ฝุ่น PM 2.5 : ผลวิจัยเผย มลพิษอากาศทำให้เสี่ยงแท้งพอ ๆ กับสูบบุหรี่

ท้อง

ที่มาของภาพ, PA

นสพ.เดอะการ์เดียน ซึ่งอ้างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ในสหรัฐฯ รายงานว่า มลพิษทางอากาศทำให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เสี่ยงแท้งลูกพอ ๆ กับการสูบบุหรี่ นักวิจัยระบุว่า ผลการวิจัยนี้น่ากังวลใจและต้องมีมาตรการจัดการกับมลพิษทางอากาศเพื่อคนรุ่นต่อไป

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและทำให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ผลวิจัยอีกชิ้นเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการพบอนุภาคของมลพิษทางอากาศที่รกในครรภ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยล่าสุดนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ประเมินผลกระทบในระยะสั้นของมลพิษทางอากาศ โดยพบว่า ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูก 16 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

Exhaust

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดจากการเผาพลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

ดร.แมทธิว ฟูลเลอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ระบุว่า หากเราเปรียบเทียบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้กับงานวิจัยเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อทารกในครรภ์ชิ้นอื่น ๆ จะพบว่ามันคล้ายกับการสูบบุหรี่ หากพูดถึงการแท้งลูกในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

งานวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility ทำขึ้นที่เมืองซอลต์เลคซิตี แต่ ดร.ฟูลเลอร์ บอกว่า สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ใดในโลกก็ได้ เพราะมีเมืองใหญ่ ๆ ที่อื่นที่กำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศที่แย่กว่า ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เมืองซอลต์เลคซิตีอยู่ในระดับเท่า ๆ กับกรุงลอนดอนและกรุงปารีส

ฝุ่นละอองกรุงเทพฯ

ในไทยเอง กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันว่า ฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง อาทิ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

วันนี้ (19 ธ.ค.) กระแสฝุ่น PM 2.5 กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่กลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้แชร์ข้อความและภาพ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 47 สถานีตรวจวัดค่าได้ 24 - 53 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงจากเมื่อวาน พบปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 สถานี (พื้นที่สีส้ม) ได้แก่ ริมถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม และ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

โดยกรมควบคุมมลพิษยังเตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด สำหรับพื้นที่อื่นๆ คุณภาพอากาศอยู่ในระดีบดีมาก 2 สถานี ระดับดี 27 สถานี และระดับปานกลาง 16 สถานี

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ. สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อเดือน ก.พ. โดยบอกว่า "ควรรับทราบไว้ และก็ระมัดระวังระดับหนึ่ง ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ก็ระวังตัวนิดนึง คุณหมอบางท่านบอกว่าการสูดฝุ่นแบบนี้เข้าไปทำให้เลือดข้นได้ และทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น"

ฝุ่นละอองกรุงเทพฯ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่หลายเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญ ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ กรุงปักกิ่งของจีน เผชิญกับวิกฤตฝุ่นละอองที่ย่ำแย่กว่ากรุงเทพฯ โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งปีถึง 85 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเทียบได้กับการสูบบุหรี่วันละ 4 มวนต่อวัน

ในกรุงลอนดอน รายงานซึ่งจัดทำขึ้นโดย คณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบทางการแพทย์จากมลพิษทางอากาศ (Committee on the Medical Effects of Air Pollutants) ระบุว่า บางส่วนของเส้นทางรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอนมีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าริมถนนในเมืองถึง 30 เท่า

งานวิจัยพบว่า การเดินทางด้วยระยะทางเท่า ๆ กันทางรถบัสในกรุงลอนดอนจะทำให้ผู้โดยสารได้รับมลพิษราว 1 ใน 3 ของการเดินทางด้วยรถใต้ดิน

รถไฟใต้ดิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บางส่วนของเส้นทางรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอนมีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าริมถนนในเมืองถึง 30 เท่า

เสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศ?

ย้อนไปเมื่อปี 2013 เอลลา คิสซิ-เดบราห์ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ เสียชีวิตจากภาวะหอบหืดรุนแรง ในช่วงนั้น บ่อยครั้งที่มลพิษทางอากาศบริเวณทางใต้ของกรุงลอนดอนที่เธออาศัยอยู่มีระดับเกินที่กฎหมายสหภาพยุโรปกำหนด การสอบสวนคดีนี้เมื่อปี 2014 พบว่า เธอเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และภาวะหอบหืดรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อัยการสูงสุดอังกฤษได้มีคำสั่งให้เปิดการสอบสวนคดีนี้ขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาว่า "ระดับมลพิษทางอากาศที่สูงในระดับที่ผิดกฎหมาย" ส่งผลบางส่วนต่อการเสียชีวิตของเด็กหญิงผู้นี้หรือเปล่า

เอลลา

ที่มาของภาพ, ROSAMUND ADOO-KISSI-DEBRAH

คำบรรยายภาพ, เอลลา เสียชีวิตจากภาวะหอบหืดรุนแรง

เมื่อ ส.ค. ปีที่แล้ว นางอาดู-คิสซิ-เดบราห์ รวบรวม 1 แสนรายชื่อเรียกร้องให้อัยการสูงสุดอังกฤษเปิดการสอบสวนถึงสาเหตุการตายของลูกสาวเธอขึ้นใหม่

เธอบอกว่า หากลูกยังมีชีวิตอยู่ก็จะอายุ 15 ปีในอีก 2 สัปดาห์ และถึงแม้การสอบสวนคดีใหม่อีกครั้งจะไม่สามารถทำให้ลูกฟื้นกลับมาได้ "แต่มันจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมเด็กคนหนึ่งซึ่งมีสุขภาพดีมากถึงได้ล้มป่วยอย่างกะทันหันได้"

"เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ที่เด็กในสหราชอาณาจักรในวันนี้จะเสียชีวิตจากโรคหอบหืด เราต้องการมาตรการจริงจังในการจัดการกับอากาศ เช่น ยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ดีเซลเก่า ๆ การขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น และมีทางจักรยานมากขึ้น"

โจซลีน ค็อคเบิร์น ทนายด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับผิดชอบคดีของเอลลา บอกว่า คดีนี้ให้โอกาสผู้ที่ทำงานในภาครัฐได้ปกป้องสุขภาพของประชาชน เป็นโอกาสที่พวกเขาจะถูกตั้งคำถามและได้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และได้คิดหาวิธีแก้ไข้ปัญหาเพื่อที่จะได้เดินหน้าขจัดมลพิษทางอากาศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้ได้รับการปรับปรุงมาจากต้นฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2562