ไวรัสโคโรนา : 3 เดือนหลังขาดแคลนหน้ากากอนามัย รัฐบาลเริ่มกระจาย 2.3 ล้านชิ้น วันนี้

สถานีรถไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยให้กระทรวงพาณิชย์ประสานโรงงาน 11 แห่งเร่งผลิตได้ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน และจะเริ่มกระจายหน้ากากอนามัยไปทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันนี้ (30 มี.ค.) ด้วยการขนส่งผ่านรถขนส่งของไปรษณีย์ไทย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ ศบค. ถึงกรณีการจัดสรรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่เกิดความขาดแคลนทั่วประเทศ นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ที่เคยมีผู้ให้ข้อมูลว่ามีจำนวนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นนั้นเป็นตัวเลขที่ผิดพลาด

"ของเก่าไม่ต้องพูดถึง ว่ากันใหม่ตั้งแต่วันนี้" นายวิษณุกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี อดีตทีมงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่บอกว่าเขามีหน้ากากอนามัยอยู่ในครอบครองจำนวน 200 ล้านชิ้น ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าคนสนิทของนักการเมืองกักตุนหน้ากากอนามัย

สำหรับการจัดสรรหน้ากาก 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน นายวิษณุ อธิบายว่าจะจัดส่งให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจำนวน 1.3 ล้านชิ้น โดยจะมีการจัดทำแผนการจ่ายรายจังหวัด มีชื่อผู้ส่ง ผู้รับ สามารถนำมาตรวจสอบกันได้

ส่วนอีก 1 ล้านชิ้นจะส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อแจกให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่บริการประชาชนที่มีความเสี่ยง รวมทั้งผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยทั่วไป และเด็ก

อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ วิษณุ กล่าวว่าหน้ากากที่ผลิตได้ 2.3 ล้านชิ้นต่อวันนี้ จะยังไม่ส่งไปยังร้านค้า ดังนั้น "ขอให้ประชาชนอดทนไป 3-4 วัน หลังจากบุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากใช้ไประยะหนึ่งแล้ว จะเปลี่ยนแผนมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนและร้านค้าต่อไป"

แจงไม่ส่งออกหน้ากาก ยกเว้นกรณีบีโอไอ

นายวิษณุ ชี้แจงว่าขณะนี้จะไม่มีการส่งหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม แต่จะมีกรณียกเว้น 3 กรณีที่เป็นพันธะทางกฎหมาย คือ

-กรณีได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI)

-กรณีที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดให้ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

-สัญญาเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA)

คนใส่หน้ากากอนามัย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เป็นเวลกว่า 3 เดือนแล้วที่ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะพยายามใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อลดการส่งออกและเพิ่มการใช้งานในประเทศมากขึ้น

โดยภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าเวชภัณฑ์ที่จะใช้ในช่วงสถานการณ์การระบาดนั้น กรมศุลกากรและกระทรวงการคลังได้ออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้า ในกรณีของหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนสินค้าอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายการเพื่อยกเว้นภาษีการนำเข้า นายวิษณุกล่าว

แพทย์อายุรกรรมพ้อ "ผู้บริหาร" ห้ามขอรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันตัว

แพทย์อายุรกรรมประจำโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐบาลแห่งหนึ่งในปริมณฑลบอกบีบีซีไทยว่า ขณะนี้แพทย์อายุรกรรมตามโรงพยาบาลหลายแห่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก ต่างไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเพียงพอ โดยเฉพาะหน้ากากเอ็น 95 และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์

เขาบอกว่าโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มนำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มาใช้ซ้ำโดยนำไปผ่านเครื่องยูวี (Ultra Violet) เพื่ออบฆ่าเชื้อโรค แต่เขาและผู้เชี่ยวชาญบางคนไม่เชื่อว่าเป็นวิธีที่เหมาะสม ดังนั้นแพทย์ในหลายโรงพยาบาลจึงต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วยการขอรับบริจาคจากประชาชน

"ในสถานการณ์จริงผมเรียนตามตรงว่ามันขาดแคลนจริง อุปกรณ์ที่ใช้ทุกวันนี้เราใช้แต่ของบริจาคทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากเอ็น 95 เพราะเราได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขน้อยมาก แต่พอเราขอรับบริจาคก็จะเกิดปัญหาขึ้น ผู้บริหารโรงพยาบาลบอกว่าอย่าให้เรื่องนี้เป็นข่าว ผู้บริหารในกระทรวงจะกดดันว่าห้ามขอรับบริจาค สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะว่ากระทรวงแถลงว่าพอ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยถึงบอกว่าไม่พอ"

โรงพยาบาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บุคลากรทางการแพทย์จะได้รับหน้ากากอนามัยล็อตแรกก่อน

แพทย์อายุรกรรมประจำโรงพยาบาลรัฐบาลคนนี้เห็นว่าผู้บริหารในระดับกระทรวงไม่ได้ดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงใน "หน้างาน" ซึ่งทำให้แพทย์หลายคนหมดกำลังใจ

"ในหมู่แพทย์นั้นด้วยความเป็นแพทย์เราทิ้งคนไข้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามดิ้นรนด้วยตัวเอง เช่นหาของบริจาค ซื้อใช้เอง ขอความร่วมมือคนรู้จัก คนไทยมีน้ำใจบริจาคเยอะมาก รู้ว่าขาดก็ให้ ผมไม่เคยเห็นการบริจาคเยอะขนาดนี้ แต่ถ้าถามว่าแพทย์พูดกันยังไงบ้าง ผู้บริหารบางโรงพยาบาลเมื่อถูกถามว่าอุปกรณ์พอหรือไม่ ก็บอกว่าไม่พอ แต่ขอบริจาคก็ไม่ได้โดยไม่ได้เหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร อันนี้เป็นความอึดอัดมีน้องหลายคนอึดอัดมาก แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องสู้ต่อไปแบบนี้"

ด้านแพทย์อายุรกรรมประจำโรงพยาบาลรัฐบาลใจกลางกรุงเทพฯ อีกคนหนึ่งบอกบีบีซีไทยเช่นกันว่าเธอจะต้องเซ็นชื่อขอรับหน้ากากอนามัยทุกวัน วันละ 1 ชิ้น สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"หน้ากาก 1 ชิ้นต่อหนึ่งวัน แต่ถ้าเราอยู่เวรต่อไปอีก 8 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าเราใช้หน้ากากอันเดียวเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เสาร์-อาทิตย์ หากเป็นวันหยุดก็จะไม่ได้รับหน้ากาก เราต้องใช้กันอย่างระมัดระวังมาก ไม่ให้มันเปื้อน ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้ เราก็ต้องซื้อหามาใช้กันเอง"

แถลงข่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. รับมอบเวชภัณฑ์จากอุปทูตจีนเมื่อวันที่ 24 มี.ค.

ปลัด สธ. แจงเตรียมกระจายหน้ากากอนามัยและชุด PPE ให้เขตสุขภาพทั่วประเทศ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่าในช่วงระหว่างวันที่ 7-28 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลทุกสังกัดรวม 19.59 ล้านชิ้น เป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ.กว่า 10 ล้านชิ้น แต่ขณะนี้มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นหลังจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รัฐจึงมีแผนกระจายเพิ่มเติมให้อีก 1.3 ล้านชิ้น ซึ่งจะส่งไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด ในวันนี้ (30 มี.ค.) ส่วนหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้สำหรับการดูแลกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมาหน้ากากชนิดนี้ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ได้มีการจัดหาเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 183,910 ชิ้น (7-28 มี.ค.) แต่กำลังจัดหาเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้ 17,000 ชิ้นต่อวัน ปลัด สธ. ระบุว่ารัฐจะนำเข้าหน้ากาก N95 จากสหรัฐฯ 200,000 ชิ้น และจัดซื้อจากจีนแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งหน้ากาก N95 และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์รวมมูลค่า1,500 ล้านบาท ซึ่งจีนพร้อมส่งขายให้ไทย 1.3 ล้านชิ้น ในล็อตแรกจะส่งมาก่อน 400,000 ชิ้น โดยองค์การเภสัชกรรมจะมีการประมูลซื้อขายพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) นพ.สุขุมเปิดเผยถึงเวชภัณฑ์ที่รับบริจาคจากรัฐบาลจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตอนนี้สิ่งของทั้งหมดอยู่ที่คลังการบริหารการสาธารณสุข จะดำเนินการจัดส่งภายใน 31 มี.ค. ไปยังเขตสุขภาพทั่วประเทศ ได้แก่

  • หน้ากากอนามัย 100,000 ชิ้น
  • หน้ากาก N95 จำนวน 10,000 ชิ้น
  • ชุด PPE จำนวน 2,000 ชุด
  • ชุดตรวจโควิด-19 ให้กรมการแพทย์ 20,000 ชุด

ประเมินใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เดือน เม.ย. 100,000 เม็ด

นพ.สุขุม แถลงต่อถึงความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าได้ประเมินความต้องการใช้ของประเทศไทยไว้ที่ 100,000 เม็ด ในเดือน เม.ย. มีแผนการจัดหาจากญี่ปุ่น 240,000 เม็ด และจากจีนอีก 100,000 เม็ด "วันนี้จะมีเข้ามาอีก 40,000 เม็ด บ่ายสามโมงวันนี้ ก็คิดว่าสภาพการขาดยาคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เราเลือกผู้ป่วยที่จะให้ต้องมีอาการที่เหมาะสม คือ มีปอดบวมต้องการใช้ยา และเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยจำเป็นจริง ๆ ไม่ได้เอามาจ่ายโดยที่ทุกคนจะได้นะครับ ในผู้ป่วยที่เป็นน้อย 80 % ไม่จำเป็นต้องได้ยา" ปลัด สธ.กล่าว