มลพิษทางอากาศ : เดินทางแบบไหนได้รับพิษมากที่สุด

คำบรรยายวิดีโอ, เดินทางแบบไหนได้รับมลพิษมากที่สุด?

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าปัจจุบันประชากรโลกกว่า 90% หายใจเอามลพิษเข้าไป ทีมตรวจสอบความจริง Reality Check ของบีบีซี พาไปหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วการเดินทางในเมืองรูปแบบใดที่ทำให้คนเราได้รับมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า กรุงนิวเดลีของอินเดียเป็นหนึ่งในเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก การสูดหายใจอากาศในเมืองหลวงแห่งนี้ส่งผลเสียต่อร่างกายเท่ากับการสูบบุหรี่วันละกว่า 12 มวน

ปัญหาดังกล่าวทำให้ทีมนักวิจัยในกรุงนิวเดลีพยายามหาคำตอบว่าการเดินทางรูปแบบใดจะทำให้คนเราได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด โดยวัดระดับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ผู้สัญจรในกรุงนิวเดลีสูดหายใจเข้าไป และพบว่าในการเดินทางระยะ 1 กม. คนเดินถนนจะหายใจเอามลพิษเข้าไปมากที่สุด ตามด้วยคนที่ปั่นจักรยาน ผู้โดยสารรถเมล์ รถไฟใต้ดิน รถสามล้อ และรถยนต์ส่วนบุคคล

นักวิจัยชี้ว่าสาเหตุที่คนเดินถนนในกรุงนิวเดลีได้รับมลพิษทางอากาศมากที่สุด เป็นเพราะการเดินในระยะ 1 กม.ทำให้พวกเขาต้องสัมผัสกับมลพิษทางอากาศระดับสูงเป็นเวลานานกว่าการเดินทางรูปแบบอื่นนั่นเอง จึงทำให้คนกลุ่มนี้สูดหายใจเอาอากาศเป็นพิษเข้าไปมากที่สุด

นอกจากนี้ การเดินและการปั่นจักรยานยังทำให้ได้รับมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพราะกิจกรรมทั้งสองทำให้ร่างกายต้องสูดหายใจอากาศเข้าไปลึกและในปริมาณมากกว่าการนั่งเฉย ๆ อยู่บนรถเมล์ หรือรถยนต์ส่วนตัว

China is a developing country with severe air pollution in its cities

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบโดยการวิเคราะห์งานวิจัยจากทั่วโลกพบว่า กลับพบข้อแตกต่างเล็กน้อย โดยผู้สัญจรด้วยจักรยาน ตามด้วยคนเดินถนน หายใจเอามลพิษเข้าไปมากที่สุด เมื่อเทียบกับคนเดินทางด้วยยวดยานต่าง ๆ

นักวิจัยชี้ว่าผลการศึกษาที่ได้ไม่ควรเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนเลิกปั่นจักรยาน เพราะการสัญจรด้วยการปั่นจักรยานจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า เมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่จะได้รับ พร้อมแนะนำว่า เพื่อสุขภาพที่ดีเราควรเลือกปั่นจักรยานในเส้นทางที่การจราจรไม่หนาแน่น เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดหายใจเอามลพิษทางอากาศเข้าไปนั่นเอง

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า มลพิษทางอากาศหรือที่หลายคนเรียกว่าเพชฌฆาตที่มองไม่เห็นนั้น ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มลพิษสามารถส่งผลโดยตรงต่อสารเคมีในสมอง ยกตัวอย่างเช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถนำสารพิษผ่านช่องทางต่าง ๆ ในร่างกายเข้าไปยังสมองได้โดยตรง นอกจากนี้มลพิษยังอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจได้ เช่น เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

แผนภาพแสดงเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมาก-น้อยที่สุดในโลก

ฝุ่น PM2.5 คืออะไร

ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเทียบแล้วเล็กกว่า 3% ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์

ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ

สถิติเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศทั่วโลก - ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก

  • แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน
  • เมื่อปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 4.2 ล้านคนทั่วโลก
  • 91% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตที่คุณภาพอากาศเลวร้ายกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
  • 14 เมืองของอินเดียถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 20 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก โดยเมืองคานปูร์ ทางภาคเหนือของอินเดียถูกจัดให้อยู่ในอันดับแรก
  • 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปในร่างกาย