ซีพี : ธนินท์ เจียรวนนท์ ปัด “ผูกขาด” ทางธุรกิจ แค่ชอบทำเรื่องยาก ยก แจ็ค หม่า เป็น “อาจารย์”

ธนินท์ เจียรวนนท์

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งถูกจัดให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทย ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา "ผูกขาด" ทางการค้า แต่เผยว่าทั้งหมดมาจากเคล็ดลับในการทำธุรกิจที่ชอบ "ทำของยาก" และ "ทำก่อน" เป็นผลให้คู่แข่งขันตามไม่ทัน

ในงานเปิดตัวหนังสือ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" ของ "เจ้าสัวธนินท์" และ Exclusive Talk ครั้งแรกของเขา มี สรกล อดุลยานนท์ หรือ "หนุ่มเมืองจันท์" เป็นผู้ดำเนินรายการ อภิมหาเศรษฐีวัย 80 ปีได้บอกเล่าเส้นทางการทำธุรกิจ วิธีคิด การฝ่าฟันอุปสรรค รวมถึงถือโอกาสแก้ข้อกล่าวหา "ผูกขาด" ตลาด

ไม่ว่าความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ธนินท์ ระบุว่าเขามีเวลา "ดีใจ" และ "เสียใจ" เพียงวันเดียวเท่านั้น โดยเลือกเก็บรับทั้งหมดไว้เป็นบทเรียน

ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี 2562 ของนิตยสารฟอร์บส์ พบว่า พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์แห่งอาณาจักรซีพี ยังรั้งอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 9.41 แสนล้านบาท

บีบีซีไทยสรุป 6 เรื่องน่ารู้จากคำกล่าวของ ธนินท์ มาไว้ ณ ที่นี้

1. ยก แจ็ หม่า เป็น "อาจารย์"

ธนินท์ ยกย่องให้ "คนเก่ง ๆ ในโลก" เป็น "อาจารย์" ของเขา และมักหาทางไปพบเพื่อ "เคารพ" และ "เรียนลัด" จากคนหนุ่มสาว หนึ่งในนั้นคือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป บริษัทประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในจีน ซึ่ง ธนินท์ บอกว่า รู้จัก เคยเจอกัน คุยกัน แต่ "ฟังเขาพูดแล้ว ผมไม่กล้าลงทุน" เพราะ "อาลีบาบามันไม่มีตัวตน เรามองไม่เห็น มันเป็นภาพเล่าเฉย ๆ"

แจ็ค หม่า

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, แจ็ค หม่า ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทอาลีบาบา เมื่อ 10 ก.ย. 2562 ในขณะที่ธุรกิจของเขามีมูลค่ากว่า 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"ความสำเร็จของผม ของเครือซีพี คือเราเห็นก่อนว่าเรื่องนี้เขาสำเร็จมาอย่างไร เรามีโอกาสไหมเอามาต่อยอด แต่ไปคุยกับ แจ็ค หม่า เราฟังไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่ไปเรียนอี-คอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ต เข้าคอร์สที่ฮ่องกงนะ ก็อยากไปลงทุนกับเขา เขาไม่ได้ชวน เราไปหาเขาเลย... รู้ว่าเทรนด์มันจะมา เราก็ไปฟัง แต่ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่มีรูปแบบให้เราเห็นว่าเป็นอย่างไร เรายังชินกับว่ารูปแบบนี้สำเร็จแล้ว เราเอามาต่อยอดกับประเทศกำลังพัฒนา" ธนินท์กล่าว

แจ็ค หม่า วัย 55 ปี เคยบอกว่าได้ยินชื่อ ธนินท์ ตั้งแต่ตัวเขายังเรียนหนังสืออยู่ ขณะที่เจ้าสัวซีพีวัย 80 ปี ระบุว่า เพิ่งมารู้จัก แจ็ค หม่า ก็ตอนที่นักธุรกิจชาวจีนรายนี้ดังพอสมควรแล้ว

"ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับเขาก็ได้กำไรหลายร้อยเท่านะ แต่ตอนนั้นไม่กล้า มองไม่ชัด คิดไม่ออกว่าจะสำเร็จได้อย่างไรเพราะมันไม่มีทางเดิน แต่เขาดันมีความเชื่อมั่นของเขา ผมเชื่อมั่นว่าเขาเห็นแล้วล่ะ แต่เราดันมองไม่เห็น เขาเห็นว่าภูเขานี้เป็นทองทั้งภูเขา แต่เรามองไปก็มีแต่ต้นไม้กับหินดิน ก็ยังไม่กล้าลงทุนกับเขา" ธนินท์ระบุ

2. "เราผูกขาดที่ไหน แต่เราทำก่อน"

ก่อนเกิดร้านสะดวกซื้อ 7-11 และธุรกิจเลี้ยงไก่และทำอาหารสัตว์แบบครบวงจร ธนินท์ เคยไปดูงานที่ประเทศสหรัฐฯ ทว่าถูกนักธุรกิจอเมริกันที่เป็น "ต้นตำรับ" กิจการ ปรามาสว่า "เป็นไปไม่ได้" และ "ยังไม่ถึงเวลา" ที่จะใช้รูปแบบธุรกิจเดียวกันนี้ในประเทศไทย

"อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าผมทำสำเร็จ คนอื่นก็จะไม่ได้ทำ เพราะผมทำแต่ผู้เดียว เหมือนกับผมเลือกของที่ยาก คนฉลาดไม่เอาหรอกครับ คนฉลาดชอบอะไรที่ง่ายและสำเร็จได้ง่าย แต่ผมไม่ใช่ ผมต้องดูว่ายากที่สุดแล้วมีอนาคตไหม ถ้ายาก แต่ไม่มีอนาคต ผมก็ไม่เอา แต่ถ้ายากแล้วมีอนาคต ธุรกิจจะยิ่งใหญ่ ผมจะเข้าไป"

7-11

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

เขาขยายความว่า เหตุที่เลือกทำของยากที่สุดเพราะคนเก่งจะได้ไม่มา เนื่องจากคนเก่งคนฉลาดจะเห็นว่ามันไม่มีทางสำเร็จหรอก ให้เขาทำไปเถอะ ไม่เป็นไร ล้มละลายแน่ ซึ่งถือเป็นการเห็นโอกาสก่อน และลงมือทำก่อน แต่ถึงกระนั้นก็ยอมรับว่าซีพีเจอปัญหาเหมือนกัน

"มันเหมือนต่อยมวย ขึ้นเวทีมีคนเดียวเท่านั้น สะดุดขาล้มไปนับ 10 ตื่นขึ้นมาก็เป็นแชมป์เพราะไม่มีคู่ต่อย ถ้าเราสำเร็จเมื่อไร คนขึ้นมาตามก็สายไปแล้ว ซีพีถึงถูกมองว่าผูกขาด พวกคุณต้องเข้าใจ เราผูกขาดที่ไหน แต่เราทำก่อน" และ "ตอนเราสำเร็จ ค่อยมาตามช่วงนั้น เราก็ผูกขาดไปแล้ว แต่ไม่มีใครให้เราผูกขาดนะ รัฐบาลไม่ให้ กฎหมายไม่ให้ผูกขาด"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ตื่นจนนอน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากชั้นผลิต ค้าส่ง ค้าปลีก จนถึงผู้บริโภค คนไทยต้องเจอกับผลิตภัณฑ์ของซีพี จึงเกิดคำถามที่ว่ามีอะไรบ้างไหมที่ซีพีจะไม่ทำ เจ้าสัวธนินท์บอกว่า ธุรกิจสำคัญของเครือซีพีจะควบคู่กับ "ความเป็นมนุษย์" เช่น ธุรกิจค้าปลีกก็เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์

3. ยึดสูตรบริหารความเสี่ยง 70-30

"ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง" เป็นประโยคคุ้นหูของคนทั่วไป แต่ความเสี่ยงระดับไหนที่เจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่กล้าได้-กล้าเสี่ยง ธนินท์เฉลยนโยบายของเครือซีพีว่า "เสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ให้ล้มละลาย" โดยเขาจะลงทุนก็ต่อเมื่อประเมินแล้วได้ 70% เสี่ยง 30% เพราะไม่มีอะไรที่ 100% หรือ 50-50 ถ้าจะเอา 50-50 ต้องไปเล่นพนัน

ทว่าหากโครงการใหญ่มาก ถึงขั้นทำให้ซีพีล้มละลายได้ "ผมไม่เอา แม้ว่าเสี่ยง 10 ผมก็ไม่เอา เราไปหาเรื่องทำไม และเวลาเสี่ยงต้องเสี่ยงแล้วต้องไม่ล้มละลาย อย่าเล่นอะไรที่เกิน เพราะเสี่ยงแล้ว ไม่มีใครกล้ารับรอง มันเกิดอุบัติเหต เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ทำใหญ่ยิ่งใหญ่ยิ่งเสี่ยงสูง ถ้าทำใหญ่แล้วเกินความสามารถล้มละลายได้"

ธนินท์

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

4. หากเจอวิกฤต "อย่าตาย" แต่ให้เลือก "ทิ้งบางอย่าง"

นอกจากความสำเร็จ ธนินท์ยอมรับว่าเคยประสบความล้มเหลวชนิดที่เขารู้สึก "มืดแปดด้าน" เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่รู้จักในนาม "ต้มยำกุ้ง" หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จากเคยมีหนี้ 25 บาท ทะยานขึ้นไปเป็น 55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ซีพีประสบปัญหาหนักเพราะกู้เงินจากต่างประเทศ

ธนินท์เล่าว่า ได้ปิดห้องเจรจาในหมู่ 4 พี่น้องว่าจะรักษาธุรกิจเดิมของครอบครัว นั่นคือ สินค้าเกษตรทั้งหลายไม่ให้ล้มละลาย และจะขายธุรกิจใหม่ที่ตัวเขาสร้างขึ้น ขอให้เขาปวดหัวคนเดียว ส่วนอีก 3 คนไปเที่ยวให้สบายใจได้เลย

"ตอนวิกฤต เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้หรอก เราต้องทิ้งบางอย่าง เราต้องดูว่าอันไหนสำคัญแล้วต้องรักษาไว้ และก็ต้องสำคัญด้วยถึงจะขายได้ตอนวิกฤต ถ้าไม่สำคัญ ไม่ดี ก็ขายไม่ได้ จึงมีบทเรียนเตือนว่าเวลาจะทำอะไรต้องทำในสิ่งที่โลกยอมรับและเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ไม่เช่นนั้นพอวิกฤตแล้วให้เขาฟรี เขายังไม่เอาเลย" ธนินท์กล่าว

เจ้าสัวธนินท์ถ่ายรูปกับลูก ๆ และหลาน ๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดีในงานเปิดตัวหนังสือ

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

คำบรรยายภาพ, เจ้าสัวธนินท์ถ่ายรูปกับลูก ๆ และหลาน ๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดีในงานเปิดตัวหนังสือ

ในเวลานั้น เจ้าสัวธนินท์เลือกตัดขายห้างค้าปลีกโลตัส และห้างค้าส่งแมคโคร เพื่อใช้หนี้ที่ก่อไว้ในต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นจะถูกจัดให้ล้มละลาย และเสียเครดิตที่สั่งสมมาทั้งหมด ซึ่งเครือซีพีถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 50 ของโลก และอันดับ 11 ของเอเชีย

"เรือมันเจอพายุแล้ว เราต้องทิ้งของบางส่วน เราต้องรักษาเรือลำนี้ให้อยู่รอดก่อน แล้วเราค่อยหาคืนมา ประสบการณ์บอกเรา ถ้าอันนี้ก็จะรักษาไว้ อันนั้นก็จะรักษาไว้ สุดท้ายล้มทั้งลำ ก็เหลือที่มีอนาคต โดยเฉพาะที่พี่น้องสร้างเอาไว้ ผมต้องรักษาไว้เอาไว้ก่อน"

นักธุรกิจวัย 80 ยังแนะนำ "คาถาฝ่าวิกฤต" ให้แก่บรรดานักธุรกิจรุ่นใหม่ สรุปได้ดังนี้

  • ก่อนวิกฤต - "อย่าเหลิง" คิดว่าเรามันยิ่งใหญ่แล้ว เราร่ำรวยแล้ว และต้องคิดเสมอว่าถ้ามีวิกฤตจะรับมืออย่างไร
  • ช่วงวิกฤต - "อย่าท้อ" แสงสว่างจะมาแล้วถ้าเราผ่านไปได้ และต้องคิดว่าหลังจากวิกฤตมีโอกาสอะไร และ "อย่าตาย" ต้องแก้ปัญหา

"อย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ เราถึงจะมีโอกาสคืน เป็นประสบการณ์ความรู้แล้ว เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ถ้าตายไปก็ไม่มีอะไร เอาคืนไม่ได้แล้ว หมดโอกาสแล้ว วิกฤตก็ตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤต อันนี้คู่กัน" ธนินท์กล่าว

5. ติงรัฐบาลต้องร่วมเล่นเกมเสี่ยงกับเอกชน สร้างไฮสปีด 3 สนามบิน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจาก "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ธนินท์ ยังเชื่อว่าโอกาสอยู่กับประเทศไทย

"ถ้าเมืองไทยทำเป็นนะ เป็นโอกาส เป็นโอกาสอย่างยิ่งเลย แต่รู้สึกว่ายังทำไม่เป็น ความจริงอย่างสหรัฐฯ กับจีนมีปัญหากัน เป็นโอกาสของไทยอย่างยิ่งเลย คนจะย้ายฐานจากจีน บางอย่างจะไปขายให้สหรัฐฯ มาเมืองไทยดีที่สุด แต่ถ้าไม่ฉวยโอกาสไว้ก็ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย โอกาสก็หายไปเป็น 10 ปี"

สงครามการค้า

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

อีกประเด็นที่ ธนินท์ พาดพิงรัฐบาลคือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เม็ดเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งเขายอมรับว่าซีพีเสี่ยง แต่มีโอกาสสำเร็จ หากรัฐบาลเข้าใจ

"เรื่องนี้เรื่องของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจแท้ ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เขาตั้งชื่อว่า PPP (ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน หรือ Public Private Partnership) คือรัฐร่วมกับเอกชน เอาจุดเด่นมาบวกกัน แล้วมาลบจุดอ่อนของรัฐบาล แต่พอ TOR (เงื่อนไขการประกวดราคา) เขียนแล้วไม่ใช่ รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยง สองคนต้องมาเป็นคู่ชีวิตเลยน่ะ เสี่ยงด้วยกัน ถ้าจะล่มก็ต้องล่ม ไม่ใช่เอกชนมาเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง นี่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเลย"

ผู้ทรงอิทธิพลสุดแห่งอาณาจักรแสนล้านบอกต่อไปว่า การเชื่อมต่อ 3 สนามบิน จะทำให้คนอยู่ระยอง เดินทางมากรุงเทพฯ ได้ภายในระยะเวลาแค่ 45 นาที ซึ่งในหลายประเทศทำแล้ว เช่น จีน ต่อไปทุกอย่างต้องรวดเร็ว ถ้าเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไม่เกิด เรากำลังถดถอย เพราะนักลงทุนจะย้ายฐานไปลงทุนในเวียดนามซึ่งมีประชากรกว่า 100 ล้านคน และอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรกว่า 300 ล้านคน

6. นิยาม "ผู้นำที่ดี" ต้องยกประโยชน์องค์กรเป็นอันดับแรก

ปัจจุบันอาณาจักรซีพีมีพนักงานทั่วโลกกว่า 3 แสนคน ที่อยู่ใต้ปกครองของตระกูล "เจียรวนนท์" แล้วนิยาม "ผู้นำที่ดี" ในทัศนะของ ธนินท์ เป็นอย่างไร

เขาตอบว่า ผู้นำต้องเอาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ที่โหล่ ผลประโยชนที่ 1 คือบริษัท "เพราะบริษัทไม่มีวิญญาณ ตัวผู้นำต้องใส่วิญญาณให้บริษัท บริษัทถึงจะมีวิญญาณ ถ้าเขาเห็นแก่ตัว บริษัทล้มละลายแน่ ต้องเห็นแก่บริษัท จากนั้นต้องเห็นแก่ประโยชน์พนักงาน เพราะถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานช่วยทำ คุณคนเดียวจะสำเร็จได้อย่างไร จากนั้นถึงเป็นประโยชน์ของคุณ"

ส่วนการสนับสนุนคนเก่งแบบ "ธนินท์สไตล์" ต้องให้ "อำนาจ" เป็นอย่างแรกเพื่อให้คนเหล่านั้นมีโอกาสแสดงความสามารถ "ชี้แนะได้ แต่อย่าชี้นำ เหมือนคนนี้มีโอกาสเป็นพระเอก แต่เขาไม่มีโอกาสแสดง คนก็ไม่รู้ว่าเขามีความสามารถแค่ไหน" ดังนั้นต้องให้โอกาสคือให้อำนาจ แล้วจึงให้เกียรติคือให้ "ตำแหน่ง" และตามด้วยให้ "เงิน" พอสมควร

เจ้าสัวซีพี

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

เคล็ด(ไม่)ลับของ ธนินท์

  • ในวัยเด็ก เคยมีความฝันว่าจะเป็นนักสร้างหนัง ชอบไปดูการถ่ายทำและอยากเขียนบทหนัง
  • ปัจจุบัน รับประทานไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ฟองไม่เคยขาด เพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ดี
  • ถือว่าไปทำงานคือการไปเที่ยว และการเจออุปสรรคเป็นอาหาร 3 มื้อ

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำกล่าวของ ธนินท์ เจียรวนนท์ บนเวที Exclusive Talk เมื่อ 6 ต.ค. 2562 จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน