พ.ร.บ. คู่ชีวิต : ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่ยังไม่เปิดให้รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

ขบวนพาเหรดรณรงค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนกฏหมายแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2015

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

คำบรรยายภาพ, ขบวนพาเหรดรณรงค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนกฏหมายแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2015
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเสนอ เตรียมส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึงสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ว่า ได้กำหนดให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือ อุปการะ เลี้ยงดูกัน รวมทั้งให้มีสิทธิในฐานะคู่ชีวิต อาทิ สิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล อำนาจจัดการศพ การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ การจัดการทรัพย์สิน การรับมรดก

อย่างไรก็ตาม นายณัฐพรกล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ ไม่รวมถึงการรับบุตรบุญธรรม การเปลี่ยนคำนำหน้านาม การเปลี่ยนชื่อสกุล รวมทั้งสวัสดิการของรัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการตลอดจนปรับแก้กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นร่างพระราชบัญญัติ จึงไม่ได้รวมประเด็นดังกล่าวไว้

ส่วนการยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต ในต่างประเทศที่มีกฎหมายนี้ก่อนหน้าไทย กำหนดไว้ในลักษณะเดียวกันคือการเป็นคู่ชีวิต สามารถสิ้นสุดลงได้ด้วยความตาย การแต่งงานหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลอื่นและกระบวนการฟ้องร้องทางศาล ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดไว้ในทิศทางเดียวกัน

แต่งงานเพศเดียวกัน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ก่อนหน้านี้มีข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ว่าให้สิทธิที่ไม่เสมอภาคกับคู่สมรสต่างเพศ ได้แก่ การรับบุตรบุญธรรม และการอุ้มบุญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ผ่าน ครม. ยังไม่ให้สิทธิ

นายณัฐพร กล่าวว่ากระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้นำผลการเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะเดียวกันมาพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับสมการปัจจุบันและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เป็นการดำเนินการลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นจากการรับรองสถานะและจดทะเบียนคู่ชีวิตเพื่อเป็นการรับรองสิทธิเบื้องต้นก่อนจะพัฒนาไปสู่การสมรสที่เท่าเทียมกันต่อไป

ปรับลดจาก 70 มาตรา เหลือ 44 มาตรา

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือกฎหมายที่เปิดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนใช้ชีวิตร่วมกัน ทว่านักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศบางส่วน มองว่า ยังเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะมีสิทธิอีกหลายที่ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง

ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. .... ฉบับที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีบทบัญญัติทั้งหมด 70 มาตรา จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในปี 2556 อันเป็นสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการแก้ไขปรับปรุงร่างมาเป็นลำดับ จนเป็นร่างฉบับที่ 3

ทว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ตามข้อมูลเอกสารมติ ครม. มีทั้งหมด 6 หมวด 44 มาตรา ซึ่งมีจำนวนมาตราลดลงจากฉบับที่เปิดรับฟังความเห็น

บีบีซีไทย ตรวจสอบไปยังเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่ายังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับที่ผ่าน ครม. ลงบนเว็บไซต์

พ.ร.บ.คู่ชีวิต คืออะไร ?

ข้อวิจารณ์ต่อร่างกฎหมายคู่ชีวิต ฉบับรับฟังความเห็น แม้จะมอบสิทธิในการให้และรับมรดก การทำนิติกรรมและจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน แต่มีอีกหลายประเด็นที่นักสิทธิเพื่อความหลากหลายทางเพศมีความกังวล

ในร่างกฎหมาย ระบุว่า การจดทะเบียนของคู่ชีวิต หมายความถึง บุคคลสองคน "เพศเดียวกันโดยกำเนิด" ซึ่งได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและผู้เขียนวิทยานิพนธ์ เรื่อง "สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย" สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายกับบีบีซีไทยว่า ตามกฎหมายครอบครัวของไทย ชื่อว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)ใน มาตรา 1448 กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" เท่านั้น ที่จะจดทะเบียนสมรสได้

lgbt

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วจะมีสถานะเป็น "คู่สมรส" ตามกฎหมาย ได้รับสิทธิและหน้าที่จากการเป็นคู่สมรส ทั้งตาม ปพพ. และตามกฎหมาย ระเบียบอื่น ๆ จากภาครัฐและเอกชน

ชวินโรจน์ อธิบายว่า ในทางกฎหมาย คำว่า "แต่งงาน" แตกต่างกับคำว่า "สมรส" เพราะคำว่าแต่งงานหมายถึง การจัดพิธีแต่งงานทั่วไป ส่วนคำว่าสมรสหมายถึง ต้องมีการจดทะเบียนสมรสตาม ปพพ. เพื่อจะได้เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย

ส่วนคำว่า "คู่ชีวิต"ไม่ใช่ "คู่สมรส"ตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่เคยมีกฎหมายใด ๆ ในประเทศไทยบัญญัติมาก่อน ดังนั้น การจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสแต่อย่างใด

สิทธิที่ "คู่ชีวิต" ไม่เสมอภาคกับ "คู่สมรส"

ชวินโรจน์ ชี้ว่าสิทธิที่ขาดหายไปของคู่ชีวิตที่สำคัญในร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เปิดรับฟังความเห็น ได้แก่

  • สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและจัดการศพคู่รักอีกฝ่าย
  • การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิการปกครองบุตรร่วมกัน เพราะการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันนั้น ตาม ปพพ. และ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บัญญัติว่า "คู่สมรส" ตาม ปพพ. เท่านั้นที่จะรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
  • สิทธิการมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญ
ขบวนพาเหรดรณรงค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนกฏหมายแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2015

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

นอกจากนี้เมื่อไม่ได้เป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย" ก็ส่งผลให้กฎหมายอื่น ๆ ที่ยึดโยงคำว่า คู่สมรส ตาม ปพพ. มิอาจมอบสิทธิให้กับ "คู่ชีวิต" ได้โดยอัตโนมัติ จนกว่ากฎหมายอื่น ๆ นั้นจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิให้กับคู่ชีวิต ตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิตในภายหลัง

สิทธ์เหล่านั้นได้แก่

  • การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส
  • สิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรส
  • การใช้ชื่อสกุลร่วมกับคู่สมรส
  • การเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทนคู่สมรส
  • การรับสวัสดิการจากภาครัฐร่วมกับคู่สมรส
  • การตรวจลงตรา (วีซ่า) ในฐานะคู่สมรส ฯลฯ

คู่รักแอลจีบีทีเอาสิทธิแค่นี้ไปก่อน?

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แสดงความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ร่าง3 นี้ได้ตัดสิทธิในหลายประเด็นออกจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2556

"ไม่แน่ใจว่าเป็นความกลัวที่มาจากไหน อาจกลัวว่ากระทบสิทธิของคู่ต่างเพศแล้วจะมีการต่อต้าน ทั้งที่จริง ๆ คนที่เป็นคู่ต่างเพศไม่ได้เสียสิทธิอะไร" ฉันทลักษณ์กล่าวกับบีบีซีไทย "รัฐเสียประโยชน์อะไร สังคมเสียประโยชน์อะไรที่ให้ (สิทธิ) คู่เพศเดียวกันได้รับผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้บ้าง"

ขบวนพาเหรดรณรงค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนกฏหมายแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2015

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

จุดยืนของฉันทลักษณ์ คือ แก้ไขกฎหมายสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่ง ให้เปลี่ยนคำจาก "ชาย-หญิง" เป็นการจดทะเบียนระหว่าง "บุคคล" ก็สามารถที่ครอบคลุมคู่เพศเดียวกัน และทำให้ได้สิทธิเท่าเทียมกัน

"เขา (รัฐ) ก็บอกตรง ๆ ว่าคู่ชีวิตไม่เท่ากับคู่สมรสจากที่อ่านในข่าว คู่นี้ยังไม่เท่าเทียมก็เอาสิทธิแค่นี้ไปก่อน ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ อะไรที่ทำให้ไม่เท่า ? เพราะมองว่าเป็นคู่เพศเดียวกันอย่างนั้นเหรอ?"

ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ บอกอีกว่า กลุ่มองคกรสิทธิ์ด้านความหลากหลายทางเพศกว่า 10 องค์กร เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

เสียงจากกลุ่มนอน-ไบนารี (สำนึกทางเพศไม่ใช่ชายและหญิง)

มุมมองของนักสิทธิแอลจีบีที อย่างคณาสิต พ่วงอำไพ นักกิจกรรมปีกเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภาคีนอนไบนารี มองว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ครอบคลุมถึงทุกอัตลักษณ์ทางเพศ

คณาสิต ซึ่งเป็นหนึ่งในฝ่ายนโยบายความเสมอภาคทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ บอกกับบีบีซีไทยว่า การที่ร่างฯ กล่าวถึงแค่คู่เพศเดียวกัน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ากฏหมายให้อำนาจแต่คนที่อยู่ในระบบสองเพศ และปฏิเสธตัวตนของเพศสภาพอื่นไปในสังคม อย่างคนข้ามเพศ (Transgender) และคนที่มีสำนึกทางเพศไม่ใช่ชายและหญิง (Non-binary)

แอลจีบีที

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

คณาสิตเห็นว่าหากกฎหมายนี้ผ่านอาจเป็นประเด็นที่รับรองความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้ว่าให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ แต่ในความเป็นจริงก็คือเนื้อหากฎหมายเป็นการเลือกปฏิบัติ

"หากกฎหมายผ่าน การจะแก้ไขในรอบต่อไปจะถูกตั้งคำถามจากสังคม ผู้คนจะมองว่าเราได้สิทธิ์ไปแล้วนี่ ทำไมถึงยังมาเรียกร้องเอาอีก"

นักกิจกรรมสิทธิแอลจีบีทีรายนี้ บอกว่า ควรจะแก้ไขกฎหมายสมรสปัจจุบันให้ครอบคลุมทุกคน

พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะทำให้แอลจีบีที "เป็นพลเมืองชั้น 2"

ชวินโรจน์ก็เห็นพ้องว่าควรแก้ไข ปพพ.ของไทย ในมาตรา 1448 ให้อนุญาตให้ "บุคคลสองคน" ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งได้

เขาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แยกออกมาจากกฎหมายครอบครัวหลักของประเทศไทย ขัดต่อหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ และยังถือเป็นการตีตราซ้ำว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ "เป็นพลเมืองชั้น 2" ที่จำยอมต้องใช้กฎหมายเฉพาะแยกต่างหาก

พาเหรด

ที่มาของภาพ, Getty Images

อังกฤษ : คู่รักต่างเพศก็เป็นคู่ชีวิตได้

อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่มี กฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil partnerships) ตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งเปิดให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนที่จะผ่านกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2014

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางเทรีซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมจะแก้กฎหมายให้คู่รักต่างเพศ สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิต เช่นเดียวกับคู่รักเพศเดียวกัน

"การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนี้จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของคู่รักต่างเพศ ที่ต้องการผูกมัดและทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นทางการ แต่ไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องถึงขั้นแต่งงาน" นางเมย์ กล่าว

การให้สิทธิคู่รักต่างเพศจดทะเบียนเป็น "คู่ชีวิต" ได้ นอกเหนือจากการเป็น "คู่สมรส" ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า บุคคลสามารถผูกมัดกันทางกฎหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านสถาบันการแต่งงานหรือการประกอบพิธีทางศาสนา

นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดกว้างให้กับบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแต่ไม่ได้เป็นคู่รัก สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ด้วยเพื่อประโยชน์ทางสิทธิตามกฎหมาย