งัด ม. 44 ล้มไพรมารี คสช. “คลายล็อก” แต่กำหนด 7 กิจกรรรมต้องขออนุญาตก่อน

เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ผู้แทนจากพรรคการเมือง 55 พรรค ร่วมการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินกิจการพรรคการเมืองจาก กกต.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ผู้แทนจากพรรคการเมือง 55 พรรค ร่วมการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินกิจการพรรคการเมืองจาก กกต.

หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 ใช้อำนาจตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 "คลายล็อก" การเมือง แต่กำหนด 7 กิจกรรมที่พรรคต้องขออนุญาตจาก "คณะกรรมการ" ก่อน

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยมีเนื้อหา 9 ข้อ

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาไม่ใช่การ "ปลดล็อก" ทางการเมือง เพราะทั้งประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนักการเมืองถือเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมการเมืองยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่เป็นการ "คลายล็อก" อีกขั้นหนึ่งเท่านั้น

เนื้อหาของคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ระบุตอนหนึ่งว่า "เพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองที่มีความสงบเรียบร้อยระดับหนึ่งในขณะนี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศตามแผนการปฏิรูปประเทศ จึงยังคงจำเป็นต้องให้ประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป" แต่เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งครั้งแรกเป็นไปตามเวลาที่กำหนด และให้พรรคสามารถเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งได้ จึงควร "ผ่อนคลาย" การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่จำเป็นบางกรณี โดยให้สามารถดำเนินการได้ในช่วง 90 วันนับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษา หรือระหว่างวันที่ 12 ก.ย.-11 ธ.ค.

ปลดล็อคเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา

คสช. ได้กำหนดกิจกรรม 7 ประเภทที่พรรคการเมืองต้องแจ้ง "คณะกรรมการ" ทราบล่วงหน้า 5 วันก่อนดำเนินการ ประกอบด้วย แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์การเมือง และนโยบาย, เลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร, จัดตั้งสาขาพรรค, รับสมาชิกพรรค, จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง, มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และกิจกรรมการเมืองอื่นที่ คสช. กำหนด

กรอบในการดำเนินกิจกรรมของพรรคตามคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561

ที่มา : ข้อความใหม่ในมาตรา 141 และ 141/1 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ที่ คสช. ประกาศใช้ ทั้งนี้กิจกรรมที่มี* คือกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน

สำหรับคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ได้สั่งยกเลิก แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อความใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 5 มาตรา ที่น่าสนใจคือมีความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ให้นำระบบเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร 11 คน ประกอบด้วย กก.บห. 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคเลือก 7 คน แล้วเสนอให้ กก.บห. ให้ความเห็นชอบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมประชุมกับ กกต. เมื่อเดือน มี.ค. 2561

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แม้ คสช. ล้มไพรมารีในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอแนวคิดให้สมาชิกโหวตเลือกหัวหน้าพรรคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้า คสช. เปิดทางให้พรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประชาสัมพันธ์/ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคและสมาชิกพรรคของตนได้ แต่ "ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง"

"คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คสช. อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้" คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ระบุ

พรรคอนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 58 ที่ยื่นจดแจ้งพรรคต่อสำนักงาน กกต. หลังเปิดให้กลุ่มบุคคลเข้ายื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้ตั้งแต่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา
พรรคเพื่อไทยนำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ขวาสุด)

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แกนนำพรรคเพื่อไทยเรียกร้องมาตลอดให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 2 ฉบับที่เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง