ท่องเที่ยว : ประโยชน์ต่อสุขภาพ 6 ประการที่ได้จากการเดินทางท่องเที่ยว

Travelling brings benefits to your physical as well as mental health

ที่มาของภาพ, CAIA IMAGE/SCIENCE PHOTO LIBRARY

การท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนไม่เพียงจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ยังส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนเราด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการไปสำรวจเมืองใหม่ ๆ ออกไปชมวิวทิวทัศน์ที่งดงาม หรือไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในชนบท หากคุณมีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ นี่คือเหตุผลที่คุณควรเริ่มจัดกระเป๋าแล้วออกเดินทาง

1. การท่องเที่ยวส่งผลดีต่อหัวใจ

A group of friends taking a selfie with the Big Ben in London

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การเดิมชมเมืองคือการออกกำลังกายที่ดีและสนุกอีกรูปแบบหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในเมืองหรือในธรรมชาติ กิจกรรมนี้ช่วยให้คุณได้เดินถึงวันละ 10,000 ก้าว หรือประมาณ 6.5 กม. ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายระดับปานกลางที่ดี

การท่องเที่ยวแบบเดินดูวิวทิวทัศน์ บวกการทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วย ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจ

การศึกษาด้านโรคหัวใจ Framingham Heart Study เมื่อปี 1948 ที่สำรวจผู้หญิงในหัวข้อนี้ และติดตามผลพวกเธอในอีก 20 ปีต่อมา พบว่า ผู้หญิงที่ท่องเที่ยวเพียง 1 ครั้งในช่วงเวลา 6 ปี มีแนวโน้มจะเกิดภาวะหัวใจวายหรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงอีกกลุ่มที่ท่องเที่ยวปีละ 2 ครั้ง

ผลการศึกษานี้มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน และการสูบบุหรี่

ผลการศึกษาอีกชิ้นของคณะนักวิจัยจากสเตทยูนิเวอร์ซิตีออฟนิวยอร์ก ที่ตามศึกษาชาย 12,000 คนที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นเวลา 9 ปี พบว่า คนที่ไม่ได้ลาพักร้อนประจำปีมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเพิ่มขึ้น 32%

An older couple enjoy a hiking trip

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, หากการท่องเที่ยวคือเพชฌฆาตความเครียด มันก็คงช่วยให้เรามีอายุยืนยาวขึ้น

2. การท่องเที่ยวช่วยให้รู้สึกเหมือนได้กลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง

รายงานขององค์กร Global Coalition on Aging ระบุว่าความเครียดเป็นปัจจัยเร่งกระบวนการแก่ชรา

การตกอยู่ในภาวะเครียดเหมือนกับการที่เราฉีดฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดเข้าสู่ร่างกายทุกวัน ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น ภาวะต่อมหมวกไตล้า ปวดศีรษะ โรคลำไส้แปรปรวน (ท้องผูก ท้องเสีย) หรือไอบีเอส

อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนด้วยการท่องเที่ยวสามารถช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้

บริษัทท่องเที่ยว Expedia ได้สำรวจความเห็นของคน 500 คน เมื่อปี 2012 พบว่า พวกเขาเริ่มรู้สึกผ่อนคลายขึ้นหลังจากไปท่องเที่ยวได้เพียง 1 หรือ 2 วัน

อันที่จริง ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2002 พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า แค่เราคาดหวังและวางแผนเดินทางก็ช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวกและทำให้บุคคลนั้น "มีความสุขกับชีวิตโดยรวมยิ่งขึ้น" แล้ว

Men barbecue food as flames rise at a market stall in Marrakesh

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การได้สัมผัสกับอาหาร และสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นสมองให้มีความเฉียบแหลมอยู่เสมอ

3. การท่องเที่ยวช่วยให้สติปัญญาเฉียบแหลม

การท่องเที่ยวเปิดโอกาสให้เราได้เจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นสมองของเรา เช่น อาหาร และสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หรือภาษาที่เราไม่คุ้นเคย

รายงานขององค์กร Global Coalition on Aging ระบุว่า การได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและการได้พบเห็นสถานที่ใหม่ ๆ ไม่เพียงจะทำให้เราฉลาดขึ้น แต่ยังช่วยชะลอโรคทางสมองต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์

ดร.พอล ดี นุสส์บาวม์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ในสหรัฐฯ กล่าวว่า "การท่องเที่ยวคือยาขนานเอก" เพราะการได้พบเจอกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ช่วยลับสมองของเราให้มีความคิดและสติปัญญาเฉียบแหลมอยู่เสมอ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองและทำให้สมองมีความว่องไวปราดเปรียวไปตลอดชีวิต

A woman with a cat in her arms and smoking a cigar in Cuba

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การท่องเที่ยวช่วยเปิดโลกทัศน์ และกระตุ้นให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

4. การท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

"หากคุณอยากได้ความคิดดี ๆ คุณต้องหยุดคิดเกี่ยวกับมัน" นี่คือคำแนะนำที่อาจฟังดูขัดกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ ซึ่ง เจมส์ เว็บบ์ ยัง ผู้บริหารบริษัทโฆษณาชื่อดังของสหรัฐฯ เขียนไว้ในหนังสือสอนเทคนิคการสร้างความคิดใหม่ ๆ เรื่อง A Technique for Producing Ideas

ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้หมายความว่า แรงบันดาลใจในการคิดงานโฆษณาของเขาจะตกลงมาจากฟากฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์

ในทางตรงข้าม เขาจะพินิจพิเคราะห์เกี่ยวกับชิ้นงานนั้นในขั้นต้น แต่จังหวะที่เขา "ปิ๊งไอเดีย" มักจะตามมาในภายหลัง ตอนที่เขาเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น เช่น การไปดูภาพยนตร์

ปัจจุบันนักประสาทวิทยา ทราบแล้วว่าสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นการเชื่อมโยงของเส้นใยสมองใหม่ ๆ ได้ และช่วยฟื้นฟูความคิดให้ปราดเปรื่องอยู่เสมอ

นี่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่า "ความยืดหยุ่นทางปัญญา" ซึ่งหมายถึงความสามารถของสมองในการกระโดดจากความคิดหนึ่งยังไปอีกความคิดหนึ่งได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

บางทีอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ศิลปินชื่อก้องโลกอย่าง พอล โกแก็ง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ หรือ อีกอร์ สตราวินสกี จะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกในระหว่างหรือหลังจากที่พวกเขาเดินทางไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตในต่างแดน

A young woman enjoying the view at a mountain peak in Asia

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ช่วยให้สมองปลอดโปร่งขึ้น

5. การท่องเที่ยวช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน

อาการเหนื่อยล้าในการทำงาน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้อย่างแพร่หลายในที่ทำงาน

ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อลูกจ้างเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระของระบบให้บริการสุขภาพของรัฐ (ซึ่งต้องรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่สืบเนื่องจากความเครียด) รวมทั้งบริษัทและองค์กรทั่วโลก (ซึ่งเกิดความเสียหายทางธุรกิจ จากการที่พนักงานลาป่วย, ประสบอุบัติเหตุในการทำงาน หรือการเสียค่าสินไหมทดแทน)

สถาบันโรคเครียดแห่งอเมริกา ประเมินว่า ความเครียดสร้างความเสียหายให้ธุรกิจในสหรัฐฯ ปีละ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดร.ชิมิ คัง ผู้นำงานวิจัยเรื่อง ประสาทวิทยาศาสตร์แห่งความสุขและสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (neuroscience of happiness and optimal health) ระบุว่า การให้สมองได้พักเพื่อฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะการทำงานเดิมนั้น จะช่วยในด้านการคิดแก้ปัญหา และเชื่อมโยงความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

A group of young women excited about being in Italy

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การใช้ชีวิตในต่างแดนอาจช่วยพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

6. การท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมการพัฒนาตนเอง

หากคุณยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และมีโอกาสย้ายไปใช้ชีวิตในต่างแดนระยะหนึ่ง จนอย่าปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดมือไป เพราะงานวิจัยชี้ว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะส่งผลดีอย่างมากต่อการพัฒนาตนเอง

ดร.จูเลีย ซิมเมอร์มานน์ และ ดร.ฟรานซ์ เนเยอร์ จากมหาวิทยาลัยฟรีดริช-ชิลเลอร์ ในเยอรมนี ได้เปรียบเทียบการพัฒนาบุคลิกภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวเยอรมันกว่า 3,000 คน ซึ่งเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษาเป็นอย่างน้อยกับนักศึกษาอีกกลุ่มที่ไม่ได้ไป

ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่ได้ไปสัมผัสกับชีวิตในต่างแดนมักมีความสนใจในสิ่งรอบตัวมากกว่าอีกกลุ่ม

คนที่กลับมาจากต่างประเทศ มักมีแนวโน้มจะมีความคิดที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น

นักวิจัยระบุว่า "คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีความคิดรอบคอบ ใจกว้าง และมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเยาวชนไปเป็นผู้ใหญ่"

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด หรือชอบการท่องเที่ยวแบบไหน ก็ล้วนจะได้รับประโยชน์จากการหาเวลาว่างออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันไม่มากก็น้อย

Stock image of young woman with a suitcase

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, หากคุณพร้อมก็แพ็คกระเป๋าแล้วออกเดินทางกันเถอะ!