โควิด-19: พบการติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียในแคมป์คนงานหลักสี่ ศบค. ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน

แรงงานที่พักอาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงาน ซอยยายผล ถ.เฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ ต่อแถวรับแจกอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ภายหลังสำนักงานเขตหลักสี่ ประกาศห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน (ถ่ายวันที่ 16 พ.ค. 2564)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แรงงานที่พักอาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงาน ซอยยายผล ถ.เฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ ต่อแถวรับแจกอาหารและสิ่งของเครื่องใช้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ภายหลังสำนักงานเขตหลักสี่ ประกาศห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานวันนี้ (21 พ.ค.) ว่าตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อินเดียภายในแคมป์คนงานเขตหลักสี่ เบื้องต้นมีจำนวน 15 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า ในแคมป์คนงานแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมี 15 ราย ซึ่งมีผลยืนยันเป็นเชื้อสายพันธุ์อินเดีย B1.617.2 ซึ่งทั้งหมดเข้ารับการรักษาใน รพ. และทีมสอบสวนโรคเข้าดำเนินงานทันที

โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การระบาดใจกลางกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ใน 7 เขต คือ คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ป้อมปราบศัตรูพ่าย หลักสี่ และดินแดง ซึ่งระบุพื้นที่กลุ่มก้อนเฝ้าระวังสูงสุด ดังนี้ ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่, ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตดอนเมือง, ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตคลองเตย, ชุมชนแออัดรอบตลาด เขตคลองเตย, ชุมชนแออัดตลาดห้วยขวาง, ชุมชนตลาดพลอยบางรัก และชุมชนแออัดตลาดบางกะปิ

graphic

ที่มาของภาพ, ศบค.

"เรื่องของสายพันธุ์อินเดียก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้จำนวนมาก ๆ ขณะเดียวกันก็มีการรายงานในหลายประเทศ ของเราเองก็เริ่มมีเข้ามา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

แรงงานที่พักอาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงาน ซอยยายผล ถ.เฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ (ถ่ายวันที่ 16 พ.ค. 2564)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แรงงานที่พักอาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงาน ซอยยายผล ถ.เฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ (ถ่ายวันที่ 16 พ.ค. 2564)

เนื่องจากสถานการณ์ของกรุงเทพฯ มีความซับซ้อน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แนวทางเบื้องต้นจะมีการตรวจเน้นในที่พักคนงานห้ามไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างกัน จัดระเบียบตลาดนัด ดูแลสุขอนามัยของพนักงานร้านอาหาร และผู้ขนส่งอาหาร จัดระเบียบการเดินทางขนส่งสาธารณะทุกประเภท และเน้นย้ำมาตรการทำงานที่บ้าน

ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน

โฆษก ศบค. เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นคราวที่ 12 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ถึง 31 ก.ค. ด้วยเหตุผลเพื่อการควบคุมโรคเป็นหลัก

Nope

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,481 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,518 ราย เรือนจำ 951 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 123,066 ราย
  • หากนับเฉพาะระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 94,203 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 874 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 42,827 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,248 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (873ราย) นนทบุรี (155 ราย) สมุทรปราการ (121 ราย) ปทุมธานี (117 ราย) และสมุทรสาคร (63 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 735 ราย คิดเป็น 0.60%

รายละเอียดผู้เสียชีวิต 32 ราย ดังนี้

  • กรุงเทพฯ 16 ราย เชียงราย สงขลา สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย อุบลราชธานี สระแก้ว ศรีสะเกษ ระยอง ชลบุรี ปทุมธานี ชัยภูมิ ลพบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ชุมพร สระบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย
  • ค่ากลาง อายุ 68 ปี (2 เดือน-93 ปี)
  • ปัจจัยเสี่ยง/โรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง

โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพฯ ได้นำมาตรการด้านสาธารณะสุขในการจัดการประชุมรัฐสภาประจำปี ที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าที่ประชุมเห็นชอบตามมาตรการ ซึ่งจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลาดการประชุม และยกเว้นเฉพาะขณะที่มีการขึ้นอภิปรายเท่านั้น อีกทั้งยังมีแผนจัดสรรวัคซีนจำนวน 2,000 โดส เพื่อจัดให้ผู้ทำงานภายในรัฐสภา

ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนให้บุคลากรคมนาคมและกลุ่มเสี่ยงในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.64 นี้ เป็นต้นไป

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนให้บุคลากรคมนาคมและกลุ่มเสี่ยงในวันที่ 24 พ.ค. เป็นต้นไป

สำหรับประเด็นการเปิดเรียนในวันที่ 14 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ไม่อนุญาตให้จัดการเรียนในรูปแบบ "on site" โดยเด็ดขาด ให้ใช้รูปแบบอื่นทดแทน ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ให้ปรับตามความเหมาะสมได้

ฉีดวัคซีนให้ได้ขวดละ 12 โดส ได้อย่างไร

ประเด็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต้องให้ได้มากกว่า 10 คนต่อขวดเริ่มต้นมาจากการรายงานข่าวของเว็บไซต์มติชนและข่าวสด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 เพื่อมอบนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19

vaccine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในรายงานดังกล่าวนายอนุทินได้มอบนโยบายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ตามตามเป้าหมายคือ 70% ของประชากร ภายในเดือน ก.ย. นี้ และระบุว่าขอให้ฉีดวัคซีน 1 ขวดให้ได้ 12 โดส จากปกติที่ระบุว่ามี 10 โดส เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณและฉีดวัคซีนได้มากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 20 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองยืนยันตามที่นายอนุทินให้ข่าวไปก่อนหน้าว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ โดยระบุเพิ่มเติมว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวดบรรจุ 6.5 ซีซี และกำหนดไว้สำหรับฉีดจำนวน 10 โดส โดสละ 0.5 ซีซี จะมีปริมาณวัคซีนในขวดที่เกินมาอีกประมาณ 1.5 ซีซี จะมีวัคซีนเหลือในขวดฉีดเพิ่มได้อีก 1-2 คน เมื่อดูดวัคซีนอย่างประณีตด้วยเทคนิค "Low Dead Space Syringes" และจัดสรรไซริงค์พิเศษที่ช่วยดูดวัคซีนได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้ได้วัคซีนครบ 0.5 ซีซีแน่นอน และฉีดได้โดยไม่เหลือวัคซีนค้างในไซริงค์

vaccination stickers

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคยังกล่าวย้ำอีกว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะไม่ลดลง และทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้นถึง10-20% ซึ่งองค์การอนามัยโลกเห็นว่าการฉีดได้มากกว่าจำนวนโดสที่กำหนดไว้บนฉลากข้างขวด สามารถทำได้และเกิดประโยชน์