10 ปี การชุมนุมคนเสื้อแดง 2553

3 เรื่อง 3 บาดแผล จาก 3 ผู้ประสบเหตุ

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี


“ไม่คุ้ม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่เสียใจ”


“ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย มีแต่คนแพ้ ไม่มีคนชนะ”


“ปรองดองเฉพาะลมปากพูดกันเฉย ๆ”

นี่คือบางถ้อยคำที่สะท้อนออกมาจากบุคคล 3 คนที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 2553 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 แกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ยืดเยื้อมา 69 วัน พร้อมยอมมอบตัว 

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ระบุมีผู้เสียชีวิต 92 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,500 ราย จากเหตุการณ์ชุมนุมในครั้งนี้

เหตุรุนแรงกลางเมืองหลวง ทำให้การเมืองไทยถูกจับตาจากทั่วโลกพร้อมกับคำถามว่าอะไรเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปะทะและสูญเสีย

บีบีซีไทยพาผู้อ่านไปฟังคำบอกเล่าจากบุคคล 3 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นในบทบาทที่ต่างกัน คือ ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าว


ผู้ชุมนุม

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี
“มันเหมือนเป็นเฟสติวัล เป็นเทศกาลดนตรี จะมีแม่ยกไปนั่งหน้าเวที”

เบิร์ด หรือ สันติพงษ์ อินจันทร์ หนึ่งในผู้ชุมนุมเล่าถึงบรรยากาศหน้าเวที นปช. เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเขาอายุ 24 ปี ยังเป็นนักศึกษาอยู่ 

เขาได้สัมผัสประสบการณ์การชุมนุมเป็นครั้งแรก เขาบอกว่าไม่เคยสนใจเรื่องการเมืองเลย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยังมองว่าการชุมนุมนี้ “น่ากลัว” ตามคำบอกเล่าของเพื่อน ๆ ต่างกับพ่อและแม่ที่ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ และเป็นพ่อกับแม่นี่เองที่ชวนเบิร์ดไปร่วมชุมนุม

“ครอบครัวเป็นคนพะเยา เขาได้ประโยชน์จากนโยบายช่วงที่ทักษิณ (ชินวัตร) เป็นนายกฯ เขาเลยชื่นชม”

ช่วงแรกเบิร์ดปฏิเสธไม่ไปชุมนุม แต่พ่อแม่บอกกับเขาให้ไปหาข้อมูลและตัดสินใจเอาเอง

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มสนใจการเมือง ติดตามสถานการณ์และข่าวสารทางออน์ไลน์ จนกระทั่งตัดสินใจไปร่วมชุมนุมกับพ่อและแม่ครั้งแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ถนนราชดำเนิน

หลังจากมีครั้งแรก ครั้งที่สอง สาม สี่ ห้า และครั้งอื่น ๆ ก็ตามมา

ครอบครัวของเบิร์ดไปร่วมชุมนุมเกือบทุกอาทิตย์ โดยจะแยกย้ายกัน เบิร์ดชอบไปเดินดูตามบูทต่าง ๆ ในที่ชุมนุมสลับกับมานั่งฟังปราศรัย ส่วนพ่อแม่ก็จะนั่งอยู่อีกทีหนึ่ง เมื่อจะกลับบ้านก็โทรศัพท์นัดหมายกัน 

“ครอบครัวเราไม่ได้ฮาร์ดคอร์อะไร พ่อแม่ไปถึง เห็นตรงไหนว่าง เขาก็จะนั่ง ไม่ได้ว่าจะต้องไปนั่งหน้าเวที คือเขาแค่อยากไปเห็น”

แต่สุดท้าย เบิร์ดและครอบครัวก็ต้องพบกับสิ่งที่พวกเขาไม่คาดฝัน

10 เม.ย. 2553 สถานการณ์การชุมนุมมีความรุนแรงขึ้น มีการประกาศบนเวทีปราศรัยว่าทหารกำลังจะ “ขอคืนพื้นที่” พวกเขาจึงตัดสินใจรีบไปยังที่ชุมนุมในทันที โดยพ่อและแม่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในขณะที่เบิร์ดแยกตัวไปแถวสี่แยกคอกวัว ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นจุดที่คนน้อย จึงอยากจะไปช่วยในจุดนั้น

เวลาประมาณเกือบ 18.00 น. เบิร์ดตั้งแถวกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ อยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว เขายืนเป็นแนวหน้ากันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของผู้ชุมนุม ตอนนั้นเขาคิดว่าคงแค่ดันกันไปดันกันมา ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง

เบิร์ดบอกว่าในตอนนั้น “อาวุธ” ของผู้ชุมนุมมีแค่ขวดน้ำเปล่าและถุงพริกน้ำปลา ขณะที่เขาเห็นเจ้าหน้าที่ทหารมีโล่ กระบอง ปืนลูกซองและกระสุนยาง

หลังสิ้นเสียงเพลงชาติ แกนนำผู้ชุมนุมบริเวณนั้นนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทว่ายังไม่ทันจบเพลง ฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารก็เริ่มกระชับพื้นที่

ผู้ชุมนุมดันกับเจ้าหน้าที่ เบิร์ดได้สัมผัสแรงปะทะเป็นครั้งแรก เขาเห็นผู้ชุมนุมบางคนโดนยิงด้วยกระสุนยางล้มลง และเจ้าหน้าที่ก็เริ่มยิงแก๊สน้ำตา เบิร์ดจึงถอยร่นมาอยู่ในแนวหลัง แต่ในที่สุด เขาก็ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ใต้ตาขวา

“มันมืดไปเลย เรารู้ว่าตัวเองโดนยิง มันหน้าหงายเลย”

หลังจากนั้นเบิร์ดถูกส่งตัวไปรักษาที่วชิรพยาบาล และสุดท้ายต้องสูญเสียตาข้างขวาไป

เบิร์ดใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 2 อาทิตย์ หลังออกจากโรงพยาบาลเขาและครอบครัวก็ไม่ได้กลับไปยังสถานที่ชุมนุมอีกเลย แต่ยังคงติดตามฟังการปราศรัยอยู่ตลอดจนถึงวันสุดท้ายของการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.

เขาบอกว่าเหตุการณ์นั้นทำให้ตัวเองโตขึ้น ถึงแม้จะโกรธคนที่ยิง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย พร้อมยอมรับว่าการสูญเสียของเขาไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มา เมื่อมันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ถ้าสู้แล้วชนะมันคงคุ้ม”
“นี่คือสิ่งที่เสียใจ เราสู้ เราสูญเสีย แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย”

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

เบิร์ดต้องสูญเสียตาข้างขวาไป จากเห็นการปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เบิร์ดต้องสูญเสียตาข้างขวาไป จากเห็นการปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

ตาปลอมที่เบิร์ดใส่มาตลอดเวลา 10 ปี

ตาปลอมที่เบิร์ดใส่มาตลอดเวลา 10 ปี

เจ้าหน้าที่รัฐ

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี
ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

จ.ส.อ.สุนทร ขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณแยกสีลม

จ.ส.อ.สุนทร ขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณแยกสีลม

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

ภรรยาของเขายอมรับว่าเสียใจ แต่ไม่ได้กล่าวโทษฝ่ายใด

ภรรยาของเขายอมรับว่าเสียใจ แต่ไม่ได้กล่าวโทษฝ่ายใด

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

จ.ส.อ.สุนทร ยอมรับว่าในช่วงแรกเขาทำใจไม่ได้ที่ตัวเองต้องกลายเป็นคนพิการ

จ.ส.อ.สุนทร ยอมรับว่าในช่วงแรกเขาทำใจไม่ได้ที่ตัวเองต้องกลายเป็นคนพิการ

22 เม.ย. 2553 เป็นวันสุดท้ายที่ จ.ส.อ. สุนทร ตาคำทรัพย์ ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 13 พล.ม.1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ปฏิบัติภารกิจภาคสนาม

จ.ส.อ.สุนทรเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการยิงระเบิด M79 บริเวณถนนสีลม สะเก็ดระเบิดฝังเข้าไปในกระโหลกศรีษะด้านซ้าย แพทย์ต้องเปิดกระโหลกและผ่าเอาเศษระเบิดออก

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาต้องเป็นอัมพฤกษ์ ด้วยความที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จ.ส.อ.สุนทรได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพันเอก ก่อนที่เขาจะออกจากราชการเพราะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 

เขาบอกบีบีซีไทยว่าเขาอยากเป็นทหารเพราะเห็นว่าเท่และ “อยากทำเพื่อบ้านเมือง อยากช่วยเหลือประชาชน”

ในการชุมนุมปี 53 เขาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. โดยหมู่ของเขาเป็นชุดสนับสนุน คอยผลัดเปลี่ยนกับหมู่อื่น ช่วงนั้นเขาปฏิบัติภารกิจในหลายสถานที่และหลายเหตุการณ์

การปิดล้อมสถานีไทยคม ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จ.ส.อ.สุนทรเป็นหนึ่งในทหารที่ถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม เขายังจำได้ดีถึงบรรยากาศตึงเครียดในที่ชุมนุม ผู้ชุมนุมมีมากกว่าเจ้าหน้าที่ทหาร มีแกนนำมาเจรจา แต่ก็ไม่สำเร็จ จนสุดท้ายแล้วเกิดการปะทะกัน

“ตอนนั้นเกือบโดนใช้ไม้แทง โดนผู้ชุมนุมด่า รู้สึกหดหู่”
“เสียใจที่เราต้องมาทะเลาะกันเอง ลูกน้องบาดเจ็บหลายคน”

เหตุปะทะที่สถานีไทยคมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการ โดย พ.อ.สุนทรเผยว่าหลังจากนั้นในวันที่ 9 เม.ย. พวกเขาได้รับการแจกอาวุธปืนพร้อมกับกระสุนจริง แต่เขาก็ยืนยันว่าไม่เคยได้ใช้เลยแม้แต่นัดเดียว จนเกิดเหตุที่ตัวเองโดนระเบิด

“ผมได้ปืน ได้กระสุนมา 140 นัด ไม่เคยยิงสักนัด”

จนมาถึงวันที่ 22 เม.ย. ที่เขาโดนสะเก็ดระเบิด พ.อ.สุนทรยอมรับว่าในช่วงแรกรู้สึกโกรธและทำใจไม่ได้ที่ต้องกลายเป็นคนพิการ

ที่สุดแล้วเขาเห็นว่าทุกคนควรเรียนรู้จากการชุมนุมในครั้งนี้ ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ที่ควรจะสามัคคีกัน เพราะสุดท้ายแล้วจุดจบก็มีแต่ผลเสียกับประเทศ

“ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย เกิดแต่ความสูญเสีย แตกความสามัคคี เกิดสงครามกลางเมือง” 
“มีแต่คนแพ้ ไม่มีคนชนะ”

ช่างภาพข่าว

ไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพอาวุโส สำนักข่าวเนชั่น ได้รับบาดเจ็บขณะเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ในที่ชุมนุม 

เขาต้องจบอาชีพการเป็นช่างภาพสื่อมวลชนด้วยวัย 46 ปี หลังถูกกระสุนปืนจากฝั่งทหารยิงเข้าที่บริเวณต้นขาขวา

วันที่ 15 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการชุมนุม สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลประกาศเขตใช้กระสุนจริง มีการปะทะ มีรายงานผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต อยู่ตลอดเวลา

เช้าวันนั้นไชยวัฒน์มุ่งหน้าไปที่ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตใช้กระสุนจริง 

“ตอนนั้นถามทหารว่าเข้าได้ไหม เขาก็บอกว่าได้”

ถนนทั้งสายว่างเปล่า เงียบงัน ไชยวัฒน์พบร่างของผู้เสียชีวิต 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี เข้ารู้สึกหดหู่ใจที่เห็นคนไทย “ฆ่ากันเอง”

ถนนที่เงียบงันในช่วงเช้า เปลี่ยนไปเป็นความวุ่นวายโกลาหลในช่วงบ่าย เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มรุกคืบเข้ามาใกล้กับแนวทหาร มีการกลิ้งยางรถยนต์มาเป็นแนวกั้น เขาเห็นผู้ชุมนุมบางคนเตรียมระเบิดเพลิง ขณะที่บางคนเตรียมที่ยิงหนังสะติ๊กและพลุเป็นอาวุธ

ไม่นานนัก เสียงปืนดังขึ้น มีการยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ผู้ชุมนุมคนหนึ่งโดนยิงล้มลง ซึ่งไชยวัฒน์เก็บภาพนั้นไว้ได้

หลังเก็บภาพได้ ไชยวัฒน์ตัดสินใจที่จะออกจากพื้นที่ เพราะเห็นว่าการสาดกระสุนเริ่มรุนแรงขึ้น แต่ทันใดนั้นเอง เขาก็ล้มลง

“ตอนแรกนึกว่าตัวเองถอยหลัง แล้วสะดุดล้ม แต่ไม่ใช่”

เขาถูกยิง กระสุนฝังที่ต้นขาขวา การสาดกระสุนยังดำเนินต่อไปขณะที่แพทย์สนามให้การปฐมพยาบาลและส่งตัวเขามารักษาที่โรงพยาบาลพญาไท ไชยวัฒน์เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 16 พ.ค. เนื่องจากต้องรอแพทย์ที่ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ในขณะนั้น

เขาต้องผ่าตัดอีกราว 8 ครั้ง พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 2 เดือน และทำกายภาพกว่า 1 ปี ก่อนที่จะกลับมาเดินได้อีกครั้ง

นี่เป็นการได้รับบาดเจ็บครั้งรุนแรงครั้งแรกและครั้งเดียวของไชยวัฒน์ในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าตัวเองได้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้มหาศาล

ขณะเดียวกันก็คิดว่าสังคมไทยควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน โดยทุกฝ่ายควรจริงใจต่อกันมากกว่าที่เป็นอยู่ และนักการเมืองไม่ควรหาประโยชน์จากประชาชนด้วยการผลักดันให้คนลงถนน

“ถ้าเจรจา คุยกันรู้เรื่อง ทำไมเอาผู้ชุมนุมไปตาย ไปถูกยิง คือปรองดองเฉพาะลมปาก พูดกันเฉย ๆ”
“อยากจะบอกว่ามันควรจะกลับมาปรองดองให้จริงจังทั้งสองฝ่าย ทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม รัฐบาลก็ควรจะยืนเป็นกลางด้วย”

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

"ทรมาน" คือคำอธิบายกับสิ่งที่ชัยวัฒน์ต้องพบเจอ

"ทรมาน" คือคำอธิบายกับสิ่งที่ชัยวัฒน์ต้องพบเจอ

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

ไชยวัฒน์ถ่ายทอดทุกเรื่องที่เขาพบเจอมาให้กับลูกสาว

ไชยวัฒน์ถ่ายทอดทุกเรื่องที่เขาพบเจอมาให้กับลูกสาว

ชุมนุม คนเสื้อแดง นปช 10 ปี

เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 8 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 8 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

ผู้สื่อข่าว : วสวัตติ์ ลุขะรัง

ภาพ : วสวัตติ์ ลุขะรัง, AFP, Getty Images

บรรณาธิการ : กุลธิดา สามะพุทธิ

วันเผยแพร่ : 19 พ.ค. 2563