โควิด-19 : มติ ศบค. ให้ฉีดวัคซีนสูตรผสม ส่วนสภากาชาดไทยแจ้ง อบจ. ส่งจองยอดโมเดอร์นาล้านโดส

ฉีดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ประชาชนชาวไทยเตรียมได้รับวัคซีนชนิด mRNA ฟรี 1 ล้านโดส หลังจากสภากาชาดไทยเปิดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดต่าง ๆ ส่งยอดจองวัคซีนโมเดอร์นาที่ได้รับการจัดสรรโควตาจากองค์การเภสัชกรรมเข้ามา เพื่อนำไปฉีดฟรีแก่กลุ่มเปราะบางและหมอในถิ่นทุรกันดาน คาดทยอยจัดสรรวัคซีนได้ในเดือน ต.ค. นี้ ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ฉีดวัคซีนสูตรผสม เพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ประชาชนทั่วไปที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 ไปแล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ในระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้ว จะได้รับการฉีดวัคชีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยอาจเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA

การตัดสินใจของ ศบค. เป็นไปตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อ 12 ก.ค. และมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อ 15 ก.ค.

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าสามารถใช้สูตรผสมได้ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่าได้รับฟังการศึกษาจากหลายหน่วยงาน รวมถึงมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ที่มีรายงานการใช้วัคซีนผสมต่างชนิดกัน และมีประสิทธิภาพการคุมโรคเป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ อีกทั้งองค์การอนามัยโรค (WHO) ก็ยอมรับ จึงมีข้อสรุปไดใช้ได้

การประชุม ศบค. วันนี้ (16 ก.ค.) มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. นั่งเป็นหัวโต๊ะ และถือเป็นวันแรกที่ผู้นำรัฐบาลกลับเข้าทำงานภายในทำเนียบรัฐบาล หลังจำต้องกักตัวและปฏิบัติงานจากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 รอ. เป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากไปสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จ.ภูเก็ต เมื่อ 1 ก.ค.

ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนายกฯ 3 ครั้งเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ โดย พล.อ. ประยุทธ์ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว ตั้งแต่ 24 พ.ค.

ปลัด สธ. เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้นายกฯ ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อ 24 พ.ค.

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, ปลัด สธ. เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้นายกฯ ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อ 24 พ.ค.

ข้อมูล ณ 16 ก.ค. พบว่า มีประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว 13,823,355 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก 10,424,925 ราย และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 3,398,430 ราย

คร. เผยแอสตร้าฯ "ไม่ตอบรับ/ปฏิเสธ" หลังไทยขอให้ส่งวัคซีนในปีนี้

มติ ศบค. ให้ฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรแก่ประชาชนทั่วไป ย่อมทำให้ปริมาณความต้องการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับยอดการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย แม้มีโรงงานผลิตอย่างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (SBS) ตั้งอยู่ในประเทศก็ตาม

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า SBS ส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้ว 7-8 ล้านโดส รวมยอด 1 ล้านโดสที่จะรับมอบในช่วงบ่ายวันนี้ (16 ก.ค.) แล้ว โดยเป็นการทยอยส่งมอบให้ทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1-2 งวด

ส่วนยอดส่งมอบทั้งเดือน ก.ค. จะครบ 10 ล้านโดสตามแผนที่ สธ. เคยเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่นั้น นพ. โอภาสกล่าวว่า "เขารับปากว่าจะส่งเพิ่ม แต่ขอไม่บอกยอด บางเรื่องต้องรักษาความลับเพื่อประโยชน์ของประเทศ" และ "สิ่งที่ห่วงที่สุดคือพูดเยอะไป จะไม่ได้วัคซีน"

ขวดแอสตร้าฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วานนี้ (15 ก.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ออกมายอมรับผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT ว่า "มีข้อคลาดเคลื่อนเรื่องของตัวเลขวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" จากเดิมมีกำหนดส่งมอบวัคซีนให้ไทยจำนวน 61 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2564 แต่มีการขอขยายเวลาออกไป ซึ่งจำวันที่และเดือนไม่ชัดเจน แต่คาดว่าเป็นเดือน พ.ค. 2565 และย้ำว่าในสัญญาไม่มีเงื่อนเวลา มีเพียงการระบุจำนวนวัคซีนทั้งหมดไว้ ส่วนเรื่องเวลา เป็นการเสนอแผนพูดคุยกัน

ในการตอบคำถามผ่านรายการเดียวกันเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (16 ก.ค.) นพ. โอภาสระบุว่า ในสัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดส ระบุว่าต้องส่งมอบในปี 2564 แต่พอไทยขอเพิ่มยอดไปอีก 35 ล้านโดส ก็ได้บอกให้ทางแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบในปี 2564 ซึ่งเขาไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ และบอกเพียงว่าต้องดูกำลังการผลิต

อธิบดีกรมควบคุมโรคยังไล่เรียงรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งลงนามโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ไว้ดังนี้

  • ต.ค. 2563 ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent - LOI) จองซื้อ 26 ล้านโดส
  • พ.ย. 2563 ลงนามในสัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดส
  • ม.ค. 2564 ขอปรับแก้ตัวเลขในสัญญา จาก 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดย หรือจองเพิ่ม 35 ล้านโดส ซึ่ง นพ. โอภาสระบุว่า "เป็นสัญญาฉบับเดียวกัน แต่ขอปรับแก้ตัวเลขเป็น 61 ล้านโดส ซึ่งเขาไม่คิดเงินเพิ่ม ไม่ต้องวางเงินจองเพิ่ม"
พิธีเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ลงนามในสัญญาจองล่วงหน้าและจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 27 พ.ย. 2563

สภากาชาดไทยแจ้ง อบจ. จองยอดโมเดอร์นาฉีดฟรีแก่ ปชช. 5 กลุ่ม

นอกจากวัคซีนพื้นฐานทั้ง 2 ยี่ห้อ ยังมีความเคลื่อนไหวในการจัดหาวัคซีนทางเลือกชนิด mRNA ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มทยอยลงนามในสัญญาซื้อ-ขายวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นากับ รพ.เอกชนต่าง ๆ และรับชำระค่าวัคซีนเต็มจำนวน 100% ตั้งแต่วันนี้จนถึง 21 ก.ค.

ภญ. ศิริกุล เมธีรังสรรค์ รอง ผอ.อภ. เคยระบุไว้ว่า อภ. จะลงนามในสัญญาซื้อ-ขายกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโมเดอร์นาในไทย ในวันที่ 23 ก.ค. โดยวัคซีนโมเดอร์นา 5 ล้านโดส จะมาถึงไทยภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้า

ขวดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นาได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย.ของไทยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.

สำหรับวัคซีนโมเดอร์นา 5 ล้านโดสนี้ จะอยู่ในมือ รพ. เอกชน จำนวน 3.9 ล้านโดส ตามการยืนยันของ นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยจะจัดสรรและกระจายไปยัง รพ.เอกชน 277 แห่งทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้แก่ประชาชนที่จ่ายเงินจองซื้อวัคซีนเอาไว้ ส่วนอีก 1.1 ล้านโดส จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสภากาชาดไทย, รพ.รามาธิบดี และ รพ. ศิริราชพยาบาล

วันเดียวกัน (16 ก.ค.) สภากาชาดไทยมีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด แจ้งขอความร่วมมือในการแจ้งจองวัคซีนสำหรับฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่น ๆ โดยไม่คิดมูลค่า

เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า สภากาชาดไทยจะได้จัดสรรโควตาวัคซีนจำนวนหนึ่งให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด

ฉีดยา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่ อบจ. ต้องดำเนินการ มีดังนี้

  • อบจ. ต้องจัดทำแผนการขอรับการจัดสรรวีคซีน โดยระบุจำนวนคนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ได้แก่ 1. คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ 2. ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป 3. บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร 4. ผู้ที่ทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ครู รร.อนุบาล ครู/อาจารย์ และ 5. บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน
  • อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีนโมเดอร์นา ต้องแจ้งมายังสภากาชาดไทยภายใน 21 ก.ค. พร้อมแผนจัดการวัคซีน
  • อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีน ต้องสนับสนุนค่าวัคซีนโดสละ 1,300 บาท
  • อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องฉีดให้ประชาชนฟรี และห้ามนำไปขายต่อเด็ดขาด
  • อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องชำระเงินเต็มจำนวนภายใน 23 ก.ค.
  • สภากาชาดไทย จะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป

หมอบุญระบุถูก กลต. สั่งห้ามพูดถึงดีลไฟเซอร์ เข้าข่ายปั่นหุ้น

ขณะที่การนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน และการลงนามในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทในประเทศเยอรมนี ก็ยังไม่เกิดขึ้นตามที่ นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรีฯ ออกมาเปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 15 ก.ค. จะมีการลงนามในสัญญา 20 ล้านโดส และทยอยส่งมอบล็อตแรกภายในเดือน ก.ค. นี้

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

ที่มาของภาพ, บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

คำบรรยายภาพ, นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน, ไทยรัฐ, เดลินิวส์ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ นพ.บุญว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้สั่งห้ามไม่ให้พูดอะไร เพราะว่าจะเข้าข่ายปั่นหุ้น ส่วนความคืบหน้าต่าง ๆ ขอให้สอบถามกับทีมทนายตัวแทนในการเจรจา มีเอกสารทุกอย่าง 40 หน้า จะสามารถตอบแทนได้หมด

บมจ. ธนบุรีฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA สรุปใจความสำคัญได้ว่า ได้มีการตกลงซื้อวัคซีนจริง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสารกับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ในส่วนของระยะเวลาหากมีความชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เนื่องจากต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเปิดดีลซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้ราคาหุ้นของ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) พุ่งขึ้นระหว่างการซื้อขายวันพฤหัสบดีไปสูงถึง 13% แล้วปิดลงที่ 31.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.88% ทว่าเมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าทั้งบริษัทไฟเซอร์ และบริษัทบิออนเทค ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเจรจาเรื่องการซื้อขายวัคซีนกับ บมจ. ธนบุรีฯ ก็ทำให้ราคาหุ้น THG ช่วงเปิดตลาดวันศุกร์ปรับลดลงเล็กน้อย ไปอยู่ที่ 31.25 บาท โดยราคา ณ เวลา 13.00 น. อยู่ที่ 32.75 เพิ่มขึ้น 3.97%