิดกลางสภาซ้ำ 2 ครั้ง คือบันทึกเสียงการประชุมบอร์ด อคส. เมื่อ 26 ส.ค. 2563 หนึ่งวันหลังวันทำสัญญาขายถุงมือยางไนโตร (ไม่มีแป้ง) ให้กับบริษัทเอกชน 3 ราย มูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งปรากฏเสียงของชายที่นายประเสริฐอ้างว่าเป็น พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ รักษาการ ผอ.อคส. กับนายสุชาติ ประธาน อคส. (ดูรายละเอียดในภาพ)

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชาร์ตนี้ถูกนำเสนอระหว่าง ส.ส. พท. อภิปราย

นายประเสริฐตั้งข้อสังเกตต่อคำพูดของชายที่เขาบอกว่าเป็น "ประธาน" ที่ว่า "อ้าว ต้องลับก่อน" ก่อนมีเสียงหัวเราะของผู้ร่วมประชุม และคำพูดของชายคนเดิมที่ว่า "เดี๋ยวให้ท่านรัฐมนตรีมากดเดิน" ทว่าในรายงานฉบับเป็นทางการของบอร์ด อคส. กลับไม่ปรากฏเรื่องนี้แต่อย่างใด

นายจุรินทร์บอกว่า ฟังคลิปไม่ชัด แต่จับความได้ว่ามีบุคคลคนหนึ่งบอกว่า "เดี๋ยวจะให้รัฐมนตรีมากด เป็นอะไร ผมก็ไม่ทราบ เป็นประธานเปิดโครงการ หรือทำอะไรก็ไม่ทราบ ผมฟัง 2 ครั้งมันก็รวดเร็ว แต่ท่านไปพูดว่ามากดเงิน ท่านเจตนาอะไร" และตั้งคำถามต่อไปว่า "ฟังเทปแล้วไง มันมีตรงไหนที่บอกว่ารัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องในทางมิชอบกับการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง และที่สำคัญผมก็ไม่ได้ไปร่วมสนทนาในวงเทปที่ท่านเอามาเปิดด้วย หรือไปร่วมรับรู้ด้วย แค่เอามาเปิดกล่าวอ้าง"

เขาบอกด้วยว่า งานนี้มันคือผลงานอัปยศเหมือนที่ผู้อภิปรายพูด "จะนิมนต์ผมไปเป็นประธานกดปุ่มอะไรก็ตาม ผมไม่รับนิมนต์ครับ" และยังเหน็บนายประเสริฐด้วยว่า การเอาคำพูดของอดีตรักษาการ ผอ.อคส. มาอ้าง เป็นการ " ฟังความข้างเดียว เสียยี่ห้ออดีตรัฐมนตรีหมด"

6) จุรินทร์แจงหน้าที่แค่ "บุรุษไปรษณีย์"

หลังไล่ข้อมูลมาทั้งหมด นายประเสริฐเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า "สัญญาอัปยศ" ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ อคส. 2,000 ล้านบาท กระทำโดยคนสนิทของนายจุรินทร์ พร้อมตั้งคำถามว่า "มีรัฐมนตรีไว้ทำไม" เหตุใดจึงไม่ดำเนินการใด ๆ เลยกับนายสุชาติ ประธานบอร์ด อคส., รักษาการ ผอ.อคส. และบอร์ด อคส. ซึ่งเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

เพื่อไทยเปิดขบวนการ "ทำสัญญาลวง" โกงถุงมือยาง

ที่มาของภาพ, Thai News pix

จากที่อภิปรายมาทั้งหมด นายประเสริฐสรุปว่านายจุรินทร์ "มีเจตนาพิเศษ แสวงหาประโยชน์ตนและพวกพ้อง ทุจริตเชิงนโยบาย" เสนอ ครม. แต่งตั้งคนสนิทไปเป็นประธานบอร์ด อคส. โดยไม่สนใจความรู้ความสามารถ และเมื่อเกิดกรณีทุจริตการซื้อถุงมือยางใน อคส. ก็ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายสุชาติ เพราะกลัวถูกเปิดเผยความจริง ทำให้นายจุรินทร์พยายามตัดตอนเรื่องนี้ให้จบที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ จึงไม่อาจไว้วางใจได้

ด้านนายจุรินทร์พูดถึงประเด็นนี้ว่า "ท่านถามว่าก่อนทำสัญญาแสนกว่าล้านนั้น รัฐมนตรีจุรินทร์อยู่ไหน ผมตอบไม่ถูกหรอกครับว่าผมอยู่ที่ไหน เพราะผมก็ไม่ทราบ แล้วก็ไม่ได้ไปร่วมกระบวนการสมคบกับใครทำสัญญาแสนกว่าล้านด้วย" และทันทีที่ทราบจาก ผอ.อคส. คนใหม่ ที่ตรวจพบมีพิรุธโอนเงิน อคส. 2,000 ล้านบาทออกไปจากบัญชี และมีการไปทำสัญญาแสนกว่าล้าน ซื้อขายโดยไม่มีอำนาจ ก็ได้รายงานให้นายกฯ ทราบทันที โดยนายกฯ ได้สั่งย้ายอดีตผู้อำนวยการ อคส. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจะได้สะดวกต่อการนำตัวคนผิดมาลงโทษ พร้อมปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำตัวเป็น "ทองไม่รู้ร้อน"

จากนั้นได้ไล่เรียงข้อกฎหมายมาอธิบายว่า อคส. เป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีมีหน้าที่เป็นแค่ "บุรุษไปรษณีย์" ไม่มีอำนาจบังคับบัญชา มีอำนาจจำกัดในการรับส่งเรื่องจาก ผอ.อคส. และบอร์ด ไปยัง ครม. ให้พิจารณาเท่านั้น

กองโฆษก ปชป.

ที่มาของภาพ, กองโฆษก ปชป.

คำบรรยายภาพ, ชาร์ตนี้ถูกนำเสนอระหว่าง รมว.พาณิชย์ ลุกขึ้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ตั้งแต่เกิดเรื่อง นายจุรินทร์ระบุว่า ผอ.อคส.คนใหม่ ได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรรายงานขึ้นมา 4 ครั้ง ว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง, แจ้งความดำเนินคดีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 ผอ.อคส. คนใหม่แจ้งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานให้ทราบ มีเอกสารทั้งหมด 2,268 แผ่น พบผู้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งหมด 3 คน รวมถึงอดีตรักษาผู้อำนวยการ อคส. ด้วย ซึ่งทั้งหมดได้แจ้งให้บอร์ด อคส. รับทราบ และส่งต่อเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณาประกอบการไต่สวนแล้ว

ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่ตั้งกรรมการสอบ ทำไมไม่ปลดประธานบอร์ด นายจุรินทร์ให้เหตุผลว่า เพราะไม่ต้องการใช้อำนาจที่ลุแก่อำนาจโดยมิชอบ เพราะมีตัวอย่างอดีตนายกฯ คนหนึ่งเทียบเคียงให้เห็นแล้ว สุดท้ายเรื่องไป ป.ป.ช. และถูกชี้มูลว่ามีความผิดอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งอัยการสูงสุดฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองต่อไป จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้อำนาจ แต่ยืนยันว่าหากวันใด ป.ป.ช. ชี้มูลผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่เอาไว้แน่

7) แจงอายัดเงิน 400 ล้านไม่ได้ จนกว่า ป.ป.ช. ชี้มูล

ขณะที่ผู้นำสูงสุดอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องการไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ 2,000 ล้านบาท และทำเพียงแต่ออกคำสั่งย้าย พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ มาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 แต่ไม่ได้อายัดบัญชีของบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบของกรรมาธิการพาณิชย์ สภาผู้แทนฯ พบว่าตั้งแต่วันที่ 2-25 ก.ย. 2563 ยังมีเงินอยู่ในบัญชีของบริษัทและกรรมการบริษัท 400 ล้านบาท ทำให้เงินถูกยักย้าย ถ่ายโอน หนีไป จนปัจจุบันไม่มีเงินคงเหลือที่จะอายัดได้

อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมประชุมสภาเป็นวันที่สาม

"เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เพิกเฉยเพราะกลัวกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ต้องถือว่า พล.อ. ประยุทธ์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" เลขาธิการ พท. ตั้งข้อสังเกต และเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอานายจุรินทร์ออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการสอบสวนและอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายจุรินทร์แจกแจงแทนนายกฯ ว่าได้ติดตามความคืบหน้ามาโดยลำดับ ส่วนที่ถามว่าทำไม่ไม่รีบอายัดเงิน ยืนยันว่า ผอ.อคส. คนใหม่ได้ทำสุดวิธีแล้ว ทั้งส่งดีเอสไอ ปปง. ปปช. แต่โดยข้อเท็จจริง ดีเอสไอแจ้งว่ามีอำนาจสอบแค่ 30 วัน แต่เมื่อกรณีนี้เป็นการทำทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องส่ง ป.ป.ช. เช่นเดียวกับ ปปง. จะมีอำนาจอายัดและตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต่อเมื่อ ป.ป.ช. ต้องชี้มูลความผิดก่อน