ระเบิด กทม. : ทนายเผย 3 จำเลยคดีระเบิดป่วนกรุง "เริ่มรับสภาพได้" ในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11

ตรวจระเบิด

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ชาย 3 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นจำเลยในคดีลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.2562 ยอมรับว่ามีข้อกังวลบางประการในการต่อสู้คดีนี้ ทั้งการเข้าพบจำเลยซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวในค่ายทหารและการที่อัยการเสนอบัญชีรายชื่อพยานมากถึงเกือบ 400 คนและพยานเอกสารอีก 15 แฟ้ม

"เรียกว่าเยอะสุด ๆ เลยล่ะครับ" กิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเป็นหัวหน้าทีมทนายที่ว่าความให้จำเลยทั้ง 3 คน กล่าวกับบีบีซีไทยหลังจากได้เห็นบัญชีรายชื่อพยานบุคคลทั้งหมด 369 คนที่ทางอัยการเสนอต่อศาลในวันที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ธ.ค.)

ขณะที่บัญชีพยานของทางฝ่ายจำเลย มีเพียงตัวจำเลย 3 คนที่จะขึ้นให้การในฐานะพยานให้ตัวเอง

ด้วยจำนวนพยานบุคคลและพยานเอกสารของพนักงานอัยการคดีอาญา 6 ที่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 3 มีจำนวนมาก ทีมทนายจำเลยจึงขอเวลาเพิ่มจากศาลเพื่อคัดสำเนาและพิจารณาเอกสารทั้งหมด ซึ่งศาลอนุญาตและนัดหมายตรวจพยานอีกครั้งในวันที่ 17 และ 24 ก.พ. 2563

บีบีซีไทยพูดคุยกับหัวหน้าทีมทนายจำเลยถึงแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยทั้ง 3 คนที่ถูกต้องข้อหาหนักหลายข้อ และเป็นคดีความมั่นคงที่ซับซ้อนและน่าจะใช้เวลาพิจารณาคดียืดเยื้อยาวมากที่สุดคดีหนึ่ง

กระจกร้าว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ทวนความจำคดีระเบิด กทม.

เหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ส.ค. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 1 ส.ค. คือเหตุพบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดซุกซ่อนอยู่บริเวณป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน

เช้าวันที่ 2 ส.ค.มีรายงานเหตุระเบิด พบวัตถุต้องสงสัยและไฟไหม้หลายจุด เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 7 คน

*ตำรวจระบุภายหลังว่าเยาวชน 3 คน รับสารภาพว่าเป็นผู้นำระเบิดปิงปองมาซุกซ่อนไว้ ไม่เกี่ยวกับเหตุระเบิดป่วนกรุง

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 3 คนจากทั้งหมด 21 คน ได้แก่

1.นายลูไอ แซแง อายุ 22 ปี ชาว ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

2.นายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ชาว ต.สาวอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

3.นายมูฮัมมัดอิลฮัม สะอิ อายุ 27 ปี ชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

นายลูไอและนายวิลดันถูกจับกุมระหว่างเดินทางด้วยรถโดยสารที่ จ.ชุมพร กลางดึกวันที่ 1 ส.ค. ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยนำวัตถุคล้ายระเบิดซุกซ่อนไว้บริเวณป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนนายมูฮัมมัดอิลฮัมถูกจับกุมที่ด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหน้าป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถ.ศรีสมาน จ.นนทบุรี

ส่วนผู้ต้องหาอีก 18 คนอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี

อัยการยื่นฟ้อง

วันที่ 6 พ.ย. 2562 อัยการสำนักงานคดีอาญา 6 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยนายลูไอ เป็นจำเลยที่ 1 นายวิลดัน เป็นจำเลยที่ 2 และนายมูฮัมมัดอิลฮัม เป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดรวม 11 ข้อหา คือ

1.ฐานร่วมกันก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยมีความมุ่งหมายสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

2.อั้งยี่

3.ซ่องโจร

ตรวจระเบิด

ที่มาของภาพ, Getty Images

4.ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

5.ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

6.ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

7.ร่วมกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส

8.ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและโรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้า

9.พาอาวุธ (ระเบิด) ไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

10.ร่วมกันทำ ใช้ มีไว้ซึ่งวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้

11.มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

"ข้อหารุนแรงทั้งนั้น"

นายกิจจาบอกกับบีบีซีไทยว่า ทีมทนายได้เข้าเยี่ยมจำเลยทั้ง 3 คนที่เรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 หลักสี่ ครั้งล่าสุดช่วงต้นเดือน พ.ย. ก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้อง พบว่าจำเลย "อยู่ในสภาพดีกว่าช่วงที่ถูกจับกุมใหม่ ๆ พวกเขาเริ่มยอมรับสภาพว่าต้องอยู่ข้างในจนกว่าคดีจะถึงที่สุด"

"พวกเขาถามทนายถึงเรื่องขอประกันตัว เราก็บอกไปตามตรงว่า ข้อหารุนแรงทั้งนั้นและในคดีความมั่นคงแบบนี้โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวค่อนข้างจะยาก ก็บอกเขาตรง ๆ โดยไม่ได้ให้ความหวังอะไร จำเลยก็บอกว่าเขาก็พอรู้"

จากการพูดคุยกับจำเลยและทำคดีนี้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นายกิจจาระบุว่า มีประเด็นที่ทางทีมทนายมีความกังวล ดังนี้

  • ทนายไม่มีโอกาสพูดคุยกับจำเลยตามลำพัง

เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวของทหาร ซึ่งมีระเบียบปฏิบัติที่ต่างออกไปจากเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ที่ใช้ควบคุมตัวผู้ต้องขังในคดีทั่วไป ทำให้ทุกครั้งที่ทนายขอพบจำเลย จะมีเจ้าหน้าที่ทหารประกบอยู่ตลอดทั้งฝั่งทนายและฝั่งจำเลย

"ทนายไม่สามารถพูดคุยกับจำเลยตามลำพังเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้เลย เพราะจะมีทหารประกบตลอด" นายกิจจากล่าว

ด้วยเหตุนี้ทีมทนายจึงมีความคิดว่าจะขอย้ายจำเลยทั้ง 3 มาอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม แต่เมื่อปรึกษากับญาติของจำเลยแล้ว ญาติ ๆ กลับไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเรือนจำชั่วคราวให้เวลาในการเยี่ยมได้นานกว่า และยังสามารถซื้ออาหารและของกินของใช้ให้จำเลยได้โดยตรง ต่างจากระเบียบของเรือนจำกรมราชทัณฑ์

ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เมื่อพบกับข้อจำกัดเช่นนี้ ทนายจึงจำเป็นต้องหาทางสื่อสารกับจำเลยอย่างเป็นอิสระให้มากที่สุด โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้จำเลยเขียนข้อเท็จจริง ลำดับเหตุการณ์ ตำแหน่งที่อยู่ในวันเกิดเหตุส่งให้ทนาย

"ถึงแม้ว่าเอกสารนี้ก็ต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ แต่อย่างน้อยเราจะได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเขาขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่ออะไร และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่"

นายกิจจาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจำเลยที่ 3 คือนายมูฮัมมัดอิลฮัมนั้น มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายยืนยันที่อยู่ในวันเกิดเหตุชัดเจนว่าเขาอยู่บ้านที่ จ.นราธิวาส ไม่ได้ขึ้นมากรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นวันที่เขาเข้าพิธีแต่งงาน แต่ก็ยังคงต้องพิสูจน์ต่อไปว่า แม้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่มีส่วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งหรือไม่

  • ฝ่ายโจทก์เสนอพยานบุคคลและเอกสารจำนวนมาก

จำนวนพยานฝ่ายโจทก์ได้สร้างความหนักใจให้ทีมทนายพอสมควร นายกิจจากล่าวว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นในบัญชีพยานบุคคลของอัยการ 369 ปากมีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย ผู้ประกอบการห้างร้าน และมีเอกสารอีก 15 แฟ้ม ซีดี และภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งทั้งหมดนี้ทีมทนายต้องใช้เวลาตรวจดูว่ารายการไหนที่ยอมรับได้

ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

"ในส่วนของพยานบุคคลที่เป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ เราอาจยอมรับว่าเขาเป็นผู้เสียหายจริง แต่จำเลยทั้ง 3 เป็นผู้ก่อเหตุให้เขาเสียหายหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร" นายกิจจาอธิบาย

  • เรื่องการประกันตัว

ประเด็นเรื่องการขอประกันตัวระหว่างสู้คดียังคงเป็นเรื่องที่ทีมทนายต้องคิดหนัก แม้จำเลยจะถามถึงโอกาสที่จะได้ประกันตัว แต่ทีมทนายและครอบครัวของจำเลยเห็นว่า หากได้รับการประกันตัวจริงและต้องออกมาอยู่ "ข้างนอก" นั้น ทั้ง 3 คนอาจตกอยู่ในอันตราย เพราะในอดีต เคยมีจำเลยในคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกข่มขู่คุกคามหลังจากได้รับการประกันตัวออกมาใช้ชีวิตข้างนอกระหว่างสู้คดี ญาติและทนายจึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เดียวกันนี้

  • ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้ในชั้นซักถาม

นายกิจจาให้ความเห็นว่า แนวทางการพิจารณาคดีของศาลในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีแนวโน้มที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้ในชั้นการซักถามของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเลยยังไม่มีทนาย และเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่อาจกดดันจำเลยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เขาอธิบายต่อว่านี่เป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ก่อเหตุยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บระบุไว้ในจดหมายว่าศาลไม่ควรรับฟังพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นผลซักถาม คำรับสารภาพหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงบันทึกคำให้การของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนที่เกิดจากหรือมีขึ้นระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวไว้โดยกฎหมายพิเศษนั้น เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟัง เพราะเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยมาก ๆ ต้องรับฟังอย่างระมัดระวังอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามจำเลย ทั้ง 3 คนบอกกับทนายว่าเขาไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย

"จำเลยบอกทนายว่าในช่วงชั้นซักถามกฎหมายพิเศษและชั้นสอบสวนของตำรวจไม่ได้โดนทำร่างกาย แต่อาจมีการกดดันทางจิตใจในการรุมซักถาม" นายกิจจากล่าว