Exclusive: อภิสิทธิ์ “ประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องเป็นกองหนุนกองเชียร์ของใคร”

อภิสิทธิ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ & วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชิง "คืนอำนาจให้สมาชิกพรรค" ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) "คืนอำนาจให้ประชาชน"

แม้ คสช. สั่งล้มการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) ในสนามเลือกตั้งปี 2562 ไปแล้ว แต่กระบวนการไพรมารีเลือกหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอายุกว่า 7 ทศวรรษยังเดินหน้า หวังเป็นต้นแบบ "ปฏิรูปจากภายใน-เพิ่มความเป็นประชาธิปไตยให้พรรค" หลังพบว่าการปฏิรูปการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 "จับต้องแทบไม่ได้"

ก่อน "ศึกชิงหัว" ปชป. จะอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการ บีบีซีไทยสนทนากับอภิสิทธิ์-ผู้เป็นหัวขบวน ปชป. มายาวนานถึง 13 ปี เขาเฉลยเบื้องหลังแนวคิดเลือกหัวหน้าพรรคด้วยวิธีการใหม่ว่า เป็นไปเพื่อเสริมให้ผู้ชนะการหยั่งเสียงขั้นต้นมี "ความสง่างาม" และมี "ภาวะของเป็นผู้นำที่ชัดเจนขึ้น"

ตามโรดแมปของอภิสิทธิ์ ปชป. จะได้ชื่อหัวหน้า คนที่ 8 ในเดือน พ.ย. ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับชื่อ "นายกฯ ในบัญชี" ที่พรรคต้องชูเข้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศไทยคนที่ 30

คำบรรยายวิดีโอ, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับอนาคตประชาธิปัตย์

"เท่าที่ผมฟังมาในพรรคประชาธิปัตย์ ที่แน่ ๆ คนที่เป็นหัวหน้าพรรคก็สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเสนอเพียงคนเดียว หรือจะเสนอชื่อที่ 2 ที่ 3 ด้วยยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่ก็คงไม่มีแนวคิดที่จะไปเสนอชื่อคนนอก" อภิสิทธิ์กล่าว

เมินข่าวไม่ทิ้งอภิสิทธิ์ ปชป. ชวดสิทธิร่วมรัฐบาล

ทว่า อภิสิทธิ์ยอมรับว่า ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากทั้งคนในพรรคและคนที่เคยอยู่วงในพรรคว่าหากเขายังเป็นหัวหน้า ก็ยากที่ ปชป. จะได้สิทธิเข้าร่วมรัฐบาล แต่เขาไม่ยี่หระ เพราะมองว่าคนมีความเห็นกันได้ทั้งนั้น แต่เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับ ปชป. คือต้องทำตัวให้เป็นหลักของบ้านเมือง และเป็นคำตอบให้สังคมว่าจะออกจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในสภาพปัจจุบันนี้อย่างไร

72 ปี ปชป.

ที่มาของภาพ, ABHISIT VEJJAJIVA/FB

คำบรรยายภาพ, สมาชิก ปชป. ร่วมทำบุญในวาระครบรอบ 72 ปีของการก่อตั้งพรรค เมื่อ 6 เม.ย. 2561

"ที่เราอยู่มาจนถึงทศวรรษที่ 8 เพราะเราไม่ได้มองว่าเราดำรงอยู่เพียงเพื่อการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง หรือเป็นรัฐบาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่เรื่องอุดมการณ์ หลักการ และจุดยืนเป็นเรื่องสำคัญ" และ "ถ้าไปพะวงกับเสียงร่ำลือว่าอยากจะเป็นรัฐบาลต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่าเราก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ของเราในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นหลักของประเทศ"

ทั้ง "ปัจจัยพิเศษ" และ "มือที่มองไม่เห็น" ที่คอยเสียบ-สกัด-ขัดขวางการรั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป. ของอภิสิทธิ์ เป็นเรื่องที่เจ้าตัวไม่รู้ แต่ก็ไม่กังวลใจ เพราะเชื่อว่าการตัดสินใจภายในองค์กรของเขาเป็นเรื่องของสมาชิกพรรคโดยแท้

"หากใครอยากจะเข้ามาแทรกแซงแทรกซึม ก็ต้องไปแทรกแซงแทรกซึมสมาชิกโดยทั่วไป" เขาบอก

"ไม่ได้คิดถอย"

แม้ระดับนำบางส่วนของพรรคประกาศสนับสนุน อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป แต่ก็มีบางคนแอบไปทาบทามคนนอกพรรคเป็นคู่แข่ง บางคนโยนข้อเสนอให้พรรคเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าที่มีอำนาจเต็ม นี่ย่อมเป็นปรากฏการณ์ "ไม่ปกติ" สำหรับพรรคที่ประกาศตนเป็นสถาบันการเมืองแห่งนี้ ทว่าอภิสิทธิ์กลับเห็นเป็นการดีที่สมาชิกพรรคจะได้เป็นผู้ให้คำตอบว่าอยากให้ ปชป. เดินไปในทิศทางใด

แอป ปปช.

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ปชป. อยู่ระหว่างการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อให้สมาชิกพรรคโหวตเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง

สรุปแล้วไพรมารีเลือกหัวหน้า ปชป. เป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันในพรรค หรือต่อสู้กับ "ใครบางคน" ที่อยู่นอกพรรค

อภิสิทธิ์หัวเราะในลำคอ ก่อนตอบว่าเป็นเรื่องภายใน แต่พรรคก็เปิดกว้าง พรรคไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ ก็เป็นธรรมดา

น่าสนใจว่าหากอภิสิทธิ์ "แพ้โหวต" ในระบบที่ตัวเองคิด-ทำ-นำเสนอขึ้น อนาคตทางการเมืองของเขาจะเป็นอย่างไร สถานะที่เขาพึงใจคือ "เป็นสมาชิกพรรค" ส่วนจะยังลงสู่สนามเลือกตั้งในปี 2562 ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เขาต้องดูว่าผู้ชนะมีแนวคิดอย่างไร

"ผมไม่สามารถไปบังคับหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคได้ แต่ผมก็จะแสดงเจตจำนงในการทำงานให้กับพรรคประชาธิปัตย์"

คำตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้จากปากของเขา อาจทำให้กระบวนการทำไพรมารีเลือกหัวหน้า ปชป. ถูกถอดรหัสออกมาเป็น 2 แนวทาง ไม่อภิสิทธิ์กำลัง "ต่อสู้" สุดชีวิตโดยเอาเสียงสมาชิกพรรคเป็นหลังพิง ก็กำลังหาทาง "ถอย" อย่างเนียน ๆ เพื่อรักษาพรรค

"ผมไม่ได้คิดถอย" เขาแย้งทันควัน

"และผมก็ไม่ได้คิดเรื่องตัวเองในการทำเรื่องนี้ ผมมองว่าอันนี้คือสิ่งที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับพรรคการเมือง"

คน ปชป. ร้องหาชวน คนละเหตุผล พท. ถวิลหาทักษิณ

หลายครั้งเมื่อเกิดวิกฤตภายในพรรค สมาชิก ปชป. มักหวนหาอดีต เรียกร้องให้ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่นั่งเก้าอี้มา 12 ปี กลับมาถือธงนำทัพ

หัวหน้า ปชป. สามรุ่น

ที่มาของภาพ, ABHISIT VEJJAJIVA/FB

คำบรรยายภาพ, หัวหน้า ปชป. สามรุ่น (จากซ้ายไปขวา) - อภิสิทธิ์, ชวน หลีกภัย, บรรญัติ บรรทัดฐาน

อภิสิทธิ์ผู้ถูกมองว่าเป็น "เด็กสร้างของนายหัว" ชี้แจงว่าเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมืองที่มีความหลากหลาย และไม่อยากให้มองว่าการมีส่วนร่วม การแข่งขัน เป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย

นี่คล้ายกับปรากฎการณ์ภายในพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่สมาชิกยังถวิลหา ทักษิณ ชินวัตร

"คงจะคนละเหตุผลกันละมั้งครับ เพราะว่าคุณทักษิณที่ไม่ได้อยู่ในการเมืองก็เพราะว่ามีกฎหมายเป็นอุปสรรคขวางกั้นอยู่ แต่คุณชวนไม่ได้มีปัญหาเรื่องกฎหมาย และท่านก็ประสงค์จะทำงานอย่างที่ท่านทำอยู่" เขาอธิบาย

"อย่าดึงสถาบันมาเกี่ยวข้อง"

ปี 2548 อภิสิทธิ์ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในพรรค ด้วยแรงสนับสนุนอย่างแข็งขันจากเลขาธิการพรรคที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ

ปี 2551 อภิสิทธิ์ขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตการเมืองในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ด้วยการเดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดินของ "ผู้จัดการรัฐบาล" ที่ชื่อ สุเทพ

ปี 2561 อภิสิทธิ์อยู่ในเกมชิงชัยเป็นหัวหน้า ปชป. อีกครั้ง และกำลังจะเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งปีหน้า ทว่าไร้เงาชายชื่อ สุเทพ ข้างกาย เมื่อเขาแยกวงไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

อภิสิทธิ์และสุเทพลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ส. ยะลา ปช. หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2554

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, อภิสิทธิ์และสุเทพลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ส. ยะลา ปชป. หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2554

อดีตนายกฯ คนที่ 27 ยอมรับว่า "มีความผูกพัน" ในฐานะเคยร่วมงานกันมา แต่ก็ "ไม่หวั่นไหว"

"แน่นอนคนที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรครวมพลังประชาติไทยก็ต้องบอกว่าน่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่เคยหรือน่าจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ว่าไปตามกระบวนการแข่งขันการเลือกตั้งไป"

กับข้อวิเคราะห์ที่ว่าการเลือกตั้งปี 2562 จะเป็นสมรภูมิการต่อสู้ระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ถึงขั้นมีพรรคประกาศตัวขอเป็น "พรรคพสกนิกร" คนการเมืองรายนี้ก็ต้องการเห็นการเลือกตั้งเป็นการพูดถึงการแข่งขันระหว่างแนวความคิด ดีกว่าไปพูดกันว่าพรรคไหนพวกใคร

สุเทพวันเปิดพรรค

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, สุเทพตั้งเป้าว่า รปช. จะเป็นพรรค "ครึ่งร้อย" หลังการเลือกตั้ง ยืนยันไม่ใช่ "พรรคโหนเจ้า" แต่เป็น "ข้าแผ่นดิน"

"ผมก็ได้ประกาศชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่อนุรักษ์นิยม แต่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคสุดโต่ง ไม่ใช่พรรคที่จะสร้างปัญหาให้เกิดการเผชิญหน้าหรือเอาความรุนแรงกลับมา นี่คือจุดของเรา" และ "ผมไม่สนับสนุนใครก็ตามที่จะล้มล้างสถาบันหลักของชาติ ขณะเดียวกันผมมองว่าสถาบันหลักของชาติเป็นจุดศูนย์รวม เพราะฉะนั้นการเมืองพึงระมัดระวังในการที่จะนำเอาสิ่งที่เป็นจุดศูนย์รวมกลายมาเป็นปมขัดแย้งในทางการเมือง"

คสช. ผูกขาดการรักษาความมั่นคงสถาบันหลักของชาติไม่ได้

อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่าผู้สนับสนุน คสช. ให้ "ขยายอำนาจ" ออกไปหลังการเลือกตั้ง จะอ้างว่ากระทำการในนามของการรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพราะทหารสวมบทบาท "ผู้พิทักษ์" ได้ดีกว่านักเลือกตั้ง นี่อาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อภิสิทธิ์ไม่คิดว่า คสช. จะ "ผูกขาด" ความคิดนี้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระหว่างประชุม ครม. สัญจรเมื่อ 17 ก.ย.

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระหว่างประชุม ครม. สัญจรเมื่อ 17 ก.ย.

"การรักษาความมั่นคงของสถาบันเป็นเรื่องของทุกฝ่าย และผมก็ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ให้การสนับสนุนความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติมาโดยตลอด วิธีการอาจจะแตกต่างหรือเหมือนกับรัฐบาลอื่น ๆ หรือ คสช. แต่ผมไม่คิดว่า คสช. จะสามารถผูกขาดความคิดที่ว่าเฉพาะ คสช. เท่านั้นจึงจะสามารถสร้างความมั่นคงให้สถาบันหลักของชาติได้"

จริงอยู่ที่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นงานที่ประชาชนให้คะแนนรัฐบาล คสช. ในระดับสูง แต่สิ่งที่อภิสิทธิ์ชี้ชวนให้สังคมมองคือผลงานนี้ "ได้มาด้วยสถานการณ์พิเศษ และวิธีพิเศษหรืออำนาจพิเศษ สิ่งนี้ไม่สามารถเป็นผลงานที่ยั่งยืนได้ ประวัติศาสตร์โลกก็พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า"

ไม่เป็นกองเชียร์ คสช. ไม่เป็นพันธมิตร พท.

ในขณะที่หลายพรรคการเมืองเปิดตัวเป็น "กองเชียร์" หัวหน้า คสช. ให้เข้าสู่สนามการเมืองเต็มขั้น นายกฯ รุ่นพี่อย่างอภิสิทธิ์กลับเปิดหน้าประกาศตัว "ไม่ใช่ทางเลือกของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน"

ศอฉ.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม (ซ้าย) เดินตามหลังนายกฯ อภิสิทธิ์ ระหว่างการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อรับมือกับการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553

"พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เครื่องมือของใคร ประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องเป็นกองหนุนกองเชียร์ของใคร เราต้องการเสนอทางเลือกที่เป็นหลักของสังคม ส่วนจะได้เป็นหรือไม่ควรจะให้ประชาชนตัดสิน สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่สนามเลือกตั้งมีทางเลือกที่ชัดเจนแล้วได้คะแนนมามากมาย ถามว่าทำไมประชาธิปัตย์ต้องไปเล่นบทเป็นผู้สนับสนุนคนอื่น"

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อภิสิทธิ์สวมบทขั้วตรงข้ามความคิดของนายพล คสช. ในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จึงไม่แปลกหากสมาชิก พท. บางคนจะเอ่ยปากชวน ปชป. ร่วมจับมือต่อต้านการหวนคืนอำนาจของ คสช. หลัง 2 พรรคใหญ่เคยสร้างปรากฏการณ์ "พันธมิตรมุมกลับ" มาแล้วในสนามประชามติเมื่อปี 2559

หัวหน้า ปชป. คนที่ 7 ส่งเสียงหัวเราะแทนการตอบรับเทียบเชิญดังกล่าว เพราะเห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่มีการพูดถึงพันธมิตร และย้ำหลักสากลที่ว่าหากใครสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็ควรได้จัดตั้งรัฐบาล

"การที่ใครจะไปร่วมกับใครมันต้องมีเหตุผล และเหตุผลนั้นต้องครอบคลุมถึงแนวคิดและการทำงานว่าไปด้วยกันได้ ผมไม่อยากเห็นการไปจับมือเพียงเพื่อบอกปฏิเสธใคร แต่ปรากฏว่าสุดท้ายก็ทำงานด้วยกันมาได้ มันต้องมีความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวพอสมควรที่จะบอกว่าจะไปร่วมกับใคร มันต้องอยู่ตรงนั้น"

หัวหน้าพรรควัย 54 ปีเคยตั้งเป้าเกษียณอายุการเมืองเมื่ออายุครบ "ครึ่งร้อย" แต่รัฐประหารปี 2557 ทำให้เวลา 4 ปีของเขาหายไปเฉย ๆ แม้ยังมีฝัน-มีไฟ-มีความตั้งใจ แต่ก็รู้ตัวว่าตัวเองเดินมาถึงระยะ "ใกล้ช่วงสุดท้าย" แล้ว

ถึงวันนี้ เขายังไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งปี 2562 จะเป็นการลงสนามครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่เขาเลือกหยุดสถิติการเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ไว้ที่ 3 สมัย

"ผมไม่ต้องหาทางลงอะไร ผมไม่ได้มีความกังวลอะไร... เมื่อไรที่ประชาชนให้โอกาสก็ทำเต็มที่ เมื่อไรประชาชนบอกให้หยุด ก็หยุด" เขากล่าวทิ้งท้าย