โควิด-19: การระบาดระลอก เม.ย. 2564 ทำสถิติมีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด

พยาบาล

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, พยาบาลกำลังจัดเตรียม "ฮอสปิเทล" สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19

ผู้เสียชีวิตสะสมในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนของการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 ของไทย เพิ่มเป็น 69 ราย แซงหน้าการระบาดในสองระลอกก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันทำสถิติสูงสุดอีกครั้งที่ 15 ราย จากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันนี้ (27 เม.ย.) โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่าผู้เสียชีวิต 15 รายล่าสุดมีอายุระหว่าง 24-88 ปี เป็นชาย 9 คน หญิง 6 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 9 คน นครสวรรค์ 2 คน ชัยภูมิ เพชรบุรี สมุทรปรการ และสระบุรี จังหวัดละ 1 คน

นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตที่ ศบค. รายงานเป็นประจำนั่นคือ "ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หัวใจ มะเร็ง" และ "ส่วนใหญ่มีประวัติสัมพันธ์กับผู้ป่วยในครอบครัวและที่ทำงาน" แล้ว โฆษก ศบค. ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 15 รายเพิ่มเติมด้วยว่าระยะเวลานับจากวันที่รู้ผลว่าติดเชื้อจนถึงวันที่เสียชีวิตนั้นสั้นลง โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์นับจากรู้ผล

"ระยะเวลานับจากวันที่ทราบผลว่าติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตโดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-6 วัน...ระยะเวลาของการเกิดอาการจนถึงเสียชีวิตนั้นสั้น โดยส่วนใหญ่ (เสียชีวิต) ภายในสัปดาห์แรก" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

เสียชีวิต 15 ราย ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 169 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,179 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,174 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 59,687 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 25,973 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 20,308 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 628 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 169 ราย ส่วนผู้ป่วยอีก 5,665 ราย รักษาอยู่ใน รพ.สนาม
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (993 ราย) เชียงใหม่ (60 ราย) ชลบุรี (80 ราย) นนทบุรี (149 ราย) และประจวบคีรีขันธ์ (93 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 163 ราย

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดระลอก เม.ย. 2564

นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ซึ่ง ศบค. นับเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกใหม่ จนถึงวันนี้ (27 เม.ย.) มีผู้เสียชีวิตสะสม 69 คน คิดเป็น 0.22%

แม้การระบาดระลอกนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นและกินเวลายังไม่ถึง 1 เดือน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมของการระบาดระลอกนี้แซงหน้าการระบาดในสองรอบแรกไปแล้ว กล่าวคือการระบาดระลอก ม.ค. 2563 (ระยะเวลาประมาณ 11 เดือน) ผู้เสียชีวิตสะสม 60 ราย และระลอก ธ.ค. 2563 (ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน) มีผู้เสียชีวิตสะสม 34 ราย

บีบีซีไทยรวบรวมข้อสังเกตและข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตในการะบาดระลอกนี้จากการแถลงของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิต 15 รายล่าสุด ระยะเวลาจากวันที่ทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิตอยู่ที่ 1-6 วัน ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่สั้น มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เสียชีวิตหลังทราบผล 16 วัน
  • ข้อมูลของ ศบค. ณ วันที่ 22 เม.ย. พบว่า ค่ามัธยฐาน (ค่ากลาง) ระยะเวลานับจากวันทราบผลตรวจพบเชื้อ จนถึงวันที่เสียชีวิตในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. อยู่ที่ 6 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดระลอก ม.ค. 2563 ซึ่งค่ามัธยฐานอยู่ที่ 12 วัน และระลอก ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 7 วัน
  • การระบาดระลอกนี้พบผู้เสียชีวิตที่มีอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดในไทย เป็นหญิงวัย 24 ปี อาชีพค้าขายใน จ.พัทลุง มีโรคประจำตัวคือโรคอ้วน เสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. หรือเพียง 3 วันหลังได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และชายไทยวัย 24 ปี เสียชีวิตวันที่ 26 เม.ย. หลังได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อเพียง 1 วัน
  • ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น มักพบว่ามีอาการทรุดอย่างรวดเร็วแม้จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
  • ผู้สูงอายุหลายรายที่เสียชีวิต ไม่ได้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง แต่คาดว่าติดเชื้อจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะที่กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงสงกรานต์แล้วไม่ได้มีการป้องกันการแพร่เชื้อที่อาจเกิดขึ้น

หมอศิริราชวิเคราะห์ปัจจัยเชื่อมโยงการเสียชีวิต

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ตั้งข้อสังเกตในการแถลงข่าววันนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อังกฤษที่ชื่อว่า "B.1.1.7" ที่มีการระบาดในระลอกนี้ เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ที่เคยแพร่ระบาดในครั้งก่อน และการศึกษาล่าสุดพบว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์วิเคราะห์การเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในการระบาดระลอกนี้ ดังนี้

  • โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศพบว่าจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือสัมพันธ์กับไวรัสกลายพันธุ์
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมถึงผู้เสียชีวิต พบในผู้ป่วยที่อายุน้อยมากขึ้น
  • ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้นจนอาจเกิดเหตุการณ์เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้น
  • ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเริ่มหายากเนื่องจากมีการแย่งซื้อหรือประเทศผู้ผลิตควบคุมการจำหน่าย
  • อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยหนัก
ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

"รอบนี้เราพบผู้ป่วยหนักมากขึ้นชัดเจน ข้อมูลจาก รพ.ศิริราชในเวลานี้ ประมาณ 1 ใน 4 ของคนไข้ที่มารักษาเป็นคนไข้ที่เข้ามาพร้อมปอดอักเสบเรียบร้อยแล้ว"

นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ผู้ป่วยใน รพ.ศิริราชที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน เช่นเดียวกับที่พบในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าเมื่อจำนวนผู้ป่วยหนักมากขึ้น ผู้เสียชีวิตก็จะมากขึ้นเป็น "เลขสองหลัก" ในแต่ละวัน

การ "แย่งยา" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อาจสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น

"ขณะนี้มีการแย่งยากันแล้วกลาย ๆ ยาพวกนี้ เช่น ฟาวิพิราเวียร์ต้องให้ (ผู้ป่วย) อย่างรวดเร็ว ถ้ารอจนอาการหนักให้ยาก็ไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นต้องรีบให้ยาผู้ป่วยที่อาการทรุดลงทันที ดังนั้นการใช้ยาจะเพิ่มมากขึ้น" นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ต้องดูแนวโน้มต่อเนื่อง

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า นักระบาดวิทยากำลังวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง

"เราเห็นประเด็นนี้อยู่ อย่างระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยถึงเสียชีวิตมันสั้น ขณะที่การระบาดในครั้งก่อน ผู้ป่วยอาจนอนโรงพยาบาลมา 1 เดือนถึงเสียชีวิต แต่ตอนนี้กลายเป็นอาทิตย์เดียว บางคนก็เร็วมาก 4-5 วัน" นพ.เฉวตสรรกล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่านักระบาดวิทยาเริ่มเห็นว่าโครงสร้างอายุของผู้เสียชีวิตเริ่มเปลี่ยนชัดเจน กล่าวคือผู้ป่วยที่อายุน้อยเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ

Nope

นอกจากศึกษาเรื่องความรุนแรงของเชื้อไวรัสแล้ว ทีมระบาดวิทยายังกำลังวิเคราะห์ว่าการเสียชีวิตมีความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เช่น การเสียชีวิตระหว่างรอหาเตียง หรือไม่อย่างไร

"มีเคสที่น่าเสียใจ เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้นอน รพ.เลยก็มี ตรงนี้เป็นจุดที่พยายามจะติดตามอยู่" นพ.เฉวตสรรกล่าวและบอกว่ายังคงต้องดูแนวโน้มการเสียชีวิตในระลอกนี้อย่างต่อเนื่องอีกสักระยะ จึงจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น

กรมวิทย์ฯ ระบุวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิต "ได้มาตรฐาน"

สำหรับความคืบหน้ามในการจัดหาวัคซีน นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยวันนี้ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้อนุมัติขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบ viral vector จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 5 รุ่น ผ่านผลเกณฑ์ข้อกำหนด ของผลิตภัณฑ์ที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนไว้ทุกรายการทดสอบ (full tests) ทั้งการทดสอบความเป็นเอกลักษณ์ ความแรง ความปลอดภัย และการตรวจทางเคมี-ฟิสิกส์ โดยผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนดังกล่าวจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารับรองรุ่นการผลิตวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้อนุมัติให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์เพิ่มสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถผลิตและส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้ และสามารถขอการรับรองรุ่นการผลิตกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้โดยตรงในนามวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่มีมาตรฐานสากล เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและยังสามารถส่งออกวัคซีนให้กับประเทศในภูมิภาคต่อไปได้ด้วย