โควิด-19 : ศบค.มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว แม้ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ "ต่ำกว่าสิบ" ครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์

ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ (27 เม.ย.) มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน หลังจากครบกำหนดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 30 เม.ย.นี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่าที่ประชุมมีมติให้ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งประกาศห้ามการออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.

ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศขยายเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยต่อไปอีก ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 1 พ.ค. ไปจนถึงเวลา 23.59 น. ของวันที่ 31 พ.ค.

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมามี 9 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าหลักสิบเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่ง สธ.พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ก่อนจะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สถานบันเทิงและสนามมวยในวันที่ 15 มี.ค.

ขณะที่กรุงเทพฯ นั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อเฉพาะในสถานที่กักกันโรค 2 ราย จึงนับได้ว่าเป็นวันแรกเช่นกันที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในจังหวัด

เจ้าหน้าที่สายการบิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศขยายเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยต่อไปอีก 1 เดือน

เหตุผลที่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคงได้ร่วมกันประเมินถึงผลจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.จนถึงปัจจุบัน ทำให้มาตรการควบคุมโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง อีกทั้งจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกว่า 40,000 คน พบว่ากว่า 70% เห็นด้วยกับการประกาศถานการณ์ฉุกเฉิน

"ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรพิจารณาขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค. 2563" โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าสำหรับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ รวมถึงการให้สถานประกอบการและธุรกิจบางประเภทในบางจังหวัดกลับมาดำเนินการได้นั้น ศบค. อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะมีความชัดเจนช่วงเย็นวันนี้

เด็กใส่หน้ากากอนามัย

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม ศบค. เห็นว่ามี 4 มาตรการที่ยังต้องคงไว้ คือ

1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยในทุกด่านทั่วประเทศต่อไปอีก 1 เดือน

2.ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิวในเวลา 22.00-4.00 น.

3.งดการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด

4.งดการทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก เช่น การประชุม อบรม สัมมนา

"เปิดได้ก็ปิดได้"

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าขอให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ใช้นโยบายให้ทำงานที่บ้านต่อไป ส่วนการผ่อนปรนมาตรการจะคำนึงถึงปัจจัยทางสาธารณสุขเป็นหลัก และกิจกรรมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม วัดอุณหภูมิ มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ จำกัดจำนวนคน และมีการลงทะเบียนหรือแอปพลิเคชันตามตัวหากเป็นไปได้

"สิทธิมนุษยชนกับความปลอดภัยของสาธารณชน ก็ให้จัดสมดุลระหว่างสองเรื่องนี้ให้ได้อย่างดี" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ ศบค. จะประเมินผลจากการผ่อนคลายมาตรการเมื่อครบ 14 วัน หากควบคุมได้ดีก็จะให้ดำเนินการต่อไป แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ดี ก็อาจพิจารณาให้กลับมาปิดอีกครั้ง

"เปิดได้ก็ปิดได้" โฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับกรณีการเลื่อนวันหยุดในเดือน พ.ค. ซึ่งประกอบด้วยวันแรงงาน (1 พ.ค.) วันฉัตรมงคล (4 พ.ค.) และวันวิสาขบูชา (6 พ.ค.) นั้น นพ.ทวีศิลป์ยอมรับว่าในที่ประชุม ศบค. ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้จริงตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรม แต่ต้องรอการตัดสินใจอย่างเป็นทางการของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.)

"แต่ตามหลักการกรณีที่มีวันหยุดติดต่อกัน ย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของผู้คน ที่ประชุมศบค.จึงมีข้อเสนอให้เลื่อนไปก่อน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ติดเชื้อรายใหม่ 9 เสียชีวิตเพิ่มอีก 1

นพ.ทวีศิลป์รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของ ศบค.วันนี้ (27 เม.ย.) ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,931 ราย และมีผู้ที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 270 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ในไทย 52 คน

แพทย์ใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 52 นั้น เป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี อาชีพแม่บ้านอยู่ใน จ.ภูเก็ต ป่วยเป็นโรคโลหิตจางอยู่เดิม และพบว่าคนในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถึง 5 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบ เหนื่อยและปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 9 รายนั้น ถือว่าเป็นตัวเลข "ต่ำกว่าสิบ" เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. หรือในรอบ 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยใหม่ 9 คน นั้นจำแนกดังนี้

  • สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 คน ในจ.ภูเก็ต สุพรรณบุรี และยะลา
  • จากการค้นหาในเชิงรุกชุมชน จ.ยะลา 4 คน
  • ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานที่กักกันโรคของรัฐ 2 คน ซึ่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยผู้ป่วยรายใหม่นั้นมีการกระจายตัวใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สุพรรณบุรี ซึ่งอัตราป่วยต่อแสนประชากรยังคงมาที่สุดใน จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ป่วยกรุงเทพฯ พบเพียงในสถานที่กักกันโรค 2 รายเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการติดเชื้อภายในจังหวัด

ขณะที่เมื่อวานนี้ มีผู้เดินทางผ่านจุดผ่านแดนจากทั่วประเทศกว่า 400 คน ทั้งจากการลงทะเบียนล่วงหน้าและไม่ได้ลงทะเบียน ทำให้ระหว่างวันที่ 18-25 เม.ย. มีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแล้วกว่า 3.774 คน

ในวันนี้จะมีคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับจากต่างประเทศใน 3 เที่ยวบิน คือ จากญี่ปุ่น 35 คน เนเธอร์แลนด์ 25 คน และนิวซีแลนด์ 168 คน และวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย) จะมีอีก 2 เที่ยวบิน คือ สเปน 12 คน และอินเดีย 200 คน