ทุจริต GT200: ศาลไทยตัดสินจำคุกผู้นำเข้า 9 ปี กับคำถามใครจะทำตามสัญญา

GT200

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

หน่วยงานยุติธรรมไทยมีคำพิพากษาลงโทษในคดีฉ้อโกงเครื่องตรวจจับอาวุธ จีที200 เมื่อ 10 ต.ค. 2561 ห้าปีหลังศาลอังกฤษตัดสินจำคุก 3 หัวโจก แกงค์ต้มตุ๋นหลอกขาย "ไม้ล้างป่าช้า" จีที 200 และอัลฟ่า 6 พร้อมยึดทรัพย์สินคิดเป็นเงินไทยหลายร้อยล้านบาท

ศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาคดีฉ้อโกงเครื่องตรวจจับอาวุธ (GT 200) ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด พร้อมพวกจำเลยรวม 4 คน ในความผิดฐานฉ้อโกง จากกรณีที่พวกจำเลยได้ร่วมกันทุจริตหลอกลวง โดยเสนอขายเครื่องจีที 200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง ให้กับทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นมูลค่าความเสียหายราว 6.8 ล้านบาท

ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว คือ ศาลสั่งปรับบริษัท เอวิเอ ฯ เป็นเงิน 18,000 บาท และสั่งจำคุกผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 9 ปี และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 6.8 ล้านบาท เบื้องต้นทางทนายความฝ่ายจำเลยได้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสดประมาณ 700,000 บาท เพื่อยื่นประกันตัว และจะยื่นอุทธรณ์คดีภายใน 30 วัน โดยมีรายงานว่ายืนยันว่าทางบริษัทเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าเท่านั้น

บีบีซีไทยขอความเห็นจากกองทัพในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกันเพราะบริษัท เอวิเอฯ ก็เป็นผู้ขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้กองทัพเช่นกัน แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง

ก่อนหน้านี้ทางปปช.เคยออกมาให้เหตุผลว่าการที่คดีล่าช้าเป็นเพราะยังแปลคำพิพากษาของศาลอังกฤษยังไม่เสร็จ เพราะคำพิพากษานี้จะนำมาประกอบการดำเนินคดีเอาผิดคนที่เกี่ยวพันกับคดีที่เหล่าทัพไทยซื้อ จีที 200 และ อัลฟา 6 เครื่องตรวจจับระเบิดที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างคำโฆษณามาใช้

ส่วนเมื่อ 29 ส.ค. 2561 นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 รวมทั้งแบบอัลฟ่า 6 ว่า ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ยังคงพิจารณาอยู่ โดยเขาได้ยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ "เหมือนพระเครื่อง" ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อทัศนะดังกล่าวของ กรรมการปปช.รายดังกล่าวอย่างมาก

เกษียร

ที่มาของภาพ, Facebook/Kasian Tejapira

กรณี จีที 200 ในต่างประเทศเป็นอย่างไร

นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษพิพากษาให้จำคุก 10 ปี เมื่อ พ.ค. 2556 ในคดีจำหน่ายและผลิตเครื่องตรวจจับ วัตถุระเบิดปลอม เอดีอี-651 จำนวน 7,000 เครื่อง ส่วนนายแกรี่ โบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัท โกลบอล เทคนิคัล ที่จำหน่าย จีที 200 ก็ถูกศาลอังกฤษ สั่งจำคุก 7 ปี ในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน ในข้อหาฉ้อโกง ให้แก่ลูกค้าทั่วโลก

ด้าน นายแซมวล ทรี ผู้ผลิตและขายอัลฟา 6 ให้แก่อียิปต์ ไทย และเม็กซิโก ก็ถูกตัดสินจำคุก 3 ½ ปี ส่วนภรรยา ถูกศาลสั่งให้ทำงานบริการสาธารณะ 300 ชั่วโมง

มาถึง มิ.ย. ปี 2559 ผู้พิพากษาประจำศาลโอลด์ เบลีย์ ของอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จากนายแมคคอร์มิค ที่ประกอบไปด้วย เงินสด อสังหาริมทรัพย์ และเรือสำราญ เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของนายแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว

GT200

ที่มาของภาพ, PA

ผู้สื่อข่าวบีบีซีในอังกฤษซึ่งเป็นผู้เปิดโปงเรื่องต้มตุ๋นบันลือโลก รายงานเมื่อปี 2559 ว่ารัฐบาลอิรักซึ่งเป็นอดีตลูกค้า เอดีอี-651 รายใหญ่ของนายแมคคอร์มิค จะได้รับค่าชดเชยราว 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 115 ล้านบาท) ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลของบาห์เรน เลบานอน ไนเจอร์ และจอร์เจีย จะได้รับเงินชดเชยเช่นกัน แต่ยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา นายแมคคอร์มิคมีรายได้มากกว่า 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,500 ล้านบาท) จากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ซึ่งดัดแปลงจากอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ ต้นทุนประมาณ 14 ปอนด์ต่อเครื่อง (ราว 700 บาท) แต่นายแมคคอร์มิคจำหน่ายเครื่องดังกล่าวให้แก่ทหาร ตำรวจ หน่วยตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในราคาเครื่องละประมาณ 3,500 ปอนด์ (ราว 1.75 แสนบาท)

แต่ในไทย ประเทศที่หน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ซื้ออุปกรณ์ลวงโลกมาใช้รวมเกือบ 1,400 เครื่อง (แต่ไม่มี เอดีอี-651) ความเคลื่อนไหวในการจัดการกับผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อ "ไม้ล้างป่าช้า" ในราคาเกือบ หนึ่งล้านบาทต่อชิ้น เป็นไปอย่างล่าช้า ท่ามกลางคำสัญญาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และ นายกรัฐมนตรี ในการปราบปรามกวาดล้างการทุจริตโดยไม่ไว้หน้าใคร

เมื่อกลาง ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยพิจารณาเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมยังเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม รวมทั้งต้องขอเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้รับคำพิพากษาจากศาลประเทศอังกฤษแล้ว อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐาน และการแปลคำพิพากษา

นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกเมื่อ พ.ค. 2556

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกเมื่อ พ.ค. 2556

คดีจีที 200 อาจเป็นคดีสำคัญท้ายๆ ที่มีผู้กล่าวหาเป็นคนระดับสูงในเหล่าทัพ ซึ่งเหลืออยู่ในมือของ ป.ป.ช. หลังจากมีมติ "ยกคำร้อง" ในคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553, คดีจัดซื้อเรือเหาะ และคดีอุทยานราชภักดิ์ ป.ป.ช. ไปหมดแล้ว

แต่ยิ่งการทำคดีนี้ล่าช้าเพียงใด คำถามที่ถูกโยนกลับมาไม่ได้มีแค่กับ ป.ป.ช. แต่ยังรวมถึงรัฐบาลทหาร ที่อาสาตัวเข้ามาปฏิรูปประเทศผ่านการรัฐประหารในปี 2557 เพื่อปัดกวาดสิ่งชั่วร้ายที่เหล่านักการเมืองทิ้งเอาไว้ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ทำไม จีที 200 ถึงกลายเป็นเรื่องลวงโลก

เหตุใด อุปกรณ์ลวงโลกที่ชื่อว่า จีที 200 ถึงกลายมาเป็นสิ่งที่ท้าทายความชอบธรรมของผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันที่ชูธง "ความโปร่งใส" คงต้องย้อนกลับอดีตกลับไปดูความเป็นมาของคดีนี้

ไม้กายสิทธิ์ หรือ ไม้ล้างป่าช้า

นับแต่กองทัพอากาศ เริ่มจัดซื้อจีที 200 ในปี 2548 ก็มีหน่วยงานราชการต่างๆ ของไทย จัดซื้ออุปกรณ์นี้ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันอย่าง "อัลฟ่า 6" รวม 15 หน่วยงาน แต่ถ้านับเฉพาะจีที 200 หน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุด ถึง 90% ของทั้งหมด ก็คือ กองทัพบก

นายโบลตัน เริ่มต้นขายจีที 200 ให้แก่ลูกค้า ทั้งเอกชนและรัฐทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน โดยอ้างว่ามีสรรพคุณ ในการตรวจจับสสารได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่วัตถุระเบิด ยังรวมถึงกระสุน ยาเสพติด ทองคำ งาช้าง ธนบัตร ยาสูบ ไปจนถึงร่างกายมนุษย์ และสามารถใช้งานได้ทั้งบกบก บนฟ้า ใต้น้ำ หรือกระทั่งใต้ดิน จนคล้ายกับเป็น "ไม้กายสิทธิ์"

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองในห้องวิจัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2545 ระบุว่า อุปกรณ์นี้ใช้งานไม่ได้จริง แต่กว่าที่เรื่องจะฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ก็ต้องรอจนถึงปี 2553 ที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีนำอุปกรณ์นี้ไปผ่าพิสูจน์ แล้วไม่พบว่ามีวงจรไฟฟ้า หรือเซ็นเซอร์ใดๆ

ขณะที่ในเมืองไทย การตรวจสอบจีที 200 ก็ถูกจุดกระแสขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน หลังพบว่าทำงานผิดพลาดในภาคใต้ ก่อนจะพบว่า คุณสมบัติในการตรวจจับสสารของมันไม่ต่างจากการเดาสุ่ม มีความแม่นยำเพียง 20% เป็นเพียง "ไม้ล้างป่าช้า" ตามศัพท์ที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เรียกขาน

แรงต้านจากกองทัพ

เมื่อครั้งมีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของ จีที 200 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อุปสรรคสำคัญก็คือแรงต้านจากเหล่าทัพ ที่ยืนยันว่า อุปกรณ์ซึ่งซื้อมาใช้ในภารกิจคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ ยังใช้งานได้ดี

กระทั่ง แม้ภายหลัง นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์แถลงผลการทดสอบว่า จีที 200 มีความแม่นยำในการหาวัตถุระเบิดเพียง 4 ครั้ง จากทั้งหมด 20 ครั้ง ซึ่งไม่ต่างจากการเดาสุ่ม พร้อมกับมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยุติการจัดซื้ออุปรณ์นี้โดยทันที

ทว่าในวันถัดมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้น กลับนำผู้เกี่ยวข้องมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวสวน แสดงความเชื่อมั่นในจีที 200 โดยอ้าง "ประสบการณ์" ของเจ้าหน้าที่ พร้อมให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถ่ายทอดสดตลอดการแถลงข่าว

เบื้องหลังท่าทีขึงขังของ พล.อ.อนุพงษ์ครั้งนั้น อาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การจัดซื้อจีที 200 ของกองทัพบก ระหว่างปี 2550-2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 757 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 682 ล้านบาท โดย 755 เครื่อง หรือคิดเป็น 99.7% จัดซื้อสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ส่วนที่เหลืออีก 2 เครื่อง คิดเป็น 0.3% จัดซื้อสมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ.

แต่ก็เป็นกองทัพบก ยุค พล.อ.อนุพงษ์ นี่เอง ที่ปลดประการจำ จีที 200 และนำสุนัขทหารมาตรวจสอบวัตถุระเบิดแทน จนมาถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่มีการจัดซื้อเพิ่มเติมแล้ว

จีที 200 vs จำนำข้าวยิ่งลักษณ์

คดีจีที 200 ถูกยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบพร้อมกับคดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในปี 2555 แต่ความคืบหน้าในการทำคดีทั้งสองกลับต่างกันมหาศาล เพราะในขณะที่คดีหนึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้ว ให้จำคุกอดีตรัฐมนตรีถึง 2 คน และมีผลไปยังอีกคดี ทำให้อดีตนายกฯ ถูกตัดสินจำคุกเช่นกัน อีกคดีกลับยังอยู่เพียงขั้นตอน "รวบรวมพยานหลักฐาน" โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.

ทั้งๆ ที่ คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 40 คน ตำแหน่งสูงสุดเป็นเพียง "เจ้ากรม" ไม่มี "ผู้บัญชาการเหล่าทัพ" แม้แต่คนเดียว

ประเด็นสำคัญที่คนสงสัยว่าอาจจะมีการทุจริต ก็คือราคาจัดซื้อจีที 200 หรืออัลฟ่า 6 ที่แตกต่างกันจนน่าฉงน เพราะมีตั้งแต่เครื่องละ 4.2 แสนบาท ไปจนถึง 1.3 ล้านบาท หรือต่างกันสามเท่าตัว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดราคาถึงแตกต่างกันมาก โดยบางหน่วยงานใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ กลับแพงกว่าบางหน่วยงานที่ใช้วิธีประกวดราคา

แต่ไม่ว่าจะจัดซื้อมาในราคาเท่าไร สุดท้ายเครื่องมือลวงโลก ที่จัดซื้อมาทั้งหมด 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ก็ต้องสูญเปล่า จนหลายคนเรียกว่าเป็น "ค่าโง่" แม้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในรัฐบาลปัจจุบัน จะพยายามเปลี่ยนให้ไปใช้คำว่า "ค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อย" แทนก็ตาม

ใครจะทำตามสัญญา

หลังจากนี้ สังคมไทยก็คงต้องช่วยกันทวงถามหาความยุติธรรมจาก ป.ป.ช.และรัฐบาล กันต่อไป เพราะทุกบาทที่เสียไปก็คือเงินภาษีของพวกเราทุกคน หากไม่ต้องการให้สูญไปโดยที่ไร้คนรับผิดชอบ

น่าสนใจว่า ระหว่างผู้ขายจีที 200 รับโทษจนครบ พ้นคุกออกมา กับ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีนี้แล้วเสร็จ อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน

หมายเหตุ- บทความนี้ได้รับการปรับปรุงข้อมูลโดยทีมงานบีบีซีไทย จากบทความถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2017 ซึ่งเขียนโดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย