เลือกตั้ง 2562 : แถวหน้ารัฐประหาร รั้งท้ายตารางโลกสัดส่วนผู้หญิงในสภาผู้แทนฯ

ประเทศไทยมีการรัฐประหารมากเป็นอันดับ 4 ของโลกตามการรายงานปี 2560 ของศูนย์สันติภาพ (CSP -The Center for Systemic Peace) แต่อัตราการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง ชี้วัดจากจำนวนผู้หญิงในสภาล่างกลับรั้งท้ายสุดของอาเซียน และเกือบสุดท้ายของอันดับโลก

ข้อมูลขององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า สัดส่วน ส.ส.หญิงในไทย มีแค่ร้อยละ 5.3 นั่นหมายความว่า จำนวน ส.ส.ชายในสภา ซึ่งปัจจุบันเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมากถึง ร้อยละ 94.7 ทำให้สัดส่วนผู้แทนหญิงในสภาผู้แทนราษฏรอยู่ที่อันดับ 184 จากทั้งหมด 190 ประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 93 ตามดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

ขณะที่เบลเยียม ได้อันดับที่ 5 และฟินแลนด์ มาที่อันดับ 8 ทั้งสองประเทศบรรลุการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม

ในวงเสวนาว่าด้วยการส่งเสริมสถานะบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิงและการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อเสริมพลังให้ผู้หญิงไทยเข้าสู่แวดวงทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและรดับชาติในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ในวันที่ 6 พ.ย. ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า ไทยควรเรียนรู้จากประเทศในยุโรปในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในวงการการเมือง

น.ส. แอนนา คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า การเอาชนะอุปสรรคในการเข้าสู่การเมืองของผู้หญิง ไม่เพียงแต่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงได้เท่านั้น แต่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับทุกอย่างได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งมีผู้หญิงในการเมืองมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีดัชนีคุณภาพของธรรมาภิบาลของรัฐที่สูงมากขึ้น รวมทั้งระบบการศึกษาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน"

สอดคล้องกับความเห็นของ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่ระบุว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เป็นเงื่อนไขสำคัญของการมีธรรมาภิบาลที่ดีและประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ

"มันช่วยปรับระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทั้งชายและหญิง ทำให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมและการปกครองที่เห็นการมีอยู่ของทุกคน เพิ่มระดับมาตรฐานของการดำรงชีวิต และการพัฒนาระบบการศึกษา สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และลดอัตราการเกิดคอร์รัปชั่นในทางการเมือง"

Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562