ประกาศ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 350 เขตทั่วประเทศ

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

วันนี้ (29 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง

โดยเป็นประกาศเขตเลือกตั้งหลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ขยายเวลาให้ กกต. มีอำนาจดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครอง กกต. ที่ยังแบ่งเขตเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เข้ารับการรักษาตา

นายวิษณุ ยังกล่าวเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) ว่า ความเห็นของ กกต. ถือว่า "ถึงที่สุด" หากใครมีความเห็นต่างก็ต้องไปร้องศาลปกครองได้ แต่ระหว่างศาลยังไม่สั่งใด ๆ กกต. ก็เดินหน้าต่อไปได้

อภัย บราวเซอร์ของคุณไม่สามารถแสดงภาพแผนที่นี้ได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งพบว่ามี 23 จังหวัดถูกหั่นยอด ส.ส. ลง ในจำนวนนี้มีจังหวัดบ้านเกิดของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองแทบทุกพรรค โดยใช้เกณฑ์ประชากร 1.89 แสนคนต่อผู้แทนฯ 1 คน

จังหวัดที่มี ส.ส. มากที่สุดยังเป็นกรุงเทพมหานคร ทว่าได้ลดจำนวนลงจากการเลือกตั้งปี 2554 เป็น 30 คน จากเดิม 33 คน รองลงมาคือ นครราชสีมา 14 คน ลดลงจากเดิม 1 คน และขอนแก่นและอุบลราชธานีจังหวัดละ 10 คน แต่ในส่วนของอุบลฯ ก็ลดลงไป 1 คนเช่นกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้ ส.ส. แบบแบ่งเขตมี 350 คน จากเดิม 375 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จากเดิม 125 คน เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ จึงมี 23 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง

23 จังหวัด ส.ส. ลดลง

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมโดยเปรียบเทียบจากประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ฉบับปี 2554 และ 2561

ในบรรดาจังหวัดที่ยอด ส.ส. ลดลง พบว่า หลายจังหวัดเป็นบ้านเกิดของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่ครองคะแนนนิยมในพื้นที่มายาวนาน เช่น จ.เชียงใหม่ ถือเป็นบ้านเกิดของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, จ. ตรัง เป็นบ้านเกิดของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, จ. บุรีรัมย์ที่ถูกยกให้เป็น "เมืองหลวง" ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เพราะเป็นบ้านเกิดของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ก่อตั้งพรรค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่ยึดครองฐานเสียงใน จ. สุพรรณบุรีและอ่างทองตั้งแต่นักการเมืองรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก นอกจากนี้ยังมี จ.นครราชสีมา ที่เป็นจังหวัดฐานเสียงของพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นที่ปรึกษา ที่ถูกลดยอด ส.ส. ลงท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือนในพื้นที่

สำหรับประกาศ กกต. ฉบับนี้ ลงนามโดย ประธาน กกต. เนื้อหาระบุตอนหนึ่งว่า "เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้น" โดยใช้ข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 รวม 66.18 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนราษฎรเฉลี่ย 1.89 แสนคน ต่อ ส.ส. 1 คน ทั้งนี้จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ไม่เกิน 1 คนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. เกินหนึ่งคนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมี

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งตามโรดแมปที่รัฐบาล คสช. ระบุไว้เบื้องต้นจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562

Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562