โควิด-19: ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเกือบ 3 พัน ศบค. เผยอาจยกระดับมาตรการควบคุม

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai New Pix

ไทยทุบสถิติใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันที่ 2,839 รายภายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่เคยมีการรายงานข้อมูลจาก ศบค. ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุไปที่ 53,022ราย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 ราย

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวัน (24 เม.ย.) ขึ้นไปที่ 2,839 ราย โดย โฆษก ศบค. ชี้แจงว่าเหตุผลที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงเพราะเป็นตัวเลขที่สะสมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้วันเดียว ตัวเลขที่เห็นเป็นตัวเลขที่รอการ "คลีนข้อมูล" เพราะพบมีข้อมูลสะสมมากและมีการนับซ้ำกันในบางกรณี

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  • มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,839 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,827 ราย (จากการเฝ้าระวัง 2,523 ราย, จากการค้นหาเชิงรุก 304 ราย) และมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 53,022 ราย หายป่วย 30,566 ราย
  • มีผู้ป่วยสะสมการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. จำนวน 24,159 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 129 ราย 7 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตที่ 0.24%
  • ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (1,582 ราย), เชียงใหม่ (151 ราย), ชลบุรี (119 ราย), นนทบุรี (96 ราย) และสมุทรปราการ (84 ราย)

จากรายงานตัวเลขในวันนี้พบว่ามีรายงานผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ที่ 22,327 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 17,924 ราย และโรงพยาบาลสนาม 4,403 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 418 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย

โดยในขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกสะสมอยู่ที่ 934,449 ราย และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 160,996 ราย

Nope

เตียงยังเพียงพอ

นพ. ทวีศิลป์ ชี้แจงหลังจากที่มีการแถลงตัวเลขไปเมื่อวานว่าประเทศไทยอาจจะมีเตียงไม่เพียงพอต่อความต้องการหากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ว่าเป็นความเข้าใจที่ "คลาดเคลื่อน" เพราะตัวเลขที่แจ้งไว้เมื่อวานเป็นเพียงแค่ตัวเลขสถานการณ์เตียงของ กทม. และปริมณฑลเท่านั้น

รวมมีเตียงว่างทั้งหมด ณ ขณะนี้ที่ 21,138 เตียง โดยตอนนี้มีอัตราการครองเตียงทั้งประเทศที่ 47.8% โดย ศบค. ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติเรื่องเตียง และยังพอมีเตียงว่างอีกเยอะ

โดยเตียงทั้งหมดทั่วประเทศรวมทุกชนิดมีอยู่ 40,524 เตียง แบ่งเป็นประเภทดังนี้

  • ห้องความดันลบแบบเดี่ยว 704 เตียง มีเตียงว่าง 295 เตียง
  • เตียงรวม ปรับอากาศแบบความดันลบ 1,688 ห้อง มีเตียงว่าง 679 เตียง
  • ห้องเดี่ยว 9,206 เตียง มีเตียงว่าง 3,349 เตียง
  • หอผู้ป่วยรวม 22,435 เตียง มีเตียงว่าง 13,541 เตียง
  • ฮอสปิเทล 158 เตียง มีเตียงว่าง 70 เตียง
  • Cohort ICU 6,333 เตียง มีเตียงว่าง 3,204 เตียง

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่าตัวเลขที่แจ้งไปเมื่อวาน (23 เม.ย.) เป็นตัวเลขของเตียงว่างใน กทม. และปริมณฑล โดยมีเตียงทั้งหมดทุกปนะเภทอยู่ที่ 16,422 เตียง และตอนนี้มีเตียงเหลือว่างอยู่ที่ 5,347 เตียง โดยอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 67.4% และตัวเลขเตียงว่างจะเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เพราะจะมีการดึงเอาคนไข้ที่ไม่ได้มีอาการหนักออกไป เพื่อให้มีเตียงว่าง

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

โดยวันนี้มีคนที่รอเข้ารับการรักษาอยู่ที่ 2,013 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 950 ราย เมื่อวานนี้ได้ดำเนินการจัดการให้คนที่รอเตียงเข้ารับการรักษาเพิ่มอีก 724 ราย สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ว่าจะมีการจัดการกับผู้ที่รอเตียงอยู่ 2,013 ราย จะจัดการให้ทุกคนเข้าโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 2-3 วันนี้โดดยผ่านการโทรศัพท์ติดต่อเพื่อยืนยันการเข้ารับ

ถ้าอาการไม่รุ่นแรงจะเข้าโรงพยาบาลสนาม แต่ถ้ารุนแรงจะต้องเข้าโรงพยาบาล โฆษก ศบค. ขอให้ทุกคนรอรับสายเพื่อทำการรับตัวเข้าโรงพยาบาล โดยเมื่อวานมีรายงานว่ามีผู้ป่วยมากถึง 146 สายปฏิเสธการรับเข้าโรงพยาบาลและติดต่อกลับไปไม่ได้

สาเหตุการติดเชื้อ

นพ. ทวีศิลป์ กล่าวว่าตอนนี้คลัสเตอร์การกระจายตัวของกลุ่มก้อนการระบาดของโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วประเทศมากกว่าสัปดาห์ก่อน โดยพบว่าคลัสเตอร์ใหม่เกิดจากการติดเชื้อจากกิจการและกิจกรรมก่อนที่จะกระจายไปสู่ครอบครัว

ศบค. สรุปสาหเหตุของการติดเชื้อว่าในช่วงหนึ่สัปดาห์ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็นประเด็นต่อไปนี้

  • ติดเชื้อในที่ทำงาน
  • การพบปะ รับประทานอาหารร่วมกัน
  • การติดกันภายในครอบครัว
  • การมั่วสุม รวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยง
  • การมีกิจกรรม กิจการ การรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุ
  • การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะด้วย
  • ผู้ติดเชื้อให้ไทม์ไลน์คลาดเคลื่อน ขาดจุดสำคัญ ทำให้กระบวนการสืบสวนล่าช้า และทำให้การควบคุมโรคก็ล่าช้าไปด้วย
โควิด-19

พิจารณายกระดับการควบคุม

นพ. ทวีศิลป์ชี้แจงเพิ่มเติมว่าอาจจะมีการยกระดับมาตรการควบคุม "เฉพาะจุด" เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่ได้อาศัยอย่ในพื้นที่ระบาดหนัก โดยเน้นย้ำว่า "ไม่ต้องการที่จะเพิ่มมตรการที่รุนแรงไปกว่านี้ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกันได้"

"หลังจากที่มีการประชุมกับ ศบค. ชุดเล็ก นายกฯ พร้อมที่จะยกระดับในการดูแลพี่น้องประชาชนในภาพรวม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือข้อมูลชุดนำเข้าจะต้องมีการวิเคาระห์แยกแยะให้ชัดเจนว่ากลุ่มก้อนไหนที่เป็นปัญหา และจะได้จัดการเฉพาะที่ อย่างตอนนี้ กทม. และปริมณฑลยังมีตัวเลขที่สูงและรอรับบริการอีกมาก" นพ. ทวีศิลป์ กล่าว

"ถ้าเราช่วยกันอย่างเต็มที่และไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้คนที่อยู่ในบ้านเพิ่มเติมก็จะช่วยได้ กิจการ กิจกรรมที่เป็นปัญหาจะถูกเพ่งเล็งและจะมีการจัดการอย่างไร ซึ่งเป๋นมาตรการที่ละเอียดอ่อน และ เลขา ศบค. กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณามาตรการอยู่"

โฆษก ศบค. อธิบายว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วง 2 อาทิตย์ที่ประกาศมาตรการไปเมื่อวัน 18 เม.ย. เพราะฉะนั้นการยกระดับมาตรการการควบคุมมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนมาก เขากล่าวว่าถ้าจะยกระดับมาตรการต้องดูเป็นพื้นที่ไป ไม่ใช่ประกาศทั้งประเทศเพราะประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบมาก

หากถ้าจะมีมาตรการเพิ่มเติมอะไร อาจจะประกาศเป็นพื้นที่เฉพาะหรือกลุ่มควบคุมสูงสุด โดยโฆษก ศบค. ขอให้รอเวลาเพื่อให้ เดี๋ยวฝ่ายยุทธศาสตร์จะพิจารณามาตรการให้เหมาะสมตามพื้นที่ต่อไป

กทม. ยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และให้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร โดยสั่งปิดสถานที่ เริ่ม 26 เม.ย. ถึง 9 พ.ค. 2564 ดังนี้

1.โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

2. สวนน้ำ สวนสนุก

3. สวนสัตว์

4. สถานที่เล่นสเก็ต หรือโรลเลอร์เบรด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

5. โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด

6. สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม

7. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

8. สระว่ายน้ำสาธารณะ หรือกิจการอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

9. สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส

10. สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม

11. พิพิธภัณฑ์ (พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน)

12. ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชน และบ้านหนังสือ

13. สถานรับเลี้ยงเด็ก (ยกเว้นสถานเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาลให้เปิดได้)

14. สถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระให้เปิดได้)

15. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

16. โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)

17. สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

18. สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ

19. สนามม้า

20. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

21. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และ คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม

22. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริม

ความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า

23. สนามแข่งขันทุกประเภท

24. สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ

25. สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน

26. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ 11.00-21.00 น. ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งหมด ร้านอาหารภายในห้าง ให้จัดที่นั่งห่าง 2 เมตร ถ้าน้อยกว่านี้ต้องมีฉากกั้น

27. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม เปิดได้เฉพาะกิจกรรม สระ ตัด ซอย แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน

28. สนามกีฬาทุกประเภท ไม่มีการเล่นและการแข่งขันทุกประเภท

29. สวนสาธารณะ ลานพื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา

30. ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ 05.00 - 22.00 น.

31. ห้ามจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเข้าค่าย การถ่ายภาพยนตร์ หรือรายการโทรทัศน์ หรือกิจกรรมทางศาสนา การปฏิบัติธรรม การพบปะญาติที่เกินกว่า 20 คน

มาตรการทั้งหมดให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 เม.ย. (เที่ยงคืนวันอาทิตย์) ถึง 9 พ.ค. รวม 14 วัน หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ร้านอาหารภายนอกห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้ นั่งทานภายในร้านได้ถึง 21.00 น. จากนั้นให้ขายแบบนำกลับบ้านถึง 23.00 น. โดยให้จัดที่นั่งห่าง 2 เมตร ถ้าน้อยกว่านี้ต้องมีฉากกั้น