ธนาธร ลั่นจัด “แฟลชม็อบ” เพราะต้องการให้ “เห็นหัวประชาชนบ้าง”

ภาพสุดท้ายก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเดินออกจากห้องประชุมสภาเมื่อ 25 พ.ค. 2562 ถูกนำมาฉายซ้ำในกิจกรรม "อยู่ไม่เป็น"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ภาพสุดท้ายก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเดินออกจากห้องประชุมสภาเมื่อ 25 พ.ค. 2562 ถูกนำมาฉายซ้ำในกิจกรรม "อยู่ไม่เป็น"

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เผยเป้าหมายหลักในการจัด "แฟลชม็อบ" เพื่อเชิญชวนคนที่ไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาแสดงพลังร่วมกันว่า "ให้เห็นหัวประชาชนบ้าง" ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบางฝ่าย

3 ชั่วโมงก่อนความเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะเกิดขึ้น นายธนาธรกล่าวยืนยันผ่านสื่อมวลชนว่า การชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมืองในที่สาธารณะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ดังนั้นพวกเขาจะ "แสดงตัวอย่างเปิดเผย สร้างสรรค์ และสันติ แต่อาจมีกลุ่มคนที่ถูกจัดตั้งมาทำให้เกิดการเผชิญหน้า" จึงขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าไปหลงเชื่อว่าชุมนุมคือวุ่นวายและรุนแรง เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน

"การแสดงจุดยืนทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นพิธีกรรมที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย" นายธนาธรกล่าว

เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ระบอบ คสช. จงใจสร้างความเกลียดกลัวและเผชิญหน้ากันในหมู่ประชาชน เพื่อจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการการสืบทอดอำนาจ

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าความเคลื่อนไหวบนท้องถนนรอบนี้ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่นั้น นายธนาธรเห็นว่าคนที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งไม่ใช่ประชาชน แต่คือคนที่ยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 และไม่ยอมให้ระบบรัฐสภาเดินหน้าทำงานได้ปกติ คนที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งขณะนี้คือคนสืบทอดอำนาจของ คสช.

"ที่ผ่านมา ความขัดแย้งจบไปแล้วหรือ มันไม่จบ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยคืนมา คนที่คิดว่าผ่านมา 5 ปีคือความสงบ ไม่ใช่นะ คือการกดขี่ ไม่ใช่ความสงบ ความขัดแย้งไม่ได้หมดไป จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกัน" นายธนาธรกล่าว

หัวหน้า อนค. ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรื่องการเอา "ปัญหาส่วนตัว" มาปลุกกระแสทางการเมือง และทำให้ประชาชนไม่มีความสุขช่วงปีใหม่ โดยยืนยันว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องของอนาคตใหม่ แต่เป็นเรื่องอนาคตของทุกคน"

โคว้ดพิค

นายธนาธรหลีกเลี่ยงจะตอบคำถามตรง ๆ หลังถูกผู้สื่อข่าวถามว่าการชุมนุมนี้มีเป้าหมายเพื่อขับไล่รัฐบาลใช่หรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่าเป็นการแสดงตัวของคนที่ไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของ คสช. เมื่อถูกถามอีกว่านี่เป็นเพียงยกแรกใช่หรือไม่ เขาอมยิ้มก่อนตอบว่า "ครั้งที่หนึ่ง"

นายธนาธรเป็นผู้นัดหมายประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่วานนี้ (13 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คำร้องคดียุบ อนค. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากกรณีหัวหน้าพรรคปล่อยเงินกู้ให้พรรค 191.2 ล้านบาทเพื่อทำกิจกรรมในช่วงเลือกตั้ง ถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ

"นี่คือเวลาที่เราจะต้องส่งเสียงของประชาชนให้ดัง นี่คือเวลาที่เราจะต้องส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้ยิน ถ้าท่านเห็นด้วยกับผมว่าเวลานี้ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้ จะต้องลุกขึ้นทวงคืนความชอบธรรม ทวงคืนความยุติธรรมกลับคืนมา เจอกัน" นายธนาธร กล่าวในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางแฟนเพจของเขา ซึ่งเพียงวันเดียวมียอดผู้รับชมเกือบ 4 แสนคน และถูกแชร์ออกไปกว่า 8.1 พันครั้ง

ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสนธิญา สวัสดี สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้าร้องทุกข์และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สน.ปทุมวัน เพื่อให้นายธนาธรย้ายสถานที่จัดกิจกรรม เนื่องจากไปลิดรอนสิทธิประชาชนผู้สัญจรไปมาคนอื่น ๆ

ขณะที่ตำรวจร้อยเวร สน.ปทุมวัน กล่าวว่า แกนนำจัดกิจกรรมไม่ได้แจ้งขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด

เพื่อไทยไฟเขียว

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดชุมนุมของพรรคอนาคตใหม่ในวันนี้ว่า หากสมาชิกพรรค ส.ส. พรรคจะไปร่วมชุมนุมก็สามารถทำได้ตามสิทธิเพราะเป็นสิทธิแต่ละบุคคล

เขากล่าวอีกว่า ส่วนตัวเข้าใจพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ต้องให้กำลังใจ และเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญเพราะการแสดงความเห็นภายใต้กฎหมายสามารถทำได้ และขอให้ผู้มีอำนาจเข้าใจ อย่ามองความเห็นต่างเป็นศัตรู เป็นความวุ่นวาย เชื่อว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย หากรัฐบาลก็ควรเรียบเรียงความสำคัญ และควรให้ความสำคัญกับปัญหาของบ้านเมืองให้มากขึ้น

ธนาธรนัดมวลชนลงถนนครั้งแรก

  • ชื่อกิจกรรม : "เมื่อเสียงที่พวกเราเลือกเข้าสภาไม่มีค่า ได้เวลาประชาชนออกมาส่งเสียงด้วยตัวเอง"
  • รูปแบบ : "แฟลชม็อบ" ใช้เวลา 1 ชั่วโมง (17.00-18.00 น.)
  • สถานที่ : สกายวอล์ก เขตปทุมวัน เนื่องจากเป็นสถานที่สาธารณะ ประชาชนเดินทางมาสะดวก ยืนยันไม่ได้คิดฉวยจังหวะเพิ่มยอดมวลชนจากคนที่มาชมคอนเสิร์ตบริเวณสยามสแควร์ซอย 5 แต่อย่างใด ขณะที่ผู้จัดคอนเสิร์ตต้องแจ้งเปลี่ยนเวลาจัดงานกระทันหันโดยเริ่มงานเร็วขึ้นจากกำหนดเดิม
  • การรักษาความปลอดภัย : เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บก.น.6) จำนวน 1 กองร้อย หรือ 150 นายจะเข้าดูแลพื้นที่ ส่วนหัวหน้า อนค. ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

เช็คเสียงหนุน-ต้าน แกนนำอนาคตใหม่เคลื่อนไหวบนท้องถนน

อย่างไรก็ตามมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนของหัวหน้า อนค. บีบีซีไทยประมวลความคิดเห็นคนดังที่แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ในช่วง 2 วันนี้

  • สนับสนุน - นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง", นักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย, นักศึกษากลุ่มดาวดิน ฯลฯ
  • คัดค้าน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ, นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว, นางทยา ทีปสุวรรณ อดีต กปปส. และภรรยา รมว.ศึกษาธิการ, นายสุหฤท สยามวาลา อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม., ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย ฯลฯ

"ปากกาอยู่ที่เขา" แต่เราไม่จำนน

นายธนาธรเพิ่งพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อ 20 พ.ย. ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีถือหุ้นบริษัทสื่อ แม้นำลูกพรรคเข้าสภาได้ถึง 80 คนในการลงเลือกตั้งสมัยแรกของ อนค. แต่หัวหน้าพรรคกลับเข้าไปยืนกลางสภาได้ไม่กี่นาทีก็ต้อง "เว้นวรรค" การทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก่อนหน้านั้น

ธนาธร

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่

ขณะนี้พรรคการเมืองที่เขาร่วมก่อตั้งต้องเผชิญกับสภาวะ "ไม่แน่นอน" โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินอนาคตอีกครั้ง

นายธนาธรกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ปากกาอยู่ที่เขา อำนาจในการวินิจฉัยอยู่ที่พวกเขา ไม่ได้อยู่ที่พวกเรา เราก็สู้ต่อไป พวกเขาไม่ให้ผมอยู่ในสภาก็ขอกลับไปอยู่กับประชาชน ขอใช้เวลานี้ที่ไม่ได้เข้าสภาต่อสู้กับประชาชนจนกว่าจะได้ประชาธิปไตย ระบบนิติรัฐนิติธรรมกลับมา"

เมื่อถูกถามว่า มีพรรคสำรองหรือไม่ เขาบอกเพียงว่า "เราสู้ต่อทั้งในสภาและพื้นที่อื่น ๆ" แต่ยอมรับว่ามีการหารือทิศทางในส่วนของกรรมการบริหารและ ส.ส. ของพรรค แต่ขอสงวนสิทธิ์ไม่พูดถึงตอนนี้ ทว่ายืนยันว่า อนค. ตั้งขึ้นมาเพราะไม่ยอมจำนน ก็พร้อมรับคำวินิจฉัยและต่อสู้ทุกรูปแบบ

ส่วนที่สื่อบางสำนักรายงานข่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค. จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ในกรณี อนค. ถูกยุบพรรค นายธนาธรบอกว่า พรรคยังไม่โดนยุบ ยังไม่มีการคิดว่าใครเป็นหัวหน้า นายธนาธรยังเป็นหัวหน้า อนค.

ใครเคยถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหาร เพราะจัดชุมนุมจุดเดียวกับธนาธร

สำหรับลานสกายวอล์กถูกใช้ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งหลังรัฐประหารปี 2557 แต่ครั้งที่เป็นที่จดจำของสังคมมีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์

  • 22 พ.ค. 2558 นักศึกษาและนักกิจกรรมการเมือง นำโดยนายนัชชชา กองอุดม และนายธัชพงษ์ แกดำ ไปรวมตัวกันหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารในวาระครบ 1 ปี ก่อนมี 9 คนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน กระทั่งเดือน ก.พ. 2562 ศาลทหารกรุงเทพได้สั่งยุติคดีหลัง คสช. "ปลดล็อกการเมือง" โดยให้ยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว
  • 27 ม.ค. 2561 กลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" นำโดยนายรังสิมันต์ โรม และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" นัดชุมนุมเรียกร้องไม่ให้รัฐบาล คสช. เลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง ก่อนมี 39 คนถูกแจ้งความดำเนินคดี หรือที่รู้จักในชื่อคดี "MBK39" ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (เฉพาะแกนนำ), ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน และจัดการชุมนุมสาธารณะภายในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กระทั่งเดือน พ.ย. 2562 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นแนวร่วม คงเหลือแต่ระดับแกนนำ 8 คนที่ต่อสู้คดีอยู่ในชั้นศาล