ปรัชญาโอลิมปิก: เจ้าของรางวัลแรกของไทยทำสำเร็จได้อย่างไร ?

ปรัชญาโอลิมปิก

ที่มาของภาพ, PANUWICH DANGCHAN

คำบรรยายภาพ, ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ หรือ "ไดร์ฟ" ได้รางวัลจากการแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกและภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
  • Author, นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

"ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ" เป็นตัวแทนประเทศไทยคนแรกที่ได้รางวัลจากการแข่งขัน "ปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศ" แต่โรงเรียนทั่วประเทศไทย ยังไม่มีที่ไหนสอนปรัชญาในห้องเรียน

ถ้าหากคุณถาม ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ ว่าสองสิ่งที่เขาชอบมากที่สุดคืออะไร ก็คงหนีไม่พ้นภูมิศาสตร์และปรัชญา สองสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เข้าค่อยกันเท่าไรสำหรับคนไทยทั่วไป แต่สำหรับเขา มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก

ความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้ธีรเชษฐ์ หรือ "ไดร์ฟ" อายุ 18 ปี สนใจภูมิศาสตร์จนได้ไปแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศและคว้าเหรียญทองกลับมา และความกังวลของเขาต่อ "ตรรกะวิบัติ" ของคนไทย ได้ทำให้เขาไปแข่งปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศจนได้คะแนนเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

ปัจจุบัน เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเรียนรู้ทางด้าน "จริยศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่า การทำอะไรด้านสิ่งแวดล้อมมันถูกหรือผิดอย่างไร ซึ่งเขาเชื่อว่าความรู้ทางปรัชญาจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

"ปรัชญาคือการตั้งคำถามกับสิ่งรอบ ๆ ตัว แต่เป็นความรู้ในการดำรงชีวิต ว่าจะดำรงชีวิตอย่างไรถึงจะดีที่สุด" เขากล่าว "ส่วนการเรียนภูมิศาสตร์คือการศึกษาสิ่งรอบตัว และแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ภาวะโลกร้อน การทำลายระบบนิเวศ มลภาวะ"

ค่ายภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

ที่มาของภาพ, PAKORN MEKSANGSOUY

คำบรรยายภาพ, ไดร์ฟ (ซ้าย) ทำงานภาคสนามในค่ายเพื่อเตรียมตัวก่อนไปแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

ไดร์ฟ ศึกษาหาความรู้ด้านปรัชญาจากการค้นคว้าด้วยตัวเอง ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เขาเพิ่งเรียนจบเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาก็ไม่ได้สอนวิชานี้ เช่นเดียวกับโรงเรียนทุกแห่งในไทยที่ไม่ได้กำหนดวิชาปรัชญาไว้ในหลักสูตรการศึกษา

กำเนิด ตรรกะวิบัติ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ไดร์ฟสนใจศึกษาด้านปรัชญา เกิดจากการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ "การใช้เหตุผล" เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

จากนั้นเขาจึงชวนเพื่อนอีก 4 คนตั้งเพจ "ต่อต้านตรรกะวิบัติ" ในเฟซบุ๊ก เพื่อให้ความรู้คนไทยเกี่ยวกับการให้เหตุผล โดยใช้ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ผี แอลกอฮอล์ เซ็กซ์ ไปจนถึงประเด็นที่หนักกว่า เช่น รัฐบาล รัฐธรรมนูญ ภาวะโลกร้อน และการเกณฑ์ทหาร

"นักการเมืองต่อต้านรัฐธรรมนูญ นักการเมืองน่าจะต้องโกง เพราะฉะนั้นเราควรรับรัฐธรรมนูญ"

"นายเธียรมาจากอิรัก ประเทศอิรักมีการก่อการร้าย เพราะฉะนั้นนายเธียรเป็นผู้ก่อการร้าย"

"ถ้าซื้อเรือดำน้ำแล้วประเทศจะเจริญ ไม่ซื้อเรือดำน้ำ เพราะฉะนั้นประเทศจะไม่เจริญ"

คือตัวอย่างของประเด็นการเมืองที่ไดร์ฟและเพื่อน ๆ ใช้ประกอบเป็นตัวอย่างของ "ตรรกะวิบัติ" โดยวันแรกที่เปิดตัว มีคนกดไลค์เพจถึง 5,000 คน และปัจจุบันมีการลงประเภทของตรระกะวิบัติไว้ 22 ชนิด

เฟซบุ๊กต่อต้านตรรกะวิบัติ

ที่มาของภาพ, FACEBOOK

คำบรรยายภาพ, เพจ "ต่อต้านตรรกะวิบัติ" ที่ไดร์ฟและเพื่อน ๆ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความรู้คนไทยเกี่ยวกับการใช้เหตุผล

เรียนจากยูทิวบ์

การศึกษาเรื่องตรรกศาสตร์ทำให้ไดร์ฟสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องปรัชญาทั่วไป เขาจึงดูวิดีโอที่สอนปรัชญาเป็นภาษาอังกฤษในยูทิวบ์ แหล่งหาความรู้ทั่วไปตั้งแต่อยู่ชั้น ม. 1

"การที่เรารู้อะไรใหม่ ๆ ทุกวันโดยไม่มีกรอบของโรงเรียนเข้ามาเกี่ยว เราฟังแค่เพราะอยากรู้ มันเป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุข แล้วมันเป็นนิสัยอย่างหนึ่ง ที่ได้ดีจากในหลาย ๆ ด้านเพราะยูทิวบ์นี่แหละ" เขากล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า 80% ของความรู้ด้านปรัชญาที่เขามี มาจากการศึกษาผ่านยูทิวบ์

ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไดร์ฟเป็นหนึ่งในผู้สมัคร 50 คนที่สอบคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สมาคมปรัชญาแห่งประเทศไทยมีการคัดเลือกดังกล่าว

ไดร์ฟเป็นนักเรียน 1 ใน 2 คนที่ผ่านการคัดเลือก และใช้เวลาอีก 3 เดือนก่อนเดินทางไปแข่งขันในเดือน พ.ค. ที่ประเทศมอนเตเนโกร เตรียมตัวไปแข่ง โดยอ่านหนังสือจากห้องสมุดของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาข้อสอบเก่า ๆ มาก่อนทำให้ไดร์ฟรู้ว่าควรจะเน้นสาขาปรัชญาที่ตัวเองถนัดที่สุด นั่นคือ จริยศาสตร์ (ethics) ที่ว่าด้วยความถูกผิดของการกระทำ

"ชอบเป็นพิเศษเพราะดูเป็นสาขาที่ใช้จริง การตอบคำถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องคืออะไรที่ทุกคนควรเรียนด้วยซ้ำไป อะไรถูกต้อง อะไรคือความดี รู้ได้ไงว่าเป็นความดี ทำอย่างนี้ผิดไหม การใช้ชีวิตยังไงดีที่สุด คือ จริยศาสตร์" เขากล่าว

"สิทธิ" สิ่งแวดล้อม

ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ หรือ ไดร์ฟ ในขณะแข่งขัน

ที่มาของภาพ, INTERNATIONAL PHILOSOPHY OLYMPIAD

คำบรรยายภาพ, ไดร์ฟเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศ 100 คน

ข้อสอบของปรัชญาโอลิมปิก เป็นการเขียนเรียงความวิพากษ์วิจารณ์คำพูดของนักปรัชญา ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 4 ข้อความ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องตอบเป็นภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแรกเกิดของตัวเอง ซึ่งมีให้เลือกเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน

คำถามที่ไดร์ฟเลือกตอบ มาจากคำพูดของนักปรัชญาชาวเยอรมัน อิมมานูเอล คานต์ ที่กล่าวว่า "เนื่องจากชุมชนสากลที่ (แคบกว่าหรือกว้างกว่า) มีอยู่ทั่วไปท่ามกลางประชากรต่าง ๆ ในโลก การละเมิดสิทธิของประชากรเหล่านั้นในที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้ จะรู้สึกไปทุกแห่งหน"

ในคำตอบ 5 หน้าของไดร์ฟ เขาเสนอว่า การให้สิทธิกับสิ่งแวดล้อมเหมือนที่มนุษย์ให้สิทธิมนุษย์ทุกคนในรูปแบบของสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะชุมชนโลกกำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมนุษย์ต้องพึ่งสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต

ไดร์ฟขยายความว่า การให้สิทธิกับสิ่งแวดล้อมในมุมมองของเขา จะถือว่าสิ่งทางธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลสาบ ควรอยู่ในฐานะทางกฎหมายเทียบเท่ากับคน แต่เมื่อไม่สามารถที่จะพูดในศาลได้ ก็ให้ถือว่าเป็น "บุคคลพิการทางสติปัญญา"

น้ำมันรั่ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไดร์ฟเสนอให้สิ่งแวดล้อมมีสิทธิเหมือนกับสิทธิมนุษยชน

"สมมุติว่าไดร์ฟเป็นองค์กรทางสิ่งแวดล้อมแล้วไดร์ฟรู้ว่าโรงงานหนึ่งทิ้งสารลงไปในแม่น้ำ ไดร์ฟสามารถแจ้งความโรงงานนั้นได้เลยในฐานะเป็นผู้ปกครองของแม่น้ำนั้น แล้วโรงงานนั้นต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับแม่น้ำ" ไดร์ฟกล่าว "แล้วจ่ายมากแค่ไหน? สมมุติว่าค่าฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาเหมือนเดิมคือ 1 ล้านบาท ก็ต้องใช้ 1 ล้านบาท"

คำตอบของไดร์ฟทำให้เขาได้คะแนนรวมเป็นอันดับที่ 15 จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 100 คน จาก 50 ประเทศ และได้รับรางวัลชมเชย

ปรัชญาในห้องเรียน

แม้ว่าสมาคมปรัชญาฯ จะก่อตั้งมา 20 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีการส่งนักเรียนไปแข่งปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศ จนกระทั่งเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เริ่มจัดการคัดเลือกเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการผลักดันการเรียนการสอนปรัชญาในโรงเรียน

"มีงานวิจัยสนับสนุนความคิดที่ว่า การเรียนปรัชญา ทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จในวิชาอื่น ๆ ดีขึ้น เพราะปรัชญาเป็นเรื่องความคิดและตรรกะ และพวกนี้จำเป็นต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่าทฤษฎีที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร" ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นายกสมาคมปรัชญาฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ (กลาง) และ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นายกสมาคมปรัชญาแห่งประเทศไทย

ที่มาของภาพ, TERACHET ROJRACHSOMBAT

คำบรรยายภาพ, ไดร์ฟ (กลาง) และ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นายกสมาคมปรัชญาแห่งประเทศไทย

เนื่องจากสมาคมฯ ไม่ได้ขึ้นกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) จึงทำให้ไม่มีงบที่จะสนับสนุนค่าเดินทางให้แก่ผู้แข่งขัน หรือจัดการติวหรือเข้าค่ายอย่างที่มีในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการอื่น ๆ ในประเทศ

ศ.ดร.โสรัจจ์กล่าวว่า การที่จะให้ สอวน. ซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกและส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ บรรจุปรัชญาเป็นหนึ่งในวิชาที่ทางองค์กรสนับสนุน อาจมีเงื่อนไขว่าต้องมีปรัชญาในหลักสูตรการศึกษาของไทยก่อน

แต่การผลักดันเรื่องดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องให้กระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญของวิชาดังกล่าว รวมถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของคนไทย ที่นักเรียนจะต้อง "ว่านอนสอนง่าย" และ "เชื่อฟังผู้ใหญ่"

"ปรัชญาเป็นวิชาที่ท้าทายคนสอนค่อนข้างเยอะ เพราะเนื้อหาอยู่ที่การตั้งคำถาม คิด เถียง สงสัย" ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าว "แต่เรารู้ ๆ กันว่าวัตถุประสงค์การเรียนการสอนของประถมไม่เน้นให้เถียงเก่ง แต่ปรัชญาทำให้คนเถียงเก่งขึ้น มันไปด้วยกันไม่ได้"

คณะกรรมการปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในบรรดา 50 ประเทศที่เข้าแข่งขันในปีนี้ มีไทยเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีการเรียนการสอนปรัชญาในโรงเรียน ไม่ว่าจะภายใต้วิชาปรัชญาโดยตรง หรือผ่านวิชาอื่น เช่น สังคมศาสตร์

นักเรียนไทยเรียนรู้เรื่องค่านิยม 12 ประการ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับ "ค่านิยม 12 ประการ" ในวิชาสังคมศึกษา

โดย ศ.ดร.โสรัจจ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงเรียนรัฐบาลไม่ได้สอนวิชาปรัชญา แต่โรงเรียนนานาชาติบางแห่งสอน และถึงแม้ว่าจะมีข้อโต้เถียงว่ามีวิชาปรัชญาในไทยสอนอยู่ในรูปแบบของการเรียนศีลธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หน้าที่พลเมือง และค่านิยม 12 ประการ ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ในการเรียนการสอนเหล่านั้นไม่มีการถกเถียงถึงที่มาที่ไปของแนวคิดเหล่านั้น

"เพราไม่อย่างนั้นจะเป็นแค่การนั่งท่องแต่ค่านิยม โดยไม่มีการคิดวิเคราะห์ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่รับอะไรของผู้ใหญ่ แต่เราจะรับอะไรที่สมควรและมีเหตุผลที่เพียงพอ" เขากล่าว

ส่งแรงสะเทือน

ไดร์ฟให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์ จากหอพักในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ที่เขาพักอยู่กับนักเรียนทุนไทยอีก 58 คน ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยหลากหลายทุน

ไดร์ฟเองได้ทุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเรียนภูมิศาสตร์ในระดับปริญญาตรีถึงเอก หลังจากที่ปีที่แล้วเขาได้เหรียญทองจากการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

หลังจากที่เข้าค่ายเพื่อเรียนภาษาอังกฤษและเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในวันเสาร์นี้ ไดร์ฟจะย้ายไปอยู่รัฐคอนเนตทิคัตเพื่อเรียนชั้น ม.6 ที่โรงเรียน Loomis Chaffee ซึ่งเป็น "prep school" หรือโรงเรียนเอกชนที่เปิดให้เตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่ไดร์ฟเรียกว่าเป็น "เตรียมอุดมฯ ของอเมริกา"

น้ำท่วมประเทศไทยปี 2554

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาวะโลกร้อน คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไดร์ฟมองว่าใหญ่ที่สุดตอนนี้

แม้ว่าเป้าหมายของไดร์ฟหลังจากเรียนจบ คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเขามองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือเรื่องภาวะโลกร้อน แต่ลึก ๆ แล้ว ไดร์ฟบอกว่าเป้าหมายสูงสุดคือ อยากเป็นนักการเมือง เพราะน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าในแง่ของนโยบาย

และถ้าหากเขาได้เป็นนักการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไดร์ฟรับปากว่า จะทำเรื่องการเรียนปรัชญาในโรงเรียนให้เป็นจริงอย่างแน่นอน เพียงแต่ปัจจุบัน อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเด็กไทยที่ตั้งคำถาม อาจถูกตราหน้าเป็น "บุคคลอันตราย"

"ถ้าเด็กคิดเป็น เดี๋ยวระบบการศึกษาสะเทือนหมด ระบบอำนาจนิยมในไทยจะสะเทือนหมด เพราะปรัชญาคือวิชาที่มีไว้เพื่อตั้งคำถาม ถ้าเด็กตั้งคำถามจะอยู่ยังไง?" เขากล่าว