6 ตุลา : ภารกิจ "สืบต่อความทรงจำ" กับวาระ "รื้อคิดความเป็นไทย" ของ 2 ผู้รอดชีวิต

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ
6 ตุลา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผ่านมา 43 ปี สำหรับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลา 2519 ทว่าประวัติศาสตร์หน้านี้ยังมืดมิด ไม่ถูกชำระสะสางอย่างจริงจัง ปริศนาที่ว่าใครคือผู้บงการยังไม่คลี่คลาย ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย จาก 45 รายยังไม่อาจระบุตัวตนได้

จากจุดเริ่มต้นของผู้คนที่มาชุมนุมประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกขับไล่ออกนอกประเทศเมื่อปี 2516 พัฒนาสู่ข้อกล่าวหาว่าขบวนการนักศึกษา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เป็น "คอมมิวนิสต์" และ "ซ่องสุมและสะสมอาวุธ" ไว้ภายในมหาวิทยาลัย นำไปสู่การเปิดฉากสังหารหมู่

บีบีซีไทยสนทนากับ 2 ผู้มีประสบการณ์ตรงใน 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ต่อเนื่อง คนหนึ่งคือ ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ ม. วิสคอนซิน-แมดิสัน อดีตผู้นำนักศึกษาและผู้ปราศรัยคนสุดท้ายบนเวทีชุมนุม อีกคนคือ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ อดีต "สหาย" ที่เข้าป่าจับอาวุธ เพื่อให้ "ความทรงจำ" ของพวกเขาได้ส่งเสียง และเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เกิด "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" อีก

วันพุธสุดวิปโยคของ "ผู้ปราศรัยคนสุดท้าย"

เสียง "วี้ด..." ดังขึ้น ธงชัยมองนาฬิกาบอกเวลา 05.30 น. จังหวะนั้นเองมีเสียง "ตูม" สนั่นตามมาพร้อมแรงสั่นสะเทือนทั่วสนามฟุตบอลภายใน ม. ธรรมศาสตร์

เขามาทราบภายหลังว่าเป็นเสียงระเบิดเอ็ม 79 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 ราย

"หยุดยิงเถิดครับ เราไม่มีอาวุธ เราชุมนุมอย่างสันติ" ธงชัยอ้อนวอนผ่านไมโครโฟนซ้ำไปซ้ำมา ขณะกำบังตัวอยู่ข้างหลังถังเหล็กที่ถูกแปรสภาพให้เป็นฐานเวทีปราศรัย

ผู้นำนักศึกษาวัย 19 ปีไม่รู้ตัวว่ากล่าววิงวอนตำรวจด้วยข้อความวกวนอยู่นานแค่ไหน รู้เพียงว่าหากเสียงจากเวทีเงียบหายไป เพื่อน ๆ อาจยิ่งเสียขวัญ กระทั่งเวลาเดินไปกว่าชั่วโมง เขาหมดเสียง หมดแรง และวางไมค์ลง

"เป็นคำพูดที่มีความหมายที่สุดเพื่อชีวิตนับพันในธรรมศาสตร์ แต่กลับไร้ความหมายที่สุด" ธงชัยระบุ

บริเวณสนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, ปฐมพร ศรีมันตะ/โครงการบันทึก 6 ตุลา

คำบรรยายภาพ, บริเวณสนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์

ภาพที่เห็นตรงหน้าคือเพื่อนนักศึกษานอนราบอยู่กับพื้น หลายคนไม่หายใจแล้ว แต่ตอนแรก ธงชัยคิดว่าผู้ชุมนุมแค่หมอบหลบ "ห่ากระสุน" ตามที่นัดแนะกันไว้ ทว่ามีภาพอื่น ๆ เคลื่อนตามมาอย่างต่อเนื่อง เขาเห็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่หอประชุมใหญ่นอนแน่นิ่ง เห็นเพื่อนถูกยิงล้มลงขณะพยายามวิ่งหนีเข้าไปหลบในตึก เห็นชีวิตนับพันที่ไม่มีทางสู้

"ผู้ปราศรัยคนสุดท้าย" อย่างธงชัยจึงบอกเสมอว่าเขาคือ "ประจักษ์พยาน" ของเหตุการณ์ "สังหารหมู่" 6 ตุลา 2519

เขาโกรธแค้น หวาดกลัว สิ้นหวัง เสียใจ ละอายใจ ร่ำไห้ไม่ต่างจากคนบ้าคลั่ง... ไม่มีเวทีปราศรัยขับไล่เผด็จการอีกต่อไป มีแต่นักศึกษาและประชาชนวิ่งหนีตายอย่างสับสนอลหม่านใน "วันพุธสุดวิปโยค"

ธงชัยกับพวกหนีไปได้ไม่ไกลก่อนถูกจับกุมในวันนั้น วันที่ความรุนแรงทั้งหมดจบลงด้วยการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ในเวลา 18.00 น.

ปฐมพร ศรีมันตะ/โครงการบันทึก 6 ตุลา
สถิติใน 6 ตุลา 2519

  • 45ราย เสียชีวิต (นศ./ปชช. 40 ราย จนท.รัฐ 5 ราย)

  • 145 ราย ได้รับบาดเจ็บ

  • 3,094 ราย ถูกจับกุม

  • 18 ราย ตกเป็นจำเลย

  • 0 ราย ผู้ก่อการสังหารที่ถูกดำเนินคดี

ที่มา : โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" (เฉพาะวันล้อมปราบ ไม่ได้รวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องไว้ ณ ที่นี้)

ราดหน้าที่กินอยู่ 4 ปีของ "สหายมา" กับภาวะ "ผีหลอก"

ภารกิจภาคต่อตกเป็นของ "นักศึกษานอกคุก" เช่น เกษียร ผู้ไม่ได้อยู่ใน "ลานประหาร" และรอดจาก "คุก" เพราะกลับบ้านไปอาบน้ำในช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลา หลังอยู่ในชุดเดิมมาหลายวัน เขาทำได้แค่ฟังข่าวจากวิทยุด้วยความเครียด-โกรธ พร้อมจัดการทำลายหนังสือฝ่ายซ้ายที่อยู่ในครอบครอง แล้วหลบไปอยู่ "ที่ปลอดภัย"

"อยากจะทำอะไรต่อกับชีวิตตัวเอง" คือคำถามที่วนอยู่ในหัวของคนหนุ่มวัย 18 ปี ผู้เป็นสมาชิกสภานักศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ ในช่วงเดือนเศษหลังเหตุ "ฆาตกรรมกลางกรุง" ญาติเสนอว่าจะส่งเสียไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่เขาปฏิเสธ

คำชักชวนที่เกษียรตอบรับแบบเงียบ ๆ มาจาก "เพื่อนนักกิจกรรม" ที่ติดต่อกับ "คนในป่า" ได้

ตำรวจแสดงวัตถุที่ระบุว่ายึดได้ บริเวณสนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, ปฐมพร ศรีมันตะ/โครงการบันทึก 6 ตุลา

คำบรรยายภาพ, ตำรวจแสดงวัตถุที่ระบุว่ายึดได้ บริเวณสนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์
สมุดปกขาว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สมุดปกขาวชี้แจงเหตุกาณ์ 6 ตุลา 2519 จัดทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เนื้อหาตอนหนึ่งบรรยายว่า "ฝ่ายซ้าย" ได้อาศัยชื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ก่อความปั่นป่วน ปลุกระดม เดินขบวน ทำลายสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

เจ้าตัวไม่แพร่งพราย "ภารกิจลับ" ให้ใครรู้ ไม่มีกระทั่งคำร่ำลา

"ผมออกจากบ้านประมาณสักใกล้ ๆ ทุ่ม เตี่ยผมนอนหันหลังให้ผนังอยู่กับพื้น แล้วถามว่าไปไหน ผมก็บอกว่าไปซื้อก๋วยเตี๋ยวราดหน้ากิน ห่อนั้นกิน 4 ปี" เขาแค่นหัวเราะเล็ก ๆ เมื่อหวนนึกถึงนาที "เปลี่ยนชีวิต"

เมื่อ "เข้าป่า" จับอาวุธ ร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เขาได้ชื่อใหม่ว่า "สหายมา" ระหว่างใช้ชีวิตในป่าด้านอีสานใต้เพื่อสานต่อภารกิจ "เปลี่ยนประเทศ" ของขบวนการนักศึกษา ด้วยการผลักดันให้มีเอกราช มีประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งเขารู้สึกว่า "ยังทำไม่เสร็จ" เพราะถูกตัดตอนโดยการล้อมปราบ 6 ตุลา ส่วนอีกภารกิจสำคัญคือ "ไขประตูคุกเอาเพื่อนคืนมา"

กิจวัตรในแต่ละวันของสหายมา คือฟังข่าว-หาข่าว-สรุปข่าวจากวิทยุคลื่นสั้น 4 รอบ เช้า เที่ยง เย็น ค่ำ ส่วนเวลาที่เหลือก็ไปร่วมใช้แรงงานบ้าง อยู่เวรเฝ้าทัพที่ตั้งบ้างตามแต่หัวหน้าสำนักงานจัดสรรให้

ก่อนเข้าป่า เกษียร "ไม่เคยสงสัยในชัยชนะของฝ่ายนักศึกษา" แต่สุดท้ายเขากับเพื่อนต้องปราชัยอีกครั้ง เมื่อถูกรัฐไทย "รุกทางการเมือง" ชนิดที่เกษียรบอกว่า "ฝ่ายนำจัดตั้ง พคท. คิดไม่ถึง"

จำเลย

ที่มาของภาพ, โครงการบันทึก 6 ตุลา

คำบรรยายภาพ, สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. กับพวกรวม 18 คน ถูกฝากขังระหว่างต่อสู้คดีคอมมิวนิสต์และอื่น ๆ 11 ข้อหา โดยมีอัยการศาลทหารกรุงเทพนำทีมฟ้องคดี เมื่อ 25 ส.ค. 2520 ก่อนมี พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

แกนนำนักศึกษาและประชาชน 18 คนที่ตกเป็น "จำเลยคดีคอมมิวนิสต์" และอื่น ๆ รวม 11 ข้อหา ได้รับการปล่อยตัวในปี 2521 หลังมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพื่อ "ให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ"

ขณะเดียวกันได้เกิดวิกฤตขัดแย้ง พคท. เป็นผลให้ความใฝ่ฝันในการสร้าง "สังคมใหม่" ของเหล่าทหารป่าล่มสลาย พวกเขาสิ้นหวังเสื่อมศรัทธาต่ออุดมคติ ต้องทยอยกลับเข้าเมืองอย่าง "ผู้แพ้" ด้วยโอกาสที่รัฐหยิบยื่นให้ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

ความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา และปรากฏการณ์ "ป่าแตก" จึงส่งผลต่อทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ บ่อยครั้งที่เกษียรรู้สึกเหมือน "ถูกผีหลอก"

"6 ตุลา ทำให้เจ็บปวดมาก มันเหมือนกับคนที่สนิทกับเรามาก เป็นเพื่อนสหายร่วมอุดมการณ์ต่อสู้กันในขบวนการนักศึกษา เวลาเขาถูกฆ่าไปอย่างไม่เป็นธรรม มันเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ทางการเมือง ทางอุดมการณ์มันตายไปด้วย... แต่ตอนที่การต่อสู้ในป่ามันพัง พคท. มันพัง ความรู้สึกมันกระทบกับตัวเองมากกว่าในความหมายที่ว่ามันมืด มันมีความรู้สึกว่าทางที่เราเชื่อและเดินมาตั้งนาน มันดันไม่ใช่ ยิ่งคิดต่อไปถึงบรรดาคนที่เข้าป่าไปพร้อมกันแล้วไม่มีโอกาสกลับออกมา มันตอบไม่ได้ว่าเขาตายเพื่ออะไร มันเหมือนผีหลอกจริง ๆ"

สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เป็น "พื้นที่ความทรงจำ" ในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ภาพสหายวงกรรมาชนที่ถูกซุ่มโจมตีเสียชีวิตแว่บขึ้นมาในความคิดของเกษียรเป็นครั้งคราว พร้อมคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบว่าเหตุใดเพื่อนจึงต้องเอาชีวิตไปทิ้งในป่า

"ผมใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง ถึงพยายามจะตอบตัวเองใหม่ว่าการที่เขาจะไม่ตายอย่างสูญเปล่าก็คือผมเดินหน้าต่อในสิ่งที่เราเชื่อร่วมกัน แต่ไม่ใช่ในวิถีทางที่มันถูกพิสูจน์ว่าผิด เราก็สู้ต่อไปในหนทางใหม่โดยสันติ โดยกรอบกฎหมาย กรอบการเมือง นี่คือวิธีจดจำเขาและทำให้การตายของเขามีความหมาย"

"ล้างแค้น" ด้วยการ "รื้อคิดความเป็นไทย" หยุด "ไทยฆ่าไทย"

เกษียร และ ธงชัย เริ่มต้น "ชีวิตที่ 2" หลังผ่านความตายในฐานะ "นักศึกษาคืนสภาพ" กลับไปเรียนต่อที่ ม. ธรรมศาสตร์ จนจบปริญญาตรีด้วยผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 ได้ทุนไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโทและเอกในต่างแดน แล้วเริ่มงานนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ตามลำดับ ผลงานวิชาการหลายชิ้นของพวกเขาสะท้อนจิตวิญญาณของคนรุ่น 6 ตุลา อย่างไม่ปิดบัง

แม้ไม่มีคำตอบให้ตัวเองว่า "ทำไมจึงมีชีวิตอยู่" แต่สิ่งที่พวกเขาพอรู้คือ "เขาอยู่เพื่ออะไร"

ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ ผลิตงานวิชาการจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับแนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติไทย-จีน โดยเชื่อว่ามีส่วนนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและทำให้สังคมไทยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาได้โดยไม่มีรัฐประหารและความรุนแรง

ภารกิจใหม่ที่เกษียรทำอย่างต่อเนื่องคือ "รื้อคิดความเป็นไทย" เพื่อไม่ให้เกิด 6 ตุลา ระลอกใหม่ นี่คือ "วิธีล้างแค้นที่ดีที่สุด" ในทัศนะของเขา

"ผมคิดว่าการฆ่าหมู่ การเกลียดชังกันขนาดนั้นที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในหมู่คนไทยด้วยกัน มันต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงพยุงมันไว้ผลักดันมันไปให้ถึงจุดนั้น หน้าที่ผมคือรื้อสิ่งเหล่านี้ รื้อด้วยการเมืองวัฒนธรรม ให้การฆ่ากันแบบนั้นเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้อีก"

จริงอยู่ที่ขบวนการ "3 ประสาน" นักศึกษา-แรงงาน-ชาวนา ตกอยู่ภายใต้อุดมคติของฝ่ายซ้ายและสังคมนิยม ทว่าพวกเขาถูกผลักให้เป็นอื่นยิ่งขึ้นด้วย "จินตนาการชาติไทย" ในแบบฉบับของชนชั้นนำและฝ่ายขวา ซึ่งเกษียรชี้ว่าใช้เกณฑ์เชื้อชาติเป็นเส้นแบ่งแรก ๆ และทำให้ขบวนการนักศึกษาขาดจากสถานะ "เพื่อนร่วมชาติ" ของ "คนไทยผู้รักชาติ"

บทเรียน 6 ตุลา ที่เกษียรสรุปได้คือ "ชาติเป็นฆาตกรได้" ดังนั้นต้องดูแลรักษาชาติให้ดี ไม่ให้ชาติถูกใช้ไปในทางที่ฆ่าคนในชาติด้วยกัน เพราะ "ไม่มีหลักการนามธรรมใดมีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นไปสังเวย"

"ความ(ไม่)เป็นไทย" ชนวนเกิด 6 ตุลา 2519

  • วาทกรรมผู้นิยม/ฝักใฝ่อุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็น "ศัตรูต่างชาติ"
  • วาทกรรมผู้นำขบวนการนักศึกษา "ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นญวน/เจ๊ก"
  • วาทกรรม "เจ๊กคอมมิวนิสต์" ตรงข้ามกับ "ความเป็นไทย" ซึ่งบังเอิญว่าคอมมิวนิสต์รุ่นแรกมาจากเมืองจีน
  • วาทกรรม "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลังเหตุสังหารหมู่ 6 ตุลา 251

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลังเหตุสังหารหมู่ 6 ตุลา 251
พระถนอม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศไทยในรูปสามเณรซึ่งบวชจากประเทศสิงคโปร์ แล้วตรงมาบวชพระที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร 19 ก.ย. 2519 กลายเป็นชนวนนัดชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภารกิจ "รื้อคิดความเป็นไทย" สัมพันธ์กับ "ความเงียบ" และ "ความทรงจำ" ของผู้คนต่อ 6 ตุลา วันที่มืดมิดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทว่ากลับขาดไร้สถานะทางประวัติศาสตร์

นักวิชาการวัยเกษียณที่เรียกตัวเองว่า "นักการเมืองวัฒนธรรม" ผู้พยายามทำให้ "ชาติน่ารักขึ้น" ยอมรับว่า ไม่มีวันที่สังคมไทยจะพูดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา ได้อย่างสมบูรณ์ และยากที่เหตุการณ์นี้จะพลิกกลับมาเป็น "ประวัติศาสตร์กระแสหลัก" ทว่าความโชคดีที่เขาเห็นคือสังคมไทยไม่ได้เป็นพื้นที่ราบที่ผู้มีอำนาจยึดกุม-ควบคุมได้ทั้งหมด แต่ยังมีหลุม บ่อ ภูเขา ช่องที่จะซุกความทรงจำและความหมายต่าง ๆ เอาไว้ได้

"หน้าที่ในการซุก การเก็บ การรักษาความทรงจำและความหมายเหล่านี้คือหน้าที่ของการเมืองวัฒนธรรม มันอาจจะอยู่ในรูปงานวิชาการ เพลง กลอนต่าง ๆ และมันจะอยู่ได้นานเพราะมันมีคุณค่าที่ตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปของสังคมเท่าที่มันตอบได้... ดังนั้นหน้าที่ผมก็คือหาที่อยู่ให้มัน"

เกษียรเชื่อว่า 6 ตุลา "จะไม่ตาย" แม้หมดคนรุ่นเขาไปแล้ว เหมือนอย่างที่ความหมายของปฏิวัติสยาม 2475 ยังอยู่แม้สมาชิกคณะราษฎรจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม

ภารกิจ "สืบต่อความทรงจำ" ผ่านหนังสือเล่มใหม่ของธงชัย

ขณะที่ธงชัยออกตัวว่าไม่ค่อยมองโลกในแง่ดีว่าคนจะจำ 6 ตุลา ไปได้สักเท่าไร และคิดว่าความหมายคงค่อย ๆ เลือนหายไปหลังพ้นจากคนรุ่นเขา จากเงื่อนไขที่ว่าแม้ 6 ตุลา "ไม่ใช่เรื่องเล็ก" แต่ก็ "ไม่ใช่เรื่องที่โลกจดจำ" หากเทียบกับเหตุล้อมปราบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมการเมืองไทย สิ่งที่พบตลอด 43 ปีคือ "ความเงียบ"

"สังคมไทยไม่เปิดให้มีการพูดคุยสะสาง ถ้ามีการพูดคุยสะสางกันอย่างสุด ๆ เลย สอบสวน และเรียกหาความยุติธรรม มันก็อาจจะจบลงสักวันหนึ่ง แต่อาจจะอยู่นานขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด ก็คิดง่าย ๆ แค่ว่าก็สืบต่อความทรงจำนี้ให้นานที่สุด" ธงชัย ระบุ

ลำโพง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผลการพิสูจน์ของตำรวจพบว่า รูพรุนบนลำโพงที่ติดตั้งอยู่บริเวณสนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์ เกิดจากกระสุนปืนลูกซอง 3 นัด ซึ่งคณะทำงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ชี้ว่าสื่อถึง "ความเงียบ" และ "ถูกปิดปากด้วยความรุนแรง"

ภายใต้ "ความทรงจำไร้เสียง" ของสังคม และสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง "พูดไม่ได้" ใช่ว่า "คนในอดีต" จะไร้ความรู้สึก ธงชัยเปรียบเปรย "ความเงียบ" ใน 6 ตุลา ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น "อาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชนของตน" กับขบวนการ Me Too - (#MeToo movement) ของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ

"คุณคิดว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทั้งหลายในขบวนการ Me Too คิดว่าคนเหล่านั้นเขาลืมหรือ ไม่ลืมเลยใช่ไหมฮะ แต่ก็พูดไม่ออก จนกระทั่งสังคมเปิดขึ้นมา ขบวนการ Me Too เปิดมา เขาถึงโผล่มาได้ แต่ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาจำอยู่ในหัวตลอดเวลา พวกเขารู้อยู่ ผมว่า 6 ตุลา ก็อยู่ในภาวะทำนองนั้น"

ความเงียบ บาดแผล และประวัติศาสตร์ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกธงชัยบันทึกลงหนังสือ "Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok" ซึ่งเขาตั้งชื่อภาษาไทยว่า "ลืมไม่ได้ จำไม่ลง"

ประตูแดง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เหตุฆาตกรรม วิชัย เกษศรีพงษา และ ชุมพร ทุมไทย พนักงานการไฟฟ้าซึ่งร่วมปิดโปสเตอร์คัดค้านการกลับเข้าประเทศของ "เณรถนอม" แล้วนำร่างไปแขวนไว้ที่ "ประตูแดง" จ. นครปฐม เมื่อ 24 ก.ย. 2519 กลายเป็นชนวนนัดชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชน
เสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษา ม. รามคำแหง สวมใส่ ก่อนเสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลา 2519 ซึ่งผลชันสูตรระบุสาเหตุเสียชีวิตเพราะถูกยิงที่ต้นขา

"ผมลาออกจากงาน เพราะผมต้องการเขียนหนังสือนี้ให้เสร็จ จะได้ช่วยต่ออายุความทรงจำนี้ไปอีกหน่อย อาจจะได้ไม่นานนะหนังสือเล่มหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็คือหนังสือที่พิมพ์แล้วมันอยู่บนชั้นหนังสือ มันก็ไม่ตาย ถ้าคนไม่เอาหนังสือไปทิ้ง ห้องสมุดหลายที่หลายมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลก มันก็เก็บหนังสือไว้บนนั้นล่ะเชื่อสิ"

ธงชัยยุติบทบาทอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม. วิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐฯ ปลายปี 2559 เพื่อเขียนหนังสือ 296 หน้า หลัง 10 ปีก่อนหน้านั้น เขาต้องเขียน ๆ หยุด ๆ ทุกข์ทรมานใจ คิดกลับไปกลับมาหลายเรื่อง แต่เมื่อทิ้งงานประจำ ภารกิจ "สืบต่อความทรงจำ" ผ่านหนังสือจึงสำเร็จลงในเวลา 1 ปีเศษ และเตรียมเผยแพร่ในเดือนมีนา 2563

"ความยากคือนักประวัติศาสตร์ต้องเขียนความทรงจำของประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองมีประสบการณ์อยู่ในฉาก มันยากกระทั่งสรรพนามว่าจะ 'เรา' หรือ 'เขา' ผมติดอยู่เป็นปี ต้องต่อสู้กับตัวเองทั้งในแง่เหตุการณ์ ความเป็นวิชาการ และมิตรภาพกับเพื่อนฝูงซึ่งต้องมีระยะห่าง ตอนหลังวางมันลง แล้วก็เขียนไปก่อน" ธงชัยกล่าว

"ผี 6 ตุลา" และ "เดนตายจากการปฏิวัติ"

เข้าสู่เดือนตุลาของทุกปี "อดีต" มักกลับมาเยี่ยมเยียนธงชัยและเกษียร ทำให้น้ำตารื้นเป็นบางครั้ง

6 ตุลา 2539 ธงชัย เป็น "โต้โผ" จัดงานรำลึก 20 ปี มีการจัดพิธีฌาปนกิจเชิงสัญลักษณ์แก่เพื่อนผู้วายชนม์ที่สนามฟุตบอล ม. ธรรมศาสตร์ ซึ่งเขาเห็นว่า "เป็นการปลดปล่อยพลังอย่างรวมหมู่ครั้งใหญ่" ของคนรุ่นเขา เพื่อเรียกคืนชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี

จม. อ. ธงชัย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สำเนาจดหมายเขียนด้วยลายมือของ ธงชัย วินิจจะกูล ลงวันที่ 1 ก.ย. 2538 ถูกส่งถึง "คนเดือนตุลา" เพื่อชวนมาร่วมจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา

6 ตุลา 2559 "ผู้ปราศรัยคนสุดท้าย" กลับมาเป็นผู้กล่าวปาฐกถาหลักในงานรำลึก 40 ปี ธงชัยขานชื่อผู้เสียชีวิตทุกรายที่ระบุตัวตนได้ และเห็นว่า "เริ่มเกิดการส่งต่อความทรงจำระหว่างรุ่น"

นอกจากสิ่งตกค้างในใจ ภารกิจที่เหลืออยู่ คนเดือนตุลายังเปรียบเปรยตัวเองอย่างประชดประชันว่าเป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์" "ผี 6 ตุลา" "เดนตายจากการปฏิวัติ"

ธงชัยไม่ปฏิเสธฉายา "ผี 6 ตุลา" ตรงกันข้ามเขารู้สึกภูมิใจ และคิดว่ามีเหตุผลชอบธรรมทุกประการในการเป็นผี

"สังคมไทยไม่ยุติธรรมเลยอ่ะ ตายขนาดนั้น ใช้วิธีเลวทรามขนาดนั้น ยังไม่สะสางกันอีก ทำอย่างกับไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ยุติธรรม ดังนั้นการที่จะมีผีหลาย ๆ คนอยู่ ผมว่าแสนเป็นเรื่องชอบธรรม" ธงชัยกล่าว

ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยืนยันว่าไม่ได้หมกมุ่นกับ 6 ตุลา จน "เอาดีไม่ได้" ในชีวิต เพราะตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้คนปฏิเสธเขาไม่ได้ในทางวิชาการ

ขณะที่เกษียรอธิบายความต่างของ "ผี 6 ตุลา" กับ "เดนตายจากการปฏิวัติ" ซึ่งเขาเป็นผู้บัญญัติขึ้นว่า คำแรกสะท้อนว่าคนเดือนตุลาเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ ส่วนคำหลังจงใจจัดวางบทบาทตัวเองในฐานะผู้กระทำ แม้จะเป็นผู้กระทำที่ล้มเหลวพ่ายแพ้ก็ตาม

"พวกมึงไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา พวกมึงคือคนที่จะเข้าไปเปลี่ยนสังคมไทยทั้งสังคมด้วยอาวุธ แล้วแพ้ แล้วรอดชีวิตมา ด้วยฐานะ บทบาท ประสบการณ์พิเศษเหล่านี้ มึงอยากทำอะไรกับมัน มึงคิดว่ามันมีความหมายอะไร ผมอยากเตือนพวกเขาอย่างนี้" เกษียรกล่าว

ในห้วง 43 ปีที่ผ่านมา เกษียรเห็นว่ารัฐไทยไม่ได้สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ของคนรุ่น 6 ตุลา จึงเกิดพฤษภาทมิฬ 2535 และปฏิบัติการกระชับพื้นที่ราชประสงค์ 2553 รวมถึงอาจหลงลืม "สงครามกลางเมือง" การต่อสู้ระหว่างรัฐบาล-คอมมิวนิสต์ ซึ่งต้องใช้การเมืองนำการทหาร และต้องมีที่ยืนให้คนถืออาวุธ จึงไม่สามารถจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดี เขาจึงรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังจะแพ้ภัยตัวเอง

"คุณต้องจ้องหน้าผี 6 ตุลา อย่างเต็มตา คุณถึงจะรู้ว่าความเป็นมนุษย์ที่ต้องรักษาไว้สำคัญแค่ไหน" เขากล่าวทิ้งท้าย

2 สหายกับความเหมือน-ความต่าง

table

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

หมายเหตุ 1) ข้อมูลส่วนหนึ่งของเหตุการณ์มาจากเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา และหนังสือ "6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" เขียนโดย ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล 2) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักฐาน/วัตถุพยานบางส่วนอยู่ในครอบครองของคณะทำงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งจะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ "ประจักษ์ | พยาน" ที่หอประชุมศรีบูรพา ม. ธรรมศาสตร์ วันที่ 5-6 ต.ค. 2562