กัญชา : เดชา ศิริภัทร กับ ภารกิจช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัญชาทางการแพทย์

เดชา ศิริภัทร

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ภายหลังเจ้าหน้าที่เข้ายึดต้นกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชา และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิข้าวขวัญ เดชา ศิริภัทร มีกำหนดหารือเรื่องการสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์กับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  • Author, เรื่องโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • Role, วิดีโอโดย ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ผู้สื่อข่าววิดีโอ

โรคมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตผู้เป็นแม่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ เดชา ศิริภัทร ผู้บุกเบิกเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทย วัย 71 ปี เริ่มต้นศึกษาการผลิตยากัญชาทางการแพทย์ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

"ใช้กัญชาเต็มศักยภาพในคุณค่า" และ "ทุกคนใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด" เดชา บอกกับบีบีซีไทยถึง "ความฝันสูงสุด" ของเขา

เขาคือประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าตรวจยึดกัญชา 200 ต้น และผลิตภัณฑ์จากกัญชา และจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ที่ จ.สุพรรณบุรี ในข้อหาครอบครองกัญชา เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าเป็นช่วงที่มีการนิรโทษกรรม 90 วัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองกัญชาทางการแพทย์ ยื่นจดแจ้งโดยไม่ต้องรับโทษ

ในวันที่เจ้าหน้าที่บุกค้นมูลนิธิ เดชา ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทว่าทันทีที่เหยียบสนามบินดอนเมือง เขาบอกกับสังคมว่า การแจกจ่ายน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วย "เป็นเรื่องศีลธรรมที่ต้องทำ" และ "อยู่เหนือกฎระเบียบล้าหลังใด ๆ"

"เพราะสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับยาและการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐาน" เขาประกาศย้ำ

กว่าหนึ่งสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์นั้น บีบีซีไทยพูดคุยกับเดชา ผู้บุกเบิกแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก และต่อสู้เพื่อต้านทานการผูกขาดของทุนใหญ่ ทางการเกษตรมานานกว่า 30 ปี เราคุยกับเขาว่าอะไรคือความคิดเบื้องหลังที่เขาขยับจากเรื่องข้าวมากัญชาเพื่อการแพทย์

"ผมได้ประโยชน์จากกัญชาแบบไหน ประชาชนควรจะได้แบบนั้น"

คำบรรยายวิดีโอ, สิทธิในการเข้าถึงกัญชารักษาโรคในมุมมองของ เดชา ศิริภัทร

ร่างกายที่เดินเหินคล่องแคล่ว ใบหน้าสดใส และการพูดจาที่กระฉับกระเฉง ที่บีบีซีไทยได้พูดคุยในตอนสายของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ดูราวกับไม่ใช่ว่า ชายสูงวัยตรงหน้ามีอายุถึง 71 ปี

ในแวดวงของภาคประชาสังคม และนักเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เดชา เป็นที่รู้จักดี จากงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น และพัฒนาพันธุกรรมข้าว เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2527 และดำเนินการเรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักในชื่อของ มูลนิธิข้าวขวัญ นั่นเป็นภาคหนึ่งของเดชา

ทว่าในห้วงสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ปีนี้ ชื่อของเดชา กลับโด่งดังจากข่าวเจ้าหน้าที่บุกค้นการครอบครองกัญชา

เดชา ศิริภัทร

ที่มาของภาพ, Sujitra Nakasirikul

"แม่ผมเป็นมะเร็งตับเสียชีวิต ทั้งที่เรามีเงินมีทุกอยางพร้อมเมื่อปี 2519 หลังจากนั้นน้าชายผมอีก 4 คน เป็นแบบเดียวกันทั้งหมดเลย เป็นมะเร็งตับและตายกันหมดทั้งที่ทุกคนมีฐานะดีมาก"

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มสนใจ ก่อนศึกษาศาสตร์ของกัญชาในฐานะตัวยารักษาโรคอย่างจริงจัง เมื่อปี 2556

"เพิ่งจะมีคนรู้จักตอนปีนี้เอง ทำจริงจังแบบแจกปี 61-62 ถือว่าคนรู้จักหลายร้อยหลายพันเท่า เร็วกว่าที่ทำเรื่องข้าว"

เดชา เลือกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศถึงวิธีการสกัดกัญชา ออกมาในรูปแบบที่ทำเป็นยาน้ำมันกัญชา โดยใช้วิธีการที่ ริค ซิมป์สัน นักเคลื่อนไหวชาวแคนาดาเพื่อกัญชาทางการแพทย์ใช้

"ผมได้ประโยชน์จากกัญชาแบบไหน ประชาชนควรจะได้แบบนั้นด้วย อันนี้เป็นตัวตั้ง เพราะผมทดสอบตัวเองก่อน มันควรจะไปทุกคน ทำไมต้องอยู่ที่ผมคนเดียว"

ทดลองกับตัวเอง และผู้ป่วยคนแรก

เรื่องราวต่อไปนี้ เดชา เล่าจากประสบการณ์และความเชื่อส่วนบุคคล

"ตอนนั้นอายุ 65 ตื่นมาแป๊บเดียวลืม อาการแรกของอัลไซเมอร์ ฝันก็จำได้ อะไรก็ไม่ลืม มือเริ่มสั่นนิด ๆ เป็นอาการแรกเริ่มของพาร์กินสัน แต่ตอนนี้มือผมนิ่งสนิทแล้ว"เดชา เล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่เริ่มทดลองใช้น้ำมันกัญชากับตัวเอง และอ้างว่าเขาใช้น้ำมันกัญชารักษาโรคต้อเนื้อในตาด้วย

พอเริ่มใช้กับตัวเองจากจุดเริ่มต้นในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้กัญชา หลังจากนั้นไม่นานเขาได้พบกับญาติของลูกศิษย์คนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคมะเร็งคนแรกซึ่งได้ทดลองใช้ยาน้ำมันสกัดจากกัญชา เขายังจำวันนั้นได้ดี

กัญชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

"เขาบอกว่าเขาหมดหวังแล้ว หมอใช้ตั้งแต่ คีโม ฉายแสง ผ่าตัดทุกอย่างหมอหมดปัญญาแล้ว คุณมีเวลาเหลือไม่เกิน 2 เดือน หรอกคุณกลับไปเลย จัดการมรดกให้เสร็จเรียบร้อย"

หญิงรายนี้มีอายุกว่า 50 ปี ป่วยเป็นมะเร็งตับในขั้นที่ 4 การใช้น้ำมันสกัดกัญชาที่เขาเริ่มต้นที่แรกที่วัดป่าวชิรโพธิญาณ อ. โพทะเล จ. พิจิตร ครั้งนี้ ต้องมีเงื่อนไขที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตนในทางธรรมะภาวนาตามทางสายพุทธศาสนา งดกินของแสลง และใช้ในอัตราส่วนและวิธีที่เหมาะกับโรค

เดชามีความเชื่อว่า ใช่ว่ากัญชาเป็นยาวิเศษที่ทำให้ผู้ป่วยรอดพ้นการตาย หากการหายจากมะเร็งก็ต้องมีปัจจัยในการดูแลรักษาสุขภาพทางกายและจิต

"ต้องเข้าใจว่าทุกคนมันตายทุกคน เกิดแล้วตาย แต่จะตายแบบไหน ไม่ทรมานไม่ต้องเจ็บปวด ถึงจะหายด้วยโรคมะเร็งก็ตายด้วยโรคอื่นอยู่ดี" เดชากล่าวตามวิสัยที่เดินทางในสายพุทธ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

"ไม่ใช่ว่ามีกัญชาแล้วไม่ตาย แต่ตายแบบไหน"

อิสราเอล

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ช่างน้ำหนักกัญชาที่โรงงานผลิตในอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้

อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรม ให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย สารสกัดจากกัญชามีผลในแง่ของการใช้เพื่อควบคุมอาการเท่านั้น

สอดคล้องกับ รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่บอกว่า การวิจัยที่บอกว่าสารจากกัญชาฆ่าเซลล์มะเร็งได้ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ส่วนการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ก็มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาแผนปัจจุบัน

กัญชาเพื่อทางการแพทย์รักษาอะไรบ้าง

มากมายสรรพคุณที่ผ่านการวิจัยทางการแพทย์บอกว่า กัญชา รักษาอาการเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่ รักษาอาการอาเจียนและคลื่นไส้ที่เกิดจากเคมีบำบัด บรรเทาอาการที่ผู้ป่วยแจ้งว่ากล้ามเนื้อแข็งตัวและหดเกร็ง กลุ่มอาการเหล่านี้มีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากยืนยัน

นอกจากนี้ ยังทำให้การนอนหลับดีขึ้นในคนที่มีอาการบางอย่างโดยเฉพาะ รวมถึง ผู้ที่มีอาการโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (fibromyalgia) และอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (obstructive sleep apnoea syndrome) และลดอาการชักในคนที่มีอาการกลุ่มโรคลมชักที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในเด็ก

ในไทย เมื่อกฎหมายปลดล็อกกัญชาผ่านเมื่อต้นปี 2562 องค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน เมื่อเดือน ก.พ.

องค์การเภสัช

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, เมื่อเดือน ก.พ. องค์การเภสัชกรรมเริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน เพื่อใช้ผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ คาดว่าในเดือน ก.ค.นี้ ได้ผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชุดแรก 2,500 ขวด

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ. องค์การเภสัชกรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์สารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ว่ามีสารสองตัว ได้แก่ THC และ CBD

THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แก้ปวด ต้านอาเจียน และลดการอักเสบ

CBD ระงับอาการวิตกกังวลและมีฤทธิ์ต้านการชัก เป็นตัวที่นำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ในกลุ่มที่ใช้เพื่อการรักษาโรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาการปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีต่างๆไม่ได้ผล

กลุ่มที่น่าจะใช้เพื่อควบคุมอาการ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

#SaveDecha ชีวิตคนตีมูลค่าไม่ได้

กว่าที่กฎหมายจะรับรองให้กัญชาใช้ทางการแพทย์ได้สำหรับประเทศไทย การซื้อขายน้ำมันกัญชาที่มีผู้ป่วยต้องการก็หาได้ไม่ยากนักในทาง "ใต้ดิน"

เดชา แจกจ่ายน้ำมันกัญชา ให้ผู้ป่วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในนามแฝงชื่อว่า "อำนาจ มงคลเสริม" ต้นทุนในการสกัดยามาจากเงินทุนส่วนตัวและลูกศิษย์รวมทั้งผู้ป่วยที่ร่วมบริจาค ก่อนเปิดคอร์สอบรมที่คิดค่าใช้จ่าย หวังให้ความรู้ไปถึงชาวบ้านที่จำเป็น

หลายคนเขาคิดหาเงินจากยากัญชาที่ยังผิดกฎหมาย ทำไมเดชาเลือกไม่ทำแบบนั้น

"ถ้าคุณยังคิดมิติเงินอย่างเดียว คุณก็ไม่ได้ประโยชน์จากกัญชาเท่าที่ควรหรอก เพราะว่ากัญชามีคุณค่ามหาศาล แต่คุณไปตีมูลค่า ซึ่งมูลค่ามันก็เท่านั้น" เดชาตอบคำถามบีบีซีไทย "คุณค่าชีวิตคน คุณตีมูลค่าได้เหรอ ชีวิตคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม แล้วความทุกข์เขาล่ะมันมีมูลค่าเท่าไหร่"

เดชา ศิริภัทร

ที่มาของภาพ, Setthawit Weerabongkochmanee

นี่อาจเป็นที่มา ที่เราได้เห็นจากกระแส #SaveDecha จากผู้ป่วยที่รับการช่วยเหลือ ผู้ใกล้ชิด และนักเคลื่อนไหวประชาสังคมในภาคเกษตร ออกมาเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีครอบครองกัญชากับเดชา และผู้ช่วยของเขา รวมทั้งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประกาศเอาตำแหน่งและชีวิตรับประกัน

ทั้งวิวัฒน์และเดชา ถือได้ว่าอยู่ในเส้นทางเดียวกันในการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมทางเลือก ก่อนเป็นรัฐมนตรี วิวัฒน์เป็นประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ทำงานเผยแพร่ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9

ป.ป.ส. ชี้จับกุม เพราะตีความกฎหมายต่างกัน

ผู้สนับสนุนเดชาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุมในช่วงที่มีการนิรโทษกรรม 90 วัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองกัญชาทางการแพทย์ยื่นจดแจ้งโดยไม่ต้องรับโทษ สิ้นสุดในวันที่ 19 พ.ค. 2562

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ชี้แจงการจับกุมว่าเป็นการตีความกฎหมายที่ต่างกันในช่วงการนิรโทษ 60 วัน

เลขา ป.ป.ส. ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า ผู้ที่ต้องการครอบครองกัญชาจะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสาธารณสุขจังหวัดก่อน หากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมระหว่างยื่นเรื่องก็จะมีข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ไม่จับกุมอาจเกิดกรณีลักลอบขนกัญชา และอ้างการไปจดแจ้ง ซึ่งจะสร้างความเสียหายได้

ปลดล็อก

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, การปลดล็อกกัญชาในไทย เป็นไปเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น การใช้เพื่อการสันทนาการยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ด้านเดชา กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน เขาคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเผยแพร่ถึงประโยชน์ของสารสกัดกัญชา

"ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีและปลอดภัยแน่ ๆ ผมก็เอามาเผยแพร่ เพราะว่าช่วง 90วัน มันปลอดภัยว่าแบบนี้มันดีและได้ผล ให้คนอื่นเอาไปทำบ้าง เลยเปิดเผยเลย" เดชากล่าว

อีกด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเมื่อ 10 เม.ย. ว่า "การผ่อนคลายกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และการอนุญาต มิได้ผูกขาดให้กลุ่มทุนใดเป็นการเฉพาะ" และไม่ได้สงวนเฉพาะสำหรับภาครัฐ แต่ทั้งภาคการเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือภาคการศึกษาสามารถปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชาได้

ประชาชนควรมีทางเลือก

หนึ่งในความกังวลต่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ทุกคนเข้าถึงได้ เดชา ทิ้งคำถามไว้ว่า รัฐจะถูกผลักไปตามผลประโยชน์หรือไม่

"ใครมีแรงมาก ก็ผลักไปทางนั้น"

GETTY IMAGES

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา7 คำขอ จากบริษัทต่างชาติที่ตกค้าง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรฯ กรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2562 ประเด็นนี้เป็นที่จับตามองของภาคประชาสังคม

ท่ามกลางฝุ่นตลบของกฎหมายปลดล็อกกัญชา ที่เริ่มเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ การดำเนินคดีกับมูลนิธิข้าวขวัญ ดูเหมือนจะจุดเชื่อมต่อให้ การผลิตยาโดยหมอพื้นบ้าน ได้เจอกับหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี และอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อจุดหมายในการให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา การศึกษาวิจัย และการปรับระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ของหมอพื้นบ้าน

"ถ้าไม่ทำแบบนั้น เราก็ทำเต็มศักยภาพไม่ได้ เพราะหมอพื้นบ้านปลูกไม่ได้ ต้องมีงานวิจัยมาช่วยให้ปลูก เช่น คณะเภสัชฯ จุฬาฯ ตอนนี้ก็มาเสนอให้เราทำสายพันธุ์กัญชาไทย" เดชากล่าว

ในฐานะนักการเกษตรที่ต่อสู้ต่อการผูกขาดทางการเกษตรมาอย่างยาวนาน ในหลักคิดที่ไม่ต่างกัน เดชา เชื่อในการที่ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการเลือกวิธีการที่รักษาตัวเองได้

เดชา ศิริภัทร

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เดชา ศิริภัทร ที่สวนชีววิถี จ.นนทบุรี

"ผมไม่ได้เชื่อว่าแนวทางผมจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดหรอกนะ มันต้องหลากหลายมาก เพราะนั้น คนป่วยจะเลือกได้ตั้งแต่แผนโบราณ แผนแบบผม แผนแบบนาโนที่ลาวเค้าทำไปแล้ว หรือว่าแบบสมัยใหม่ คีโม เขาควรจะเลือกได้ ไม่จำเป็นต้องมาแนวเดียวหรอก ถ้าเลือกได้มันเป็นประชาธิปไตยแล้ว เขาสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการเขาได้ ผมไม่ได้คิดว่าแพทย์อย่างอื่นจะเลิกไปเลย ไม่ใช่ มันควรจะมีให้ดีที่สุดในแบบของเขาแล้วคนป่วยจะเลือกเอาว่า ต้องการอะไร"

"เราใช้กัญชาเต็มศักยภาพในคุณค่าของมัน สำหรับทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด" เป็นความฝันสูงสุดที่เขาอยากเห็น และรูปธรรมที่ไกลกว่านั้นคือการเอากัญชาออกจากการเป็นสารเสพติด

"ให้ทุกคนเข้าถึงศักยภาพนั้นยิ่งยากใหญ่ เพราะว่ามันขัดผลประโยชน์ สองเรื่องผมคิดว่าถึงผมตายก็ยังไม่เห็นหรอก แต่ไม่เป็นไรผมจะทำไปก่อน ชีวิตผมผมชัดเจนแล้ว"