รัฐประหารเมียนมา: ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้รับการปล่อยตัว 4 วันหลังถูกควบคุมตัว

ผู้สื่อข่าวบีบีซี เมียนมา

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

อ่อง ตูยะ ถูกควบคุมตัวโดยกลุ่มบุคคลไม่ทราบสังกัดเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ก่อนจะได้รับการปล่อยตัววันนี้ (22 มี.ค.)

นายอ่อง ตูยะ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเมียนมาซึ่งถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

นายอ่องถูกกลุ่มชายนอกเครื่องแบบนำตัวขึ้นรถตู้ที่ไม่ติดเครื่องหมายว่าเป็นของหน่วยงานใด เมื่อเวลาประมาณเที่ยงของวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาในเมียนมา ขณะรายงานข่าวด้านนอกศาลแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์

ขณะเกิดเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบได้ถามหานายอ่อง ตูยะ ก่อนที่จะจับตัวเขาขึ้นรถไปพร้อมกับนายซาน ไทก์ อ่อง ที่ทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นที่ชื่อ มิซซิมา ซึ่งถูกรัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการไปเมื่อต้นเดือนนี้

บีบีซีไม่สามารถติดต่อกับนายอ่องได้นับตั้งแต่นั้น และได้เรียกร้องให้ทางการช่วยตามหาว่าเขาถูกจับไปอยู่ที่ใด จนกระทั่งวันนี้ (22 มี.ค.) บีบีซีได้รับการยืนยันว่าเขาได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม

อ่อง ตูยะ เป็นผู้สื่อข่าวของบีบีซีที่มีประสบการณ์หลายปีในการรายงานข่าวต่าง ๆ ในกรุงเนปิดอว์

Protesters against the coup in Myanmar at barricades in Yangon's Thaketa township on Friday

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประท้วงสร้างสิ่งกีดขวางไว้บนถนนสายหนึ่งในนครย่างกุ้ง เพื่อใช้เป็นที่มั่นหลบภัยจากเจ้าหน้าที่

สงครามปิดปากสื่อท้องถิ่น

นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีผู้สื่อข่าวประมาณ 40 คน ถูกจับกุมจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในจำนวนนี้ 16 คนยังถูกควบคุมตัว ขณะเดียวกันกองทัพเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของสำนักข่าวอิสระในท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่ มิซซิมา, ดีวีบี, ขิตทิต มีเดีย, เมียนมา นาว และ 7เดย์ นิวส์

ผู้จัดการงานศพและสื่อท้องถิ่นระบุว่า ในวันนี้มีประชาชน 8 คนเสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงในเมืองอ่องป๊าน ทางภาคกลางของเมียนมา

ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าให้สำนักข่าวรอยเตอร์ฟังว่า "เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเคลื่อนย้ายเครื่องกีดขวางออกไป แต่ชาวบ้านขัดขืน พวกเขาจึงยิงปืนใส่"

ส่วนรายงานจากนครย่างกุ้ง ระบุว่าการจราจรบนนถนนหลายสายอยู่ในสภาพคับคั่งเพราะประชาชนจำนวนมากพยายามหนีความรุนแรงในเมืองนี้

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ตำรวจได้บังคับประชาชนให้ย้ายสิ่งกีดขวางที่กลุ่มผู้ประท้วงสร้างไว้

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพก่อรัฐประหารทำให้มีชาวเมียนมาเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 232 คน โดยหนึ่งในวันนองเลือดที่สุดคือวันที่ 14 มี.ค.ที่มีผู้เสียชีวิตวันเดียวถึง 38 คน