พาราควอต : คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมติ เลื่อนกำหนดห้ามใช้สารเคมี 2 ชนิด-ไม่แบนไกลโฟเซต

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติเลื่อนกำหนดห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่คณะกรรมการฯ ชุดเก่ามีมติเมื่อ 22 ต.ค. ให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป

ส่วนไกลโฟเซต เปลี่ยนจากการห้ามใช้เป็นเพียงการจำกัดการใช้

การประชุมในวันนี้ (27 พ.ย.) เป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. โดยมีการเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ บางส่วน

ช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการวัตถุอันตรายถูกกดดันอย่างหนักทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) ก็มีกลุ่มเกษตรกรเดินทางไปชุมนุมที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสุริยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยขอให้ยกเลิกการแบนสารเคมีเกษตร เนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องสารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทนหรือมาตรการอื่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรหากคำสั่งห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.

โดยกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านการแบนสารเคมีได้ชุมนุมรอฟังมติคณะกรรมการฯ ในวันนี้ด้วย

มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ก่อนเริ่มประชุม นายสุริยะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เขาได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรและผู้นำเข้าอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ขอให้คณะกรรมการฯ เลื่อนการห้ามใช้ออกไปก่อนระหว่างหามาตรการรองรับ ซึ่งในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการฯ จะสอบถามข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรจะเลื่อนการห้ามใช้ออกไปหรือไม่

เกษตรกรถือขวดสารเคมี

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

นายสุริยะกล่าวว่า ประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ มี 2 ประการ ประการแรก คือ แนวทางการจัดการสารเคมีที่เกษตรกรและร้านค้าสารเคมีเกษตรลงทุนซื้อไว้แล้ว ซึ่งคาดว่ามีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ถ้าไม่เลื่อนจะชดเชยคนกลุ่มนี้อย่างไร ประการที่สอง คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหาสารเคมีและวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่จะนำมาทดแทนสารเคมีดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและราคาไม่ต่างกันมากแล้วหรือยัง

คณะกรรมการฯ ใช้เวลาประชุมเกือบ 4 ชั่วโมง สุดท้ายมีมติว่าให้เลื่อนการห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน จากวันที่ 1 ธ.ค. เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้เปลี่ยนจากการห้ามใช้เป็นการจำกัดการใช้

"ที่ประชุมเห็นว่าถ้าเรามีมาตรการห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ธ.ค. มันจะมีผลกระทบเพราะว่าเกษตรกรและร้านค้ายังมีสต็อกอยู่ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินประมาณหมื่นกว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นการที่ภาครัฐมีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. และให้ยกเลิกการใช้ภายใน 2 เดือน จะทำให้เกิดปัญหา เราจึงเลื่อนไปอีก 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาเตรียมการตรงนี้ ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรไปหามาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการห้ามใช้" นายสุริยะแถลงภายหลังการประชุม

ขณะที่เอกสารชี้แจงผลการประชุมของคณะกรรมการฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ ว่า กรมวิชาการเกษตรได้ประชุมหารือแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ รวมถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ หากการห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลในวันที่ 1 ธ.ค. ตามมติเดิมของคณะกรรมการฯ ซึ่งพบปัญหาดังนี้

-การจัดการสารที่ตกค้าง ซึ่งมีจำนวน 23,000 ตันโดยประมาณ ซึ่งหากต้องทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถส่งกลับไปได้

-ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากอาจมีสารตกค้างอยู่

-ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

นายอนันต์จึงได้เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. และระยะเวลาในการบังคับใช้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติว่า

1.ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561

2.มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติและขอให้รับรองมติในที่ประชุม

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม นั่งเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ซึ่งประชุมนัดแรกวันนี้ (27 พ.ย.)

โฉมหน้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่

พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. หรือ 180 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายบางส่วน เช่น เปลี่ยนประธานคณะกรรมการจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และลดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจาก 10 คนเป็น 8 คน โดยครึ่งหนึ่งยังคงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์

บีบีซีไทยเปรียบเทียบองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมกับชุดใหม่ ดังนี้

ชุดเดิม

  • ประธาน: ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  • กรรมการโดยตำแหน่ง : ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, อธิบดีกรมการค้าภายใน, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมประมง, อธิบดีกรมปศุสัตว์, อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ผู้แทนกระทรวงกลาโหม, ผู้แทนกระทรวงคมนาคม, ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
  • กรรมการและเลขานุการ : อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง: ไม่เกิน 10 คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์หรือกฎหมาย ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 5 คน ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดําเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่นหรือด้านสิ่งแวดล้อม

ชุดปัจจุบัน

  • ประธาน : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  • กรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน : ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, อธิบดีกรมเจ้าท่า, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมประมง, อธิบดีกรมปศุสัตว์, อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, อธิบดีกรมศุลกากร, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ผู้แทนกระทรวงกลาโหม, ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ, ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ,
  • กรรมการและเลขานุการ : อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม. แต่งตั้ง : จำนวนไม่เกิน 8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย และอย่างน้อย 4 คนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การ สาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่นหรือด้านสิ่งแวดล้อม