รัฐประหารเมียนมา: อินโดนีเซียเล่นบทนำอาเซียนหาทางออกวิฤต พบ รมว. ตปท. เมียนมาในไทย

ผู้ชุมนุมชาวเมียนมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาถือป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตไทยในย่างกุ้ง 24 ก.พ. 2564

อินโดนีเซียเล่นบทผู้นำอาเซียนเจรจาทั้งกับฝ่ายทหารและฝ่ายประชาธิปไตยหาทางออกวิกฤตการณ์ในเมียนมา ส่วนนายกฯ ไทย พบกับ รมว. ต่างประเทศเมียนมา ขณะบินมาพบ รมว. ต่างประเทศอินโดนีเซียในกรุงเทพฯ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวเมื่อ 24 ก.พ. ว่า นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เดินทางเยือนไทย และได้พบกับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติแกนนำในความพยายามคลี่คลายวิกฤตในเมียนมา

ความพยายามของรัฐบาลจาการ์ตา ถูกตั้งข้อสงสัยจากฝั่งนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาว่า การข้องเกี่ยวกับคณะรัฐประหารจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น แล้วนำไปสู่การยกเลิกผลการเลือกตั้งเมื่อ พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคของนาง ออง ซาน ซู จี ชนะท่วมท้น

"เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ความรุนแรง... เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการนองเลือด" นางเร็ตโน กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ หลังหารือกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศของไทย และย้ำว่าสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้

A demonstrator holds a placard reading "A good neighbour will not support a military coup" during a protest against the Myanmar military coup, outside the Embassy of Thailand in Yangon, Myanmar, 24 February 2021.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงถือป้ายขอไทยไม่ให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง วันที่ 24 ก.พ.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพบกับ รมว. ต่างประเทศของเมียนมา เป็นเวลาสั้น ๆ โดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวทราบ หลังพิธีต้อนรับวัคซีนโควิด-19 จากจีน

"บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการ เข้าใจไหม ถามทุกเรื่อง เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่แล้ว เราเป็นมิตรประเทศก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน... เราก็เป็นกำลังใจ เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ แล้วก็ส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แค่นั้นก็พอแล้วข่าว" พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

FILE PHOTO: Myanmar"s Foreign Minister Wunna Maung Lwin October 2, 2015.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, การมาไทยของนายวันนะ หม่อง ลวิน ถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยว่า นายวันนะ หม่อง ลวิน เดินทางเยือนไทยท่ามกลางความพยายามทางการทูตของชาติสมาชิกอาเซียนที่ต้องการคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยการมาไทยครั้งนี้ถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศ และเขาเลือกมาประเทศไทยในการมาเยือน

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นางมาร์ซูดี ได้ล้มเลิกแผนการเยือนเมียนมาในวันที่ 25 ก.พ. โดยระบุว่า "หลังจากประเมินความคืบหน้าของสถานการณ์ในเมียนมา และข้อมูลที่ได้จากบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน จึงมีความเห็นว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะเดินทางเยือนเมียนมา"

ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาถือป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตไทยในย่างกุ้ง 24 ก.พ. 2564

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาถือป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตไทยในย่างกุ้ง 24 ก.พ. 2564

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุ อินโดนีเซียได้พูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองของเมียนมา และไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ถึงการเดินทางเยือนในอนาคต เนื่องจากนางมาร์ซูดียังคงมีแผนการจะเข้าร่วมการประชุมพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียในเมียนมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าจะมีขึ้นเมื่อใด

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนางเร็ตโน มาร์ซูดี (Retno Marsudi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย

ที่มาของภาพ, กระทรวงการต่างประเทศ

คำบรรยายภาพ, นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้การต้อนรับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียและคณะ วันที่ 24 ก.พ.

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยแถลงว่าในการพบปะกันระหว่างนายดอน และนางมาร์ซูดี ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางและเห็นพ้องกันถึงบทบาทที่สำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเมียนมาเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียนและอาเซียนสามารถเป็นเวทีการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างเมียนมากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้ โดยคำนึงถึงหลักการของกฎบัตรอาเซียนและประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

Muslim demonstrators hold placards during a protest against the Myanmar military coup, outside the Embassy of Thailand in Yangon, Myanmar, 24 February 2021.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงถือป้ายขอไทยไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง

ไทยขยับ หลังสหรัฐฯสะกิด

ความเคลื่อนไหวของไทยมีขึ้นหลังความพยายามทางการทูตของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ไทยแสดงบทบาทมากกว่าการประกาศว่าเห็นคล้อยตาม "จุดยืนอาเซียน"

เมื่อค่ำวันที่ 23 ก.พ. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่า พล.อ. ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหม สหรัฐฯ ได้หารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกล ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยทั้งสองฝ่ายได้ชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันที่มีมายาวนาน ในฐานะไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาค พร้อมทั้งได้หารือสานต่อความร่วมมือทางทหารและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน โดย พล.อ.ออสตินขอให้ไทยใช้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม และพร้อมให้การสนับสนุนไทย

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไทยยึดมั่นในกฎบัตรอาเซียนและวิถีประชาธิปไตยและสนับสนุนการแก้ปัญหาในภูมิภาคตามหลักสันติวิธี โดยพร้อมที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกด้านกับสหรัฐฯ ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และพร้อมสนับสนุนสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาในภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความสงบมั่นคงและประโยชน์ของภูมิภาคร่วมกัน

A demonstrator holds a placard during a rally against the military coup in front of Indonesian embassy in Yangon, Myanmar, February 24, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงถือป้ายขออินโดนีเซียไม่สนับสนุนผู้นำเผด็จการในเมียนมา ที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในนครย่างกุ้ง วันที่ 24 ก.พ.

โลกตะวันตกเพิ่มความกดดัน

23 ก.พ. กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี7 ได้ออกแถลงการณ์ประณามการข่มคู่คุกคามและกดขี่ประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยระบุว่า "ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้การประท้วงอย่างสันติจะต้องได้รับการลงโทษ"

ในสัปดาห์นี้บรรดาชาติตะวันตกต่างเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยสหภาพยุโรป (อียู) เตือนว่าจะพิจารณาคว่ำบาตรธุรกิจต่าง ๆ ที่กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ ขณะที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรสมาชิกรัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มอีก 2 คน พร้อมเตือนจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอีก

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง เมื่อ 23 ก.พ. ให้กองทัพเมียนมายุติการปราบปรามประชาชน ปล่อยนักโทษการเมือง และหยุดการใช้ความรุนแรงในทันที รวมทั้งเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและเจตจำนงของประชาชนที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา

"ไม่มีที่ให้รัฐประหารในโลกสมัยใหม่" เลขาฯ ยูเอ็นระบุในข้อความที่โพสต์ทางทวิตเตอร์

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

ขณะที่บรรยากาศในวันที่ 24 ก.พ. ชาวเมียนมายังคงออกมาประท้วงการทำรัฐประหารอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ของประเทศ ทั้งนครย่างกุ้ง และเมืองเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวานนี้มีประชาชนหลายหมื่นคนออกมาประท้วง รวมถึงห้างร้านทั่วประเทศก็ต่างพากันหยุดกิจการ เพื่อร่วมต่อต้านในครั้งนี้เช่นกัน

Demonstrators gather during a protest against the military coup, at Hledan Junction in Yangon, Myanmar, 24 February 2021

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ชาวเมียนมายังออกมาชุมนุมประท้วงการยึดอำนาจของทหารอย่างต่อเนื่องในนครย่างกุ้ง

"ได้รับฟังโดยตรง" จากเมียนมา

ช่วงค่ำของ 24 ก.พ. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าการหารือระหว่างนายดอนกับ รมว. ต่างประเทศของอินโดนีเซียนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Foreign Ministers' Meeting) ในเดือน ส.ค. 2563

ส่วนการเดินทางเยือนไทยของ รมว. ต่างประเทศเมียนมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางการทูตระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีพรมแดนทางบกร่วมกันกว่า 2,400 กิโลเมตร และเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายไทยจะได้รับฟังโดยตรงจากฝ่ายเมียนมาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เมียนมาให้ความสำคัญ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญสำหรับประชาชนของทั้งสองฝั่งชายแดน อาทิ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความร่วมมือด้านแรงงาน

"ไทยได้ใช้โอกาสนี้ยืนยันการสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และความหวังที่จะเห็นสถานการณ์ในเมียนมาได้รับการคลี่คลายโดยสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของอาเซียนและเป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศปรารถนา" นายธานีกล่าว

ส่วนการพบกัน 3 ฝ่าย ของ รมว. ต่างประเทศ ไทย อินโดนีเซียและเมียนมานั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ รมว. ต่างประเทศเมียนมามาเยือนไทยวันเดียวกับที่ รมว. ต่างประเทศของอินโดนีเซียมาเยือน ทางไทยจึงได้ประสานให้ทั้งสองได้พบกัน เป็นการพูดคุยในฐานะมิตรประเทศสมาชิกอาเซียน

"โดยที่ฝ่ายเมียนมามาเยือน ซึ่งเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านและหนึ่งในสมาชิกครอบครัวอาเซียน และนายกรัฐมนตรีไทยก็มีความห่วงใยในสถานการณ์ จึงได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเยี่ยมคารวะ" นายธานีกล่าว

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์