โควิด-19 : โฆษก ทบ. แจงซื้อยานเกราะปีนี้ ใช้เงิน 450 ล้าน หลังส่งงบคืนรัฐบาลเกือบหมื่นล้านช่วยสู้วิกฤต

รถเกราะ

ที่มาของภาพ, BBC THAI/Wasawat Lukharang

หลังเอกสารการจัดซื้อยานเกราะ 50 คัน ถูกแพร่ทางโลกโซเชียล กระแสวิพากษ์วิจารณ์กองทัพบกก็ตามมามากมาย จนทำให้แฮชแท็ก #ยานเกราะพ่องง ติดเทรนด์อยู่ในทวิตเตอร์ ถูกพูดถึงเกือบ 6 แสนครั้ง ของวันที่ 22 เม.ย.

ในเวลาต่อมา พ.อ.(พิเศษ) วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (ทบ.) ชี้แจ้งว่าทบ. ใช้งบปี 2563 เพียง 450 ล้านบาทเท่านั้นในการซื้อรถยานเกราะ

พ.อ.วินธัย แจงว่า กระทรวงกลาโหมได้ขอให้ 7 หน่วยงานในสังกัดปรับลดงบประมาณเพื่อส่งคืนให้รัฐบาลนำไปช่วยวิกฤตโควิด-19 โดยถือเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น ๆ

สำหรับกองทัพบกเองได้ส่งงบประมาณคืนเกือบหนึ่งหมื่นล้าน ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมจะส่งคืนทั้งหมดราว 1.8 หมื่นล้านบาท พ.อ.วินธัย บอกว่า ถ้าเป็นโครงการที่ยังไม่มีการ "ผูกพัน" จะตัดงบทั้งหมด แต่สำหรับโครงการไหนที่มีการผูกมัดแล้ว ต้องตัดงบอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

"ในงบปี 63 โครงการขนาดใหญ่ ๆ อย่างรถถัง ปืนใหญ่ หรือเรดาร์ โครงการพวกนี้จะถูกตัดทั้งหมดอยู่แล้ว สำหรับโครงการระดับกลางหรือโครงการย่อยๆ ในส่วนของกองทัพบกถูกชะลอตัดออกไปจากงบปี 63 ก็มีประมาณ 26 โครงการ" พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัย สุวารี,กองทัพบก

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

พ.อ.วินธัย อธิบายว่า การจัดซื้อยานเกราะที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่นี่เป็นส่วนที่ได้ทำการตกลงกับกองทัพสหรัฐฯ ไปแล้ว เป็นการจัดซื้อวิธี FMS (Foreign Military Sales หรือ การซื้อขายอาวุธระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล)

โฆษกกองทัพบก บอกอีกว่า จากตอนแรกที่จะนำงบประมาณ 900 ล้านบาทจากปีงบประมาณปี 2563 ไปซื้อยานเกราะ ตอนนี้ลดเหลือ 450 ล้านบาทตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ พ.อ.วินธัย แจงว่า ที่บอกว่าได้ยานเกราะ 50 คัน จริง ๆ แล้วกองทัพสหรัฐฯ ยังมีการ "ให้เปล่า" โดยรวมแล้ว กองทัพไทยจะได้ยานเกราะกว่าร้อยคัน และงบประมาณกว่า 4.5 พันล้านบาทก็ไม่ใช่เพียงสำหรับตัวรถ เท่านั้น ยังรวมถึงงบในการสร้างอาคารซ่อมบำรุงที่ได้รับมาตรฐาน ได้ครูฝึกมาสอนขับรถและการใช้รถในทางยุทธวิถี และก็จะเป็นงบให้ทหารไปศึกษาต่างประเทศด้วย

ในการให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐทีวีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พ.อ.วินธัย ยังได้ขยายความอีกว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างใดที่ถูกยกเลิก แต่เป็นการเลื่อนออกไป ไม่ใช้งบประมาณปี 2563

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้กล่าวถึงการปรับลดงบประมาณของกองทัพบก ว่ามีความเข้าใจในความจำเป็นของประเทศ และยินดีที่จะปรับลดงบประมาณ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุด และให้สามารถดำรงสถานภาพอำนาจกำลังรบในการรักษาอธิปไตย เพื่อดูแลประชาชน สนับสนุนรัฐบาล และดำเนินการพัฒนาประเทศ อย่างเต็มกำลังความสามารถ

นอกจากนี้ รองโฆษกกองทัพบก ยังได้ขอฝากถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมาที่มีความเปราะบาง มีหลายความเห็นอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่จำกัด ไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน หรือนำความคิดเห็นที่ไม่ปรากฏที่มาที่ไปอย่างชัดเจนสร้างความสับสนให้กับสังคม กองทัพบกจึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เสนอข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริง

"มีบางเพจนำเข้าข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ใส่อารมณ์ต่อว่าต่อขานกองทัพบกและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ขอให้เบาๆลงกันหน่อย เพราะกองทัพบกไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับทางเพจที่นำข้อมูลการประชุมและการดำเนินการภายในของกองทัพบกไปวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทุจริต อะไรที่ไม่ชัดเจนอย่าเผยแพร่" พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

งบกลาโหมปี 63

ย้อนไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท โดยพบว่า รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม 233,353.4 ล้านบาท โดยกองทัพบกได้งบราว 1.13 แสนล้านบาท

นี่เท่ากับว่ากองทัพบกเตรียมคืนงบให้รัฐบาลประมาณราว 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ตรงกับที่มติชนรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในกองทัพบกก่อนหน้านี้ว่า พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ตัดงบประมาณปี 2563 ของกองทัพบกแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ คืนคลังให้รัฐบาลไปรับมือกับโควิด-19

ยานเกราะ

ที่มาของภาพ, กรมสรรพาวุธทหารบก

จากเรือยกพลขึ้นบกสู่รถหุ้มเกราะ เสียงตำหนิในโลกโซเชียล

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นคล้ายกันมาแล้วกรณีกองทัพเรือซื้อเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ งบประมาณ 6.1 พันล้านบาท โดย พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และโฆษกกองทัพเรือ ได้ชี้แจงกับรายการของไทยรัฐทีวีว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องอนุญาตให้ทำ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องมีการคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล ปกป้องสิทธิอธิปไตย เขตทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่หลายประเทศ

พล.ร.ท.ประชาชาติ บอกว่า เป็นการจัดซื้อในส่วนของงบประมาณปี 2562 ลงนามไปแล้วตั้งแต่ 9 ก.ย. 2562 โดยเป็นการแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ งวดแรกจ่ายไปแล้วประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ และเรือลำนี้มีแผนจะมาถึงไทยในปี 2565

และต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพเรือก็ประกาศปรับลดงบประมาณ 33% เป็นเงิน 4.1 พันล้าน และยังได้ชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 อีกด้วย เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและด้วยความคำนึงถึงวิกฤตโควิด-19