คดีเกาะเต่า : 4 ประเด็นน่าสนใจคดีอาชญากรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เกิดคดีเกี่ยวกับชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องบนเกาะเต่า

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เกิดคดีเกี่ยวกับชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องบนเกาะเต่า

ชื่อเกาะเต่าปรากฏบนกระดานข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอีกครั้ง พร้อม ๆ กับคำถามถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน หลังจากสื่ออังกฤษตีพิมพ์รายงานข่าวนักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษ วัย 19 ปี อ้างว่าถูกข่มขืนบนเกาะแห่งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และพยายามให้รายละเอียดเรื่องนี้กับตำรวจแต่ไม่ได้รับความสนใจ

เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารในท้องถิ่นของเกาะที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เกาะแห่งความตาย" นี้มองว่าข่าวที่เผยแพร่ออกไปหลายต่อหลายครั้ง เป็นความตั้งใจโจมตีและทำลายชื่อเสียงการท่องเที่ยวไทย

ขณะที่นักกฎหมายที่เคยทำคดีอาชญากรรมที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้บอกว่ามาตรการรักษาความปลอดภัย และงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่คือช่องโหว่ที่ทำให้เกิดอาชญากรรมอย่างน้อย 7 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งที่ตัดสินไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

เหตุร้ายที่เกิดกับนักท่องเที่ยวบนเกาะเต่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง รวมทั้ง 4 ประเด็น ที่บีบีซีไทยรวบรวมมานำเสนอ

1) ทำไมต้องเป็น "หาดทรายรี"

หากพิจารณาเฉพาะกรณีที่มีการเสียชีวิตแบบไม่เป็นธรรมชาติของชาวต่างชาติ ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า "หาดทรายรี" เป็นจุดหนึ่งที่เกิดเหตุกับชาวต่างชาติอย่างน้อย 7 กรณี ไม่รวมเหตุการณ์ที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อปลายสัปดาห์นี้ ที่ตำรวจระบุว่าจะเชิญผู้เสียหายและเพื่อนมาให้ปากคำ

ย้อนคดีนักท่องเที่ยวบนเกาะเต่า

ที่มา: รวบรวมโดยบีบีซีไทย

พ.ต.ท.นพา เสนาทิพย์ รอง.ผกก.(สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเกาะเต่า อธิบายกับบีบีซีไทยว่า หาดทรายรี เป็นจุดชุมนุมและแหล่งบันเทิงใหญ่ที่สุดบนเกาะเต่า มีสถานบันเทิงราว 10 แห่ง

"ต้องบอกว่าหาดทรายรีถือเป็นจุดไฮไลท์ของเกาะเต่า เพราะมีหาดทรายยาวที่สุด จึงทำให้เป็นจุดที่คนพลุกพล่าน มีร้านค้าและช็อปปิ้ง ร้านอาหารมากมาย" นายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวเสริม

พื้นที่ที่เกิดคดีนักท่องเที่ยวต่างชาติบนเกาะเต่าระหว่างปี 2557-2561

หน่วยงานราชการในท้องถิ่นได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดบนหาดทรายรีไปแล้ว 170 ตัว ขณะที่ สน.เกาะเต่า เพิ่งติดตั้งเพิ่มเติมอีก 16 ตัว ไม่นับรวมกับกล้องวงจรปิดที่ภาคเอกชนติดตั้งเอง เพื่อดูแลความปลอดภัยของชายหาดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแห่งนี้

พ.ต.ท.นพา อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังการจัดตั้งสถานีตำรวจภูธรเกาะเต่าตั้งแต่ วันที่ 15 ม.ค. 58 เป็นต้นมา ทำให้มาตรการการช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างเต็มระบบ รวมทั้งการสืบสอบสวนเป็นไปอย่างเต็มศักภาพมากขึ้น เขายอมรับว่ามีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางเพศอยู่บ้าง เช่น ในปี 2558 เกิดขึ้น 2 ราย สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แล้ว ในขณะที่ ปี 2559 และ 2560 ไม่มีคดีดังกล่าว

ส่วนคดีอื่น ๆ นั้น พ.ต.ท.นพา บอกว่าเป็นการกล่าวหาทั้งสิ้น "อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ปี ก็มีเรื่องว่าโกหกว่าโดนข่มขืน อย่างน้อย สองรายที่เป็นชาวต่างชาติ"

2) คำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในคดีชาวต่างชาติ

นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าทีมทนายความฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมา 2 คน ในคดีข่มขืนและฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า เมื่อปี 2557 ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้สาธารณชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมบนเกาะแห่งนี้ ก็เพราะเป็นกรณีที่อื้อฉาว และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตามทัศนะของทนายผู้นี้มองว่า ช่องโหว่สำคัญของการดำเนินคดีคือเรื่องของหลักฐาน โดยตำรวจอาจมุ่งหาผู้กระทำความผิด จนอาจไม่ได้คำนึงถึงหลักฐานอื่น ๆ รอบข้าง

น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ (ซ้าย) และ นายเดวิด มิลเลอร์ ถูกฆาตกรรม บริเวณหาดทรายรี บนเกาะเต่าเมื่อ ก.ย. 2557

ที่มาของภาพ, PA

คำบรรยายภาพ, น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ (ซ้าย) และ นายเดวิด มิลเลอร์ ถูกฆาตกรรมบริเวณหาดทรายรี บนเกาะเต่าเมื่อ ก.ย. 2557 โดยผู้ต้องหาคือ แรงงานชาวเมียนมา 2 คน คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการยื่นต่อศาลฎีกา

นายนครแนะว่า เจ้าหน้าที่ต้องแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานอันเป็นที่ยอมรับได้ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาเป็นผู้กำกับ รวมทั้งมีแผนในการดูแลประชาชนเป็นอย่างดี

ด้าน พ.ต.ท.นพา อธิบายว่า ปัจจุบันตำรวจไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่มีหน่วยงานทหาร และฝ่ายปกครอง มาสนับสนุน เพิ่มทางเลือกในการคุ้มครองความมั่นใจให้ผู้เสียหาย

ขณะที่นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า บอกว่า หากพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนวันละประมาณ 15,000 คน ต่อกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอยู่ จะมีสัดส่วน 1 นาย ดูแลนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50 คน

3) สงครามข้อมูลข่าวสาร

นายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี บอกกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมาเกาะเต่าถูกโจมตีด้วยข่าวในทำนองนี้มาโดยตลอด อาจจะเพื่อทำลายชื่อเสียงของเกาะและการท่องเที่ยวของไทย แม้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นแล้วก็ตาม

"หากพิจารณาแล้ว มาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา น่าจะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวอุ่นใจมากขึ้น แต่ที่ยังคิดว่าเป็นช่องโหว่คือระบบไอที ซึ่งคาดว่ารัฐอาจจะไม่พร้อมในเรื่องนี้ ในเรื่องการปรับฐานข้อมูลในกูเกิลทั้งหมด" นายไชยันต์เสนอ

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยให้เพิ่มข้อมูลเป็นบวกมากขึ้น เพราะมองว่าการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศและเฟซบุ๊กเพจบางรายเป็น "การโจมตีทางไซเบอร์"

เฟซบุ๊ก CSI LA เป็นหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ติดตามการรายงานข่าวคดีที่เกิดขึ้นบนเกาะเต่าอย่างต่อเนื่อง บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังผู้บริหารเพจ ได้รับการยืนยันว่าได้พยายามนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องทั้งที่ได้จากสำนักข่าวต่างประเทศ และคนในพื้นที่จริง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้

4) ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องมาก่อน

เกาะเต่าถือเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม จนได้รับการกล่าวขวัญว่า "สวรรค์ของการดำน้ำ" ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวราว 1.33 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจบนเกาะเต่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายไชยันต์ บอกว่า ไม่ต้องการให้เรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้นบนเกาะเต่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ครั้ง ๆ ทุกคนได้เรียนรู้ จึงช่วยเฝ้าระวัง ซึ่งกันและกัน เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบจะเกิดกับชาวเกาะเต่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้