ประชุมอาเซียน : อะไรคือความกังวลใจของอินเดียในการเข้าร่วมความตกลง RCEP

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย (ซ้าย) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย (ซ้าย) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย

ความหวังของไทยในฐานะประธานอาเซียนในการผลักดันให้เกิดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค The Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ไม่ได้สดใสดังที่ตั้งใจไว้ เมื่ออินเดียขอพิจารณาถึงข้อกังวลและผลประโยชน์ให้รอบด้านทั้งในการค้าและการลงทุนและต้องการหาข้อสรุปให้ได้ก่อน

ในขณะที่คาดว่า การลงนามในความตกลงดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือน ก.พ. ปีหน้า ซึ่งเวียดนามจะเป็นประธานอาเซียน

ประเด็นที่สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจรายงานในการประชุมครั้งนี้คือ การหาข้อสรุปในการร่วมลงนามความตกลง RCEP ว่าจะสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายหรือไม่ โดยที่รัฐบาลไทยมีความหวังว่าอยากให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

RCEP มีสมาชิก 16 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product--GDP) คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งโลก และมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก

"การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่ง และยั่งยืนผ่านการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในสาระสำคัญให้แล้วเสร็จภายในปีนี้" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อ3 พ.ย. ว่า ความหวังที่จะเห็นผลสรุปของกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งทางการจีนให้การสนับสนุน ต้องกลับกลายเป็นคำถามขึ้นมาว่า จะเดินหน้าต่ออย่างไรต่อไป เมื่ออินเดียแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการไหลทะลักของสินค้าจากจีนมายังอินเดีย

ล่าสุดในวันที่ 4 พ.ย. ไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ท่องเที่ยวและการลงทุน ประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อินเดียยังคงจะดำเนินการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคต่อไป ซึ่งทางการไทยระบุว่าจะมีการลงนามในความตกลงดังกล่าวในปีหน้า

แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการไทยจะระบุว่า อินเดียจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงดังกล่าว แต่อินเดียยังมีข้อกังวลบางประเด็นที่จำเป็นต้องเจรจาหรือต่อรองเพื่อให้ได้ข้อสรุป

"ตามความเข้าใจของผม อินเดียคงจะดำเนินการเจรจาและต่อรองต่อไป ในขณะที่เราเองก็เปิดโอกาสให้กับอินเดียเช่นกัน" นายเบอร์มิงแฮมกล่าวกับสื่อมวลชน

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอินเดีย

ในขณะที่นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันที่ 3 พ.ย. ว่า เขายังคงให้คำมั่นต่อกรอบความร่วมมือดังกล่าว แต่โอกาสที่จะเปิดกว้างขึ้นนั้นจะต้องเหมาะสมกับผลประโยชน์ของอินเดียด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีอินเดียต้องการใช้เวทีนี้ในการหารือคือ การยกข้อกังวลและประโยชน์ของอินเดียทางการค้า สินค้า และการลงทุน ที่จะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่หรือไม่

ชาวนาและเกษตรกรชาวอินเดียในรัฐปัญจาบ ออกมาประท้วงการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชาวนาและเกษตรกรชาวอินเดียในรัฐปัญจาบ ออกมาประท้วงการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

แรงกดดันจากภายในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้นำอินเดียต้องมีท่าทีเช่นนั้น โดยก่อนที่นายโมดีจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เว็บไซต์ อินเดียทูเดย์ รายงานว่า ชาวนาในอินเดียออกมาเรียกร้องให้จัดการประท้วงทั่วประเทศเพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลถอนตัวออกจากการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะมีขึ้น

พวกเขาได้ให้เหตุผลว่า การกลายเป็นส่วนหนึ่งในความตกลงดังกล่าวจะเปิดทางให้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าการเกษตรส่วนใหญ่เป็นศูนย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ

อินเดียทูเดย์ รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวนาในรัฐสำคัญ ๆ ออกมาประท้วงหลายรัฐ รวมถึง รัฐอุตตรประเทศ รัฐปัญจาบ รัฐอันตรประเทศ และรัฐทมิฬนาฑู เป็นต้น

เป็นไปได้หรือไม่หากไม่มีอินเดีย

รอยเตอร์รายงานอีกว่า หลังจากมีประเด็นนี้ขึ้นมา มีหลายประเทศได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP โดยปราศจากอินเดีย

ผู้นำสิงคโปร์ อินเดีย และไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

สำนักข่าวแห่งนี้ได้อ้างคำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า อินเดียยังไม่ถอนตัวจากการเจรจานี้และการเจรจายังเป็นไปด้วยดี และคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีความก้าวหน้าที่ดี

ภาพเศรษฐกิจ

ที่มาของภาพ, AFP

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ไทมส์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า ยังมีประเด็นสำคัญหลายประการที่จะต้องปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกที่ดี ในลักษณะต่างฝ่ายต่างได้ (win-win outcome) ทั้งนี้ นายโมดี มองว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิสัยทัศน์และนโยบายอินโด-แฟซิฟิก ของอินเดีย

สำหรับการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.- 4 พ.ย. ที่อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ไม่ได้มีเพียงผู้นำอาเซียนจาก 10 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่มีผู้นำระดับสูงจากคู่เจรจาของอาเซียนอีก 8 คู่เจรจา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติด้วย