ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ 26 มี.ค.-30 เม.ย. สกัดโควิด-19 ยังไม่สั่ง “ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน”

รัฐบาลชี้แจงว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะแรก ยังไม่ได้ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน แต่ย้ำให้ "เว้นระยะห่างทางสังคม"

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลชี้แจงว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะแรก ยังไม่ได้ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน แต่ย้ำให้ "เว้นระยะห่างทางสังคม"

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.

บ่ายวันนี้ (25 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงประชาชนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ช่วงเวลาหลายสัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า เราอาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายและเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ซึ่งจะเป็นบททดสอบที่เราทุกคนไม่เคยเผชิญมาก่อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ถึงวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า "ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์อาจทวีความรุนแรงและเลวร้ายกว่านี้หลายเท่า" ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย ใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเหตุนี้ นายกฯ จึงต้องดำเนินมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อหยุดการแพร่ระบาด พร้อมลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยจะเข้ามาบัญชาการการจัดการกับโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มที่ ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาด รักษาพยาบาล และการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19

"ผมจะเป็นผู้นำของภารกิจนี้ และรายงานตรงต่อคนไทยทุกคน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นไป" นายกฯ ระบุ

ในระหว่างการชี้แจงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศผ่านทีวีพูล นายกฯ ไม่ได้สวมหน้ากากแบบตอนแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 24 มี.ค. จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์

ที่มาของภาพ, TV Pool

คำบรรยายภาพ, ในระหว่างการชี้แจงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศผ่านทีวีพูล นายกฯ ไม่ได้สวมหน้ากากแบบตอนแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 24 มี.ค. จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์

เผยโครงสร้าง ศอฉ. โควิด-19

หลังจากนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรียกโดยย่อว่า "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" จะยกระดับเป็น หน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบูรณาการการสั่งการทุกส่วนราชการอย่างมีเอกภาพรวดเร็ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลว่าในสถานการณ์วิกฤตต้องรวมศูนย์สั่งการเพื่อความชัดเจน ลดปัญหาต่างคนต่างทำ

หน่วยงานพิเศษที่นายกฯ ระบุชื่อไว้ก่อนหน้านี้ว่า "ศอฉ. โควิด-19" (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) มีโครงสร้างตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  • นายกฯ - ผู้อำนวยการศูนย์
  • ปลัดกระทรวงสาธารณสุข - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
  • ปลัดกระทรวงมหาดไทย - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการ กทม.
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
  • ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสื่อสารมวลชน โซเชียลมีเดีย ป้องกันข่าวลวง
  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศและการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด - หัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงและการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ
  • เลขาธิการสภาความมมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี - ผู้ประสานงานทั่วไป
thai people

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ยังมีทีมงานทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน โดยผู้ที่จะรายงานต่อประชาชนต้องเป็นนายกฯ หรือคนที่นายกฯ มอบหมาย

นายกฯ บอกด้วยว่า จะปรับปรุงการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ถูกต้องชัดเจนและครบถ้วน โดยจัดแถลงข่าวเพียงวันละ 1 ครั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อน บิดเบือนข้อมูล และการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน และขอความร่วมมือสื่อมวลชนเพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว โดยให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย "พวกเราคือทีมเดียวกัน ทุกท่านสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงาน และต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม"

เขายังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่าผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ เพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้" และ "ประเทศไทยที่รักของเราทุกคนจะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน ขอบคุณครับ" นายกฯ กล่าว

thai people

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นกิจวัตร หากต้องใช้บริการระบบขนส่งมวลชนภายใน กทม.

"สถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดได้แล้ว"

วานนี้ (24 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเข้าสู่ระยะ 3 อันหมายถึงเกิดการกระจายของเชื้อเป็นวงกว้างภายในประเทศ แต่โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐไทยใช้ "เกินกว่าระยะ 2 ไปนานแล้ว"

ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 934 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 347 ราย ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด และกระจายแทบทุกภาคแล้ว

thai people

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ขณะที่แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเผยแพร่ทางทีวีพูลเช่นกัน มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "บัดนี้ทุกฝ่ายเห็นว่าสถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดได้แล้ว เพื่อว่ารัฐจะสามารถนำมาตรการอื่น ๆ มาบังคับใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม"

"รัฐบาลขอให้ประชาชนวางใจในระบบการสาธารณสุขของประเทศ และโปรดดูแลรักษาสุขภาพตนเองเพราะความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐโดยแท้ ขณะเดียวกันโปรดให้ความร่วมมือกับทางการในการปฏิบัติตามมาตรการ และคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางซ่องทางที่เป็นทางการ" แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

ประกาศ 16 ข้อห้ามทำ-ให้ทำ-ควรทำ

ต่อมาค่ำวันที่ 25 มี.ค. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศและคำสั่งรวม 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศ โดยกำหนดให้มีผลตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน

เมื่อมีการประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ทั่วประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ โดยมาตรการต่าง ๆ จะถูกระบุไว้ใน "ข้อกำหนด" ที่ออกมาตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข้อกำหนดชุดแรกมีเนื้อหารวม 16 ข้อ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อธิบายว่าเป็นการกำหนดพฤติกรรมไว้ 3 ประเภทคือ ห้ามทำ ให้ทำ และควรทำ โดยมาตรการ "ห้ามทำ" และ "ควรทำ" เกี่ยวข้องและกระทบกับประชาชน ส่วนมาตรการ "ให้ทำ" เป็นการวางแนวทางปฏิบัติของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ

ราชกิจจานุเบกษา

ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา

ในระหว่างเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน นายวิษณุได้หยิบยกข้อห้ามบางส่วนที่สำคัญมาชี้แจง เช่น

  • ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนดตามคำสั่งผู้ว่าฯ จังหวัดต่าง ๆ
  • ห้ามคนทั้งหลายเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะทางบก เรือ อากาศ ยกเว้นบุคคล 5 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้มีสัญชาติไทย แต่ต้องมีเอกสารสำคัญคือใบรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถทำการบินได้ 2) ทูตต่างประเทศที่ประจำการในไทย 3) การขนส่งสินค้าที่เข้ามาแล้วกลับไปโดยเร็ว 4) นักบินและแอร์โฮสเตส และ 5) บุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกฯ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ
  • ห้ามชุมนุม เพราะการชุมนุมคนมาก ๆ ไม่ว่าเพื่ออะไรก็ตาม เป็นสาเหตุง่ายที่สุดในการแพร่โรค สะท้อนผ่านการติดเชื้อที่สนามมวยและสนามกีฬา
  • ห้ามแพร่ข่าวเท็จ ลวง ปลอม หรือเฟคนิวส์ ที่ทำให้คนตื่นตระหนกเกี่ยวกับโควิด-19

"คนอาจจะคิดว่ารัฐฉวยโอกาสออกข้อกำหนดจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือแสดงความเห็นผ่านสื่อ จะเซ็นเซอร์หรืออย่างไร ไม่ใช่ครับ แต่เป็นความจำเป็นต้องระมัดระวังการแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด เช่น แพร่ยอดตาย เจ็บ ทั้งที่ไม่เป็นจริง" รองนายกฯ กล่าว

train

ที่มาของภาพ, Thai news pix

แย้มถ้ามีประกาศเคอร์ฟิว จะสั่งห้ามออกจากบ้าน 24 ชม.

นายวิษณุยืนยันด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการ "ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน" โดยขยายความทีละประเด็น ดังนี้

ปิดประเทศ : ขณะนี้ยังเปิดให้คนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับมาได้ แต่สำหรับชาวต่างประเทศคือการปิดประเทศแล้ว แต่ยังไม่ปิดสนามบินเท่านั้น

ปิดเมือง : ขณะนี้ยังไม่มีการปิดเมืองใด ๆ แต่ถ้าใครจะเดินทางข้ามจังหวัดจะยุ่งยาก ลำบาก เสียเวลามาก เพราะรัฐไม่สนับสนุนการเดินทาง เช่น ประชาชนต้องแสดงบัตรประชาชน, มีโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เข้าถึงแอปพลิเคชันติดตามตัว, ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาและมีเจลแอลกอฮอล์ และถูกตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายตามด่านต่าง ๆ "หากเจอว่าอุณหภูมิสูง ก็จะถูกนำตัวออกจากยานพาหนะ ไปกักไว้ในสถานที่ที่เตรียมไว้ทันที"

ปิดบ้าน : ขณะนี้ยังไม่ปิด แต่กึ่ง ๆ ปิดสำหรับบุคคล 3 ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง แต่รัฐบาลยังใช้มาตรการแนะนำให้งดออกนอกบ้าน เว้นแต่ต้องไปทำธุรกิจ/ธุรกรรมที่จำเป็น ประกอบด้วย 1) ผู้สูงอายุเกิน 70 ปี 2) ผู้มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันสูง ระบบทางเดินหายใจ ปอด และ 3) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ส่วนประชาชนอื่น ๆ ยังสามารถไปทำงานได้ตามปกติทั้งข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานห้างร้านต่าง ๆ

นอกจากนี้มีบางกิจการที่รัฐ "ขอร้องอย่าปิดทำการ" เช่น โรงงาน ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแผนกอาหาร/ของสด บริการขนสินค้า สถานที่ราชการ โรงพยาบาล คลินิก ร้านขาย

ประชาชนที่ต้องการซื้ออาหารจากศูนย์อาหารภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า กลับไปรับประทานที่บ้าน ต้องนั่งรอห่างกัน 1 เมตรระหว่างรอรับอาหาร

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนที่ต้องการซื้ออาหารจากศูนย์อาหารภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า กลับไปรับประทานที่บ้าน ต้องนั่งรอห่างกัน 1 เมตรระหว่างรอรับอาหาร

รองนายกฯ ยืนยันด้วยว่า ตามข้อกำหนดชุดที่ 1 ยังไม่ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ยังจัดอยู่ในมาตรการ "ควรทำ" แต่เมื่อจะออกข้อกำหนดฉบับต่อไป ก็จะแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก กักตุน กวาดต้อนซื้อของโกลาหล

"ถ้ามีเคอร์ฟิว ก็จะไม่เหมือนที่เราเคยเจอ ที่เราเจอคือกลางวันอยู่บ้าน กลางคืนห้ามออก นั่นเพราะเป็นการเคอร์ฟิวเพื่อรักษาความมั่นคง แต่เชื้อโรคไม่ได้จ้องออกตอนเที่ยงคืน สามทุ่ม มันออก 24 ชม. ในสถานการณ์โควิด ถ้ามีจะต้อง 24 ชม. แต่มีข้อยกเว้น เพื่อให้ซื้ออาหารได้ หาหมอได้ แจ้งความกับตำรวจได้ ขึ้นศาลได้ ไปธนาคาร กดเอทีเอ็มได้ รถส่งสินค้า หรือสั่งซื้อของมาส่งได้ วิทยุโทรทัศน์จัดได้" นายวิษณุกล่าว

ตั้งด่านสกัดทั่วประเทศ มีผลเที่ยงคืนนี้

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งโทรสาร "ด่วนที่สุด" ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด ดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด เพื่อจัดระเบียบการเดินทาง การจราจร การเฝ้าระวังหรือสังเกิดผู้เดินทาง และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค ตั้งแต่เวลา 00:01 น. ของพฤหัสที่ 26 มี.ค.นี้

แหล่งข่าวกระกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยบีบีซีไทยว่า ด่านสกัดนี้จะประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ขนส่ง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันสอดส่องการป้องกันตัวของประชาชนจากไวรัสโคโรนา ใส่หน้ากากป้องกันตัว หรือไม่ วัดอุณหภูมิผู้สัญจรไปมา หากพบว่ามีไข้ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล หรือสอบสวนเส้นทางการสัญจร เพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรค

โควิด

ที่มาของภาพ, กระทรวงมหาดไทย

วิดีโอน่ารู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

ข้าม YouTube โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 2