ไกลโฟเซต : เหตุใดลูกขุนสหรัฐฯ สั่งไบเออร์จ่าย 6.4 หมื่นล้านบาท แก่เหยื่อมะเร็งยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ"

File photo taken on July 9, 2018, shows an employee placing Roundup products on a shelf at a store in San Rafael, California

ที่มาของภาพ, AFP

คณะลูกขุนในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ตัดสินให้บริษัทไบเออร์ (Bayer) จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 2,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.4 หมื่นล้านบาท) ให้แก่คู่สามีภรรยาที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช "ราวด์อัพ" ซึ่งมีส่วนผสมของสารไกลโฟเซต ส่งผลให้พวกเขาป่วยเป็นมะเร็ง

คณะลูกขุนในเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำตัดสินเมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) ให้บริษัทไบเออร์จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damage) ดังกล่าวแก่นายอัลวา และนางอัลเบอร์ตา พิลเลียด

คำตัดสินครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ ไบเออร์ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์สัญชาติเยอรมันถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ใช้ยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวด์อัพ หลังจากบริษัทเข้าซื้อกิจการของมอนซานโตบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันเจ้าของผลิตภัณฑ์ราวด์อัพ เมื่อปีที่แล้ว

ประมาทเลินเล่อ

คณะลูกขุนตัดสินว่าไบเออร์ กระทำการประมาทเลินเล่อด้วยการไม่แจ้งเตือนถึงพิษภัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชชนิดนี้

หนึ่งในคณะลูกขุนระบุว่า ไบเออร์ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อกรณีที่นายและนางพิลเลียด ต้องล้มป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)

คดีประวัติศาสตร์

ทีมทนายความของคู่สามีภรรยาที่อยู่ในวัย 70 ปีเศษคู่นี้ กล่าวว่า เงินค่าเสียหายที่คณะลูกขุนตัดสินลงโทษบริษัทไบเออร์ครั้งนี้นับเป็น "ครั้งประวัติศาสตร์"

นายเบรนต์ วิสเนอร์ บอกว่า "คณะลูกขุนได้เห็นเอกสารภายในบริษัทด้วยตัวเองที่แสดงให้เห็นว่ามอนซานโตไม่เคยสนใจที่จะค้นหาว่าราวด์อัพมีความปลอดภัยหรือไม่"

โดยคณะลูกขุนตัดสินให้ นายและนางพิลเลียด ได้รับค่าเสียหายเชิงลงโทษจากไบเออร์ คนละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าสินไหมทดแทนอีก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Roundup is a popular brand of weedkiller in the UK

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, สารไกลโฟเซตเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช "ราวด์อัพ" (RoundUp)

ด้านบริษัทไบเออร์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าราวด์อัพมีความปลอดภัยในการใช้งานโดยอ้างอิงผลการศึกษาหลายชิ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า คำตัดสินของคณะลูกขุนครั้งนี้ "รุนแรงเกินไปและไม่สมเหตุสมผล" บริษัทมีความผิดหวังกับคำตัดสินดังกล่าวและจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

นับแต่ไบเออร์เข้าซื้อกิจการของมอนซานโตเมื่อปีก่อน ก็ต้องเผชิญกับคดีความที่กล่าวหาว่าราวด์อัพเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งกว่า 13,400 คดี โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คณะลูกขุนในนครซานฟรานซิสโก ตัดสินให้ชายคนหนึ่งได้รับเงินค่าเสียหาย 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากพบว่าการใช้ราวด์อัพทำให้เขาป่วยเป็นมะเร็ง และเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ชายในรัฐแคลิฟอร์เนียอีกรายก็ชนะคดีลักษณะเดียวกัน โดยลูกขุนตัดสินให้เขาได้รับเงินค่าเสียหาย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ไกลโฟเซต คืออะไรและมีอันตรายไหม

ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่บริษัทมอนซานโต้เริ่มใช้ใน "ราวด์อัพ" ซึ่งออกจำหน่าย มาตั้งแต่ปี 1974 โดยโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชโดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

หลังจากสิทธิบัตรสารไกลโฟเซตของบริษัทมอนซานหมดอายุลงเมื่อปี 2000 ก็ทำให้ปัจจุบันสารดังกล่าวถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ

แม้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ (EPA) จะไม่ออกข้อจำกัดเรื่องการใช้สารไกลโฟเซต โดยชี้ว่ามีอันตรายต่ำ พร้อมออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดนี้เป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังการฉีดพ่น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นจากนานาชาติบ่งชี้ว่าไกลโฟเซตเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้

โดยเมื่อปี 2015 สำนักวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติขององค์การอนามัยโลก สรุปผลการศึกษาว่า สารไกลโฟเซต "อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์" แต่รายงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในปี 2016 สรุปว่า สารไกลโฟเซต "ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร"

ปัจจุบันบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ขณะที่ทางการศรีลังกาห้ามใช้ไกลโฟเซตเมื่อปี 2015 แม้จะถูกต่อต้านจากผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมชา เช่นเดียวกับโคลอมเบียที่ห้ามการฉีดพ่นสารไกลโฟเซตทางอากาศในปี 2015 แม้จะมีการใช้วิธีดังกล่าวอย่างแพร่หลายในการทำลายไร่โคคาผิดกฎหมายก็ตาม

ส่วนในประเทศไทยนั้น เมื่อปี 2560 ไทยนำเข้าสารไกลโฟเซต 59,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,283 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของวัตถุอันตรายที่นำเข้าประเทศ รองจากอันดับ 1 คือ สารพาราควอต จำนวน 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท