ประยุทธ์ ชูปฏิรูปชวนฝรั่งเศสลงทุน ธุรกิจอาวุธ ความมั่นคงไซเบอร์สนใจไทย

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, "ขอเชิญชวนนักลงทุนจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ด้วยรัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ..." พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีของไทยย้ำต่อนักลงทุนฝรั่งเศสอีกครั้งว่าจะจัดการเลือกตั้งต้นปีหน้า โดยได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนดังกล่าวมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่รัฐบาลมุ่งหน้าสู่การปฏิรูปในทุกมิติ

ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีขึ้นระหว่างการกล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum ซึ่งจัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส MEDEF International ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอร่วมด้วย

"ขอเชิญชวนนักลงทุนจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ด้วยรัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ โดยการปฏิรูประบบราชการและการอำนวยความสะดวกนั้นเป็นหนึ่งใน 5 เรื่องเร่งด่วน (Quick Win) ที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าตามโรดแม็พ 3 ระยะสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศไทยกำลังอยู่ช่วงท้ายของระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะที่ 3 นั่นคือการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยและส่งมอบภารกิจให้แก่รัฐบาลชุดต่อไป" นายกฯ กล่าว

หัวหน้ารัฐบาล คสช. ยังระบุอีกว่า สำหรับกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ที่ครอบคลุมการพัฒนาในหลายมิติ รวมถึงมีแผนการปฏิรูปด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และระบบขนส่งสาธารณะแบบราง การขยายท่าเรือ สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงความเจริญเติบโตเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

มีธุรกิจอาวุธอย่างน้อย 8 รายสนใจ

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในไทยเผยมีบริษัทฝรั่งเศสอย่างน้อย 50 รายยืนยันเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาลไทยในระหว่างการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านอากาศยาน อวกาศยานยุทโธปกรณ์และความมั่นคงทางไซเบอร์ชั้นนำร่วมด้วย 8 ราย

พล.อ. ประยุทธ์จะเดินทางฝรั่งเศสในระหว่าง 22-26 มิย. และจะเข้าหารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในวันนี้ (25 มิ.ย.)

ที่มาของภาพ, BBCTHAI/EPA

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์จะเดินทางฝรั่งเศสในระหว่าง 22-26 มิย. และจะเข้าหารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในวันนี้ (25 มิ.ย.)

ผู้ประกอบการแปดรายดังกล่าว แบ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอากาศยาน อวกาศยาน และยุทโธปกรณ์ห้าราย ได้แก่ แอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ (Airbus Defense & Space), นาวาล กรุ๊ป (Naval Group), แซฟราน (Safran), ทาเลส (Thales) และ ดีซีไอ (Defense Conseil International)

ในกรณี แอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ นั้นทางการไทยจะทำสัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส 2 ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กับแอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ หลังจากที่เคยใช้ดาวเทียมธีออส หรือดาวเทียมไทยโชต เมื่อกว่าสิบปีก่อน

กองทัพไทยเป็นลูกค้าของบริษัทแอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซมาอย่างยาวนาน โดยมีเครื่องบินหลากหลายรุ่นประจำการกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ราว 40 ลำ ซึ่งรวมถึง เฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดียวขนาดเบา เช่น เอช125เอ็ม เฮลิคอปเตอร์สองเครื่องยนต์ อย่างเช่น เอช145, เอช145เอ็ม, ยูเอช72, เฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสองเครื่องยนต์ อย่างเช่น เอเอส365, เอช155, เอช175, และเฮลิคอปเตอร์กลยุทธ์หนัก อย่าง เอช225เอ็ม

ดาวเทียมไทยโชต

ที่มาของภาพ, www.gistda.or.th

คำบรรยายภาพ, แอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ เคยทำสัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส หรือดาวเทียมไทยโชต กับรัฐบาลไทยมาแล้ว ซึ่งดาวเทียมดังกล่าว ใช้สำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ในวันพุธที่ 1 ต.ค. 2551

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกของแอร์บัสอีกสองแห่ง คือ แซฟรานและทาเลส เข้ามาร่วมมือกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เป็นผู้ดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานให้แก่ส่วนราชการต่างๆ

ในเว็บไซต์ของทาเลส ระบุว่า ในระหว่างงาน Defense & Security 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่ไทย ทาเลสได้ลงนามความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือในด้านการสื่อสารทางดิจิทัล ระบบป้องกันประเทศทางอากาศ และระบบสังการและควบคุม เพื่อให้อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของไทยก้าวไปสู่ผู้เล่นสำคัญในระดับโลก ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โลโก้ทาเลส

ที่มาของภาพ, SOPA Images/LightRocket via Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทาเลส คือ หนึ่งในผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการประชุมกับทางการไทยเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี

ที่น่าสนใจคือ ผู้เล่นรายใหม่คือ นาวาล กรุ๊ป และดีซีไอ โดยปัจจุบัน นาวาล กรุ๊ป ผู้นำด้านการป้องกันประเทศทางทะเล มีธุรกิจใน 18 ประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ยังไม่มีที่ไทย ส่วนดีซีไอ เป็นหน่วยงานด้านการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านป้องกันประเทศจากกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสสำหรับพันธมิตรต่างประเทศในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการป้องกันประเทศแบบปกติ หรือแนวป้องกันด้านไซเบอร์

นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์, เทคโนโลยีด้านการจดจำอัตลักษณ์บุคคล และระบบความปลอดภัยดิจิทัลทางการเงิน อีกสามราย ได้แก่ เอฟเวอรีเกตส์ (EveryGates), เกมัลโต (Gemalto) และไอดีเมีย ไอเดนทิตี แอนด์ ซิเคียวริตี (Idemia Identity and Security)

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยระบุว่า ใช้ระยะเวลาในการเตรียมงานและประสานงานเอกชนฝรั่งเศสพบกับคณะผู้แทนทางการไทย รวมทั้งการพบกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันนี้ (25 มิ.ย.) ราวสองเดือน

หวัง อีอีซี กระตุ้นเอกชนฝรั่งเศสลงทุนไทยมากสุดในรอบสิบปี

ตามเอกสารของสื่อมวลชนในการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำรัฐบาล คสช. ในทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส จะเน้นในสามมิติคือ มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และการเมือง สำหรับการเมืองนั้นคือ การเดินทางไปเยือนครั้งนี้ เป็นการยืนยันกับอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับห้าของโลก และฝรั่งเศสซึ่งมีเศรษฐกิจอันดับที่เจ็ดของโลก ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปีหน้า

แต่ไฮไลท์คือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งชูโรงโดยโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจอย่างมากของผู้ประกอบการฝรั่งเศส

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "MRO คาดว่าจะเป็นโครงการเรือธง ส่วนหนึ่งของการลงทุนอีกหลายหลายของฝรั่งเศส โดยเฉพาะการสร้างชุมชนการบินใหม่ (new aeroville) รอบ ๆ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา" นายการาชงกล่าว

นายจิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า สถานทูตฯ ได้ติดตามโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO: Maintanance Repair and Overhaul Center รวมทั้งการขยายฝูงบินของการบินไทยอย่างใกล้ชิด

"MRO คาดว่าจะเป็นโครงการเรือธง ของการลงทุนจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะการสร้างชุมชนการบินใหม่ (new aeroville) รอบ ๆ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา" นายการาชงกล่าว และว่า นอกจากแอร์บัสแล้วยังมีบริษัทฝรั่งเศสอีกหลายรายที่สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่รอบ ๆ สนามบินอู่ตะเภา ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการบินส่วนบุคคล การบริหารสนามบินและอากาศยานและการบำรุงรักษา

ร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแน่

นายการาชง กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการฝรั่งเศสอย่างเช่น แทรนสเดฟ (Transdev), เอจีส (Egis), อาร์เทเลีย (Artelia) และ ซิสทรา (Systra) สนใจในการนำเสนอเทคโนโลยีและวิศวกรรมสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) ด้วย นอกจากนี้ยังมีบริษัท ทาเลส และอัลสตอม ได้แสดงความสนใจที่จะให้บริหารระบบสัญญาณในระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวอีกด้วย

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
คำบรรยายภาพ, โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการฝรั่งเศส เช่น แทรนสเดฟ (Transdev), เอจีส (Egis), อาร์เทเลีย (Artelia) และ ซิสทรา (Systra)

นอกจากนี้ยังมีเอกชนรายใหม่ที่สนใจในการเข้าบริหารสนามบินผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับเอกชนผู้ร่วมหรือ PPP เช่น ADP Group ซึ่งบริหารสนามบินหลายแห่งในกรุงปารีส กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างและสัมปทาน Vinci และ กลุ่มผู้บริหารสนามบิน Egis Aviation ซึ่งทั้งหมดต้องการขยายธุรกิจในประเทศไทย

ทั้งนี้ปัจจุบันในพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการอีอีซีได้มีเอกชนฝรั่งเศสลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมิชิลิน, ชไนเดอร์ อิเล็คทริค, เอสซีลอร์,​ แซง-โกแบ็ง ก็ตอบรับการเข้าร่วมการพบปะทางการไทยและเอกชนไทยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งจากฝรั่งเศส สนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ซึ่งในวันที่ 2 ก.ค.นี้ จะมีการจัดงาน Thai-French Smart City Forum ในการส่งเสริมการลงทุนในโครงการดังกล่าวในพื้นที่โครงการอีอีซี

ชวนนักลงทุนฝรั่งเศสลงพื้นที่อีอีซีภายในปีนี้

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า บริษัทชั้นนำของฝรั่งเศสมีความตื่นตัวในเรื่องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี โดยเบื้องต้นทราบว่าเอกชนฝรั่งเศสมีความสนใจในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ยานยนต์อนาคต การเกษตรและชีวเศรษฐกิจ (Bio-Economy) พลังงานรูปแบบใหม่ เมืองอัจฉริยะ Smart City รวมไปถึงภาคบริการ เช่น การศึกษา และการท่องเที่ยวด้วย

นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายอุตตม เปิดเผยว่า ได้เชิญชวนคณะผู้ประกอบการนักลงทุนฝรั่งเศสเดินทางมาเยือนไทยและลงพื้นที่อีอีซีภายในปีนี้

นอกจากนี้ทางภาครัฐและเอกชนไทยยังได้ประสานงานกับสภาผู้จ้างงานของฝรั่งเศส (Mouvement des entreprises de France - MEDEF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจของฝรั่งเศสเป็นสมาชิกมากกว่า 750,000 ราย และเชิญชวนคณะผู้ประกอบการนักลงทุนฝรั่งเศสเดินทางมาเยือนไทยและลงพื้นที่อีอีซีภายในปีนี้

สำหรับกำหนดการในวันนี้ (25 มิ.ย.) ของทางการไทย จะมีการจัดงาน Transforming Thailand : Thailand-France Partnership เพื่อชี้แจงโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนของไทยในพื้นที่อีอีซี โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายในหัวข้อ "Driving Transformation through Thailand 4.0 and Eastern Economic Corridor" นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการลงนามความเข้าใจ หรือเอ็มโอยูหลายฉบับ อาทิ ความร่วมมือระบบ Digitalization และ Visualization ระหว่างบริษัท PTTGC กับ Dassault System และ ความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ระหว่างบริษัท Loxley กับ POMA อีกด้วย

เน้นการค้าอย่างสมดุล

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย บอกอีกว่า แม้คาดการณ์ว่าจะมีการค้าการลงทุนจากฝรั่งเศสมากขึ้น

เครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การบินไทยระบุมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 20 ลำในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะจัดซื้อจากแอร์บัส 10 ลำ

แต่ยังคงจะรักษาให้ระดับการค้าระหว่างไทย-ฝรั่งเศสมีความสมดุลเช่นนี้ต่อไป

ปัจจุบัน ด้านการค้าระหว่างฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับฝรั่งเศส ในปี 2560 การค้าไทย-ฝรั่งเศสมีมูลค่าราว 1.78 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออก 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่านำเข้าสูงถึง 1.18 แสนล้านบาท โดยสินค้าหลัก ๆ ที่ไทยนำเข้าจากฝรั่งเศสคือ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เป็นสัดส่วน 47% ของมูลค่าการนำเข้า ส่วนสินค้ารองลงมาคือ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์

ในขณะที่ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปยังฝรั่งเศสมากที่สุด ตามมาด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

นายการาชง ยอมรับว่า อากาศยานส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาในไทย ก็มาจากแอร์บัส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก

ในแผนการเพิ่มฝูงบินของการบินไทยในอนาคตนั้น นายกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารพันธมิตรการบินและกลยุทธ์การพาณิชย์ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า มีแผนจะจัดซื้อเพิ่มอีก 20 ลำ โดยจะจัดซื้อจากแอร์บัส 10 ลำ ที่เหลือจะสั่งซื้อจากโบอิ้ง บริษัทผลิตเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา