หลุมดำ : นักดาราศาสตร์เผยรูปหลุมดำครั้งแรกของโลกจากกาแล็กซีอันไกลโพ้น

  • โดย พัลลับ โกช
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีสายวิทยาศาสตร์
Black hole

ที่มาของภาพ, EHT Collaboration

นักดาราศาสตร์ถ่ายรูปหลุมดำสำเร็จเป็นครั้งแรกซึ่งอยู่บริเวณกาแล็กซีอันไกลโพ้น หลุมดำนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 หมื่นล้าน กม. หรือ ใหญ่กว่าโลก 3 ล้านเท่า โดยนักวิทยาศาสตร์ขนานนามว่า "เจ้าอสูรกาย"

ภาพถ่ายนี้ได้จากกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon Telescope - EHT) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 8 แห่งทั่วโลก ซึ่งถ่ายภาพขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำมวลยิ่งยวด ซาจิตทาเรียส เอ (Sagittarius A*) อันจะเป็นหลักฐานเชิงรูปธรรมชิ้นแรกที่ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของหลุมดำในจักรวาล

หลุมดำนี้อยู่ห่างจากโลกไป 500 ล้านล้านล้าน กม. (500,000,000 ล้านล้าน กิโลเมตร) หรือ 55 ล้านปีแสง

คำบรรยายวิดีโอ,

เผยภายถ่ายหลุมดำครั้งแรกของโลก

มีการเปิดเผยรายละเอียดในวารสาร Astrophysical Journal Letters วันนี้ ศาสตราจารย์ไฮโน ฟัลเคอ จากมหาวิทยาลัยร็อดเบาด์ ในเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นผู้เสนอการทดลองในครั้งนี้ บอกกับบีบีซีว่า พบหลุมดำนี้ที่กาแล็กซีชื่อ "M87"

"สิ่งที่เราเห็นอยู่ใหญ่กว่าระบบสุริยะทั้งหมด" ฟัลเคอ กล่าว และอธิบายต่อว่า มันมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6.5 พันล้านเท่า และเป็นหลุมดำที่หนักที่สุดที่เราคิดว่ามีอยู่ เป็นอสูรกายที่แท้จริง เป็น "แชมป์เฮฟวีเวทของหลุมดำทั้งหมดในจักรวาล"

เมื่อสองปีที่แล้วนักดาราศาสตร์ได้เริ่มใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกหลายตัว ร่วมกันจับภาพบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยเทคนิคนี้จะให้ผลเสมือนกับใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เกือบเท่ากับโลก หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีความกว้างราว 13,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจะจับภาพของหลุมดำใจกลางดาราจักรของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงตำแหน่งขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon)ซึ่งอาจเป็นจุดเดียวของหลุมดำที่เราสามารถสังเกตเห็นได้

ตามปกติแล้วเราไม่อาจจะมองเห็นหรือตรวจจับตำแหน่งของหลุมดำในขณะที่มันสงบนิ่ง ไม่ได้ดูดกลืนดวงดาวต่าง ๆ อยู่ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงมหาศาลทำให้แม้แต่แสงก็ไม่อาจหลุดลอดออกมาได้ แต่หากมีการดูดกลืนมวลสารของดาวอื่นเกิดขึ้น จะปรากฎจานพอกพูนมวล (Accretion disk) โดยรอบระนาบหมุนของขอบฟ้าเหตุการณ์ให้สังเกตเห็นหรือตรวจจับการแผ่รังสีได้