ศรีนวลกับพวกถูกขับพ้นพรรค แต่คะแนนยังอยู่กับอนาคตใหม่

ที่ประชุม กก.บห. และ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่มีมติ "เอกฉันท์" ให้ขับ 4 ส.ส. พ้นพรรค

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่

คำบรรยายภาพ,

ที่ประชุม กก.บห. และ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่มีมติ "เอกฉันท์" ให้ขับ 4 ส.ส. พ้นพรรค

อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดับฝันพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ไม่สามารถเรียกคืนคะแนนเสียง 1.62 แสนคะแนนของ 4 ส.ส. กลับคืนมาให้พรรคสีส้มใช้คำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ได้ หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) และ ส.ส.อนค. มีมติ "เอกฉันท์" ให้ขับ 4 ส.ส. พ้นพรรค

กระบวนการขับ 4 ส.ส.อนค. พ้นพรรค เกิดขึ้นในการประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ ส.ส.อนค. วันนี้ (17 ธ.ค.) โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธาน และเป็นผู้ขานรายชื่อ 4 ส.ส. ตามลำดับเพื่อขอมติขับพ้นพรรค ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ขับ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จันทบุรี และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ออกจากพรรค

ขั้นตอนหลังจากนี้ อนค. จะส่งหนังสือแจ้งไปยัง ส.ส. ทั้ง 4 คน และแจ้งให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบต่อไป

น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษก อนค. ยืนยันว่า การขับ ส.ส. ทั้ง 4 คนพ้นพรรค เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่การตัดสินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการวินัยขึ้นมาตรวจสอบกรณีโหวตสวนมติพรรค การนำความลับของที่ประชุมไปเปิดเผย และการให้สัมภาษณ์ที่ทำให้เพื่อนสมาชิกและพรรคเสื่อมชื่อเสียง พฤติกรรมเหล่านี้นำไปสู่การภาคทัณฑ์ในครั้งแรก แต่ก็ยังมีการกระทำผิดซ้ำ จึงต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้นและนำมาสู่การขับออกจากพรรค

สำหรับ ส.ส. ทั้ง 4 คนชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงรวมกันกว่า 1.62 แสนคะแนน ทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ น.ส.พรรณิการ์ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าคะแนนที่ ส.ส.เหล่านี้ได้รับมาจะติดตัวตามพวกเขาไปอยู่พรรคใหม่หรือไม่ พร้อมทวงยอด "ส.ส.พึงมีได้" ของ อนค. ที่ 81 คน แต่ปัจจุบันเหลือ ส.ส.ในสังกัดเพียง 76 คน จึงคาดหวังให้ กกต. ตัดยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของพรรคอื่นออก

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่

คำบรรยายภาพ,

ที่ประชุมสามัญ อนค. มีมติให้ขับ ส.ส. 4 คนซึ่งลงมติสวนมติพรรค ด้วยคะแนนเสียง 250 ต่อ 5 เสียง และมีบัตรเสียอีก 6 เสียง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งอดีต กกต. และอดีต กรธ. ต่างระบุตรงกันว่า กกต. ไม่สามารถนำกรณีขับ ส.ส.พ้นพรรคไปคิดคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใหม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 กำหนดให้ทำได้เฉพาะกรณีที่ "การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" เท่านั้น

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาทางกฎหมายข้อเดียวที่เกิดขึ้นจากกรณี อนค. ขับ 4 ส.ส.พ้นพรรคคือ ส.ส.เหล่านี้ต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วันเพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) โดยที่ทั้งพรรคเก่าและพรรคต้นสังกัดใหม่ไม่จำเป็นต้องไปสนใจคะแนนที่ 4 ส.ส.ได้รับมา

"แม้ ส.ส. 4 คนนี้จะถูกขับออกจากพรรคไปแล้ว แต่คะแนนของเขายังกินอยู่ในโควต้า อนค. ตามเดิม เพราะยึดจากการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่ใช่ได้มาจากพรรคอื่นที่เขาจะไปสังกัด การคิดคะแนนใหม่จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรมเท่านั้น" ศ.ดร.อุดมกล่าว

เช่นเดียวกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า "คุณธนาธรคิดมากเกินไป" ที่หวังว่าคะแนนของ 4 ส.ส. จะคืนกลับไปที่พรรค

ส.ส. พรรคอนาคตที่ถูกขับพ้นพรรค

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

ส.ส. พรรคอนาคตที่ถูกขับพ้นพรรค

ทั้งนายสมชัย และ ศ.ดร.อุดมได้พร้อมใจกันยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในอดีตที่ไม่นำไปสู่การคิดคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

  • "ไพบูลย์โมเดล" หลังเข้าร่วมรัฐบาลผสมได้ไม่นาน นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ประกาศยุบ "พรรคจิ๋ว" ของตัวเอง ซึ่งเข้าสภาได้ด้วยการปัดเศษทศนิยม เพราะมีคะแนนมหาชน 4.54 หมื่นคะแนน ไม่ถึงเกณฑ์มี "ส.ส.พึงมีได้" จากนั้นได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรักษาสมาชิกภาพ ส.ส. เอาไว้ได้
  • การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม เขต 5 เมื่อ 23 ต.ค. 2562 ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.อนค. ซึ่งเป็นพรรคเจ้าของพื้นที่เดิมต้องพ่ายแพ้แก่ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา โดยที่ กกต. ไม่ได้นำคะแนนไปคิดคำนวณยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมเพราะเหตุทุจริต

ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 อนค. ได้คะแนนมหาชน 6.25 ล้านคะแนน เมื่อนำไปเข้าสูตร "คณิตศาสตร์การเมือง" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 และ 129 คิดคำนวณได้ว่าพวกเขามี "ส.ส.พึงมีได้" 81 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 31 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คน ต่อมา ส.ส.นครปฐม เขต 5 อนค. ได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ไม่สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ในการเลือกตั้งซ่อม จึงเหลือ ส.ส. 80 คนในสภาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ระหว่างการประชุมสภา

ในรอบปีที่ผ่านมา เกิดสารพัดคำถามอะไรบ้างจากสูตรพิสดาร "คณิตศาสตร์การเมืองไทย" และอดีตโฆษก กรธ. ตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร

หนึ่ง ในช่วง 1 ปีหลังเลือกตั้งทั่วไป หากต้องคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใหม่เพราะการจัดเลือกตั้งซ่อมจากเหตุทุจริต จะคิดจากฐานคะแนนมหาชนของ 74 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. แม้โดยข้อเท็จจริงพรรคนายไพบูลย์จะยุบตัวเองไปแล้วก็ถาม

"คุณไพบูลย์เข้าสภาโดยถือคะแนนที่คำนวณครั้งแรกในนามพรรคประชาชนปฏิรูป จึงไม่ต้องสับสนกับการที่เขายุบพรรคเปลี่ยนพรรค ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาไปหมดว่าตกลงคะแนนที่คุณไพบูลย์ได้มาจะทำอย่างไร" ศ.ดร.อุดมกล่าว

อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า "อาจเป็นช่องว่างที่ กรธ. ไม่ได้คิดถึงนัก" ในกรณีนี้

สอง เหตุที่กำหนดให้การคำนวณยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำได้ภายใน 1 ปีหลังเลือกตั้งทั่วไป เพราะบัตรเลือกตั้ง 1 ใบทำให้ได้ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ ซึ่ง กรธ. บางส่วนทักท้วงว่าหากพบว่ามีการทุจริตเลือกตั้งก็ควรตัดคะแนนออก "หากไปกำหนดให้คำนวณได้ใหม่ตลอดเทอมสภา 4 ปี ก็จะเกิดความวุ่นวาย ก็เลยเอา 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พอดี ๆ หาก กกต. แจกใบแดง แล้วคดีไปศาล"

สาม ในเมื่อ 4 ส.ส.อนค. เข้าสภาได้ด้วยคะแนนของพรรค เหตุใดพรรคถึงไม่ได้คะแนน 1.62 คะแนน คืนมาคำนวณยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตโฆษก กรธ. เห็นว่าการใช้บัตรใบเดียวตีความได้ "ก้ำกึ่ง" ว่าเป็นคะแนนส่วนตัวของ ส.ส. หรือคะแนนของพรรค ส่วนการขับไล่คนออกจากพรรค ถ้าจะว่าไปมีเหตุผลหลายกรณี ระหว่างการไล่เพราะ ส.ส.ใช้เอกสิทธิ์แสดงความเห็นในสภา หรือไล่เพราะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ไม่รักษากติกาพรรค เมื่ออยู่ร่วมกันไม่ได้ก็ต่างคนต่างไป เป็นบทลงโทษทางการเมือง

"เราไม่สามารถไปตัดสินว่าพรรคมีความสำคัญเหนือบุคคล ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญคงไม่เปิดช่องให้ ส.ส. ที่ถูกขับออกมีโอกาสไปหาสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน อันนี้เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กรธ. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย" อดีตโฆษก กรธ. ระบุ