โคโรนา : ต้นตอไวรัสอาจมาจากงูเห่าจีน - งูสามเหลี่ยมจีน

งูเห่าจีน (Chinese cobra) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naja atra

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, งูเห่าจีน (Chinese cobra) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naja atra

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 2019-nCoV ซึ่งล่าสุดทำให้มีผู้ติดเชื้อทั้งในจีนและในต่างประเทศแล้วกว่า 500 ราย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 17 ราย อาจเริ่มติดต่อจากสัตว์ป่ามาสู่คนโดยมีต้นตอของการแพร่ระบาดจากงูเห่าจีน (Chinese cobra) และงูสามเหลี่ยมจีน (Chinese krait) ที่นำมาวางจำหน่ายในตลาดสดเมืองอู่ฮั่น

ศาสตราจารย์ กว๋อ ไห่เทา และคณะนักวิจัยด้านจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กของสหรัฐฯ เผยข้อมูลข้างต้นในบทความที่ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์วิชาการ The Conversation โดยชี้ว่าผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่และข้อมูลชีวภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยนานาชาติหลายคณะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสจะมาจากงูพิษสายพันธุ์ที่พบในจีนมากที่สุด

ศ. กว๋อระบุว่า การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zootonic transmission) สามารถพบได้ในกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เคยมีมาในอดีต เช่นเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) เนื่องจากขณะที่ไวรัสยังอยู่ในร่างกายของสัตว์นั้น ได้เกิดการกลายพันธุ์แบบที่ทำให้เข้าอยู่อาศัยและเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายของมนุษย์ได้

แม้ว่าต้นตอการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนของโรคซาร์สและโรคเมอร์สจะมาจากค้างคาวทั้งคู่ โดยมีอีเห็นและอูฐเป็นตัวกลางที่ส่งต่อเชื้อโรคจากค้างคาวมายังมนุษย์อีกทอดหนึ่ง แต่ในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคือคนงานและลูกค้าของตลาดสดขายส่งอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจำหน่ายทั้งสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ทำให้ยากที่จะสืบทราบได้ว่าเชื้อมาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่

เนื้องูที่จับมาจากป่ามีวางจำหน่ายในตลาดสดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เนื้องูที่จับมาจากป่ามีวางจำหน่ายในตลาดสดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยในจีน ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร Journal of Medical Virology โดยชี้ว่าการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV แสดงถึงความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไวรัสโรคซาร์สและโรคเมอร์สที่มาจากค้างคาวมากที่สุด ทั้งยังพบว่ารหัสพันธุกรรมของส่วนหนามบนตัวไวรัส ซึ่งทำหน้าที่จับกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันเข้าไปอาศัยอยู่นั้น เกิดการกลายพันธุ์ขณะที่อยู่ในตัวค้างคาว ก่อนจะติดต่อสู่สัตว์ชนิดอื่นและมนุษย์ต่อไป

การกลายพันธุ์ของตัวรับ (receptor) บนส่วนหนามของไวรัสดังกล่าว พบว่ามีความคล้ายคลึงกับการกลายพันธุ์ของหนามไวรัสโคโรนาที่พบในงู มากกว่าที่พบในสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงูเห่าจีนและงูสามเหลี่ยมจีนซึ่งมีจำหน่ายในตลาดสดขายส่งอาหารทะเลของเมืองอู่ฮั่นด้วย

ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า งูอาจเป็นสัตว์ตัวกลางที่ส่งต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่คน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่างูพิษที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติล่าค้างคาวในถ้ำเป็นอาหาร แต่ก็ยังคงมีข้อสงสัยว่า ไวรัสโคโรนาสามารถปรับตัวให้อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ในร่างกายของทั้งสัตว์เลือดเย็นและสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างไร

ศ. กว๋อระบุว่ายังจะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้แน่นอนกว่านี้ แต่อาจจะทำได้ยาก เพราะตลาดสดที่คาดว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อในตอนแรกนั้นถูกปิดและล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว