ไวรัสโคโรนา : ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 3 ราย เป็นปู่-ย่าที่กลับจากฮอกไกโดแล้วแพร่ไปติดหลาน

สธ.

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

จากกรณีที่มีกระแสข่าวทางโลกออนไลน์และโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งได้ยืนยันถึงกรณีคนไทยที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ภายหลังไม่แจ้งประวัติการเดินทางในวันแรกที่เข้ารับการรักษา กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มอีก 3 ราย เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน

ในจำนวนนี้ 2 รายเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น อีกรายเป็นหลานชายวัย 8 ขวบ ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด

"รายนี้ไม่ได้เป็น superspreader (ผู้แพร่กระจาย) เพราะมีอาการและเข้ารักษาที่โรงพยาบาล" นพ.สุขม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา จากตัวเลขผู้ป่วยที่แถลงในวันนี้ (26 ก.พ.) ทำให้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 40 ราย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงรายละเอียดของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยืนยันเพิ่มอีก 3 คน ดังนี้

  • ชายไทย อายุ 65 ปี มีประวัติเดินทางไปที่เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งด้วยอาการไข้ ไอ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ตรวจพบมีอาการปอดอักเสบ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นบวก ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลทรวงอก
  • หญิงไทย อายุ 62 ปี ภรรยาของชายคนที่หนึ่ง เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน (ติดเชื้อมาจากญี่ปุ่น) มีอาการไข้ ไอ หลังจากเดินทางกลับจากญี่ปุ่นได้ 3 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร
  • เด็กชาย อายุ 8 ขวบ เป็นหลานชายผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 1 ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่อยู่ใกล้ชิดปู่ย่า อาการป่วยมีน้อย ขณะนี้รักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร

นพ.สุขุม กล่าวถึงอาการของชายอายุ 65 ปี ว่า ตรวจพบปอดอักเสบเนื่องจากมีการปล่อยอาการไว้ระยะหนึ่ง หากมาเร็วกว่านี้อาจมีแค่อาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ในส่วนของการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ขณะนี้ยืนยันมีการติดตาม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งผู้ร่วมทริปทัวร์ และผู้อยู่ในเที่ยวบินเดียวกัน ตอนนี้อาการอยู่ในภาวะปกติ

"ยืนยันไม่มีผู้ป่วย superspreader (ผู้แพร่กระจาย) เราสามารถรู้ว่าผู้ป่วยรายนี้มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ รู้ว่าติดต่อยังไง ทำให้การติดตามทำได้ดีขึ้น" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว และยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 เพราะยังไม่เกิดการระบาดในประเทศ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับข้อมูลการเดินทางไปยังต่างประเทศว่า "เขาไม่ได้ปิดประวัติ เขาไม่บอก ถามแล้ววันแรกไม่แจ้ง มาแจ้งคราวถัดไป ไม่ได้ปกปิด"

สธ.

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ แถลงชี้แจง

โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ (26 ก.พ.) ว่าผู้ป่วยชายไทยได้เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. โดย "ผู้ป่วยปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เบื้องต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล"

ต่อมาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ได้เข้าตรวจอาการผู้ป่วยและสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง แต่ผู้ป่วยปฏิเสธ ต่อมาในช่วงสาย ผู้ป่วยได้เปิดเผยประวัติว่าได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ทางโรงพยาบาลจึงได้แจ้งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และย้ายผู้ป่วยเข้ารักษาในห้องความดันลบ และส่งตรวจเชื้อโควิด-19 ทันที ผลตรวจเบื้องต้นที่ออกมาในช่วงเย็นวันที่ 24 ก.พ. พบเชื้อโควิด-19 ปัจจุบันได้ส่งตัวเข้าไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐแล้ว

โรงพยาบาล บี.แคร์ ชี้แจงอีกว่า จากกรณีนี้ส่งผลให้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 30 คน ทั้งหมดได้รับการตรวจพีซีอาร์และตรวจเลือดเบื้องต้น ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบเชื้อไวรัส แต่ยังต้องตรวจซ้ำในช่วง 7-14 วัน

นอกจากนี้ยังให้บุคลากรกลุ่มนี้หยุดงาน สังเกตอาการที่บ้าน รวมทั้งมีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและงดรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย

ธนาคารธนชาต ชี้แจงการปิดสาขาดอนเมือง

ด้านธนาคารธนชาต ออกเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวของพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยยืนยันข้อมูลการสั่งปิดธนาคารธนชาต สาขาดอนเมือง ธนาคารระบุว่าภายหลังจากทราบข้อมูลทางธนาคารได้ปิดสาขาดังกล่าวทันทีและทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นกรณีพิเศษ และให้พนักงานรายดังกล่าวตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลและได้รับการยืนยันว่าไม่ติดเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารยังคงให้พนักงานหยุดงานและแยกตัวเองเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน

โรงเรียนของเด็กชาย 8 ขวบ สั่งห้องเรียนของเด็กชายหยุดเรียน 14 วัน

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่าจากที่มีข้อมูลว่าเด็กชาย 8 ขวบ ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลา 1 วัน จะดำเนินมาตรการอย่างไร นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ระบุว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทีมสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ที่โรงเรียนดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าเด็กชายอยู่เฉพาะในพื้นที่ของห้องเรียนห้องเดียว ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 50 คน ตอนนี้ทางผู้ปกครองและครูตัดสินใจให้นักเรียนในห้องหยุดเรียน 14 วัน เพื่อสังเกตอาการและลดโอกาสแพร่เชื้อ พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ สธ. มีรายชื่ออยู่ทุกคนเพื่อการติดตาม โดยกำชับไม่ให้เดินทางไปที่อื่น

อย่างไรก็ตาม ต่อมาโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง ได้ประกาศหยุดเรียนตั้งแต่วันนี้ (26 ก.พ.) เป็นต้นไป โดยส่วนประถมและมัธยมปลายจะกลับมาสอบปลายภาคในวันที่ 2 มี.ค. ส่วนชั้นเรียนประถมศึกษาห้องที่มีเด็กชายวัย 8 ขวบ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับมาสอบในวันที่ 10 มี.ค.

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงว่า เมื่อ 26 ก.พ. สำนักงานเขตดอนเมือง พร้อมด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกันลงพื้นที่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างนักเรียนที่เป็นกลุ่มสัมผัสโดยตรง มีความเสี่ยงสูง เป็นนักเรียนในชั้นเดียวกับผู้ป่วย จำนวน 30 ราย ครู 11 ราย โดยให้ติดตามอาการ 14 วัน ทำความสะอาดที่พักอาศัย งดออกนอกบ้าน และกลุ่มสัมผัสความเสี่ยงต่ำ ประมาณ 100 คน ให้งดกิจกรรมไปในที่ชุมชนหรือที่มีผู้คนหนาแน่น สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างนักเรียนที่เป็นกลุ่มสัมผัสโดยตรง มีความเสี่ยงสูง เป็นนักเรียนในชั้นเดียวกับผู้ป่วย จำนวน 30 ราย ครู 11 ราย โดยให้ติดตามอาการ 14 วัน ทำความสะอาดที่พักอาศัย งดออกนอกบ้าน และกลุ่มสัมผัสความเสี่ยงต่ำ ประมาณ 100 คน ให้งดกิจกรรมไปในที่ชุมชนหรือที่มีผู้คนหนาแน่น

นอกจากนี้ทีม กทม. ยังร่วมทำกันสะอาดพื้นที่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง จัดประชุมผู้ปกครองแนะนำวิธีปฏิบัติตน และการทำความสะอาดที่พักอาศัย

แค่ไหนถึงเป็น Superspreader

จากกรณีที่ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศและไม่แจ้งประวัติการเดินทางในวันแรกที่เข้ารับการรักษา ทำให้เกิดคำถามถึงการเป็นผู้แพร่เชื้อว่าเป็น Superspreader (ซูเปอร์สเปรดเดอร์) หรือไม่

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่านิยามของ "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" คือ คนที่มีความสามารถแพร่โรคไปให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่สองกว่า ๆ พูดง่าย ๆ คนหนึ่งคนจะสามารถแพร่โรคโดยเฉลี่ยไปได้ประมาณ 2 คนกว่า ๆ ตัวเลขนี้เป็นเลขที่สูงมาก แค่ตัวเลขนี้ตัวเลขเดียว ถ้าไม่ควบคุมโรคจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก

นพ. ธนรักษ์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ซูเปอร์สเปรดเดอร์ เป็นคนที่ติดเชื้อแล้วสามารถแพร่โรคให้กับคนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยหลาย ๆ เท่า ตอนนี้ที่พบในต่างประเทศ 1 คน มีการแพร่ให้กับคน 20 คน

ซูเปอร์สเปรดเดอร์ เป็นคนที่ติดเชื้อแล้วสามารถแพร่โรคให้กับคนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยหลาย ๆ เท่า ตอนนี้ที่พบในต่างประเทศ 1 คน มีการแพร่ให้กับคน 20 คน

ส่วนกรณีของไทย จนถึงวันนี้จากการสอบสวนโรคเท่าที่พยายามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาตรวจแล้วนั้น ตอนนี้ผู้ป่วยรายแรกที่เป็นผู้ป่วยนำเข้า เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นจนถึงวันนี้ (26 ก.พ.) ทำให้คนรอบตัวติดเชื้อแค่ 1 คน เพราะรายที่เป็นภรรยาน่าจะติดมาจากญี่ปุ่นด้วยกัน นับถึงตอนนี้เพิ่งรู้ว่ามีผู้สัมผัสติดเชื้อผู้ป่วยรายนี้แค่คนเดียว แต่ซูเปอร์สเปรดเดอร์ คือ แพร่เชื้อไปให้คนอื่นเป็นสิบคน แต่สำหรับกรณีนี้ตอนนี้ยังไม่ไปถึงขนาดนั้น

"เคสนี้อาจมีความยากลำบากตรงที่มีผู้สัมผัสเป็นจำนวนมาก แต่การมีผู้สัมผัสเป็นจำนวนมากไม่ได้บอกว่า คนไข้เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ การที่มีผู้สัมผัสมากขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนสัมผัสมากน้อยแค่นี้ ซึ่งเราก็จะติดตามผู้สัมผัสทั้ง 14 วัน ว่าติดเชื้อหรือเปล่าต่อไป"