โนเบล : โอลกา ทอคาร์ตชูก และ เพเตอร์ แฮนต์เคอ คว้าโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2018 และ 2019

โอลกา ทอคาร์ตชูก และ เพเตอร์ แฮนต์เคอ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, โอลกา ทอคาร์ตชูก นักเขียนชาวโปแลนด์ เป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2018 และ เพเตอร์ แฮนต์เคอ นักเขียนชาวออสเตรีย เป็นผู้ชนะในปี 2019

โอลกา ทอคาร์ตชูก นักเขียนชาวโปแลนด์ และ เพเตอร์ แฮนต์เคอ นักประพันธ์ชาวออสเตรีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรมประจำปี 2018 และ 2019

ปีนี้มีการประกาศผลผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม 2 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2018 เนื่องจากไม่มีการมอบรางวัลดังกล่าวในปีที่แล้ว

คณะกรรมการรางวัลโนเบลของสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ตัดสินมอบรางวัลนี้ ได้งดการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2018 หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ

ทอคาร์ตชูก ซึ่งได้รับรางวัลแมนบุ๊กเกอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Man Booker International Prize) ในปีที่แล้ว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2018 ส่วนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ตกเป็นของ แฮนต์เคอ

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุในแถลงการณ์ว่า กวี นักแต่งนิยาย และนักเขียนบทละครชาวออสเตรียวัย 76 ปี ผู้นี้ได้รับการยอมรับว่า "ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีอิทธิพลด้วยภาษาที่งดงาม เกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ทั้งลุ่มลึกและผิวเผิน"

อย่างไรก็ตาม เขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการสนับสนุนชาวเซิร์บในสงครามยูโกสลาเวีย ช่วงทศวรรษ 1990 และจากการร่วมกล่าวคำอาลัยในงานศพของสโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตผู้นำชาวเซิร์บ เมื่อปี 2006 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจะได้รับเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 740,000 ปอนด์ (ประมาณ 27.5 ล้านบาท)

ในปี 2014 เขายังเรียกร้องให้ยกเลิกรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมด้วย โดยระบุว่า รางวัลนี้ทำให้ผู้ชนะเหมือนเป็น "นักบุญจอมปลอม" และ "ได้รับความสนใจอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง [และ] ถูกเขียนถึง 6 หน้าในหนังสือพิมพ์"

อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดงานระบุว่า ผู้ชนะรางวัลทั้ง 2 คน ยอมรับรางวัลในปีนี้ โดยแต่ละคนจะได้รับเงินรางวัลคนละ 9 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 27.5 ล้านบาท) รวมถึงเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตร

ผู้ชนะรางวัลโนเบลประจำปี 2018 ได้รับการประกาศชื่อล่าช้าไป 1 ปี เพราะเกิดวิกฤตขึ้นในคณะกรรมการรางวัลโนเบล หลังจากที่ ฌอง-คล็อด อาร์โนลต์ สามีของ คาทารินา ฟรอสเตนซอน สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบล เผชิญข้อกล่าวหาหลายข้อ และถูกลงโทษจำคุก 2 ปี เมื่อเดือน ต.ค. หลังจากที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดฐานข่มขืน

ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบล ระบุว่า ฟรอสเตนซอน ได้ถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการ นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังนำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการรั่วไหลของชื่อผู้ที่ชนะรางวัลโนเบล ส่งผลกระทบต่อ "ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อรางวัลโนเบล"

presentational grey line

การชื่นชมและการต่อต้านแฮนต์เคอ

คณะกรรมการรางวัลโนเบล ระบุว่า แฮนต์เคอ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในนักเขียนภาษาเยอรมันที่ช่วยจุดประกายความคิดผู้คนได้มากที่สุด เขามีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรมในช่วงทศวรรษ 1960 และ "ได้เป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในด้านนิยายร่วมสมัยมานานหลายสิบปี"

ผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึง A Sorrow Beyond Dreams ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 1975 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของแม่เขาในปี 1971

สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบล ระบุด้วยว่า พวกเขารู้สึก "ตกตะลึง" จากผลงานเรื่อง Die Obstdiebin ในปี 2017 "เขาได้สำรวจขอบเขตและสถานที่ที่ไม่เคยมีใครพบเห็นอย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะที่ยอดเยี่ยม"

เขายังเคยร่วมงานกับ วิม เวนเดอร์ส ผู้กำกับภาพยนตร์ โดยได้เขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Wings of Desire ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบาฟตาในปี 1987 ด้วย

เขาเป็นบุคคลที่พูดจาโผงผาง โดยได้แสดงความคิดเห็นที่สร้างความขุ่นเคืองขึ้นหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเขาปฏิเสธการสังหารหมู่ชาวเซิร์บที่เซเบรนิตซา (Srebenica) และยังเปรียบเปรยชะตากรรมของชาวเซิร์บกับชาวยิวในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย แต่ต่อมาเขาก็ได้ขอโทษที่ "พลั้งปาก"

ในปี 1999 เขาคืนรางวัลบื๊กเนอร์ (Buechner) รางวัลอันทรงเกียรติของเยอรมัน เพื่อประท้วงการที่นาโต ทิ้งระเบิดโจมตีเบลเกรด เขาจำใจต้องปฏิเสธรางวัลของเยอรมนีอีกรางวัลหนึ่งคือ รางวัลไฮน์ริก ไฮเนอ (Heinrich Heine) หลังจากมีผู้คัดค้านในปี 2006

เมื่อเขาเดินทางมารับรางวัลอิบเซน (Ibsen) ในนอร์เวย์เมื่อปี 2014 มีผู้คนประท้วงเขาพร้อมกับตะโกนคำว่า "ฟาสต์ซิสต์" และถือแผ่นป้ายที่เรียกเขาว่า "ผู้ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

presentational grey line

ทอคาร์ตชูก 'มองดูชีวิตจากเบื้องบน'

ทอคาร์ตชูก วัย 57 ปี ซึ่งถือว่าเป็นนักเขียนนิยายชั้นนำของโปแลนด์ในคนยุคเดียวกับเธอ ได้รับรางวัลจาก "จินตนาการที่มีการพรรณนาอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน เป็นตัวแทนของการก้าวข้ามพรมแดนของชีวิตรูปแบบหนึ่ง"

นักเขียนผู้นี้เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีที่สุดของโปแลนด์ ผลงานของเธอผสมผสานเรื่องจริงกับเรื่องลึกลับ

นิยายเล่มแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในปี 1993 และในอีก 3 ปีต่อมาได้มีผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Primeval and Other Times ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านในตำนานแห่งหนึ่ง และได้แกะรอยประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงทศวรรษ 1980"

คณะกรรมการระบุว่า "เธอเป็นนักเขียนที่มีผลงานเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็ได้แรงบันดาลใจจากแผนที่และแนวคิดที่คาดเดาได้ยาก เป็นการมองชีวิตจากเบื้องบน"

นอกจากนี้ยังระบุว่า ผลงานของเธอ "มุ่งเน้นไปที่การโยกย้ายและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม" และ "เต็มไปด้วยไหวพริบและเล่ห์เหลี่ยม"

ปีที่แล้ว เธอคว้ารางวัลแมนบุ๊กเกอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Man Booker International Prize) จากผลงานเรื่อง Flights หลังจากที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในโปแลนด์เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

คณะกรรมการรางวัลโนเบล "ประทับใจอย่างยิ่ง" กับเรื่อง The Book of Jacob นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องยาวของเธอ ซึ่งเป็นเรื่องราวในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่ "ฉายภาพกว้างของประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงที่แทบไม่มีใครรู้จัก"

ทอคาร์ตชูก ยังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Spoor ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวอาชญากรรม โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้ารอบเพื่อคัดเลือกไปชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2018 ของโปแลนด์ด้วย

นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กล้าวิจารณ์รัฐบาลฝ่ายขวาของโปแลนด์ด้วย เธอเป็นผู้หญิงที่ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนที่ 15 จากผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 116 คน