ไวรัสโคโรนา : ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ติดเชื้อเพิ่ม 109 ราย

Covid-19

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงวันนี้ (28 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พบผู้ป่วยเพิ่ม 109 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้ป่วยทั้งหมด 1,245 ราย เป็นคนไทย 1,032 คน ผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 57 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล รวมมีผู้เสียชีวิต 6 ราย รอตรวจสอบ 213 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตรายที่ 6 ว่าเป็นผู้หญิง อายุ 55 ปี ชาวกรุงเทพฯ มีประวัติป่วยเบาหวานควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี และมีไขมันในเลือดสูง 23 มี.ค.​ เข้ามารักษารพ. พบมีปอดอักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกระทั่งมาเสียชีวิตบ่ายวันที่ 27 มี.ค. พร้อมย้ำผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักและผู้ป่วยที่เสียชีวิตว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

นพ. โสภณกล่าวว่าขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักมีทั้งหมด 17 ราย ทั้งหมดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี ส่วนผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 6 ราย ในจำนวนนี้ 2 ราย มีอายุเกิน 70 ปี

"นี่จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ปกป้องผู้สูงอายุไม่ให้ติดเชื้อ เพราะอัตราการเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้สูงกว่าวัยอื่น แม้ผู้สูงอายุจะไม่ได้ออกจากบ้าน แต่ลูกหลานที่กลับมาบ้านก็อาจนำเชื้อมาติดท่านได้ ดังนั้นขอย้ำให้คนที่กลับบ้านต่างจังหวัด แยกตัวอยู่ห่างจากสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ"

นพ.โสภณอธิบายว่าจำนวนผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตามยังยืนยันข้อมูลเดิมว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการไม่รุนแรง บางรายอาการน้อยจนเหมือนไม่ป่วย ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

"ขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต 6 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 1,245 ราย หรือคิดเป็น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ" นพ.โสภณกล่าว

นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคเรื้อรังอยู่เดิม หากติดโรคโควิด-19 ก็มีอัตราการเสียชีวิตสูงเช่นกัน

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมจากการแถลงข่าวของ สธ.

คาดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดจะเพิ่มขึ้น

นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นคนที่อยู่ในต่างจังหวัด จึงมีแนวโน้มว่าหลังจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนักในต่างจังหวัดจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากคนที่ติดเชื้อจากกรุงเทพฯ แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจแพร่เชื้อต่อให้คนในครอบครัวและชุมชน

"การติดเชื้อของคนในต่างจังหวัด เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลังกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 2 เดือน ในช่วงแรกเป็นผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์ระบาดในสนามมวย แต่ช่วงหลังเป็นการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะช่วงหลังการประกาศปิดสถานประกอบการจำนวนมากในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ซึ่งคาดว่ามีคนกลับบ้านกว่าแสนคนช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเดินทางกลับบ้านพร้อมกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-7 วัน ช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด"

นพ.โสภณขอให้ประชาชนที่เพิ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ ๆ กลับบ้านที่ต่างจังหวัดให้กักกันตัวเองและสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อยให้ไปพบแพทย์ทันที หากได้รับการวินิจฉัยเร็วก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อไปได้มาก

Covid-19

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 109 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 39 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 10 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 8 ราย และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 21 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 17 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 8 ราย กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 53 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวน 17 ราย รับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กลาโหม และกทม. จำนวน 12 ราย ส่วนอีก 5 รายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ มีอายุระหว่าง 31-76 ปี และมีประวัติเสี่ยงทำงานที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว อาทิ ขับรถบริการ พนักงานร้านนวด และไปสนามมวย