พลังประชารัฐ : ประกาศิต ประวิตร สั่ง สนธิรัตน์ เป็นเลขาธิการพรรคต่อไป

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประวิตร สวมเสื้อที่มีโลโก้ใหม่ พปชร. ก่อนยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า พปชร. "กลมเกลียวกัน ๆ"
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) "ลบเหลี่ยม" เปลี่ยนโลโก้ และปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ แต่เลขาธิการพรรคยังคนเดิม

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี พปชร. เกิดขึ้นวันนี้ (21 ธ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. มีวาระสำคัญคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กก.บห. จาก 24 คน เป็น 34 คน โดยมี 7 คนลาออกไป และอีก 17 คนเพิ่งเข้ามามีตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่ ในจำนวนนี้มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ประกาศยุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายมาสมัครเป็นสมาชิก พปชร. รวมอยู่ด้วย

ที่น่าสนใจคือ ไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พปชร. สั่งการมาว่าต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

"พล.อ.ประวิตรบอกเป็นประกาศิตมาแล้วให้ท่านสนธิรัตน์ (สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการ พปชร.) เป็นเลขาฯ ต่อไป ซึ่งท่านอนุชา (นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร) ก็เห็นด้วย" นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และแกนนำกลุ่มสามมิตร พปชร. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนการประชุม พปชร. จะเริ่มต้นขึ้น

นี่เป็นอีกครั้งที่นายสุริยะออกมาเน้นย้ำว่า ในช่วงเลือกตั้ง นายอนุชาทุ่มเทให้กับพรรค แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีตามที่ช่วยเหลือกัน

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องนั่งรถเข็นเข้ามาร่วมประชุมพรรคเนื่องจากมีอาการกระดูกทับเส้นประสาท ระหว่างช่วยลูกทีมหาเสียงเลือกตั้งซ่อม จ.ขอนแก่น

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้า พปชร. เปิดเผยภายหลังการประชุมพรรคว่า ไม่มีการหารือเรื่องการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค ข่าวก็เป็นข่าว แต่สุดท้ายก็ไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ส่วนรายชื่อ กก.บห.ชุดใหม่ ก็สะท้อนภาพว่าทุกกลุ่มมีความสามัคคี และมีตัวแทนของทุกภาค

หัวหน้า พปชร. บอกด้วยว่า ที่ประชุมใหญ่ยังมีมติให้เปลี่ยนโลโก้พรรค จากหกเหลี่ยม เป็นวงกลม เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรวมพลัง กลมเกลียว สามัคคี พร้อมปฏิเสธคำสัพยอกของสื่อมวลชนที่ว่า "พปชร. ขอลบเหลี่ยมเพื่อไม่ให้เอาเหลี่ยมมาทิ่มแทงกัน"

อนุชาได้เก้าอี้รองหัวหน้ารองก้น

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวปรากฏในสื่อหลายสำนักว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเลขาธิการ พปชร. ใหม่ โดยปลดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กลุ่ม "สี่กุมาร" พ้นไป แล้วดันนายอนุชา นาคาศัย กลุ่ม "สามมิตร" หรือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กลุ่ม "สามทหารเสือ กปปส." เข้ามาเสียบแทน แต่สุดท้ายนายสนธิรัตน์ก็ยังเหนียวแน่นกับเก้าอี้ของเขา ขณะที่นายอนุชาได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้า พปชร. ตามโครงสร้างใหม่

เช้าวันนี้ นายสนธิรัตน์เดินทักทายสมาชิกและสาขาพรรค พปชร. ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และถ่ายรูปกับกลุ่มต่าง ๆ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า ยิ้มแย้มเช่นนี้ เก้าอี้เหนียวแน่นดีแล้วใช่หรือไม่ นายสนธิรัตน์ยิ้มรับก่อนตอบว่า "คำถามแบบนี้ใครเขาถามกัน"

สำหรับนายสนธิรัตน์เคยถูกเพื่อนร่วมพรรคกล่าวหาว่าเป็น "ภัยต่อความมั่นคงของพรรคและของรัฐบาลเป็นอย่างสูง" ในช่วงจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2" หลังนายอนุชาต้องหลุดจากเก้าอี้ รมช.คลัง ในนาทีท้าย ๆ ของการจัดโผช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ประชุมพรรคพลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. กลุ่มสามมิตร พปชร. ออกมาระบุในเวลานั้นว่า สมาชิกกลุ่มสามมิตรเตรียมเสนอญัตติขับไล่นายสนธิรัตน์พ้นจากเลขาธิการพรรค เนื่องจากบริหารงานผิดพลาดหลายเรื่อง ไม่มีภาวะผู้นำ ส.ส. เข้าไม่ถึงตัว ไม่เห็นหัว ส.ส. และก่อให้เกิดความแตกแยกในพรรค จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องร่อนสารขอโทษประชาชน และขอให้แกนนำกลุ่มต่าง ๆ รีบจบ "ศึกใน"

"ศึกนอก" ช่วยค้ำเก้าอี้เลขาธิการพรรคของ สนธิรัตน์

นอกจากเหตุผลเรื่อง "ความต่อเนื่อง" ในการบริหารจัดการกิจการการเมืองภายใน พปชร. ในช่วงต้นปี 2563 รัฐบาล "ประยุทธ์" ต้องเผชิญกับสารพัด "ศึกนอก" ทั้งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ขบวนการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญทั่งในและนอกสภา รวมถึงการระดมมวลชนลงสู่ถนนเพื่อขับไล่เผด็จการของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทำให้แกนนำ พปชร. เห็นตรงกันว่าคนในพรรคไม่ควรมาเปิด "ศึกใน" อีก ทำให้เก้าอี้เลขาธิการพรรคยังเหนียว

นายสนธิรัตน์กล่าวกับบีบีซีไทยว่า อยากเห็นการเมืองในสภา ไม่นำประเทศชาติไปสู่วังวนเดิม ๆ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามกลไกของรัฐสภา ไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลแต่อย่างใด

ส่วนฝีมือทีมเศรษฐกิจที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวเร่ง-สะสมความไม่พอใจของประชาชน นายสนธิรัตน์เปรียบการทำงานของพวกเขาเป็นเหมือนฟุตบอล "เราคัดนักเตะเก่ง ๆ มารวมกัน แรก ๆ อาจยังเล่นไม่เข้าขา แต่ตอนนี้ปรับจูนกันแล้ว เล่นเข้าขากันแล้ว เชื่อว่าจะดีขึ้น" นายสนธิรัตน์ระบุ

แกนนำ พปชร.

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

เช็คสถานะแกนนำคนสำคัญใน 4 ก๊กหลัก พปชร.

ปัจจุบันพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พปชร. มีองค์ประกอบหลากหลายทั้งนักการเมืองหน้าใหม่และหน้าเก่า ทว่ากลุ่มอำนาจสำคัญในพรรคมี 4 กลุ่มหลัก และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง

- "กลุ่มสี่กุมาร" หมายถึงอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" จำนวน 4 คนที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หลังเปิดหน้าร่วมก่อตั้ง พปชร. โดยคนเหล่านี้ได้กลับมามีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองหัวหน้าพรรค ส่วนนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้เป็นเพียงรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง

- "กลุ่มสามมิตร" หมายถึงอดีตนักเลือกตั้งอาชีพจำนวน 3 คน ที่มีบทบาทในการ "ดูด-ดึง" ส.ส.จากพรรคอื่น ๆ ให้ย้ายขั้ว-ย้ายค่ายมาสวมเสื้อ พปชร. ลงสู่สนามเลือกตั้ง ทว่ามีสมาชิกกลุ่ม 1 คนต้องชวดเก้าอี้รัฐมนตรีไปคือ นายอนุชา นาคาศัย จนเกิดปรากฏการณ์นัดแสดงพลังสมาชิกในกลุ่มราว 30 คน และเปิดแถลงข่าวทวงเก้าอี้ แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่ "น้อยใจ" ส่วนสมาชิกอีก 2 คนมีตำแหน่งในรัฐบาลคือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สนทนากับเพื่อนร่วมพรรคอย่างชื่นมื่นระหว่างการประชุมพรรควันนี้ (21 ธ.ค.)

- "กลุ่มสามทหารเสือ กปปส." หมายถึงอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. จำนวน 3 คน ที่เก็บกระเป๋าออกจากบ้านหลังเก่า ร่วมก่อตั้ง พปชร. โดยที่ 2 คนมีเก้าอี้รัฐมนตรีรองก้นคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนนายสกลธี ภัททิยะกุล เลือกเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ตามเดิม

- "กลุ่มบิ๊กป้อม" มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พปชร. เป็นผู้รวมศูนย์อำนาจหลัก เก็บกวาดเอาบรรดาตัวจี๊ดมาไว้ในความดูแล ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจระบุชื่อสมาชิกกลุ่มนี้ อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ประกาศยุบพรรคตัวเอง, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ย้ายจากจากกลุ่ม "สี่กุมาร" มาสังกัดกลุ่มนี้

ลงคะแนน

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการลงคะแนน กก.บห. ชุดใหม่

ถิติน่ารู้เกี่ยวกับ พปชร.

  • ใน ครม. 36 คน มีรัฐมนตรีในสัดส่วน พปชร. 18 คน 19 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รองนายกฯ 3 คน, รมว. 11 คน, รมช. 4 คน (นายกฯ ควบตำแหน่ง รมว. กลาโหม)
  • ใน รมต. 18 คน ที่อยู่ในสัดส่วน พปชร. มี 6 คนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายวิษณุ เครืองาม, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล
  • ในสภา 500 คน มี ส.ส.พปชร. 117 คน แต่มี 1 คนถูกศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากกรณีคนใกล้ชิดใส่ซองงานศพ (นายกรุง ศรีวิไล ส.ส.สมุทรปราการ) และอีก 1 คนถูกออกหมายจับคดีชุมนุมล้มการประชุมอาเซียนเมื่อปี 2552 (พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร)
  • ใน ส.ส.พปชร. 117 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 97 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 คน มีคะแนนมหาชนรวมกัน 8.43 ล้านคะแนนเสียง
  • ปัจจุบัน พปชร. มีสมาชิกพรรค 33,325 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร 25.85% รองลงมารับจ้างทั่วไป 20.92% และค้าขาย 7.62% ที่เหลือทำธุรกิจส่วนตัว, รับราชการ, อาชีพอิสระ, พนักงานบริษัท และไม่ระบุอาชีพ

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม, บางส่วนสรุปจากข้อมูลที่นำเสนอในที่ประชุมใหญ่ พปชร. 12 ธ.ค. 2562