การบินไทย : สายการบินแห่งชาติต้อง "บิน" ผ่านอะไรบ้างในการฟื้นฟูกิจการ

Thai Airways

ที่มาของภาพ, EPA

มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าจะช่วยให้สายบินแห่งชาติวัย 60 ปีกลับมาแข็งแกร่งเหมือนในอดีต แต่ยังมี ปัจจัยความเสี่ยงและความท้าทายหลากหลายอย่างที่รออยู่เบื้องหน้า

ขณะที่การฟื้นฟูกิจการอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี เช่นเดียวกับหลายบริษัทที่เคยเข้าสู่กระบวนการนี้ อะไรคือความเสี่ยง ความท้าทาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว

บีบีซีไทย รวบรวมประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ เพื่อความเข้าใจถึงขั้นตอนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ธุรกิจการบินของไทย

ทำไมการบินไทยต้องพึ่งศาลล้มละลาย

ก่อนที่ ครม. จะมีมติเมื่อ 19 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ได้ให้เวลาการบินไทย กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กระทรวงการคลัง ในการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ มาเป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ และเขาจะให้โอกาสการบินไทยเป็น "ครั้งสุดท้าย" ในการฟื้นฟูกิจการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายกฯ ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก

นั่นจึงเป็นที่มาของการเสนอ 3 ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย

  • หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อโดยไม่ให้ล้มละลาย โดย คนร. เสนอให้กู้เงินประมาณ 5.47 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2563 โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องเพื่อไม่ให้การบินไทยต้องล้มละลาย หลังจากนั้นก็เพิ่มทุนประมาณ 8.34 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2563 เพื่อจ่ายคืนเงินดังกล่าว ซึ่งแนวทางนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นการ "ตำน้ำพริกละลายท้องฟ้า" เพราะแนวทางนี้ไม่ได้การันตีว่าจะใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่ และจะทำให้การบินไทยรอดพ้นปากเหวนี้ได้หรือไม่
  • ให้เข้าสู่สถานะการล้มละลาย ตามแนวทางนี้จะนำไปสู่การยุติการดำเนินธุรกิจ ปล่อยเจ้าหนี้ฟ้องศาล หากว่าศาลตัดสินให้ล้มละลายก็ต้องขายทรัพย์สินทอดตลาดแล้วแบ่งให้เจ้าหนี้ตามลำดับต่าง ๆ
  • เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยศาลล้มละลาย ตามกระบวนการนี้จะเปิดทางให้มีคณะทำงาน ผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ และอาจจะทำให้การบินไทยสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกได้อย่างเหมาะสม รวมไปจนถึงการหาผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการได้

ในที่สุด ครม. ก็เลือกแนวทางที่ 3 เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการบินไทย ที่อยู่ในธุรกิจมาถึง 60 ปี มีภาระหนี้สิ้นล้นพ้นตัว มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันหลายปี และจะขาดทุนเพิ่มขึ้นในปีนี้ในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หนี้สินมากกว่าทุนเกือบ 21 เท่า

หากพิจารณาถึงสินทรัพย์และหนี้สิ้นแล้ว ในงบการเงินปี 2562 ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การบินไทยมีสินทรัพย์รวม 2.57 แสนล้านบาท มีหนี้สินรวม 2.45 แสนล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1.18 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนของหนี้สินต่อทุนคือเกือบ 21 เท่า

EPA
หนี้สินของการบินไทยมีอะไรบ้าง

ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2562

  • 1. หนี้สินหมุนเวียน 62,636 ล้านบาท

  • 2. หนี้สินระยะยาวจากหุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท

  • 3. หนี้สินระยะยาวภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน46,456 ล้านบาท

  • 4. หนี้สินจากเงินกู้ยืมระยะยาว 23,288 ล้านบาท

  • 5. หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 38,411 ล้านบาท

ที่มา : บมจ. การบินไทย

ในปี 2562 การบินไทยทำรายได้รวม 1.84 แสนล้าน แต่ก็ยังขาดทุนสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท ส่วนผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทได้ยื่นขอเลื่อนส่งงบการเงินออกไปเป็นวันที่ 14 ส.ค. จากเดิมที่่ต้องส่งภายในระยะเวลา 45 วันนับจากวันปิดงบประมาณไตรมาสแรกในวันที่ 31 มี.ค. เนื่องจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ยังไม่รู้ตัวเลขที่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายก็คาดว่า ผลการคาดทุนทั้งปี 2563 ต้องไปถึง 2 หมื่นล้านบาท

ราชการ การเมือง สร้างเรื่องให้

นายชูกอร์ ยูซอฟ แห่ง Endau Analytics บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินในสิงคโปร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า "การเมือง" เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้การบินไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดและมีประสิทธิภาพน้อยกว่าสายการบินคู่แข่ง

นายยูซอฟมองว่า ฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองมีอิทธิพลต่อการดำเนินการของการบินไทยมาอย่างยาวนาน ในการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อเครื่องบิน การเลือกเส้นทางบิน เป็นต้น ทำให้อำนาจในการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรอ่อนแอ

เครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในรายงานประจำปีของการบินไทย ปี 2562 ระบุในตอนหนึ่งถึงข้อจำกัดในการเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยว่า "กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินถือหุ้นในการบินไทย คิดเป็นสัดส่วน 53.16% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทำให้บริษัทมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ อันมีผลต่อบริษัทในการทำธุรกรรมบางประเภท ได้แก่

  • บริษัท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการลงทุนขนาดใหญ่
  • สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงินของการบินไทย

ขณะที่ส่วนการวิเคราะห์ความเสี่ยงองค์กรของการบินไทยก็ระบุในรายงานประจำปี 2562 ว่า กระทรวงการคลังสามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งกรรมการ หรือการขอมติในเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น (ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทกำหนด)

การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ ก.คลังยังถือหุ้นส่วนใหญ่

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 25 พ.ค. เรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้น บมจ.การบินไทย ของกระทรวงการคลังจากเดิมที่ถือหุ้น 1,113,931,061 หุ้น หรือคิดเป็น 51.03% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ลดลงโดยจำหน่ายหุ้นใหักับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในสัดส่วน 3.17% โดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทยในสัดส่วน 47.86%

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

2 กระทรวง 2 พรรค

มาถึงยุคของรัฐบาลผสมอายุไม่ถึง 1 ปี ของอดีตผู้นำรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ภาพความไม่ลงรอยทางความคิดระหว่างกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย และกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบินไทย ในการแก้ปัญหาของสายการบินแห่งชาติ ก็ถูกสะท้อนผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายครั้ง เช่น ความเห็นแย้งต่อแผนฟื้นฟูกิจการและเรื่องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

แม้การประชุม คนร. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานเมื่อ 18 พ.ค. และ มติ ครม. เมื่อ 19 พ.ค. ไฟเขียวให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายแล้วนั้น การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองระหว่าง 2 กระทรวงจาก 2 พรรคการเมือง ยังมีให้เห็นผ่านสื่อ โดยเฉพาะประเด็นการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ให้ข่าวสื่อมวลชนเมื่อ 20 พ.ค.ว่าเตรียมเสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ไม่น้อยกว่า 30 รายชื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 25 พ.ค. นี้

ภาพเครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

หนึ่งวันต่อมา นายศักดิ์สยามและนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แห่งพรรคพลังประชารัฐ ก็มาพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรหลัง ครม. ให้การบินไทยเดินทางเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

นายวิษณุกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่า จากนี้ไป กระทรวงการคลังต้องขายหุ้นในการบินไทยเพื่อลดสัดส่วนหุ้นลง ให้การบินไทยหลุดจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทมหาชน จากนั้นบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ที่เกิดจากสัดส่วนการขายหุ้นของกระทรวงการคลังจะไปจัดการกันเอง เพื่อตัดสินใจเข้าสู่แผนฟื้นฟู และเสนอแผนฟื้นฟู ส่วนการเสนอตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดทำแผน กระทรวงการคลังสามารถเสนอชื่อได้ เนื่องจากยังถือหุ้นใหญ่อยู่

ดึงมืออาชีพบริหาร ปลอดการเมือง

นายยูซอฟมองว่าการยอมขายหุ้นของกระทรวงการคลังถือเป็นสัญญาณที่สำคัญและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการบินไทย ที่รัฐบาลมีเจตจำนงในการถอยออกไป ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารโดยปราศจากการแทรกแซง

"แม้ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ได้ถือหุ้นในการบินไทย 51% อีกต่อไปแล้ว แต่หุ้นดังกล่าวยังมีแนวโน้มถูกถือครองโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่ง ก็สามารถมีอิทธิพลและเป็นแรงกดดันให้ต่อการบินไทยอีก แต่ประเด็นนี้สามารถทำให้ลดลงได้ หากว่ารัฐบาลกำหนดกฎระเบียบป้องกันไว้" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านการบินรายนี้เชื่อว่า หลังจากได้คณะกรรมการบริหารมืออาชีพด้านการบินแล้ว การบินไทยควรถูกปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาดและอุตสาหกรรมการบิน

ฟื้นฟูกิจการอย่างไร

มติ ครม. 19 พ.ค. ถือเป็นการนับหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย

นายศักดิ์สยาม กล่าวในแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า ในการนำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนการบินไทยจะใช้ระยะเวลาอยู่ในแผนฟื้นฟูกี่ปีนั้น จะต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีสถานการณ์การระบาดของโควิก-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการบินด้วย

สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

รมว. คมนาคมอธิบายถึง 10 ขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวดังนี้

  • กระทรวงการคลังจะต้องปฏิบัติตามมติครม. ด้วยการลดการถือหุ้นในการบินไทยลงราว 3% จากเดิม 51.03% มาเป็น 48.03% โดยมีรายงานว่าจะให้กองทุนวายุภักษ์หนึ่งเข้าซื้อหุ้นการบินไทยจำนวน 3.17% เพื่อทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
  • การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาลล้มละลายกลาง ในขณะเดียวกันกันการบินไทยจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้
  • เมื่อศาลฯ รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 และจะเกิดการพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ (Automatic Stay) ซึ่งในประเด็นนี้ นายวิชา มหาคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ได้อธิบายบนเฟซบุ๊ก "Professor Vicha Mahakun" เมื่อ 14 พ.ค.ว่า "เจ้าหนี้จะฟ้องร้องหรือบังคับคดีไม่ได้ และถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ผู้ร้องเสนอมา ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ"
  • ส่งหมายให้เจ้าหนี้
  • นัดประชุมเจ้าหนี้ โดยเสียงข้างมากในที่ประชุมจะเป็นผู้อนุมัติผู้ทำแผน
  • ศาลตั้งผู้ทำแผน และผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ
  • ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ
  • ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ อาจจะมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการไปด้วย
  • ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
  • เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ได้รับการเห็นชอบจากศาล

"การบินไทยควรจะใช้โอกาสนี้เลือกมืออาชีพ อาจจะเป็นคนไทยหรือผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคนี้ เพื่อร่างแผนฟื้นฟูกิจการอย่างรวดเร็ว ก่อนอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง" นายยูซอฟ แห่ง Endau Analytics บอกกับบีบีซีไทย

คลื่นลมที่ต้องฟันฝ่า

โดยทั่วไป การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในระหว่างทางมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญและนำมาคำนวณในแผนธุรกิจ ทั้งความน่าเชื่อถือขององค์กร และระยะเวลาการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งความสำเร็จ

กราฟการบินไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไม่กี่ชั่วโมงหลัง ครม. มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง ทริสเรทติ้ง องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทได้ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ การบินไทยมาเป็นระดับ "C" จากระดับ "BBB" (ซึ่งถูกปรับลดลงก่อนหน้าภายหลัง คนร. มีมติเสนอ ครม.พิจารณาการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ของการบินไทยภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย) และยังคง "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" โดยอันดับเครดิตที่ถูกปรับลดลงสะท้อนความคาดการณ์ที่บริษัทจะพักชำระหนี้ ที่อนุมัติให้บริษัทการบินไทยยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

เมื่อศาลล้มละลายกลางรับพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการจะส่งผลให้บริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางโดยบริษัทจะพักชำระหนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการปรับลดลงสู่ระดับ "D" หรือ "Default"

ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สั่งติดตามการซื้อขายหุ้น บมจ.การบินไทย อย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟู ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง

Thai airway signage

ที่มาของภาพ, EPA

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่ราคาหุ้น บมจ.การบินไทย ปรับตัวขึ้นชนเพดานถึง 8 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามดูหุ้นที่มีความผันผวนในราคาและปริมาณการซื้อขาย ที่เคลื่อนไหวผิดปกติอยู่แล้ว ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยหากพบความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวรายงานข้อมูลทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เขายังฝากถึงนักลงทุน กรณีการลงทุนในหุ้นที่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนฟื้นฟู จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบแนวทางแก้ปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากความไม่ชัดเจนขณะนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งมีเพียง 23 บริษัทที่ฟื้นฟูสำเร็จ

ในแง่ของความสำเร็จนั้น นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่มีเพียงบริษัทจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ โดย บล.ทิสโก้ ได้ออกบทวิเคราะห์และคำเตือนการลงทุนในบริษัทที่ขอฟื้นฟูกิจการ ระบุว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ถึงแม้จะเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น

ทิสโก้รวบรวมข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ว่า มีจำนวนกว่า 52 บริษัท แต่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จเพียง 23 บริษัท ใช้เวลาในการฟื้นฟูเฉลี่ย 7 ปี (ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP หรือห้ามซื้อขายหุ้นยาวนานสูงสุด 18 ปีและสั้นที่สุด 1 ปี) จึงแนะนำให้นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

AFP/Getty Images
มี บมจ. กี่รายที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

  • 1. ยื่นฟื้นฟูกิจการทั้งหมด 52 ราย

  • 2. ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ/ถูกเพิกถอนออกจากตลาด 20 ราย

  • 3. ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 ราย

  • 4. ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ 23 ราย

  • ภาพรวมใช้เวลาฟื้นฟูกิจการเฉลี่ย 7 ปี

ที่มา : บล. ทิสโก้

การบินไทยจะสามารถกลับมาให้บริการได้หรือไม่

ถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การบินไทยจะกลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อไหร่ จากแถลงการณ์ของบริษัทเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า การบินไทยขยายเวลาหยุดทำการบินชั่วคราวในเดือน มิ.ย. 2563 อีก 1 เดือน

เครื่องบินการบินไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ส่วนในเดือน ก.ค. บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินสถานการณ์ เพื่อกลับมาทำการบินทันทีเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

ส่วนผลจากการที่ ครม.มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น การบินไทยชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ ยังคงประกอบธุรกิจตามปกติแม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ