เรือนจำ : อดีตผู้ต้องขังเล่าเรื่องอาหารในคุก หลัง "ไทรอยด์เป็นพิษ" คร่า 4 ชีวิตในเรือนจำ

อาหารในเรือนจำ

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

การเสียชีวิตของผู้ต้องขัง 4 คน ที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลกในเวลาไล่เลี่ยกันช่วงต้นเดือน ม.ค. นอกจากจะทำให้มีการสั่งย้ายผู้บัญชาการเรือนจำแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามเรื่องคุณภาพของอาหารที่ปรุงให้ผู้ต้องขัง หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอาจเกิดจากการระบาดของโรคไทรอยด์เป็นพิษที่มาจากอาหารปนเปื้อนฮอร์โมนไทรอยด์

วันนี้ (14 ม.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกว่า ได้มีคำสั่งย้ายผู้บัญชาการเรือนจำฯ มาปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์แล้ว และให้โยกย้ายตำแหน่งอื่นอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ที่เหมาะสมไปรักษาการ

เรือนจำ

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเรียกผู้บัญชาการเรือนจำ หรือคนที่จะเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ มาเข้ารับการฝึกอบรมให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบกับคนที่อยู่ในเรือนจำ ให้เกิดความรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะคนเสียชีวิตในเรือนจำเป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้

"ถ้าดูแลเหมือนลูกหลาน (ผู้ต้องขัง) จะไม่เสียชีวิต" เขาสรุปพร้อมกับย้ำว่า เหตุที่ผู้ต้องขังเสียชีวิตเกิดความบกพร่อง ปล่อยปละละเลย บริหารจัดการไม่ดี ไม่ได้ดูแลผู้ต้องขัง เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่นำไปพบแพทย์

คำสั่งโยกย้ายนี้มีขึ้นหลังจากผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกป่วยและเสียชีวิตในช่วงปีใหม่ไล่เลี่ยกันถึง 4 ราย และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีก 25 ราย ซึ่ง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าการตรวจสอบจากหน่วยงานทางการแพทย์ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการระบาดของโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยบางรายมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำร่วมด้วย

สำหรับสาเหตุของการระบาด น่าจะเกิดจากแหล่งโรคร่วม รวมถึงเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ปนเปื้อนฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว

รอผลชันสูตร ก่อนสอบสวนทางวินัย

พ.ต.อ.ณรัชต์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงความคืบหน้าของการสืบสวนเหตุผู้ต้องขังเสียชีวิตและป่วยที่เรือนจำพิษณุโลกอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 วัน ถึงจะได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตและผลตรวจจากห้องปฏิบัติการว่าผู้เสียชีวิตได้รับสารพิษอะไรหรือไม่ และเป็นสาเหตุของการตายหรือไม่

ส่วนการสอบสวนทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้น พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวว่า ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงดูว่ามีมูลความผิดเป็นข้อบกพร่องทางวินัยหรือไม่

"ถ้ามีความผิดพลาดเข้าข่ายผิดวินัย ต้องมาดูว่าเป็นวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดด้านวินัยเลย" เขาระบุ

ไทรอยด์เป็นพิษระบาดในเรือนจำไม่ใช่ครั้งแรก

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2561 กรมราชทัณฑ์ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดขอความร่วมมือให้กำชับการเฝ้าระวังทางสุขาภิบาลอาหาร เพื่อป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษในเรือนจำ

หนังสือกรมราชทัณฑ์ที่สำนักข่าวอิสรานำมาเผยแพร่ระบุว่า ช่วงปีงบประมาณ 2558 - 2561 กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำอย่างน้อย 3 แห่ง เกี่ยวกับอุบัติการณ์การพบผู้ต้องขังป่วยด้วยอาการแขนขาอ่อนแรงแบบเฉียบพลันหลายรายและจากการสอบสวนโรค พบลักษณะการเกิดโรคพร้อมกันเป็นกลุ่มก้อน เบื้องตัน มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกิดจากภาวะไทรอยต์เป็นพิษจากการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ และ หมูบริเวณคอและหลอดลม โดยฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สัตว์ดังกล่าว ไม่สามารถทำลายด้วยความร้อน จึงทำให้ผู้ต้องขังได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนเกินขนาด และมีอาการแสดงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษตามมา

ฮอร์โมนไทรอยด์ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ได้อย่างไร

นพ. สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค อธิบายว่าฮอร์โมนไทรอยด์ของหมูสามารถช่วยกระตุ้นตัวไทรอยด์ของคนได้

"โดยปรกติในโรงชำแหละจะตัดต่อมไทรอยด์ของหมูทิ้งไป แต่ไม่แน่ใจว่าเนื้อที่ทางผู้ต้องขัง (ที่เสียชีวิต)ได้รับประทานไปนั้นมีเนื้อจากตรงส่วนนี้ผสมเข้าไปหรือเปล่า พวกเขาก็เลยมีอาการไทรอยด์เป็นพิษเกิดขึ้น อาจจะเกิดการปนเปื้อนขึ้นมาได้"

"ภาวะไทรอยด์เป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้หากมีการสะสมตามปริมาณที่ปนเปื้อน ซึ่งไม่สามารถบอกเป็นระยะเวลาได้ ถ้าปนเปื้อนเยอะ กินแค่ครั้งหรือสองครั้งก็เกิดอาการไทรอยด์เป็นพิษได้แล้ว"

ผู้ต้องขัง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

"สันนิษฐานว่าผู้ต้องขังกลุ่มนี้ได้รับการปนเปื้อนมาจากเนื้อหมู เพราะต่อมไทรอยด์ที่มาจากไก่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ง่าย ๆ" นพ. สุทัศน์กล่าว

ประสบการณ์ตรงกับ "อาหารเรือนจำ"

กรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังซึ่งอาจเกิดจากอาหารปนเปื้อนฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารในเรือนจำ บีบีซีไทยได้พูดคุยกับอดีตผู้ต้องขัง 2 คน ที่เคยมีประสบการณ์ตรงกับการรับประทานอาหารในเรือนจำ ซึ่งได้เล่าถึงปัญหาที่เขาและเธอพบเกี่ยวกับเรื่องอาหารและโภชนาการในเรือนจำ

นิตยา ม่วงกลาง อายุ 36 ปี ชาวบ้านซับหวาย อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าโดยอุทยานแห่งชาติไทรทอง ทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดชัยภูมิเป็นเวลา 2 เดือนครึ่งเมื่อกลางปี 2562 บอกว่า ปัญหาในเรือนจำนั้นมีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร แต่ยังรวมถึงสุขอนามัย สภาพความเป็นอยู่และความไม่เท่าเทียมอื่น ๆ

แต่ถ้าพูดถึงอาหารแล้วเธอรู้สึกอย่างรุนแรงว่าจะต้องปรับปรุงทั้งคุณภาพ หลักโภชนาการและความสะอาด

นิตยายืนยันว่าเธอไม่ได้เป็นคนที่กินยาก เธอเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่ทำอาหารง่าย ๆ กินเอง แต่อาหารในเรือนจำนั้น "กินไม่ลงจริง ๆ"

"เรียกได้ว่าแทบไม่เอาอาหารในเรือนจำเข้าปากเลย จับฉ่ายก็ใช้ผักที่มันเหี่ยวเหลืองแล้ว แม้จะต้มมาเรากินแล้วก็รู้นะ ไก่ก็มีกลิ่นแรง หมูก็มีกลิ่นไม่ดี และส่วนมากจะเป็นหนังหมูติดขนติดมัน เราก็ไม่กล้ากินเพราะกลัวท้องเสีย กลัวป่วย เพราะถ้าป่วยในเรือนจำจะยิ่งลำบากหนัก"

เรือนจำ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

อยู่เรือนจำสัปดาห์แรก เธอกินได้แต่กล้วยวันละ 2 ลูกที่เรือนจำแจก นิตยาน้ำหนักลดลงไป 5 กก.หลังจากทำเรื่องขอใช้เงินซื้อของในเรือนจำเรียบร้อย เธอจึงเริ่มซื้ออาหารกินเองมากขึ้น

"นอกจากวัตถุดิบในการทำอาหารไม่ดีแล้ว เรายังคิดว่ามีปัญหาเรื่องความสะอาดด้วย อย่างราดหน้า ก็ไม่ลวกหรือผัดเส้นให้สุกนะ เขาเอาน้ำราดหน้าราดมาเลย เส้นก็แข็ง ๆ ดิบๆ อย่างนั้น จริง ๆ เขาน่าจะทำให้มันสุกบ้าง วันหนึ่งมีข้าวต้มปลาทู เขาเอาปลาทูต้มไปในข้าวทั้งตัวเลย ทั้งก้าง ทั้งหัว ทั้งขี้ปลา ใครตักโดนส่วนไหนก็ต้องกินส่วนนั้น"

เมนูข้าวต้มปลาทูนั้น เธอกินไปได้แค่ 2 คำก็ "ยอมแพ้"

นิตยาบอกว่า นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว เธอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเรื่องอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นที่นอนที่คับแคบ เธอต้องนอนในห้องเล็ก ๆ ร่วมกับผู้ต้องขังอีก 60 คน แต่ละคนได้นอนแค่พื้นที่กว้างคนละ "1 กระเบื้อง" เท่านั้น หรือการอาบน้ำที่กำหนดให้อาบได้แค่คนละ 10 ขัน

"ให้อาบแค่นี้จะไปสะอาดได้ยังไง เมื่อไม่สะอาดก็มีโรคผิวหนัง แล้วพอมานอนเบียดกันแบบนี้ก็ติดโรคผิวหนังกันไป"

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักกิจกรรมทางสังคมที่ถูกจำคุกกว่า 5 เดือนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่าง ก.พ.-ส.ค. 2561 ในคดีบุกสถานีโทรทัศน์ NBT ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรปี 2551 บอกกับบีบีซีไทยว่า "การกินอยู่ลำบาก อาหารเรือนจำไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์ มีแต่ผัก"

ส่วนใหญ่เขามักซื้ออาหารกิน แต่อาหารที่ขายข้างในก็มันมาก เนื้อไก่หรือเนื้อหมูส่วนใหญ่เป็นกระดูก มีเนื้อน้อย

"ผมว่าโดยรวมเป็นเรื่องคุณภาพ ส่วนความสะอาดไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเรือนจำจะมีฝ่ายสูทกรรม นักโทษเป็นคนทำ และมีผู้คุมเหมือนแดนทั่วไป"

ส่วนผู้ต้องขังคนไหนที่อยากกินน้ำเย็นก็ต้องเสี่ยงกับความสกปรกของน้ำแข็ง ที่เขาเคยเห็นกับตาว่าลากและตัดแบ่งกันบนพื้นปูนที่มีคนเดินไปมา แต่เขาเองโชคดีที่ไม่เคยป่วยจากอาหารช่วงที่อยู่ในเรือนจำ

ต่อมไทรอยด์

ที่มาของภาพ, BSIP

ประเด็นที่นิติรัตน์คิดว่าเป็นปัญหามากกว่าเรื่องคุณภาพหรือความสะอาดคือ "ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในเรือนจำ" ที่ผู้ต้องขังบางส่วนได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรืออาหารมีแจกไม่ทั่วถึง

เท่าที่เขารู้มา มีการแบ่งอาหารให้ผู้คุมและผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยงานของผู้คุมก่อน ทำให้อาหารไม่เพียงพอสำหรับผู้ต้องขังทุกคน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยัน "อาหารเรือนจำปลอดภัย"

พ.ต.อ.ณรัชต์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าอาหารในเรือนจำนั้นสะอาดปลอดภัย และปฏิเสธเรื่องการใช้อภิสิทธิ์ของผู้คุมทำให้มีการแจกอาหารไม่ทั่วถึง

"ข่าวลือที่ว่าอาหารในเรือนจำไม่ปลอดภัยนั้นไม่เป็นความจริง มันจะเป็นไปได้ยังไงที่อาหารจะไม่ปลอดภัย เพียงแต่ว่าเรามีงบประมาณซื้อของราคาถูก ซึ่งก็ขอซื้ออาหารดิบมาปรุงสุกเองในแดนสูทกรรม (โรงครัว) ใช้ฝีมือผู้ต้องขัง เพราะว่างบประมาณมันมีแค่ 40 กว่าบาทต่อคน ต่อวัน 3 มื้อ และการซื้อในปีนี้ก็ซื้อผ่านรัฐวิสาหกิจของรัฐทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็มีหน่วยงานราชการกำกับดูแลอยู่ การที่อาหารในเรือนจำไม่ปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องไม่จริง"

นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังมีทางเลือกที่จะซื้ออาหารรับประทานเองได้

"มีร้านค้าสงเคราะห์ ผู้ต้องขังสามารถซื้อปลากระป๋องหรืออาหารต่าง ๆ มารับประทานเสริมได้ บางคนมีญาติส่งเงินให้ ซึ่งทางเรือนจำอนุญาตให้ใช้เงินได้ในรูปแบบการสแกนลายนิ้วมือหรือใช้บัตรกดเงินสด โดยมีข้อกำหนดไว้ว่าสามารถใช้เงินสดได้ไม่เกินวันละ 300 บาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ เช่นสบู่ แชมพู ยาสีฟัน นม กาแฟ หรืออะไรก็ตามที่หลวงไม่ได้แจกให้" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว