วัคซีนโควิด: WHO เตือนฉีดวัคซีนสลับชนิดเสี่ยงอันตราย แต่หมอไทยมั่นใจมาถูกทาง มีการผลศึกษารองรับ

ฉีดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

แพทย์อาวุโสศิริราช-จุฬาฯ หนุนมติคณะกรรมการโรคติดต่อที่ให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบผสมสูตร โดยยืนยันว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยและมีผลการศึกษารองรับ ขณะที่หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) จะออกมาเตือนถึงอันตรายจากการที่ประเทศต่าง ๆ ออกนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบผสมสูตร

ดร. ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลกเตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

"การจับคู่ผสมวัคซีนต่างชนิดเข้าด้วยกัน เป็นกระแสความนิยมที่ค่อนข้างเสี่ยง เรายังอยู่ในขั้นที่ปราศจากข้อมูลหลักฐานใด ๆ ที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้"

"สถานการณ์ในอนาคตอาจตกอยู่ในความปั่นป่วนได้ หากประชาชนเริ่มตัดสินใจเองว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่สอง สาม สี่ หรือไม่ อย่างไร และจะฉีดเมื่อใดแน่" ดร. ซุมยากล่าว

องค์การอนามัยโลกแถลงเตือนดังข้างต้น หลังจากที่เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

สตรีชาวเม็กซิกันนั่งพัก หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สตรีชาวเม็กซิกันนั่งพัก หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังมีมติรับทราบเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือบูสเตอร์โดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยกระตุ้นภูมิจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นชนิดชนิดไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวค ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไทยพบว่าการให้วัคซีนคนละชนิดจะมีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

ต่อมา ดร. ซุมยาได้ทวีตข้อความอธิบายความเห็นของเธอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผสมสูตรว่า หากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้

"ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ (การรับวัคซีนสลับชนิด) แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่" ดร. ซุมยาทวีต "เรายังต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนผสมสูตร ทั้งข้อมูลในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องประเมิน"

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีแนวโน้มลดลงตลอดช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงนี้มีสาเหตุจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียแต่ได้แพร่กระจายไปยังกว่า 104 ประเทศทั่วโลกแล้ว

ด้านนายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้แถลงด้วยว่า ยังคงมีความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน โดยตอนนี้ประเทศที่ร่ำรวยเริ่มสั่งจองวัคซีนโควิดเพิ่มเติม สำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่สามแล้วหลายล้านโดส ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางและยากจนส่วนใหญ่ยังคงขาดแคลนวัคซีน โดยไม่มีพอแม้แต่จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์แนวหน้าไปก่อน

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังระบุว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นากำลังมุ่งผลิตวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศร่ำรวยที่มีอัตราการได้รับวัคซีนสูงอยู่แล้ว ทั้งที่สองบริษัทดังกล่าวควรจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อช่วยกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ขาดแคลนอยู่มากกว่า

ดร. ซุมยา หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกยังกล่าวเสริมอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หากได้รับวัคซีนครบโดสพื้นฐานไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดร. โสมยาก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สามกันในวันหนึ่งข้างหน้า

นพ.ยงชี้วัคซีนสลับชนิด "เหมาะสมกับไทย"

วันนี้ (13 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุขจัดแถลงข่าวโดยเชิญ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

นพ. ยงกล่าวถึงสาเหตุที่ไทยนำแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดมาใช้เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานว่า มาจากการที่ "ปริมาณวัคซีนในไทยมีจำกัด" ทำให้จำนวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือนับตั้งแต่ไทยเริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังฉีดได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ วัคซีนต้านโควิดที่ผลิตในระยะแรกผลิตโดยใช้สายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ขณะนี้ไวรัสมีการกลายพันธุ์ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตรุ่นแรกประสิทธิภาพลดลง เมื่อต้องใช้รับมือกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ประเทศไทยใช้มี 2 ชนิดคือวัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม และวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ ได้แก่ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

การศึกษาล่าสุดพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 โดสแล้วจะมีภูมิต้านเท่ากับผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ เช่น อัลฟา เดลตา จึง จำเป็นต้องมีภูมิต้านทานที่สูงขึ้น

วัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

นพ. ยงอธิบายว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกได้ทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ซึ่งการสลับชนิดของวัคซีนก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ศึกษาและพบว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยวัคซีนชนิดไวรัลเว็กเตอร์จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก

"การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราติดเชื้อ และไปสอนนักรบหรือหน่วยความจำของร่างกายเอาไว้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ เราค่อยไปกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ ที่มีอำนาจในการกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานมากกว่า" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกกล่าว

นพ. ยงอธิบายผลการศึกษาอีกว่า ถ้าให้วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวคก่อน แล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็ว แต่ยังไม่สูงเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่อย่างน้อยก็ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ แทนที่จะต้องรอไปถึง 12 สัปดาห์"

นพ. ยงกล่าวว่า จากการติดตามผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 40 ราย ในระยะเวลา 1 เดือน ได้ข้อมูลดังนี้

  • ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงเท่ากับคนไข้ที่หายจากการติดเชื้อ ซึ่งยังไม่สูงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ได้
  • ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิต้านทานจะสูงเพียงพอป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์
  • ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ภูมิต้านทานขึ้นมาเกือบเท่ากับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ใช้เวลาน้อยกว่าคือเพียง 6 สัปดาห์

"ในสถานการณ์การระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรง หรือรวดเร็วขนาดนี้ เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้ การที่ต้องการให้ภูมิสูงขึ้นเร็ว การฉีดวัคซีนสลับเข็มแล้วใช้เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์...จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย" นพ. ยงสรุป

เขากล่าวว่าแนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิดนี้เหมาะสมกับไทย เพราะไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิด คือ เชื้อตาย และไวรัลเวกเตอร์ แต่หากมีวัคซีนอื่นที่ดีกว่าเข้ามาในอนาคต ก็สามารถหาแนวทางที่ดีกว่าหรือใช้วัคซีนที่มีการพัฒนาเพื่อสายพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจงได้

สำหรับประเด็นเรื่องความปลอดภัยนั้น นพ.ยงกล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลอาการข้างเคียงของผู้ที่ฉีดวัคซีนสลับชนิดในไทยมากกว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ฉีดที่ รพ.จุฬาฯ ไม่พบผู้มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง

"ก็เป็นเครื่องยืนยันข้อหนึ่งได้ว่า การให้วัคซีนสองอันนี้ที่สลับกันมีความปลอดภัยในชีวิตจริง" นพ.ยงกล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นถึงการฉีดวัคซีนสลับชนิดว่าน่าจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

เขาอธิบายว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นจะมีเซลล์ 2 กลุ่ม คือ เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า T Cells (กำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อเอง ซึ่งวัคซีนในกลุ่มไวรัลเวกเตอร์ ทำหน้าที่นี้ได้ดี) และ B cells (จัดการเชื้อโดยการสร้างแอนติบอดี ซึ่งวัคซีน mRNA และเชื้อตาย ทำงานในส่วนนี้ดี)

"นั่นจึงเป็นที่มาให้มีการจับคู่วัคซีน คือ เมื่อวัคซีนเข็ม 1 และ 2 กระตุ้นการทำงานที่ต่างางกัน ผลลัพธ์ก็น่าจะดีที่สุด" นพ. ประสิทธิ์กล่าว