เศรษฐกิจ : คะเคโบะ ศิลปะการออมเงินฉบับญี่ปุ่น ช่วยให้คุณมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น 35%

Japanese woman with piggybank

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, คะเคโบะถือกำเนิดขึ้นในปี 1904 เพื่อช่วยผู้หญิงญี่ปุ่นบริหารจัดการงบประมาณในครัวเรือน

การออมเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น คือข้อแนะนำที่ทุกคนคงเคยได้ยินมาบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตามได้ง่าย ๆ

ข้อมูลเมื่อปี 2016 จากสถาบันนีลเส็น ผู้วิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลก ระบุว่า เอเชียเป็นทวีปเดียวที่ประชากรกว่า 50% มีความตั้งใจที่จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของภูมิภาคลาตินอเมริกาอยู่ที่ 30%

และก็เป็นวิธีการออมเงินแบบเอเชียนี่เองที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก วิธีนี้มีชื่อว่า "คะเคโบะ" (kakeibo)

วิธีเก็บเงินแบบฉบับญี่ปุ่นที่มีอายุ 115 ปีนี้ จำเป็นต้องใช้วินัย แต่ก็ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เพียงแค่มีสมุดบันทึกและปากกาก็สามารถลงมือทำได้แล้ว

ผู้ที่ได้ลองนำวิธีนี้มาใช้บอกว่า คะเคโบะ ช่วยให้พวกเขามีเงินเก็บเพิ่มขึ้นถึง 35%

Cover of "Kakeibo - The Japanese Art of Saving Money"

ที่มาของภาพ, Handout/Penguin

คำบรรยายภาพ, หนังสือของ ฟูมิโกะ ชิบะ

ที่มา

คะเคโบะ เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "สมุดบัญชีครัวเรือน"

ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง Kakeibo: The Japanese Art of Budgeting & Saving Money (คะเคโบะ: ศิลปะการจัดงบประมาณและการออมเงิน) ของ ฟูมิโกะ ชิบะ ระบุว่า วิธีการนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1904

ในหนังสือเล่มนี้ ชิบะ ระบุว่า วิธีการดังกล่าวคิดขึ้นโดย ฮานิ โมโตโกะ นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น ที่ต้องการหาหนทางที่จะช่วยให้แม่บ้านสามารถจัดการงบประมาณรายรับรายจ่ายของครอบครัวได้ดีขึ้น

ในยุคนั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกบ้าน และจะสามารถเก็บเงินออมของตัวเองได้จากเงินของสามีที่เหลือจากการใช้จ่ายทั้งหมดในบ้าน

Kakeibo books

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แม้โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ยังมีสมุดทำบัญชีครัวเรือน "คะเคโบะ" วางขายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น

"ญี่ปุ่นอาจมีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมในหลาย ๆ ด้าน แต่ คะเคโบะ เป็นเครื่องมือที่ให้อิสระแก่ผู้หญิง" ชิบะ เขียนในหนังสือ

"มันช่วยให้ผู้หญิงสามารถควบคุมการตัดสินใจต่าง ๆ ในเรื่องการเงิน"

แม้ปัจจุบันจะมีโปรแกรมและแอปพลิเคชันทำบัญชีครัวเรือนให้เลือกใช้กันมากมายหลายแบบ แต่สมุดทำบัญชีครัวเรือนตามวิธี คะเคโบะ ยังมีขายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น

วิธีการ

การทำบัญชีครัวเรือนแบบคะเคโบะอาจต้องใช้ความพยายามในช่วงแรก แต่ก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ชิบะ ระบุ

ขั้นแรก คุณต้องจดรายรับและรายจ่ายแบบรายวันและรายสัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น รายรับ, ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (ค่าเช่าบ้าน, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร และยารักษาโรค) รายจ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และรายจ่ายพิเศษอื่น เป็นต้น

A child puts coins in different jars labelled education, savings and toys

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การจัดรายรับรายจ่ายและเงินออมออกเป็นหมวดหมู่ คือหัวใจสำคัญของวิธีนี้

คุณสามารถแบ่งหมวดหมู่ที่ว่านี้ได้มากเท่าที่ต้องการ และอาจใช้สีสันต่าง ๆ กันในการจดบันทึก เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายขึ้น

เมื่อถึงสิ้นเดือน คุณแค่หักลบยอดรายจ่ายออกจากรายรับ

แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น คะเคโบะ ไม่ได้แค่ช่วยคุณควบคุมการใช้จ่ายเงิน แต่ยังสอนให้รู้จักปรับปรุงเรื่องการเงินของเราให้ดีขึ้นด้วย เหมือนการจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามวิถีแห่งเซน ที่นำเสนอโดย มาริเอะ คนโดะ เช่น การออกกำลังกายที่นำไปปฏิบัติได้จริงจนกลายเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ

Woman meditating with credit card

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, คะเคโบะ ช่วยให้ใช้เงินอย่างมีสติ

หาจุดสมดุล

ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง คะเคโบะ คือการเน้นย้ำให้เห็นถึงรายจ่ายที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเรียนรู้ที่จะตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกไป

"ในช่วงต้นเดือนของแต่ละเดือนคุณจะนั่งดูสมุดทำบัญชีครัวเรือนและใคร่ครวญว่าคุณอยากออมเงินเท่าใด และจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว" ชิบะ ระบุในหนังสือ

การจะบรรลุเป้าหมายได้ คุณต้องตอบคำถามดังต่อไปนี้

  • คุณออมเงินไปได้แล้วเท่าใด
  • คุณอยากออมเงินให้ได้เท่าใด
  • คุณใช้จ่ายเงินเท่าใด
  • คุณจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างในเดือนนี้เพื่อช่วยให้ออมเงินได้ดีขึ้น

แม้จะฟังดูเหมือนคำแนะนำธรรมดา ๆ แต่ผู้ทำบัญชีครัวเรือนแบบคะเคโบะ บอกว่า มันเป็นเทคนิคที่ช่วยให้คุณเห็นรายรับและรายจ่ายได้ชัดเจนขึ้น

ผู้นำวิธีแบบคะเคโบะไปใช้บอกว่า การที่ต้องจดบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยมือนี้ช่วยให้คุณได้คิดใคร่ครวญมากขึ้นถึงสิ่งที่คุณใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็บังคับให้คุณคิดถึงเป้าหมายที่จะช่วยให้คุณออมเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น