ประชุมสภา : เจาะงบดับไฟใต้ 3.6 หมื่นล้าน อยู่ในมือกองทัพบกมากที่สุด 4.2 พันล้าน

ทหารภาคใต้

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ในวันที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท มี ส.ส. มุสลิมตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดสรร "งบลับ" ให้ ศอ.บต. ในภารกิจดับไฟใต้ "เท่ากันทุกปี" อีกทั้งยังทุ่มงบ 6,174 ล้านบาท (คิดเป็น 16.9%) ไปกับ "งานก่อสร้างถนน"

การอภิปรายของ พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เริ่มต้นจากการสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 15 ปี (ม.ค. 2547-พ.ค. 2562) พบว่า เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทั้งสิ้น 20,376 ครั้ง หรือคิดเป็น 3.64 ครั้ง/วัน มีผู้เสียชีวิต 7,017 ราย ผู้บาดเจ็บ 13,673 ราย หญิงหม้าย 3,075 ราย หรือคิดเป็น 0.54 ราย/วัน และมีเด็กกำพร้า 6,575 ราย หรือคิดเป็น 1.17 ราย/วัน

เหตุที่เธอยกสถิติไฟใต้ในพื้นที่ปลายด้ามขวานขึ้นมาพูด เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2562 มาตรา 37 งบสำหรับแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 10,865.5 ล้านบาท ได้ถูกปรับลดลงจากปีก่อนหน้านี้ 10% หรือคิดเป็นงบ 1,159.8 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยังกำหนดตัวชี้วัดว่าความรุนแรงต้องลดลง 20%

หมอเพชรดาว

ที่มาของภาพ, Thai news pix

อย่างไรก็ตาม ส.ส. หญิงรายนี้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ยังตั้งเป็นงบปกติของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่มีกิจกรรมอะไรเด่นชัด ทั้งที่มีเด็กกำพร้าในพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นจำนวนมาก และ "เด็กเหล่านี้เปรียบเสมือนลูกระเบิดรอการปะทุ หากไม่ได้รับการเยียวยาจิตใจ"

ตั้งงบงานมั่นคง-การทหาร 1.34 หมื่นล้าน คิดเป็น 36.4%

เธอยังได้แสดงแผนผังการจัดสรรงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ภายใต้กรอบวงเงินรวม 36,561.4 ล้านบาท นอกจากงบที่ปรากฏในแผนงานบูรณาการฯ 10,865.5 ล้านบาท รัฐบาลยังตั้งงบในแผนงานอื่น ๆ อีก 25,696 ล้านบาท

แผนผังที่ พญ. เพชรดาว นำมาประกอบการอภิปรายแสดงให้เห็นแผนงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 ด้าน ที่น่าสนใจคือ มีการตั้งงบงานความมั่นคงและการทหารถึง 13,299.4 ล้านบาท (คิดเป็น 36.4%) รองลงมาคืองานพัฒนา 8,952 ล้านบาท (คิดเป็น 24.5%) และงานก่อสร้างถนน 6,174 ล้านบาท (คิดเป็น 16.9%)

งบไฟใต้

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ส.ส. มุสลิมในสังกัดพรรครัฐบาลยังระบุด้วยว่ามีการตั้งเงินราชการลับรวม 26 รายการในสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหม ซึ่งส่วนตัวไม่คัดค้านหรือขัดข้อง แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบางหน่วยงานถึงตั้งงบลับเท่ากันทุกปี เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งงบลับ 20 ล้านบาททุกปี "แสดงว่าทำเหมือนเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาดีหรือไม่ มีการประเมินการทำงานบ้างหรือไม่อย่างไร" พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบลับให้ประชาชนในฐานะเจ้าของภาษีได้รับทราบในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

"ช่อ" ชี้5 ปี ประยุทธ์ ใช้งบดับไฟใต้วันละ 56 ล้าน

ด้าน น.ส. พรรณิการ์ วานิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อภิปรายว่า พล.อ. ประยุทธ์ สมควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด เพราะเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในความขัดแย้งของพื้นที่ โดยอยู่มา 5 ปีงบประมาณ ใช้งบแก้ปัญหาไป 81,924 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินภาษีของประชาชนวันละ 56 ล้านบาท

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส.ส. หญิงจากฝ่ายค้านยังชี้ให้เห็น 2 ปัญหาในการตั้งงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ภายใต้วงเงิน 36,561.4 ล้านบาท

  • กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีอำนาจ "แทรกแซงงบก้อนใหญ่" โดยเฉพาะการจัดสรรงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ กอ.รมน. เบิกจ่ายงบปี 2561 ได้เพียง 77% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจ "โยกงบข้ามหน่วยงาน" ได้ ซึ่งถือเป็นการ "ข้ามหัวสภา" ทั้งที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องผ่านสภา แต่ใน พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ได้เปิดทางให้ ครม. โยกงบในแผนบูรณาการฯ ได้ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ในปี 2561 เมื่อมีการโยกงบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปให้ กอ.รมน.
งบประมาณ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อัดทุ่มงบหมื่นล้าน "ปรับทัศนคติประชาชน"

การกำหนดผลสัมฤทธิ์ตามแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 10,865.5 ล้านบาท ไว้ว่า "ประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ มุมมอง ตลอดจนมีจิตสำนึกในการรักชาติ หวงแหนแผ่นดินเกิด และมีความรู้สึกดีต่อหน่วยงานทหาร" ได้สร้างความแปลกประหลาดใจให้แก่ น.ส. พรรณิการ์

"สรุปแล้วใช้งบหมื่นล้านบาทในการปรับทัศนคติประชาชนหรือ" เธอตั้งคำถาม

เช่นเดียวกับการกำหนดตัวชี้วัด 3 ตัว ได้แก่ เหตุรุนแรง/สูญเสียลดลง 20%, เศรษฐกิจในพื้นที่โตขึ้น 10% และหน่วยงานจัดกิจกรรมร่วมกับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 90% ทำให้ ส.ส. หญิงรายนี้โยนคำถามอีกข้อว่า "การจัดโครงการบรรลุได้ 90% ถือเป็นความสำเร็จแล้วหรือ" ขณะที่ตัวชี้วัดสำคัญที่ตกหายไปคือความก้าวหน้าในการพูดคุยสันติสุข ทั้งที่การสำรวจความคิดเห็น Peace Survey พบว่า ประชาชนในพื้นที่ 65% เห็นว่าการพูดคุยสันติสุขคือแนวทางหลักในการแก้ปัญหา

"เมื่อตัวชี้วัดนี้ไม่ถูกพูดถึง จึงไม่ทราบว่าความฝันในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาล เป็นความฝันเดียวกับประชาชนหรือไม่" น.ส. พรรณิการ์ ระบุ

ไฟใต้

ที่มาของภาพ, Getty Images

โฆษก อนค. ยังตั้งข้อสังเกตลงลึกไปรายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการด้านการข่าวของกระทรวงมหาดไทย ตั้งงบไว้ 932 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ไม่ถึง 600 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า "งบจังหวัด

"แทนที่ท่านจะแก้ปัญหาที่ต้นเหต กลับใช้งบนี้ปรับทัศนคติ ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ต้องการให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีกับหน่วยทหาร... ทั้งหมดนี้ไม่ได้ดับไฟใต้ มีแต่เติมไฟ" น.ส. พรรณิการ์ กล่าว

เธอยังวิจารณ์รัฐบาลว่ามีปัญหาในการมองปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ไฟใต้จะดับใต้ ต้องจับโจรที่ทำผิดกฎหมาย และแก้ไขปัญหาชาวบ้านยากจน สมการนี้ไม่ผิด แต่ไม่ครบถ้วน เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่คือปัญหาการเมือง ไม่ใช่ปัญหาการทหาร แต่คือปัญหาทางการทูต ไม่ใช่พื้นที่ทหาร แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ภายหลังการอภิปรายของฝ่ายค้าน พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช. กลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตั้งงบดับไฟใต้ของรัฐบาลว่าเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน และบอกว่ายังสามารถปรับแผนงานกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องได้

กองทัพบกรับงบดับไฟใต้มากที่สุด 4.2 พันล้าน

บีบีซีไทยตรวจสอบเอกสารงบประมาณปี 2563 เพิ่มเติม พบว่า งบแผนงานบูรณาการฯ 10,865.5 ล้านบาท กระจายอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมอยู่ในส่วนนี้, กระทรวง 15 กระทรวง, ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี/กระทรวง ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อยู่ในส่วนนี้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

สำหรับหน่วยงานที่ได้งบหลักพันล้านบาทมี 4 หน่วยงาน ที่น่าสนใจคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้งบ 2,209.9 ล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหมได้งบ 1,584 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทัพบก 789.9 ล้านบาท, กองทัพเรือ 716.9 ล้านบาท, กองทัพอากาศ 8.9 ล้านบาท และกองบัญชาการกองทัพไทย 68.3 ล้านบาท

ด่านความมั่นคง จ.ยะลา

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

อย่างไรก็ตามยังมี "งบซุกซ่อน" อยู่ตามแผนงานอื่น ๆ อีก 25,696 ล้านบาท โดยมี 8 หน่วยงานที่ได้งบส่วนนี้ทะลุหลักพันล้านบาท ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในงานก่อสร้างถนน ทั้งในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงสังกัดกระทรวงคมนาคม

ขณะที่ กอ.รมน. ได้งบก้อนนี้ไป 1,529.1 ล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหมได้งบ 5,658.1 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทัพบก 3,439.2 ล้านบาท, กองทัพเรือ 629.6 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 2.2 ล้านบาท

เมื่อรวมงบทั้ง 2 ก้อน ทำให้มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 36,561.4 ล้านบาท โดยอยู่ในมือกองทัพบกมากที่สุด 4,229.1 ล้านบาท รองลงมาคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 3,775.2 ล้านบาท และ กอ.รมน. 3,739.1 ล้านบาท

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมจากเอกสารงบประมาณปี 256, ข้อมูลจากเครือข่ายติดตามงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประยุทธ์ ฉุนถูกวิจารณ์เอาความทุกข์ร้อนคน 3 จช. "แสวงหาผลประโยชน์"

วานนี้ (17 ต.ค.) นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ หรือทนายแวยูแฮ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า การตั้งงบดับไฟใต้ของรัฐบาลได้อาศัยกฎหมายวิธีการงบประมาณซ่อนอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ จึง กลายเป็นว่างบแก้ปัญหาภาคใต้มี 2 ก้อน แต่ถึงกระนั้นการจัดสรรงบได้เน้นไปที่งบด้านการทหาร และ "ใช้การทหารนำการเมือง" ขณะที่ความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาชายแดนใต้ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสำคัญน้อยมาก สะท้อนผ่านการจัดสรรงบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กระทรวงยุติธรรมเพียง 6 ล้านบาทเศษ

ยะลา

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

"ผมไม่อยากได้ยินคนเขาพูดว่าการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาศัยวิกฤตความทุกข์ร้อนของคนใน 3 จังหวัดเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์… ผมอยากเห็นการจัดสรรงบประมาณให้มีการแก้ไขตรงกับความต้องการของประชาชน" นายกมลศักดิ์ กล่าว

คำอภิปรายของ ส.ส. ฝ่ายค้านรายนี้ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ต้องลุกขึ้นชี้แจง โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเอกภาพมากขึ้น ไม่ได้ใช้กำลังทหารอย่างเดียว แต่มีการสร้างเครือข่ายเพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติสุข แม้ตัวเลขการสูญเสียจะลดลง แต่ก็ยังไม่พอใจเพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสียขึ้นเลย

พล.อ. ประยุทธ์ยังปฏิเสธเสียงวิจารณ์เรื่องการแสวงประโยชน์จากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบอกว่า "ผมไม่เอาชีวิตคนทุกคนมาเพื่อประโยชน์ของผมหรือของใครโดยเด็ดขาด ชีวิตใคร ๆ ก็รัก ผมรับผิดชอบเขา รับผิดชอบทหาร รับผิดชอบเมียและลูกเขา ผมจะให้มันสู้ไปทำไม เพื่อซื้ออาวุธ คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้... ไม่เหมาะจะพูดกันในสภาหรอก ชีวิตคนใครก็รัก ผมเป็นทหารเก่า ลูกน้องทุกคน ชีวิตเขา พาเขาไปรบ ถ้าตายใครรับผิดชอบ...ผมด้วย คิดอย่างนี้สิครับ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงอันดัง

นายก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ล่าสุดนายกฯ ออกมาอธิบายสาเหตุที่พูดจาเสียงดังว่าเพราะต้องการให้กำลังใจคนทำงาน เพราะต้องทำงานเสี่ยงตาย เสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต จนบาดเจ็บล้มตาย เพื่อดูแลบ้านเมืองและประชาชนให้ปลอดภัย

17 ปี ตั้งงบ "ดับไฟใต้" 3.3 แสนล้านบาท

เหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงนับจากปี 2547 ทำให้รัฐบาล 8 ชุด กำหนดให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นนโยบายด้านความมั่นคงที่สำคัญ และถมทั้งกำลังพลและงบประมาณลงพื้นที่ ผ่านมา 17 ปี พบว่า มีการจัดสรรงบดับไฟใต้กว่า 313,792.4 ล้านบาท

  • 2547 - 13,450 ล้านบาท
  • 2548 - 13,674 ล้านบาท
  • 2549 - 14,207 ล้านบาท
  • 2550 - 17,526 ล้านบาท
  • 2551 - 22,988 ล้านบาท
  • 2552 - 27,547 ล้านบาท
  • 2553 - 16,507 ล้านบาท
  • 2554 - 19,102 ล้านบาท
  • 2555 - 16,277 ล้านบาท
  • 2556 - 21,124 ล้านบาท
  • 2557 - 25,921 ล้านบาท
  • 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
  • 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
  • 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
  • 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
  • 2562 - 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
  • 2563 - 10,865.5 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)

ที่มา : สำนักข่าวอิศราและบีบีซีไทยรวบรวม