Got a TV Licence?

You need one to watch live TV on any channel or device, and BBC programmes on iPlayer. It’s the law.

Find out more
I don’t have a TV Licence.

รายงานสด

ระบุสหราชอาณาจักรโดยตลอด

  1. อย่าลืมดูแลป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19

    บีบีซีไทย “เกาะติดวิกฤตโควิด-19ประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศวันแรก” มาตั้งแต่ช่วงสายของวันนี้ ก่อนปิดทำการรายงานสด เราขอสรุปความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบวัน ดังนี้

    • วันแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งประเทศ มีการตั้งจุดตรวจสกัดไวรัสโควิด-19 ตามถนนสายหลัก รวม 357 จุด เพื่อลดอัตราการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชน
    • ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่พิจารณามาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) โดยหัวหน้าผู้รับผิดชอบฝ่ายความมั่นคงฯ ขอให้ประชาชนสมัครใจอยู่บ้านดีกว่าถูกบังคับ
    • กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 111 ราย มีผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 4 รายเท่าเดิม โดยคาดหวังว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วย “หน่วงสถานการณ์” ไม่ให้ยอดผู้ป่วยในไทยพุ่งขึ้นเป็น 3,500 รายตามการคาดการณ์ทางการแพทย์
    • แม้มีข้อกำหนดควบคุมราคาสินค้าและเวชภัณฑ์ แต่ปรากฏว่าราคาไข่ไก่ในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้น และขาดตลาด ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องออกคำสั่งงดส่งออกไข่ไก่เป็นเวลา 7 วัน
    • ผบ.ทบ. สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการจัดแข่งมวยที่เวทีลุมพินี เมื่อ 6 มี.ค. ซึ่งกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 หลังพบบุคคลในหลายวงการได้รับเชื้อจากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว

    ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามการรายงานสดของบีบีซีไทย และอย่าลืมดูแลป้องกันตัวเองท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด และการประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ของรัฐบาลซึ่งจะอยู่กับพี่น้องชาวไทยไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. เป็นอย่างน้อย หรือคิดเป็น 35 วัน

    คนใส่หน้ากาก
  2. สถานีรถไฟ-ขนส่งเงียบเหงา เหตุประชาชนไม่เดินทางออกจาก กทม.

    ผู้โดยสารมาใช้บริการที่สถานีรถไฟหัวลำโพงบางตา ในวันแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
    Image caption: ผู้โดยสารมาใช้บริการที่สถานีรถไฟหัวลำโพงบางตา ในวันแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
    หัวลำโพง
    Image caption: การจำหน่ายตั๋วโดยสารหลังจากนี้ จะจำหน่ายตั๋ว 25% ของที่นั่ง สำหรับรถนั่งชั้น 3, รถนั่งชั้น 3 ปรับอากาศ, รถนั่งชั้น 2 และรถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ และจําหน่ายตั๋ว 50% สำหรับรถนั่งและนอนชั้นที่ 2 รถนั่ง, นอนชั้นที่ 2 ปรับอากาศ, รถนั่งและนอนชั้นที่ 1 ปรับอากาศ
    การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้มาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” อย่างเคร่งครัดภายในขบวนรถไฟ
    Image caption: การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้มาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” อย่างเคร่งครัดภายในขบวนรถไฟ
    เจ้าหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในขบวนรถเพื่อความปลอยภัยของผู้โดยสาร
    Image caption: เจ้าหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในขบวนรถเพื่อความปลอยภัยของผู้โดยสาร
    บริษัทขนส่งหลายแห่งภายในสถานีขนส่งสายใต้ใหม่แจ้งปิดทำการชั่วคราว
    Image caption: บริษัทขนส่งหลายแห่งภายในสถานีขนส่งสายใต้ใหม่แจ้งปิดทำการชั่วคราว
    ที่นั่งพักรอสำหรับผู้โดยสารว่างเปล่า สะท้อนว่าประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดน้อยลง
    Image caption: ที่นั่งพักรอสำหรับผู้โดยสารว่างเปล่า สะท้อนว่าประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดน้อยลง
  3. สภาพอากาศร้อนชื้นฆ่าเชื้อไวรัส - หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ

    ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสภาพอากาศแบบเขตร้อนเช่นในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การระบาดของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ไม่เป็นไปอย่างรุนแรงเช่นในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวพอดี

    ผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร อ่านต่อ : สภาพอากาศร้อนชื้นฆ่าเชื้อไวรัส - หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ

    ภาพคนฉีดน้ำ
  4. ฉันจะป้องกันตัวอย่างไร ?

    เชื้อไวรัสสายพันธ์ใหม่นี้สามารถติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถป้องกันตัวได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือเว้นระยะห่างจากผู้ที่มีอาการไอหรือจามอย่างน้อยหนึ่งเมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก

    เนื่องจากมันอาจเป็นช่องทางที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ไม่ทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

    ทำตามวิธีในคลิปนี้ได้เลย

    Video content

    Video caption: ล้างมืออย่างไร เพื่อป้องกันไวรัส
  5. ใครมีสิทธิได้เงินเยียวยา 5,000 บาท

    หลังจากรัฐบาลออกมาตรการระยะที่ 2 เพื่อเยียวยากลุ่มแรงงานลูกจ้างและผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งในมาตรการที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน คือ การสนับสนุนเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ให้แก่กลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน

    มาตรการนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่าใครมีสิทธิ-ไม่มีสิทธิรับเงิน 5,000 บาท บีบีซีไทยสรุปให้เข้าใจง่าย ดังนี้

    ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้แก่

    • แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการระบาด ไม่ว่าจะมีนายจ้างหรือไม่มีนายจ้างก็สามารถเข้าร่วมได้
    • ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม (ลูกจ้างที่มีการส่งประกันสังคม) ที่มีคุณสมบัติไม่ครบที่จะได้รับความช่วยเหลือจากประกันสังคม และไม่ได้ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการได้
    • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ของประกันสังคม (อาชีพอิสระที่มีการส่งประกันสังคมเอง)

    ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

    ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารผู้รับลงทะเบียนรับสิทธิ ได้ออกประกาศแจ้งประชาชนที่สาขาถึงมาตรการนี้สรุปได้ว่า ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยาส่วนนี้ ได้แก่

    • ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร
    • ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
    • ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยคนชรา

    ทั้งนี้เนื่องจากคนเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลืออื่นจากรัฐอยู่แล้ว

    บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  6. พาณิชย์ห้ามส่งออกไข่ไก่ 7 วัน หลังไข่แพง-ไข่ขาดตลาด

    ราคาไข่ไก่ที่พุ่งพรวดพราด สวนทางกับ “ข้อกำหนด” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างกว้างขวาง ร้อนถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ต้องออกมาย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการขายเกินราคา

    ขณะนี้ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.80–2.90 บาท/ฟอง เมื่อถึงมือผู้บริโภคจะอยู่ในช่วง 3.30–3.50 บาท/ฟอง หรือคิดเป็นราว 100 บาท/แผง แต่โดยข้อเท็จจริง ชาวบ้านร้านถิ่นหาไข่ไก่ได้ยากยิ่งในท้องตลาด และถ้าซื้อยกแผง ราคาก็ขยับไปถึง 170-190 บาท

    “หากจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ควรจะเป็น ก็จะถือว่าเป็นการค้ากำไรเกินควร ซึ่งจะมีการจับกุมดำเนินคดีโดยเด็ดขาด” นายจุรินทร์ประกาศ

    เขาบอกด้วยว่า กรณีการขายสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะค้ากำไรเกินควร รวมทั้งไข่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ไข่

    รมว.พาณิชย์อ้างว่า สาเหตุที่ไข่ไก่ขาดตลาด เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการที่เข้มข้นขึ้นของรัฐบาล อาจทำให้ประชาชนกังวลว่าไข่จะขาดตลาด ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าในช่วง 3 วันนี้ ถึง 2-3 เท่า แต่เมื่อดูตัวเลขการผลิตรวมโดยเฉลี่ย ยังถือว่าอยู่ในปริมาณเท่าหลายปีที่ผ่านมาคือวันละ 40 ล้านฟอง

    อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์เร่งด่วนเรื่องไข่ขาดตลาด นายจุรินทร์ระบุว่า จะออกประกาศห้ามการส่งออกไข่ไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น มีผลตั้งแต่วันนี้และจะทดลองมาตรการนี้เป็นเวลา 7 วัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาขยายเวลาอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ไม่มีการอนุญาตส่งออกด้วย เพื่อให้สอดประสานเป็นแนวเดียวกัน

  7. อนุทินปัดตำหนิหมอ มีแต่สนับสนุน

    อนุทิน
    Image caption: นายอนุทิน ชาญวุรกูล ร่วมพิธีรับมอบเวชภัณฑ์จากมูลนิธิ แจ๊ก หม่า และมูลนิธิ อาลีบาบา ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 5 แสนชิ้น, หน้ากาก N95 5 หมื่นชิ้น ชุดป้องกันเชื้อโรค 5 หมื่นชิ้น

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงว่าคลิปของเขาที่ปรากฏในโลกโซเชียล “เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด” หลังมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “พวกเราก็ไม่พอใจนะครับสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งเราควรจะต้องเป็นบุคคลตัวอย่าง”

    ในคลิปดังกล่าว นายอนุทินบอกด้วยว่า เท่าที่ได้รับรายงานมา “การติดเชื้อของแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาโควิด-19 ยังไม่มี นี่คือสิ่งที่ต้องไปหวดกัน”

    คำพูดในเชิงตำหนิบุคลากรทางการแพทย์ข้างต้น ทำให้นายอนุทินถูก “ถล่ม” อย่างหนักในโซเชียลมีเดีย

    แต่เขายืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิหรือต่อว่าแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการทำงาน เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนักและเสี่ยงชีวิต อยู่แล้ว แต่ที่ตำหนิ คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปติดเชื้อมาจากการไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แต่ยังมาทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ต้องถูกกักตัว เสียกำลัง ขาดบุคลากรที่จะมาทำงานให้ประชาชนไปด้วย จึงต้องการเตือนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนว่าในฐานะที่เป็นข้าราชการสาธารณสุข ต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน เพราะมาตรการที่ออกไปให้ประชาชนปฏิบัตินั้น เป็นมาตรการที่ สธ. เป็นผู้กำหนดทั้งนั้น

    อนุทิน
    Image caption: นายอนุทิน รับมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลจีนโดย หยาง ซิน อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น, หน้ากาก N95 1 หมื่นชิ้น ชุดป้องกัน 2 พันชุด และชุดทดสอบจำนวน 832 ชิ้น เมื่อ 24 มี.ค.

    ข้อมูลจาก สธ. พบว่า ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว 9 ราย

    รมว.สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนการทำงานของแพทย์เต็มที่ และมีมาตรการระมัดระวังและลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์เช่น ได้เจรจากับสถานทูตจีน ขอการสนับสนุนหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 มาให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็ได้รับมอบจากทางรัฐบาลจีน และมูลนิธิ แจ๊กหม่า รวมถึงการขอรับการสนับสนุนจากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ เพื่อจัดหากรมธรรม์ประกันภัยจากโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีก 1.2 แสนกรมธรรม์ โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินงบประมาณ

  8. ผบ.ทหารสูงสุดขู่ “ล็อกดาวน์” หาก ปชช. ไม่อยู่บ้าน

    ปชช.

    พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ในสถานการณ์ฉุกเฉินสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว เพราะ “เชื้อโรคไม่มีเวลา ไม่มีหยุด” ดังนั้นถึงแม้จะเคอร์ฟิวเวลา 21.00-05.00 น. แต่ช่วงกลางวัน ประชาชนยังเดินทาง ก็ไม่เกิดประโยชน์

    เขายังฝากถึงหัวหน้างาน/เจ้าของกิจการทั้งหลาย ให้พนักงานหยุดอยู่บ้าน หรือให้ทำงานที่บ้าน โดยขอความร่วมมือตั้งแต่วันนี้ เพราะหากยังไม่ให้ความร่วมมือจะต้องมีการบังคับกันต่อไป อาจไปถึงขั้นล็อกดาวน์ ปิดประเทศ

    “ลองดูว่าถ้าไม่ต้องปิดประเทศโดยบังคับ แต่เราสมัครใจดีกว่าถูกบังคับ เป็นตัวอย่างของโลกไม่ดีกว่าหรือ” ผบ.ทหารสูงสุดกล่าว

    ส่วนจะใช้มาตรการขอความร่วมมือนานเท่าไรนั้น ผบ.ทหารสูงสุดปฏิเสธจะให้ความเห็นโดยเหตุผลที่ว่า “ไม่ใช่หมอ” จึงรู้แค่ว่าระยะเวลา 14 วันที่เชื้อจะฟักตัว แต่ต่อมาก็บอกกันว่า 21 วัน จึงขอให้คนไทยใช้ชีวิตแบบใหม่ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป และลองดูสัก 7 วัน ประเมินว่าผลเป็นอย่างไร

  9. ผอ.ศูนย์โควิด-19 มอบ 6 แนวทางทำงานช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน

    ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศบค. ยังไม่ได้พิจารณาออก “ข้อกำหนด” เพิ่มเติม ภายหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศเป็นวันแรก

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษก ศบค. อีกตำแหน่ง แถลงยืนยันว่า ที่ประชุมยังไม่ได้หารือเรื่องการสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) แต่แนวทางต่าง ๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอมา จะเป็นทางเลือกจากมาตรการเบาไปหาหนัก ถ้าประชาชนร่วมมือก็ไม่ต้องใช้กฎอะไรมาบังคับ

    นายกฯ ได้มอบหมายแนวทางการทำงานของ ศบค. ไว้ 6 ข้อ สรุปได้ดังนี้

    1. ให้ผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้านเสนอแผนและแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด
    2. ให้บูรณาการจัดระบบความร่วมมือโดยดึงทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วม
    3. ติดตามผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกกลุ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสนอแนวทางแก้ปัญหาพร้อมมาตรการเยียวยา
    4. ให้ความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ต่อประชาชน พร้อมระดมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากรัฐและเอกชนมาร่วมกัน และเน้นย้ำให้มีเวชภัณฑ์เพียงพอ
    5. เน้นสื่อสารในยามวิกฤติ ประสานผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างของบุคคลในสังคม
    6. ให้ทุกส่วนราชการปรับแผนงาน/โครงการงบประมาณ เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข
  10. เผยพิธีละหมาด ทำผู้ป่วยโควิด-19 ภาคใต้พุ่ง 82 ราย

    แผนผัง

    จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในไทย “ทะลุพันคน” เป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 73 หลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันพบผู้ป่วยคนแรกในไทย

    ในจำนวนนี้ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ถูกพบในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ชี้แจงสาเหตุว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีทั้งที่ติดเชื้อจากสนามมวย และติดเชื้อจากการไปร่วมประกอบพิธีทางศาสนา

    "พี่น้องมุสลิมที่กลับมาจากมาเลเซีย แล้วกลับมาที่บ้าน ก็ยังมาร่วมพิธีละหมาด ไม่ได้ทำการเว้นระยะห่างทางสังคมดีพอ ก็จะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นประปราย" นพ.อนุพงศ์ระบุ

    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค. มีผู้ป่วยเพียง 16 รายเท่านั้นเอง แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์ ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 82 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยเอง และผู้ป่วยที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า

  11. ข่าวปลอม ตร.ปรับ 200 บ. หากไม่สวมหน้ากากอนามัย

    คนเดินทาง

    “ผ่านด่าน ถ้าใครไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกปรับ 200 บาท” เป็น “ข่าวปลอม”

    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยืนยันเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวช่วงบ่ายที่ผ่านมา

    “ข่าวปลอม ไม่จริงครับ จะให้ ปอท. ดำเนินการด้วย” โฆษก สตช. ระบุ

    การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันแรก โดยเจ้าหน้าที่กองกำลังผสม ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ได้ร่วมกันตั้งด่านจุดตรวจสกัดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ 357 จุด

    คำถามคือ หากประชาชนไม่มีหน้ากากสวมใส่จริง ๆ จะทำอย่างไร โฆษก สตช. บอกว่า “เรามีคำแนะนำว่าต้องสวมเมื่อออกนอกบ้าน แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็คงต้องช่วยกัน”

  12. จะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อ โควิด-19 แล้ว?

    "นี่เราติดรึยังนะ ?" คงเป็นคำถามสำหรับใครหลาย ๆ คนในช่วงนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 นี้ ในบางรายอาจจะไม่แสดงอาการเลย ซึ่งก็อาจจะหายได้เองด้วยขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน

    แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับเชื้อนั้นมาแล้ว?

    พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย สรุปมาให้ฟัง

    View more on youtube
  13. สตช. สรุปวันแรก ตั้งด่าน 357 จุด

    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงว่า ในวันแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจสกัดและคัดกรองการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 357 จุด ในจำนวนนี้เป็นจุดตรวจภายใน กทม. 7 จุด

    ตั้งด่าน
    Image caption: เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จิตอาสา ปฏิบัติหน้าที่จุดคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริเวณหน้าศูนย์โตโยต้า ถ.ราชพฤกษ์ เขตรอยต่อ กทม.-นนทบุรี

    อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (27 มี.ค.) โฆษก สตช. ระบุว่า ในเส้นทาง กทม. จะมีการตั้งจุดตรวจเพิ่มเติมอีก 5 จุด ประกอบด้วย ถ.เพชรเกษม, ถ.บางนา-ตราด, ทางด่วนบูรพาวิถี, ถ.วิภาวดี-รังสิตจากอนุสรณ์สถาน และทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ เช่นเดียวกับเส้นทางเข้า-ออกในจังหวัดต่าง ๆ หลังปฏิบัติภารกิจครบ 24 ชม. จะมีการตรวจสอบว่าต้องปรับจุดตรวจสกัดหรือไม่อย่างไร

    “การตั้งด่านเพื่อให้การเคลื่อนย้ายคนเป็นระบบ แต่ถ้าเป็นไปได้ ท่านอยู่บ้านเถอะครับ”โฆษก สตช. กล่าว

    ตั้งด่าน
    ตั้งด่าน
  14. เปิดตัว เปิดตัว แอปฯ-เว็บ-แชทบอต ติดตามคน-ข้อมูลโควิด-19

    กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงเปิดตัว 3 ช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารโควิด-19

    • แอปพลิเคชัน AOT ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด >> ให้นักท่องเที่ยวและกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องกักตัว 14 วันระบุพิกัดการกักตัวของตนเอง พร้อมติดตามการเดินทางได้ทันที ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปก็สามารถดาวน์โหลดไว้ใช้งานได้เพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางของตนเอง หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม สธ. จะสามารถส่งการแจ้งเตือนไปให้ผู้ที่เคยเดินทางไปยังสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ
    • เว็บไซต์ COVID19.ddc.moph.go.th >> รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อปัจจุบันอย่างเป็นทางการ แม้ยังไม่แสดงข้อมูลนาทีต่อนาที (เรียลไทม์) แต่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ที่ไหน เพิ่มขึ้นเท่าไร เพื่อตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ล่าสุดได้
    • แชทบอต “สบายดีบอตบ่เอาโควิด”>> เพื่อให้ผู้ที่สงสัยว่าอาการของตนเองเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ สามารถขอรับคำปรึกษาและประเมินตนเองได้ โดยทำง่าย ๆ ด้วยการเพิ่มเจ้าบอตนี้เป็นเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์
    สบายดีบอต
    เว็บไซต์
  15. บุคลากรการแพทย์ป่วยโควิด-19 สะสม 9 ราย

    ในจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 หน้าใหม่ จำนวน 111 ราย ที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงวันนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์ 3 รายรวมอยู่ด้วย

    ถึงขณะนี้ ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 9 ราย

    นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่า กรณีแพทย์ที่ติดเชื้อรายแรกเกิดขึ้นที่ รพ.เอกชน เนื่องจากแพทย์ไม่รู้เลย เพราะผู้ป่วยมีอาการมาคล้าย ๆ เป็นไข้เลือดออก จึงไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันที่ดีพอ ขณะที่การติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นเพราะผู้ป่วยไม่ได้แจ้งประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

    “หมอทำงานหนักมาเกือบ 3 เดือนแล้ว ไม่สามารถมีเวรผลัดได้เลย เหนื่อย ลำบาก โอกาสเสี่ยงมี ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหมือนกัน... ก็ต้องเกิดน้อยที่สุดครับ” นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าว

    ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้สอบทานกระแสข่าวมี “ผู้อำนวยการ รพ.” แห่งหนึ่งติดเชื้อด้วย แต่ นพ.อนุพงค์ บอกว่า “ข้อมูลอินไซด์มาก ไม่ได้เตรียมมาตอบ ไม่แน่ใจว่าอยู่ใน 9 รายไหม”

    ขณะที่แพทย์หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็น “แนวหน้า” ในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ได้บอกเล่ากิจวัตรการทำงานให้บีบีซีไทยฟัง

    "เขาจะโทรมาแจ้งว่า คนไข้ที่เราตรวจไปวันที่นี้ติดเชื้อนะ ให้คุณหมอดูแลตัวเองด้วย ถ้ามีไข้ ไอหรือมีอาการทางระบบหายใจก็จะต้องไปตรวจคัดกรอง แต่ไม่ได้ให้ตรวจทันที" เธอระบุ

    "มันเหนื่อยแล้วก็หดหู่ขึ้นทุกวัน... ถ้าเพื่อนโดนกักตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เหลืออยู่ก็ต้องเพิ่มงานไปเรื่อย ๆ จะมีวันไหนไหมที่มีใครสักคนมาทำหน้าที่แทนเรา..." หมอระบายความรู้สึก

    อ่านเพิ่มเติม เรื่องจริงจากหมอผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19

  16. ด่วนสธ. หวัง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉุดยอดผู้ป่วยโควิด-19 ให้ไม่ถึง 3,500 คน

    เวลา 13.00 น. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ (26 มี.ค.) พบว่า ไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 111 ราย มีผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย กลับบ้านแล้ว 88 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 4 รายเท่าเดิมทั้งหมดเป็นคนไทย

    นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น หากยังไม่มีการปฏิบัติตามการขอความร่วมมือ “เว้นระยะห่างทางสังคม”อย่างจริงจัง โดยอาจมีผู้ป่วยสะสมถึง 3,500 คนในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.

    อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งประเทศ “จะช่วยหน่วงสถานการณ์ และคาดหวังว่าประเทศไทยคงไปไม่ถึงตัวเลข 3,500 คนในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. ”

    ทางการไทยออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ว่าพบผู้ติดโควิด-19 รายแรกในประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 61 ปี ซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ถึงไทยเมื่อวันที่ 3 ม.ค.

    แผนผังสถิติ
  17. พล.อ.อภิรัชต์ สั่งตั้ง กก.สอบจัดแข่งมวยเวทีลุมพินี

    สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ มติชน เดลินิวส์ รายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้ พล.อ.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีมีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร”เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่สนามมวยลุมพินี เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งนักแสดง เซียนมวย ประชาชนที่ไปดูการแข่งขัน ติดเชื้อโควิด

    ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น 2 วัน การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ส่งหนังสือเตือนสนามมวยแห่งนี้เมื่อ 4 มี.ค. ให้เลื่อนจัดกิจกรรมออกไปเสียก่อน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

  18. พล.อ.ประวิตร สูงวัย แต่ยังออกนอกบ้านได้

    ประวิตร

    ข้อกำหนด ข้อ 8 ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กำหนด “มาตรการพึงปฏิบัติสาหรับบุคคลบางประเภท” ในจำนวนนี้คือให้ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไปอยู่แต่ในเคหสถาน

    ทว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี วัย 74 ปี ยังเดินทางมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติ และได้ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” หรือที่รู้จักในชื่อ“ศอฉ.โควิด-19” ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของผู้ติดตามข้อมูลข่าวสาร

    อย่างไรก็ตามการปรากฏตัวนอกบ้านของ พล.อ.ประวิตร ไม่เป็นการขัดต่อข้อกำหนดแต่อย่างใด เพราะการให้บุคคล 3 ประเภทงดออกนอกบ้านยังมีสถานะเป็น “ข้อแนะนำ” ไม่ใช่ “ข้อบังคับ”

    นอกจากนี้ รองนายกฯ วัยทะลุ 70 ปี ยังถือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็น ด้วย โดยมีตำแหน่งเป็น “กรรมการ” ศอฉ.โควิด-19

  19. รองโฆษกรัฐบาลขอโทษสื่อ ไร้เจตนาให้ข้อมูลก่อน สธ.

    ผลจากการเผยแพร่สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางสื่อสังคมออนไลน์ของศูนย์ข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะตั้งโต๊ะแถลงข่าว ทำให้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องชี้แจงสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาล ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเวลา 11.38 น. โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ต้องขออภัยจริง ๆ ที่ได้โพสต์ภาพกราฟออกไปก่อน ไม่ได้มีเจตนาจะให้ข้อมูลก่อนทางสาธารณสุข”

    เธอระบุด้วยว่า เนื้อหาที่ได้โพสต์ไปเน้นส่วนสำคัญคือ การกระจายตัวของโรคที่แพร่ออกไปต่างจังหวัด เพื่ออธิบายเหตุผลทำไมถึงขอให้ประชาชนงดเดินทาง

  20. ศูนย์โควิดเผยยอดผู้ติดเชื้อทะลุพันแล้ว ก่อนลบทวีตอย่างรวดเร็ว

    ศูนย์ข้อมูล COVID-19
    Image caption: ทวีตดังกล่าวถูกลบไปแล้วเมื่อเวลา 11.30 น.

    ศูนย์ข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีตข้อความยืนยันว่า วันนี้ (26 มี.ค.) ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 111 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 1,045 ราย เมื่อเวลา 11.08 น. ก่อนจะลบทวีตดังกล่าวออกในอีก 20 นาทีต่อมา

    การให้ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะเกิดขึ้นก่อนมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวประจำวัน อีกทั้งยังมีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.โควิด-19 ว่าตัวนายกฯ เท่านั้นที่จะเป็น “ผู้รายงานโดยตรงต่อประชาชน” หรือเป็นบุคคลที่นายกฯ มอบหมาย

    วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังประกาศด้วยว่า จะปรับปรุงการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ถูกต้องชัดเจนและครบถ้วน โดยจัดแถลงข่าวเพียงวันละ 1 ครั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อน บิดเบือนข้อมูล และการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนเพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว โดยให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่

    ส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า “พวกเราคือทีมเดียวกัน ทุกท่านสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงาน และต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม”