แฟลชม็อบ: “เกียมอุดมฯ” กับปรากฏการณ์ “กะลาแตก” ของเด็กหัวกะทิ

ชู 3 นิ้ว

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, การชู 3 นิ้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคณะรัฐประหารไทยตั้งแต่ปี 2557 โดยเลียนแบบจากภาพยนตร์เรื่อง "The Hunger Games" สื่อความหมายถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ท่ามกลางแนวร่วม "แฟลชม็อบ" ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า "เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ" อาจเป็น "น้องเล็ก" ด้วยสถานภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่พวกเขาคาดหวังว่าความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ จะช่วยพาทุกคนไปสู่สังคมในแบบที่ต้องการ ทว่าหากไม่เป็นดังฝัน พวกเขาอาจต้องกลายเป็น "ตัวร้ายในประวัติศาสตร์"

กิจกรรม "แฟลชม็อบ" ภาค 2 ถูกจัดขึ้นในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 4 และ 5 ของเดือน ก.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ตอ.) ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมในช่วงที่โรงเรียนกำหนดให้ผู้มีเลขประจำตัวคี่กับคู่สลับกันมาเรียนคนละสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งวันศุกร์ยังเป็นวันที่นักเรียนเลิกคาบเรียนเร็วกว่าปกติ

อะไรคือแรงผลักให้เด็ก ม.ปลาย ที่มีอายุเพียง 16-18 ปี ต้องฉีกขนบ "เด็กดีในสายตาผู้ใหญ่" วางตำราเรียน-ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวท้าทายผู้มีอำนาจ ในโมงยามที่ระยะห่างระหว่างวัยได้พัฒนาเป็นช่องว่างทางความคิด

บีบีซีไทยสนทนากับ 3 สมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ แม้ทั้งหมดมีอายุเกิน 18 ปีแล้ว ทว่าเพื่อรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวของเยาวชน พวกเขาจึงขอให้เรียกว่า "คอร์กี้" "จิงโจ้" และ "ชิวาว่า"

เด็กเกียม

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, การพูดผ่านสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่เห็นโดยทั่วไปในแฟลชม็อบนักเรียนและนักศึกษา

เด็กที่โตมากับ กปปส. ก่อนถูก "เคาะกะลาแตก"

ประสบการณ์และความทรงจำในวัยเยาว์เป็นสิ่งที่เราแทบทุกคนเลือกไม่ได้-เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันได้กำกับความคิด ส่งผลต่อวิธีมองโลกในปัจจุบัน รวมถึงกำหนดความใฝ่ฝันในอนาคต

แกนนำกลุ่มทั้ง 3 คนเติบโตมาในครอบครัวที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ชิวาว่าได้ยินข้อถกเถียงระหว่าง "อุดมการณ์เหลือง-แดง" บนโต๊ะอาหารตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ของเธอเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ส่วนพ่อสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

"ที่ผ่านมา ถูกชักจูงไปทางแม่มากกว่า เพราะแอบรักแม่มากกว่าพ่อ" ชิวาวากล่าวพร้อมหัวเราะเล็ก ๆ ระหว่างสนทนาผ่านแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์

"พอเข้า ม.ต้น มีการชุมนุม กปปส. (ปี 2556-2557) แม่ก็ไปร่วมและชวนหนูไปด้วย จริง ๆ รู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะตอนนั้นเริ่มหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมเองแล้ว แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย 'นิรโทษกรรมสุดซอย' กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2557 จึงเห็นภาพค่อนข้างชัดว่าประเทศเราอยู่ภายใต้อำนาจนิยม ถูกทหารควบคุมมาก ความรู้สึกมันเหมือนค่อย ๆ ถูกเคาะกะลาให้แตก" ชิวาว่ากล่าว

นักเรียน ตอ. พร้อมใจเปิดไฟฉายจากสมาร์ทโฟนในระหว่างร่วมแฟลชม็อบ "โรงเรียนไล่ยุง แต่เราจะไล่เผด็จการ" เมื่อ 24 ก.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมพร้อมใจเปิดไฟฉายจากสมาร์ทโฟนในระหว่างร่วมแฟลชม็อบ "โรงเรียนไล่ยุง แต่เราจะไล่เผด็จการ" เมื่อ 24 ก.ค.

ขณะที่จิงโจ้ใช้ชีวิตในบ้านที่มี "ข้อมูลชุดเดียว" เพราะสมาชิกในครอบครัวทั้งปู่ ย่า ป้า พ่อ แม่ พร้อมใจกันเปิดโทรทัศน์แช่ไว้ที่ช่องบลูสกายทีวี และเนชั่นทีวี

"การเมืองไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจแต่แรก สิ่งที่ได้ยินมันเหมือนกับข้อมูลฝั่ง กปปส. คือสีขาว ข้อมูลฝั่งเสื้อแดงคือสีดำ เราโตมาด้วยชุดข้อมูลแบบนั้น ต่อมาเริ่มได้ยินคนพูดถึงความไม่ถูกต้องจากการชัตดาวน์ (กปปส. เปิดปฏิบัติการ "ปิดกรุงเทพฯ" เมื่อเดือน ม.ค. 2557) ก็รู้สึกว่าที่เคยรู้มาอาจไม่ถูก แต่เขาก็พยายามบอกเราตลอดว่าอย่าไปเข้ากับฝั่งโน้นนะ" จิงโจ้กล่าว

จากผู้ไม่สนใจการเมือง เยาวชนรายนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ หลังประเด็นที่ให้ความสำคัญและต้องการผลักดันต้องพบกับทางตัน ทั้งสิทธิการศึกษา หรือสิทธิของบุคคลที่ถูกสังคมกดทับ ช่วงนั้นเองที่จิงโจ้ตระหนักว่า "ทุกปัญหาสังคม สุดท้ายต้องจบที่การเมือง" จึงหันมาเสพข้อมูลข่าวสารทางการเมืองแล้วค่อย ๆ รู้สึกเหมือน "ถูกกะเทาะเปลือกออกมา"

ใช้ทวิตเตอร์ขยายเพดานความรู้

แม้เป็นนักเรียนระดับ "หัวกะทิ" แต่สิ่งที่ช่วยกล่อมเกลาความคิดทางการเมืองของแกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ หาได้อยู่ใน "โลกของการศึกษาไทย" ไม่ แต่เป็นชุดข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ใน "โลกเสมือนจริง" โดยเฉพาะในแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ โลกที่ปราศจากสายตาจับจ้องของผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขามีเสรีภาพในการคิด อ่าน แสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังมี "เพดานความรู้" ที่ลึกและกว้างกว่าตำรากระแสหลักและสื่อกระแสหลัก

ชิวาว่าเล่าว่า ได้ยินแม่จับกลุ่ม "ด่าทักษิณ" ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมขับไล่ ก่อนพ้นจากอำนาจไปด้วยรัฐประหารปี 2549 กับผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนบ่อยครั้ง สิ่งที่เด็กประถมฯ อย่างเธอเข้าใจคือ "คนโกงคือคนไม่ดี" แต่เมื่อเวลาผ่านไป จึงรู้ว่าไม่ใช่ทุกปัญหาที่เกิดจากทักษิณ และเมื่อได้อ่านได้ดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้รู้ว่ามีประวัติศาสตร์บางส่วนที่ไม่ถูกพูดในหนังสือเรียน รู้ว่ารัฐพยายามปกปิดอะไรเอาไว้ และรู้ว่าเรื่องการเมืองไม่ควรเชื่อตามกันเพียงเพราะเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว

เธอเริ่มนำ "คำสำคัญ" จากบทสนทนาของคนในบ้านไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ต จนพบ "ข้อมูลใหม่" ที่หักล้างคำอธิบายเดิม ๆ "ที่สุดมันเกิดกระบวนการคิดขึ้นมาได้ว่าการเมืองไม่ได้เป็นตามที่แม่พูดแล้วนะ เราควรเรียนรู้ด้วยตัวเอง" และ "เราไม่ควรเป็นเพียงผู้นั่งดู แต่ต้องทำอะไรสักอย่าง"

การจุดแฟลชม็อบครั้งแรกใน ตอ. เกิดขึ้นในเวลา 6 วันหลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีฐานเสียงหลักอยู่ที่คนรุ่นใหม่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, การจุดแฟลชม็อบครั้งแรกใน ตอ. เกิดขึ้นในเวลา 6 วันหลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีฐานเสียงหลักอยู่ที่คนรุ่นใหม่

จากเคยส่งเสียงเล็ก ๆ อยู่ใน "ทวิตภพ" ปรากฏการณ์แฟลชม็อบนักศึกษาในช่วงต้นปี 2563 ได้ปลุกสำนึกทางการเมืองและสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียน ม.ปลายกลุ่มหนึ่งให้ลุกขึ้นมาจัด "แฟลชม็อบขาสั้น-กระโปรงบาน" ครั้งแรกเมื่อ 27 ก.พ. ในรั้ว ตอ. หวังขยายพื้นที่การเมืองจากระดับชาติ ระดับนักศึกษา มาสู่ระดับนักเรียน

"การเมืองเป็นเรื่องของทุกวัย แม้ผู้ใหญ่คอยบอกว่าเป็นเด็กไม่ควรยุ่ง รอให้โตก่อน แต่ส่วนตัวไม่เคยเชื่อเลย เพราะผู้ใหญ่ไม่ใช่หรือที่พาเด็กพาคนในครอบครัวไปชุมนุม จึงไม่มีสิทธิมาห้ามเด็กไม่ให้ยุ่งกับการเมือง" แกนนำเกียมอุดมฯ ผู้มีประสบการณ์ถูกลากไปชุมนุมไล่ "ระบอบทักษิณ" ก่อนรัฐประหารปี 2557 ระบุ

อนาคตที่เป็นได้แค่ความฝัน

ในทัศนะของสมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมระดับบนเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับทุกคน และการเมืองกับการศึกษาก็เป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่มีเหตุผลให้แยกเยาวชนออกจากการเมือง

ชิวาว่าใฝ่ฝันจะศึกษาต่อในสาขาออกแบบ แต่เธอพบว่าคณะออกแบบมีระบบอาวุโส หรือที่เรียกกันว่าโซตัสเข้มข้น อีกทั้งเสรีภาพในการแสดงออกในไทยก็ค่อนข้างต่ำ กลายเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

จิงโจ้ผู้หลงใหลในดาราศาสตร์และสนใจปรัชญาและจิตวิทยา ต้องเบนเข็มไปเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ หลังพ่อติงว่าบ้านเราไม่มีตลาดอาชีพรองรับศาสตร์แห่งดาวตามที่เยาวชนรายนี้สนใจ

เช่นเดียวกับคอร์กี้ที่ยื่นเข้าเรียนสาขารัฐศาสตร์ ทั้งที่รู้ว่าการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่มากพอทั้งในเชิงวิชาการและค่าตอบแทน บ่อยครั้งเธอสงสัยว่า "ทำไมต้องเลือกระหว่างสิ่งที่รักและอยากทำ กับคุณภาพชีวิต"

ภายใต้โครงสร้างสังคมการเมืองแบบปัจจุบัน อนาคตที่เธอและเขาวาดหวังไว้เป็นแค่ความฝัน และเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเกียมฯ ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงผู้ใหญ่

เกียม

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

เผยเบื้องหลังการ "ออกม็อบ" แบบเกียม ๆ

ในการ "ออกม็อบแบบเกียม ๆ" ได้ผสมผสานอย่างน้อย 3 กิจกรรมในเวลาไม่ถึง 1 ชม. ที่จัดการชุมนุม โดย 3 ผู้ก่อการช่วยกันอธิบายความหมายไว้ ดังนี้

  • ยืนนิ่ง ๆ: ในแฟลชม็อบต้นปี สื่อถึงการไว้อาลัยอนาคต-คนรุ่นใหม่-ประชาธิปไตย ในแฟลชม็อบรอบล่าสุด สื่อถึงความรู้สึกสิ้นหวัง จนคำพูด เลยได้แต่ยืนนิ่ง ๆ หรือแสดงออกเชิงสัพยอกล้ออำนาจรัฐและความกลัวที่เจ้าหน้าที่รัฐมีต่อการประท้วง "ทำไมล่ะ เราแค่ออกมายืนนิ่ง ๆ ยังจะห้ามเราอีกหรือ จะส่งคนมาเก็บประวัติเราหรือ"
  • ร้อง-เต้นเพลงสันทนาการ: ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม "เสรีเทย พลัส" ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และมีพลังในการดึงคนเข้าร่วม "เพลงมันช่วยเรียกแขกได้ และเรายังสามารถพูดปัญหาผ่านเพลงที่ทุกคนคุ้นเคยและร้องได้ เราแค่ไปยืมมันมาแล้วเอามาพลิกความหมายให้เข้ากับตัวม็อบ กลายเป็นเพลงแจวเรือตามหาประชาธิปไตย"
  • แสดงจุดยืนผ่านคำปราศรัย หรือเขียนข้อความบนกระดาษเอสี่/ไอโฟน/ไอแพด: มุ่งสื่อสารกับผู้ใหญ่โดยตรง จึงยกคำพูดของผู้ใหญ่ที่พร่ำบอกเด็กมาสื่อสารในด้านกลับ

พลิกข้อกฎหมาย ก่อนปะทะ 4 อำนาจ

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการจัดแฟลชม็อบใน "โรงเรียนมัธยมแถวหน้าของประเทศ" ที่มาอายุกว่า 8 ทศวรรษ ทำให้แกนนำต้องปะทะกับอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ทั้งรัฐ โรงเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงเพื่อนนักเรียน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวของนักเรียนเกียมฯ

"เอาจริง ๆ คือเราไม่ได้คุยกับโรงเรียนเลยนะ ใช้อำนาจนักเรียนโดยพลการเลย" คอร์กี้บอกพร้อมเสียงหัวเราะเบา ๆ

"แต่ก็มีเสียงกระซิบจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านมาทางรุ่นพี่ที่จบแล้วว่าให้หลีกเลี่ยงการเขียนป้ายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบัน ในฐานะผู้จัดก็ต้องคอยระวังและช่วยเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ" คอร์กี้ระบุ

นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ยอมรับว่า โรงเรียนให้พื้นที่และให้อิสระแก่นักเรียนในการทำกิจกรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะ ตอ. เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนกว่า 3 พันคน จึงเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป แต่ถึงกระนั้นในวันนัดหมายจัดแฟลชม็อบก็มักมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบแวะมาประจำการอยู่ตามใต้ตึก ทำให้แกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ บางราย "แอบสั่นนิดนึง"

รร.เตรียมอุดม

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ รปภ. ได้รับคำสั่งให้ปิดประตูโรงเรียนในวันที่มี "แฟลชม็อบ" เฉพาะผู้ถือบัตรนักเรียนเท่านั้นที่ผ่านเข้าออกได้ ส่วนสื่อมวลชนได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าวได้หลังกิจกรรมเริ่มไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

ก่อนสร้าง "ประสบการณ์ใหม่" ร่วมกันในฐานะผู้จัดการชุมนุม นักเรียนเกียมฯ ช่วยกันพลิกข้อกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การรักษาความสะอาด มาตรวจสอบว่ากิจกรรมที่จะจัดเข้าข่ายฐานความผิดใดหรือไม่ และทำให้พวกเขาไม่ยกพลลงสู่ท้องถนน

"การป้องกันตัวเองจากรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องจัดประท้วงภายในโรงเรียน เพราะเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่ที่สาธารณะ ในความเป็นนักเรียนทำให้เรามีพื้นที่ตรงนี้อยู่ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่มี จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหาต่าง ๆ" คอร์กี้เผย

พ่อแม่ = "ปฏิปักษ์ทางความคิด" ของเยาวชน?

ส่วนการบริหารความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ผู้จัดแฟลชม็อบรุ่นเยาว์ช่วยกันปกปิดตัวตนและปกป้องผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์กลับบ้านไปแล้วถูกพ่อแม่ต่อว่าหรือสอบถามว่าไปชุมนุมมาหรือ

26 ก.ค. กลุ่มเกียมอุดมฯ ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการถ่ายภาพที่เปิดเผยตัวตนของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน โดยให้เหตผลว่าอาจสร้างความเสี่ยงจากกลุ่มบุคคลอื่นนอกเหนือจากรัฐให้แก่ผู้ชุมนุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็น พร้อมระบุที่มาของความเสี่ยงส่วนหนึ่งว่าเกิดจากผู้ปกครอง, สถานศึกษา และบุคคลภายนอก

"ผู้ปกครอง ซึ่งเยาวชนต้องพึ่งพาเพื่อปัจจัยในการดำเนินชีวิต เช่น เงิน อาหาร ที่อยู่อาศัย และปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ซึ่งผู้ปกครองอาจมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับเยาวชน และอาจทำให้เยาวชนเหล่านั้นถูกปิดกั้นเสรีภาพ" แถลงการณ์กลุ่มเกียมอุดมฯ ระบุตอนหนึ่ง

คู่มือ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่สายอนุรักษนิยมที่ตั้งคำถามว่าเหตุใดเด็ก ๆ ถึงมองพ่อแม่เป็น "ปฏิปักษ์ทางความคิด" ไปได้

แกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ รับทราบคำวิจารณ์ที่ถาโถมเข้าใส่ แต่ขออธิบายความจากมุมของพวกเขาว่าแถลงการณ์ที่ออกมามุ่งปกป้องผู้ร่วมชุมนุมเป็นหลัก และคิดว่าเป็นเรื่องดีแล้วที่สังคมจะมองเห็นว่าสถาบันครอบครัวเป็นปฏิปักษ์ได้ นอกจากมองมุมความกตัญญูรู้คุณ ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับอำนาจนิยมในสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม เพราะเด็กต้องอยู่กับครอบครัวตั้งแต่เล็กจนโต ต้องพึ่งพาครอบครัว

"มันมีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่าเด็กถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกทำร้ายร่างกายจนต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนนอกหรือโซเชียล แนวคิดที่ว่าครอบครัวเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่เฮล์ทตี้ (สมาชิกในครอบครัวมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน) ยอมรับให้ลูกแสดงความเห็นทางการเมืองของตัวเองได้" ชิวาว่ากล่าว

อย่างเด็กสาวรายนี้ แม้มีแรงหนุนจากพ่อ แต่แม่ไม่ต้องการให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เมื่อเธอลองหยั่งเชิง-เล่าให้ฟังว่าไปร่วมชุมนุมเมื่อต้นปี ก็ได้รับคำต่อว่าชุดใหญ่ในทำนอง "ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง" หลังจากนั้นเธองดพูด และถึงทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่รู้ว่าลูกเป็นแกนนำ

ความเสี่ยงสูงสุดของการเป็นแกนนำ

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบเยาวชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศได้เผยโฉมหน้าของผู้ใหญ่ 2 จำพวก มีทั้ง "ผู้ใหญ่โหนเด็ก" คอยหนุนส่งทุกความเคลื่อนไหวและไม่ลืมหยิบฉวยไปใช้เป็นแต้มต่อทางการเมือง กับ "ผู้ใหญ่ห้ามเด็ก" จงใจแฝงคำข่มขู่มาในนามของความห่วงใย เช่น "เรียนจบไป ระวังไม่มีงานทำ" หรือ "ระวังมือที่สาม" น่าสนใจว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองชั้นมัธยมประเมินความเสี่ยงในการก่อม็อบไว้อย่างไร

สมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ 2 คนบอกว่า "รับไม่ได้" หากถูกขุดคุ้ยและประจานในพื้นที่สาธารณะ ชิวาว่ากังวลกับถูก "ล่าแม่มด" ในโลกโซเชียล ส่วนจิงโจ้เชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียนรู้แล้วว่าใครเป็นแกนนำ แต่ยังไม่ได้ทำอะไร หากแค่นั้นพอรับได้ แต่คงรับไม่ไหวหากมีการเปิดเผยตัวตนกับโลกภายนอกซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตราย

ขณะที่คอร์กี้ "มีความกลัว แต่ไม่เป็นรูปร่าง" เพราะยังไม่เคยนึกถึงความเสี่ยงอย่างจริงจัง หากไม่ไหวก็คงรู้ตัวแล้วหยุดไปเอง

"ตัวร้าย" ในประวัติศาสตร์

นอกจากนักเรียนกลุ่มหนึ่งใน ตอ. ยังมีเด็กมัธยมอีกหลายโรงเรียนจัด "แฟลชม็อบ" ภาค 2 อาทิ รร.นวมินทราชินูทิศหอวัง จ.นนทบุรี, รร.ศึกษานารี กทม., รร.หาดใหญ่วิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งถือเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" ที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี นับจากเคยมี "ขบวนการปฏิวัติเด็ก" เข้าร่วมกับนักศึกษา 14 ตุลา 2516

"วลีร่วมสมัย" ของผู้ร่วมชุมนุมที่ปรากฏทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "วลีร่วมสมัย" ของผู้ร่วมชุมนุมที่ปรากฏทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

ในบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ชาวเกียมอุดมฯ คาดหวังว่าการปรากฏตัวของพวกเขาจะทำให้สังคมไทยรู้ว่าเยาวชนก็มีสิทธิ์เสียง และควรให้พื้นที่แก่เยาวชนแม้มีอายุน้อยกว่า เพราะปัญหาที่เยาวชนต้องเจอก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับปัญหาของผู้ใหญ่

"ไม่ว่าเด็กประถมหรือมัธยมก็มีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง ถ้าตอนคุณเป็นเด็ก ไม่มีใครฟังคุณเลย พอโตเป็นผู้ใหญ่ คุณย่อมไม่เห็นความสำคัญของสิทธิ์เสียงที่คุณมี" และ "เราไม่รู้ว่าเราจะชนะไหม แต่ถ้าเผด็จการยังอยู่ กลุ่มแกนนำในวันนี้อาจกลายเป็น 'ตัวร้าย' ในหนังสือเรียนก็ได้ เราไม่ได้อยากเป็นตัวร้าย เราอยากแสดงออกทางการเมืองให้เป็นไปได้มากที่สุดภายใต้รัฐที่กดทับเรา" ชิวาว่าบอก

ส่วนจิงโจ้แอบหวังว่าการเป็น "ตัวร้าย" ในตำราเรียน จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ช่วยกะเทาะเปลือกของคนรุ่นถัดไป เหมือนอย่างที่พวกเขาเคยถูกกะเทาะมาก่อน "หากสับสนกับข้อมูลที่ได้รับว่าควรคิดอย่างนั้นต่อไหม เชื่อถือได้ไหม ก็อยากให้สิ่งที่เราทำในวันนี้ ช่วยกะเทาะความคิดเขาออกมา"

เช่นเดียวกับคอร์กี้ที่วาดหวังจะเห็นการประท้วงของนักเรียนมัธยมกลายเป็นขั้นหนึ่งที่พาทุกคนไปสู่สังคมในแบบที่ต้องการ ไม่อยากเห็นการประท้วงครั้งนี้เป็นเพียงการต่อสู้ หรือความพยายามอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้วล้มหายตายจากไปแบบที่ผ่านมา

"ไม่ใช่การต่อสู้ที่ผิดพลาดไม่มีค่านะ มี แต่ไม่อยากผิดหวังแล้วค่ะ" คอร์กี้กล่าวทิ้งท้าย