สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง: รัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงตามหลังสหรัฐฯ

ขีปนาวุธของรัสเซีย

ที่มาของภาพ, AFP

รัสเซียได้ประกาศยุติการเข้าร่วมสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty--INF) ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นแล้ว หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงไปก่อนหน้านี้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า รัสเซีย จะเริ่มพัฒนาขีปนาวุธใหม่

เมื่อวันศุกร์ สหรัฐฯ ซึ่งกล่าวหารัสเซียมาเป็นเวลานานแล้วว่า ละเมิดสนธิสัญญาดังกล่าว ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐฯ ขอยุติข้อผูกพันต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ตามข้อตกลงนี้

ข้อตกลงซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพโซเซียต ลงนามร่วมกันในปี 1987 ได้ห้ามทั้ง 2 ประเทศใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและใกล้

นายปูติน กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า "พันธมิตรอเมริกันของเราประกาศว่า พวกเขาระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้ เราก็ขอระงับด้วยเช่นกัน"

"ข้อเสนอทุกอย่างของเราในเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างจากในอดีต ยังคงอยู่บนโต๊ะ ประตูสำหรับการเจรจาเปิดรออยู่" เขากล่าวเพิ่มเติม

ขีปนาวุธของรัสเซียถูกยิงขึ้น ระหว่างการฝึกซ้อมทางทหาร

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, รัสเซียปฏิเสธการสร้างขีปนาวุธที่ละเมิดข้อตกลง

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน เยนส์ สโตลเตนแบร์ก เลขาธิการองค์การนาโต กล่าวกับบีบีซีว่า "ชาติพันธมิตร [ยุโรป] ทุกชาติ เห็นด้วยกับสหรัฐฯ เพราะรัสเซียได้ละเมิดสนธิสัญญาฯ มานานหลายปีแล้ว พวกเขากำลังส่งขีปนาวุธชนิดใหม่ที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้เข้ามาในยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ"

เขายังกล่าวด้วยว่า ควรใช้ประโยชน์จากระยะเวลา 6 เดือนที่สหรัฐฯ ให้กับรัสเซียในการกลับเข้ามาทำตามสนธิสัญญา

ขณะที่รัสเซียปฏิเสธการละเมิดสนธิสัญญา INF มาโดยตลอด

รัสเซียถูกกล่าวหาว่าทำอะไร?

สหรัฐฯ ระบุว่า มีหลักฐานว่า ขีปนาวุธใหม่ของรัสเซียมีพิสัย 500-5,500 กม. ซึ่งเป็นพิสัยที่ถูกห้ามตามสนธิสัญญานี้

เจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐฯ บางคนบอกว่า จำนวนขีปนาวุธ 9M729 ของรัสเซีย หรือที่นาโตเรียกว่า SSC-8 จำนวนหนึ่ง พร้อมถูกใช้งานแล้ว

ส่วนประกอบของระบบขีปนาวุธ SSC-8/9M729 ถูกจัดแสดง ระหว่างการแถลงข่าวในเดือนม.ค. 2019

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ขีปนาวุธ 9M729 ซึ่งเป็นขีปนาวุธชนิดใหม่ของรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร รู้สึกกังวล

หลักฐานนี้ถูกส่งไปให้ชาติพันธมิตรนาโต้ของสหรัฐฯ และชาติเหล่านั้นต่างสนับสนุนสหรัฐฯ

ในเดือน ธ.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เวลารัสเซีย 60 วัน ให้กลับมาปฏิบัติตามสนธิสัญญา หรือไม่เช่นนั้น สหรัฐฯ จะยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เช่นกัน

นอกจากจะปฏิเสธว่าไม่ได้ละเมิดสนธิสัญญา INF แล้ว รัฐบาลรัสเซีย ยังระบุว่า จรวดต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ที่กำลังถูกส่งมาในยุโรปตะวันออก อาจละเมิดเงื่อนไขของข้อตกลงนี้ได้

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

การประชุมเมื่อวันเสาร์กับรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นายปูตินได้กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการผลิตอาวุธใหม่ขึ้น

เขากล่าวว่า อาวุธเหล่านี้รวมถึง ขีปนาวุธร่อน (cruise missile) คาลิบร์ (Kalibr) และอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง (hypersonic weapon) ซึ่งสามารถเดินทางได้เร็วกว่าความเร็วเสียงมากกว่า 5 เท่า

แต่นายปูติน กล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียจะไม่แข่งผลิตอาวุธราคาแพง และจะไม่ใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและสั้น ถ้าสหรัฐฯ ไม่ใช้อาวุธเหล่านี้ก่อน

การแข่งขันด้านอาวุธเช่นนั้นน่าจะทำให้ชาติในยุโรปกังวลใจ

เยนส์ สโตลเตนแบร์ก กล่าวกับบีบีซีว่า "ขีปนาวุธใหม่เหล่านี้ซึ่งเคลื่อนที่ได้เร็ว ยากที่จะตรวจจับ และสามารถติดนิวเคลียร์ได้ สามารถเดินทางถึงหลายเมืองในยุโรป และแทบจะไม่มีเวลาแจ้งเตือนใด ๆ ดังนั้นพวกมันจึงทำให้ขีดความอดทนในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งลดน้อยลง"

สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางคืออะไร?

มิคาอิล กอร์บาชอฟ และโรนัลด์ เรแกน ลงนามในสนธิสัญญา INF ในปี 1987

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียต และนายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญา INF ในปี 1987
  • ลงนามโดยสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในปี 1987 ข้อตกลงควบคุมอาวุธนี้ห้ามการผลิตขีปนาวุธพิสัยกลางและใกล้ทุกชนิด ทั้งที่เป็นขีปนาวุธนิวเคลียร์และไม่ใช่นิวเคลียร์ ยกเว้นอาวุธที่ยิงจากในทะเล
  • สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการที่โซเวียตส่งระบบขีปนาวุธ SS-20 และตอบโต้ด้วยการนำขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธเพิร์ชชิงไปติดตั้งไว้ในยุโรป ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นเป็นวงกว้าง
  • ในปี 1991 ขีปนาวุธเกือบ 2,700 ลูก ถูกนำมารอเตรียมใช้งาน
  • ทั้ง 2 ประเทศได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบการติดตั้งอาวุธของอีกฝ่ายได้
  • ในปี 2007 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศว่า สนธิสัญญานี้ไม่ได้มีผลดีต่อรัสเซียอีกต่อไป
  • การประกาศเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty) ในปี 2002