ไวรัสโคโรนา : อธิบดีกรมราชทัณฑ์มั่นใจเรือนจำทั่วประเทศจะปลอดภัยจากโควิด-19

เรือนจำ

ที่มาของภาพ, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เชื่อว่ามาตรการ "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้าและกักกันโรคที่แดนแรกรับ" จะทำให้ผู้ต้องขังกว่า 380,000 คนในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19

แต่ญาติผู้ต้องขังและองค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงว่าความเครียด ข่าวลือและความหวาดกลัวการติดเชื้อในเรือนจำอาจก่อให้เกิดเหตุจลาจลเช่นที่เกิดขึ้นในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.)

กรมราชทัณฑ์รายงานว่าขณะนี้มีผู้ต้องขังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว 2 ราย

รายที่ 1 ยืนยันเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เป็นผู้ต้องขังชายที่ถูกจับกุมในข้อหาเสพสารเสพติดและถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานที่รอการตรวจพิสูจน์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเรือนจำคลองเปรม กรุงเทพฯ ผู้ต้องขังได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมเขาป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อผลยืนยันว่าผู้ต้องขังรายนี้ติดเชื้อ กรมราชทัณฑ์จึงได้ประสานงานกับกรมคุมประพฤติขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวและนำไปรักษาที่ รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.

รายที่ 2 ยืนยันเมื่อวันที่ 26 มี.ค. เป็นผู้ต้องขังชาย อายุ 60 ปี เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด อัตราโทษ 6 ปี รับโทษมาตั้งแต่ปี 2559 ป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก การสอบสวนโรคคาดว่าน่าจะติดเชื้อมาจากภายนอกเนื่องจากผู้ต้องขังรายนี้มีต้องเดินทางออกจากเรือนจำไปรักษาพยาบาลภายนอกเป็นระยะ ๆ ขณะนี้ได้นำตัวไปรักษาที่ รพ.ศูนย์ราชบุรีแล้ว

เกิดอะไรขึ้นที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์

เหตุจลาจลที่ผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งก่อเหตุเผาเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ช่วงเย็นวานนี้ (29 มี.ค.) เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ตรงที่การสอบสวนเบื้องต้นพบว่า สาเหตุเกิดจากผู้ต้องขังมีภาวะเครียด และมีคนปล่อยข่าวว่ามีผู้ต้องขังป่วยโควิด-19 ประกอบกับกฎระเบียบเรือนจำที่เข้มงวดมากขึ้น ห้ามเยี่ยมในช่วงสถานการณ์โควิด

พ.ต.อ.ณรัชต์รายงานวันนี้ (30 มี.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุจลาจลไว้ได้ตั้งแต่เวลา 19.30 น. ของเมื่อวาน โดยพบว่ามีผู้ต้องขังฉวยโอกาสหลบหนี 11 ราย จับกลับมาแล้ว 10 ยังเหลืออีก 1 ราย คือ นายธันยพงศ์ สินพูน อายุ26 ปี ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัว

จลาจลในเรือนจำ

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ เฟซบุ๊กของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่ภาพนี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.

การตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเหตุพบว่า อาคารภายในเรือนจำเสียหายจากการถูกเพลิงไหม้อย่างหนัก ไม่สามารถกลับมาใช้การได้ จึงได้ขนย้ายผู้ต้องขังของเรือนจำบุรีรัมย์กว่า 2,000 รายไปควบคุมตัวที่เรือนจำใกล้เคียง

จดหมายจากเรือนจำ

เหตุจลาจลที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ญาติของผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งอื่น ๆ กังวลว่าความเครียดและสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดในเรือนจำในช่วงโรคระบาดเช่นนี้จะทำให้ "คนข้างใน" มีความเสี่ยงสูง

ญาติของผู้ต้องขังคดียาเสพติดคนหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่าแฟนของเธอถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดพะเยาช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พอดี ทำให้การติดต่อราชการ รวมทั้งการเยี่ยมทำได้ลำบาก เพราะเธออยู่คนละจังหวัด จึงไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เธอไม่รู้ข่าวคราวของเขาเลย และไม่รู้ด้วยว่าขั้นตอนทางคดีจะดำเนินอย่างไรต่อไป เพราะไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ จากเจ้าหน้าที่

"จดหมายฉบับล่าสุดที่แฟนเขียนมาหา บอกว่าขอให้เราหาซื้อหน้ากากอนามัยไปให้แม่ของเขาด้วย และขอให้ดูแลคนที่บ้านและตัวเองให้ดี" เธอบอก

ต่างกับญาติของผู้ต้องขังคดียาเสพติดอีกคนหนึ่งที่เรือนจำจังหวัดระนอง ซึ่งบอกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำอำนวยความสะดวกให้เธอได้คุยกับสามีผ่านวิดีโอคอล ทำให้ไม่กังวลกับความเป็นอยู่ของเขาในเรือนจำมากนัก

เรือนจำ

ที่มาของภาพ, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คำบรรยายภาพ, สภาพเรือนนอนในเรือนจำแห่งหนึ่ง

เธอเล่าว่า หลังจากเกิดโควิด-19 ระบาด สามีถูกย้ายจากเรือนจำอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มาที่เรือนจำจังหวัดระนอง เพื่อลดความแออัด ที่นี่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งกลุ่มไลน์และรายงานสถานการณ์และให้ข้อมูลญาติผู้ต้องขังอย่าสม่ำเสมอ

ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีจะได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับญาติผ่านวิดีโอคอลด้วย แต่เธอก็ยังกังวลว่าผู้ต้องขังใหม่ที่เข้าไปจะนำเชื้อไปแพร่ในเรือนจำหรือไม่

คนในห้ามออก-คนนอกห้ามเข้า

พ.ต.อ.ณรัชต์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่ามาตรการที่เข้มงวดในช่วงนี้ โดยเฉพาะการห้ามเยี่ยมญาติอาจทำให้ญาติของผู้ต้องขังมีความกังวลบ้าง

"ขอให้ทุกคนอดทน เราทำเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกหลานท่านที่อยู่ภายใน เรือนจำเป็นสถานที่ปิด มีคนอยู่หนาแน่น ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะลำบาก" เขาฝากข้อความถึงญาติในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ณรัชต์ อธิบายว่าเรือนจำทุกแห่งได้ใช้มาตรการ 3 อย่างในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ได้แก่ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้าและสงสัยไว้ก่อนว่าคนเข้าใหม่เป็นผู้ติดเชื้อ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

คำบรรยายภาพ, อธิบดีกรมราชทัณฑ์เชื่อมั่นว่าผู้ต้องขังเกือบ 4 แสนคนทั่วประเทศจะปลอดภัยจากโควิด-19

คนในห้ามออก งดการให้ผู้ต้องขังออกไปฝึกอาชีพหรือฝึกงานนอกเรือนจำ ผู้ต้องขังจะออกนอกเรือนจำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น ไปโรงพยาบาลหรือศาล ซึ่งล่าสุดสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีมาตรการลดการเดินทางส่งตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำไปศาล โดยใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น

คนนอกห้ามเข้า งดเว้นการให้เยี่ยมญาติ

กักกันโรคที่แดนแรกรับ เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งจะสันนิษฐานไว้ก่อนกว่าคนเข้าใหม่เป็นผู้ต้องสงสัยโควิด-19 ดังนั้นทุกคนจะต้องถูกกักกันโรคที่แดนแรกรับ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและสังเกตอาการทุกวัน หากครบ 14 วันแล้วผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ จึงจะส่งตัวเข้าแดนต่าง ๆ ต่อไปตามระบบ

"เรามีผู้ต้องขังกว่า 380,000 คนในทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้มีผู้ต้องขังติดเชื้อเพียง 2 ราย ขอยืนยันว่าคนข้างในยังปลอดภัย" พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าว

ลดความเครียดและความแออัด

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิของผู้ต้องขัง กล่าวว่าเธอเชื่อมั่นในเรื่องการดูแลความสะอาดและสุขอนามัยของเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยเฉพาะในเรือนจำขนาดใหญ่ แต่ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ อาจมีเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้เกิดความวุ่นวายและตึงเครียดในเรือนจำที่อาจนำมาสู่การจลาจลได้ โดยเฉพาะการเกิดข่าวลือที่สร้างความหวาดกลัวในหมู่ผู้ต้องขัง ดังนั้นการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ให้ผู้ต้องขังและญาติเข้าใจสถานการณ์จึงมีความจำเป็น

เรือนจำ

ที่มาของภาพ, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คำบรรยายภาพ, ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมบอกว่าเรือนจำขนาดใหญ่หรือเรือนจำประจำจังหวัดมักมีการดูแลความสะอาดที่ดี

นอกจากนี้เธอเห็นว่าการห้ามเยี่ยมญาติในช่วงนี้ จะทำให้ผู้ต้องขังเกิดความเครียดได้มาก เรือนจำจึงควรอำนวยความสะดวกด้วยการให้ผู้ต้องขังสื่อสารกับญาติได้ทางระบบสื่อสารเช่นวิดีโอคอลหรือโทรศัพท์

น.ส.พรเพ็ญยังเสนอให้กรมราชทัณฑ์เร่งลดความแออัดของเรือนจำด้วยการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีลหุโทษ ผู้ต้องขังแทนค่าปรับ หรือผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งในบางประเทศเริ่มใช้วิธีการนี้บ้างแล้ว